๒๒๐.ม.พะเยา:การพบกันระหว่างนักศึกษาวิทยาศาสตร์ทางกายภาพกับนักศึกษาวิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณ


จากประเด็นทั้ง ๕ ผู้เขียนได้เน้นย้ำเสมอว่าพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์แห่งจิตวิญญาณที่ทุกคนควรเข้าไปพิสูจน์ว่าจริงเท็จอย่างไร? เพราะสาขาวิชาที่นักศึกษาเรียนนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ แต่พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งกายและจิตย่อมเป็นไปด้วยกัน และยังท้าทายผู้ต้องการเข้าไปสัมผัสด้วย

     วานนี้ที่ ๗ ธันวาคม ผู้เขียนถูกนิมนต์ให้ไปนำบิณฑบาตเนื่องในวันพ่อของนักศึกษา "คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา" ที่จัดขึ้นโดยนักศึกษา เพื่อฝึกให้นักศึกษาได้บริหารจัดการทุกขั้นตอน นับว่าเป็นเทคนิคของมหาวิทยาลัยที่ใช้อบรมคนให้มีความรู้ความสามารถ กล้าคิด กล้าทำอย่างสร้างสรรค์

     พิธีเริ่มตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐ น. โดยนิมนต์พระจากวัดต่าง ๆ กว่า ๕๐ รูปไปฉันข้าวต้มก่อน เมื่อนักศึกษาพร้อมแล้ว (ตั้งแถวพร้อมแล้ว) จึงนิมนต์พระภิกษุสามเณรทั้งหมดมานั่ง ณ มณฑลพิธีคือสนามหญ้าหน้าอาคาร หลังจากนั้นมีการไหว้พระ สมาทานศีล และกล่าวคำถวายและกล่าวสัมโมทนียกถา

     ในการกล่าวสัมโมทนียกถานี้ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของวันพ่อทั้งพ่อของแผ่นดิน พ่อของแต่ละบุคคล ที่ลูกคนหนึ่งพึงกระทำต่ออย่างกตัญญูกตเวทิตา นอกจากนั้นแล้วยังได้ให้ข้อคิดในเรื่องของการรวมตัวกันของคนที่มาอยู่พะเยา ความเป็นมาของชื่อ University of Phayao ว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง ประกอบกับปณิธานของมหาวิทยาลัยที่ว่า "ปัญญาเพื่อพัฒนาชุมชน" คือกว้างและแคบขนาดไหน?

     หลังจากนั้นได้แนะนำให้นักศึกษาได้ใช้ "พลังในการขับเคลื่อน" ตนเองสู่เป้าหมายด้วยพละ ๕ ประการ คือ การทำอะไรต้องมีพลังขับภายในตนเองเสียก่อน เพราะการทำให้ตนเองมีกำลังแล้ว ย่อมสามารถสร้างพลังไปสู่สังคมในระดับต่าง ๆ ได้อย่างย่อท้อและเผชิญอุปสรรค์อย่างไม่หวั่นไหว ประกอบด้วย

     ๑.พลังแห่งศรัทธา เราต้องมีความเชื่อต่อสิ่งที่เราคิดดีแล้วจึงกระทำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เช่นสาขาวิชาที่เราเรียน เป็นคณะวิทยาศาสตร์ เราต้องเชื่อก่อนว่าคณะนี้สามารถทำความฝันของเราให้เป็นจริงได้ในด้านอาชีพและความรอบรู้

     ๒.พลังแห่งความเพียรพยายาม เมื่อเรามีศรัทธาต่อสิ่งนั้น ๆ แล้วเราต้องมีความเพียรพยายามหรือวิริยะอุตสาหะให้มาก ๆ ไม่นอนรอให้สิ่งที่เราเชื่อนั้นวิ่งเข้าหา แต่เป็นเพราะสิ่งที่เราได้มานั่นเป็นสิ่งที่เราแสวงหามัน คือพรสวรรค์หรือจะสู้พรแสวง

     ๓.พลังแห่งความระลึกได้ หรือการมีอยู่ของสติ ต้องไม่หลงไหลไปตามกระแสต่าง ๆ แต่อยู่ได้ด้วยสติที่เรามี ที่เราเป็น และพัฒนาสิ่งนั้น ๆ ขึ้นมาอย่างระมัดระวัง

     ๔.พลังแห่งการตั้งใจมั่น หรือการมีปณิธานในการทำงานหรือเรียนหนังสือ โดยมีความตั้งใจไว้สูง เด็ดเดี่ยวในการต่อสู้อุปสรรค์ต่าง ๆ อย่างไม่ท้อถอย

     ๕.พลังแห่งปัญญา หรือพลังแห่งการเรียนรู้เพื่อจะตื่นรู้ สัมผัสกับความจริงที่ปรากฏขึ้นต่อเรา

     จากประเด็นทั้ง ๕ ผู้เขียนได้เน้นย้ำเสมอว่าพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์แห่งจิตวิญญาณที่ทุกคนควรเข้าไปพิสูจน์ว่าจริงเท็จอย่างไร? เพราะสาขาวิชาที่นักศึกษาเรียนนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ แต่พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณ ซึ่งกายและจิตย่อมเป็นไปด้วยกัน และยังท้าทายผู้ต้องการเข้าไปสัมผัสด้วย

     หลังจากจบการสัมโมทนียกถาแล้ว ผู้เขียนได้นำให้พรเป็นภาษาบาลีร่วมกับคณะสงฆ์ที่ไปด้วย ซึ่งงานนี้จบลงด้วยการเดินบิณฑบาตท่ามกลางเหล่านักศึกษาที่เป็นผู้ศึกษาวิทยาศาสตร์ทางกายภาพ กับนักศึกษาที่เป็นผู้ศึกษาวิทยาศาสตร์ทางจิตวิญญาณ...........สาธุ

 

หมายเลขบันทึก: 470734เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2011 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท