การเล่านิทานเพื่อพัฒนาทักษะการคิด


เล่านิทาน

การเล่านิทานเพื่อพัฒนากระบวนการคิด

     นิทาน  เป็นเรื่องเล่าที่ถ่ายทอดความคิด  ความเชื่อ  ประเพณี  วัฒนธรรมตลอดจนคุณธรรม  จริยธรรม  อันเป็นกลวิธีการปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดและแนวปฏิบัติที่สืบทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งมายาวนานนับพันปี  ทุกชาติ  ทุกภาษา  ต่างมีนิทานประจำชาติหรือท้องถิ่นของคน  นิทานที่ได้รับความนิยมและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง  มีหลายชุด  เช่น  นิทานอีสป  นิทานเวตาล  นิทานชาดก  ฯลฯ

       การถ่ายทอดนิทานแต่เดิมมาใช้การเล่า  การเล่าประกอบภาพ  หรือการแสดงต่อมาเมื่อเทคโนโลยีในการสื่อสารที่ความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น  นิทานก็ได้แพร่หลายในรูปของสิ่งพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์  ซีดี  ฯลฯ

        สิ่งที่เด็กได้รับจากการฟังนิทาน  คือ  ความสนุกสนานเพลิดเพลิน  ความรู้  แนวคิด  แนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องหรือป้องกันปัญหาในชีวิตประจำวัน

                การเล่านิทาน  มีขั้นตอนง่าย  ๆ  ดังนี้

1.บอกชื่อเรื่อง

2.เล่าเรื่อง

3.สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทบทวนความเข้าใจของเนื้อเรื่อง

4.สรุปความคิดรวบยอดของเรื่อง

5.เสนอข้อปฏิบัติเพื่อนำไปใช้

การใช้นิทานในการพัฒนากระบวนการคิด

                แนวทางหนึ่งในการใช้นิทานพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนคือการกระตุ้นให้นักเรียนคิด  โดยพัฒนากิจกรรมในการเล่านิทานและใช้คำถาม

 ขั้นที่  1  เลือกเรื่องตามความสนใจ

                ให้นักเรียนเลือกโดยใช้เสียงส่วนมาก  หรือจับฉลาก  หรือถามความสนใจอ่าน  อยากฟังนิทานเกี่ยวกับอะไร

ชั้นที่  2  ฟังนิทาน

                ฟังจากการเล่า  การอ่าน  หรือการฟังจากเทปบันทึกเสียง

ขั้นที่  3  แสดงความคิดเห็น

                -นักเรียนเลือกตัวละครหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในนิทานที่นักเรียนประทับใจมากที่สุดไว้  พร้อมทั้งเหตุผลที่ประทับใจ

                -แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน

                -เข้ากลุ่มอภิปราย  กลุ่มละประมาณ  5-7  คน  เป็นการอภิปรายถึงลักษณะพฤติกรรมของตัวละครทุกตัวและเหตุการณ์ในนิทาน

ขั้นที่  4  คิดมุมกลับ  /  คิดต่าง

                กระตุ้นให้นักเรียนมีความคิดกว้างขวางขึ้นโดยใช้คำถามให้คิดย้อนคนละทางกับเหตุการณ์ในนิทาน  เช่น  กำหนดให้เหตุการณ์หรือพฤติกรรมของตัวละครต่างไปจากที่ปรากฏในนิทาน  ให้นักเรียนร่วมกันคิดและให้เหตุผล

ขั้นที่  5  สรุปผล

                นักเรียนร่วมกันลงข้อสรุป  พฤติกรรมและเหตุการณ์ที่ดี  และที่ควรแก้ไขจากเรื่องในนิทานตลอดจนลงข้อสรุปสิ่งที่ควรนำไปปฏิบัติ

                สิ่งที่สนับสนุนให้มีกระบวนการคิด  คือ  การผูกเรื่องและการใช้คำถามในการให้คิด

  • คิดแก้ปัญหา
  • คิดหาเหตุผลตามเหตุการณ์และเหตุผลถ้าเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามท้องเรื่อง

ประโยชน์ที่ได้รับในการใช้นิทานพัฒนากระบวนการคิด

  • นักเรียนได้พัฒนาการคิด  การใช้เหตุผลทั้งด้านคุณธรรม  จริยธรรมตลอดจนทักษะกระบวนการ
  • ครูมีแนวทางในการพัฒนาการคิด  การแก้ปัญหา  การใช้เหตุผลของนักเรียนโดยใช้นิทานอันเป็นสิ่งที่เด็กชอบและจัดทำได้ไม่ยาก
  • พัฒนาหรือจัดทำได้ทุกกลุ่มประสบการณ์

การเตรียมการในการใช้นิทานพัฒนากระบวนการคิด

1.รวบรวมนิทาน

  • นิทานชาดก
  • นิทานอีสป
  • นิทานพื้นบ้านของไทย
  • นิทานเอเชีย
  • นิทานยุโรป  ฯลฯ

2.วิเคราะห์แนวทางในการพัฒนานักเรียน

  • กระบวนการแก้ปัญหา
  • พัฒนาคุณธรรมจริยธรรม
  • พัฒนาความคิดรวบยอด  ฯลฯ

3.วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของนิทานกับกระบวนการคิด

4.เลือกวิธีการจัดกิจกรรม

5.วางแผนการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจ  คือ  ครูเขียนและสนับสนุนให้นักเรียนเขียนโปรดติดตามต่อไปในโอกาสหน้า

ตัวอย่างนิทานพัฒนากระบวนการคิด

นกกระสากับหมาจิ้งจอก

                หมาจิ้งจอกตัวหนึ่งเมื่อถูกก้างปลาใหญ่ติดคอ  จึงไปขอให้นกกระสาช่วยคีบเอาก้างปลาออก  นกกระสาเล็งไปในคอของหมาจิ้งจอกแล้ว  จึงใช้ปากคีบเอาก้างปลาออก  “จะให้อะไรแก่ข้าเป็นรางวัลบ้าง”  นกกระสาทวงถาม  หมาจิ้งจอกมองหน้านกกระสาแล้วคำรามในลำคอตอบว่า  “เมื่อตอน  ที่เจ้าเอาปากคีบก้างปลาในคอข้า  ข้าไม่งับปากเจ้าขาดก็บุญแล้ว  ยังจะคิดเอารางวัลจากข้าอีกหรือ”  นกกระสาได้ยิน  ดังนั้นจึงพูดกับหมาจิ้งจอกว่า.......................”

เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้ว  นักเรียนคิดอย่างไร

1.ตอนท้ายของเรื่อง  นกกระสาจะพูดกับหมาจิ้งจอกว่าอย่างไร  จึงจะทำให้หมาจิ้งจอกคิดถึงบุญคุณนกกระสา

2.ถ้าหมาจิ้งจอกงับปากนกกระสา  จะเกิดอะไรขึ้น

3.นักเรียนอ่านเรี่องนี้แล้ว  ได้อะไร     ฯลฯ

พื้นที่ปริศนา

ชายชาวสวนคนหนึ่งมีลูกสาวสามคน  ลูกสาวคนโตเป็นคนอารมณ์ดีมีใจเมตตาและได้แต่งงานกับพ่อค้าขายข้าว  ลูกสาวคนที่สองมีความขยันขันแข็ง  ทำงานบ้านเก่งและแต่งงานไปกับลูกชายร้านโอสถในหมู่บ้าน  ส่วนลูกสาวคนเล็ก  ซึ่งมีความสามารถไม่แพ้พี่สาวทั้งสองคน  ยังอยู่ดูแลพ่อที่บ้าน  ต่อมาชายผู้เป็นพ่อชราภาพมากจึงคิดแบ่งที่ดินที่มีอยู่ให้ลูกทั้งสามคน  ลูกสาวคนโตได้หนึ่งในหกส่วนของพื้นที่ทั้งหมด  ลูกสาวคนที่สองได้เป็นสองเท่าของลูกสาวคนโต  ส่วนลูกคนเล็ก  พ่อ  มีเงื่อนไขว่าถ้าไม่แต่งงานจะได้เท่าส่วนที่พี่สาวคนโตได้รับรวมกับอีกครึ่งหนึ่งของพี่สาวคนรองและยังมีเหลือถวายวัดอีก  20  ไร่  แต่ถ้าแต่งงานจะได้เพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดพี่สาวคนโตแนะนำให้น้องคนเล็กแต่งงาน  แต่พี่สาวคนรองบอกให้น้องตัดสินใจเองลูกสาวคนเล็กของชายชาวส่วนผู้นั้นจึงตัดสินใจไม่ได้

                เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้ว  นักเรียนตอบได้หรือไม่ว่า

  • ชายผู้เป็นพ่อ  มีที่ดินอยู่ทั้งหมดกี่ไร่  มีวิธีคิดอย่างไร่
  • ลูกคนใดได้ที่ดินมากที่สุด
  • ลูกสาวคนเล็กจะตัดสินใจแต่งงานหรือไม่  เพราะอะไร ฯลฯ

ที่มา  สมพร  มันทนานุชาติ (2545)  การเล่านิทานพัฒนากระบวนการรคิด (อัดสำเนา)

คำสำคัญ (Tags): #นิทาน
หมายเลขบันทึก: 470999เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2011 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยมาก ๆ ค่ะ โตมาด้วยนิทาน

ตอนเด็ก ๆ หลังกินข้าวเย็น ชอบนอนฟังนิทานของพ่อกับแม่...สนุก เศร้า ระทึก

จินตนาการ คุณธรรม ระเบียบ วินัย ความขยัน...ได้มาไม่รู้ตัว

นิทานช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้มากมายค่ะ

เป็นพื้นฐานของเด็กๆ ทุกคนที่ต้องเรียนรู้ จริยธรรม คุณธรรม และความคิดสร้างสรรค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท