Future Crisis ยุทธศาสตร์ในการปรับตัวรับมือกับมหาวิกฤตแห่งศตวรรษที่ 21


วิกฤตของคนในศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่การมีข้อมูลข่าวสารที่ล่าช้าหรือถูกปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้ หากทว่ากลับเป็นการไร้ซึ่งทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตที่แสนสั้น
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
(www.siamintelligence.com)


“วิกฤตน้ำท่วม 2554” บางทีอาจเป็นเรื่องอาเพศของธรรมชาติ
อาจเป็นเกมการเมืองของรัฐบาลและฝ่ายตรงข้าม 
หากทว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการวิเคราะห์สาเหตุแบบผิวเผินเพียงเพื่อจะกล่าวโทษ
กันไปมา ก็คือ การแสวงหาคำตอบที่อยู่ลึกลงไป
คำตอบที่จะนำไปสู่การแก้ไขวิกฤตประเทศไทยอย่างแท้จริง
ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาเพียงชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนดั่งที่เคยเป็นมาอีกต่อ
ไป

ต้นทุนที่ประเทศไทยต้องจ่ายไปกับ “ความไม่รู้” ช่างมากมายมหาศาลยิ่งนัก

หากย้อนเวลาไป 5000 ปีที่ผ่านมา ย่อมพบว่าภัยธรรมชาติ ตั้งแต่น้ำท่วม
น้ำแล้ง โรคระบาด ไปจนกระทั่งถึงความอดอยากขาดแคลนทั้งหลาย
ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สุด ผู้คนล้มตายเกือบครึ่งค่อนประเทศ
โหดร้ายคุกคามยิ่งกว่าสงครามครั้งใดทีมนุษย์กระทำต่อกัน
แต่ผู้คนแห่งยุคโบราณก็ยังอดทนอดกลั้นกันได้อย่างน่าเหลือเชื่อยิ่ง
จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่า
เหตุใดมนุษย์ในยุคปัจจุบันจึงไม่สามารถทนรับสภาพเช่นนี้ได้อีกต่อไป

บางทีวิกฤตน้ำท่วมในปี 2554
ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตคนไทยไม่แตกต่างจากวิกฤตน้ำท่วมในปี 2485
หากทว่าสิ่งที่แตกต่างออกไป คือ
จิตใจคนไทยที่สุขสบายและเปราะบางกว่าบรรพบุรุษอย่างเทียบมิได้เลย

ศตวรรษที่ 21 ได้ชื่อว่าเป็นศตวรรษแห่งวิกฤต
ไม่ใช่เพราะศตวรรษที่ผ่านมาไม่มีวิกฤตเลย เพียงแต่ว่า
ไม่เคยมียุคใดในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติจะมีเทคโนโลยีและความรู้ที่เจริญ
ก้าวหน้าเพียงพอที่จะจัดการกับความไม่สะดวกสบายในชีวิตได้เทียบเท่านี้อีก
แล้ว

สิ่งที่เคยเป็นเพียง “ชะตากรรม” ที่มนุษย์จำต้องทน
ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นวิกฤตที่มนุษย์สามารถแก้ไขได้
หากมีความสามารถและความมานะพยายามมากเพียงพอ

วิกฤตน้ำท่วม จึงเป็นเพียงแค่ผิวหน้าของวิกฤตที่อยู่ลึกลงไป
ซึ่งหากไม่สามารถทำความเข้าใจภาพใหญ่ของวิกฤตทั้งหมดได้
คนไทยก็จะหลงติดกับวิกฤตเฉพาะหน้า
และก็โทษคนนั้นคนนี้ไปมาตามแต่ข้อมูลที่ตนได้รับมาจะพัดพาไป
โดยไม่อาจพัฒนาสติสมาธิปัญญาเพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตอย่างรู้เท่าทัน

1. นายทุนไร้พรมแดน Vs คนจนไร้สัญชาติ


ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นร่ำรวยและชนชั้นยากไร้ย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมา
ควบคู่กับอารยธรรมมนุษย์ หากทว่า เรื่องตลกร้ายก็คือ
สงครามที่ประทุขึ้นส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์กับเป็นความขัดแย้งระหว่างคนรวย
ในเขตแดนหนึ่งทะเลาะกับคนรวยในอีกเขตแดนหนึ่ง
โดยมีคนจนเป็นเพียงเบี้ยหมากที่ยินดีเสียสละชีวิตแทน
เพียงเพื่อแลกกับคำสรรเสริญเยินยอเพียงไม่กี่บรรทัด

โลกาภิวัตน์ในศตวรรษที่ 21
ได้ทำให้บริบทความขัดแย้งแบบเดิมต้องเปลี่ยนแปลงไป
ชนชั้นร่ำรวยทั่วโลกต่างสามัคคีกลมเกลียวกันอย่างน่าใจหาย
นั่นก็เป็นเพราะว่า
ความมั่งคั่งของพวกเขาไม่ได้ผูกติดกับเขตแดนทางภูมิศาสตร์อีกต่อไป
พวกเขาสามารถเคลื่อนย้ายสินทรัพย์เงินทองทั้งหลายข้ามเส้นพรมแดนได้เพียง
ชั่วพริบตา
สงครามเพื่อปกป้องความมั่งคั่งในนามของชาติจึงเป็นสิ่งที่มีราคาแพงเกินไป

“ประชานิยม” หรือเรียกให้สวยหรูว่ารัฐสวัสดิการ ก็คือ
วิธีการใหม่ในการขูดรีดคนจน
เพื่อแลกมาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่จะใช้กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวในช่วงเวลา
หนึ่ง
ภาวะหนี้สินของประเทศชาติที่เพิ่มพูนขึ้นทุกปีก็เป็นเรื่องของชนชั้นกลางและ
ชนชั้นล่างที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานชดใช้กันไปชั่วลูกหลาน
ในขณะที่ชนชั้นร่ำรวยสามารถสะบัดก้นและเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ไปได้อย่างรวด
เร็ว โดยอาศัยเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน

วิกฤตน้ำท่วมในปี 2554
คนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจสู้น้ำท่วมอยู่ที่บ้านอย่างสุดชีวิต
ไม่ยอมเคลื่อนย้ายไปที่ใด มักจะเป็นคนยากไร้
ที่สินทรัพย์ทั้งหมดของเขาจมอยู่ที่บ้านหลังนั้น
ในขณะที่ชนชั้นกลางย่อมกัดฟันทนทิ้งบ้านแสนสวยและรถยนต์คู่ใจไปได้อย่าง
เชื่อฟังมากกว่า เพราะตนเองยังมีเงินสดจำนวนหนึ่งในบัญชีธนาคาร
มีตำแหน่งการงานเงินเดือนดีที่รอให้กลับไปทำ
ยิ่งไม่ต้องนับคนรวยที่ถือโอกาสจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ในการไปผ่อนคลายท่อง
เที่ยวที่เมืองนอกได้สบายใจเฉิบ
โดยมิพักต้องกังวลว่าที่อยู่อาศัยราคาหลายสิบล้านของตนจะเสียหายอย่างไร
เพราะนั่นเป็นความมั่งคั่งเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น

ชนชั้นร่ำรวยเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่วิตกทุกข์ร้อนใจ นั่นก็คือ
นายทุนที่เป็นเจ้าของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
หรือนายทุนที่มีผลประโยชน์ผูกพันกับผืนแผ่นดินไทย

ประชาชนไทยที่แสนเศร้าย่อมมีอาวุธเพียงหนึ่งเดียว คือ การเลือกตั้ง
ดังนั้นจึงควรใคร่ครวญไตร่ตรองให้ดี
โดยเฉพาะการตัดสินใจเลือกคนดีหรือคนเก่งเพียงอย่างเดียว
ยังอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก
เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเลย ดังนั้น
กลยุทธ์ที่ดีกว่าควรจะเป็นการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่อิงอาศัยความอุดม
สมบูรณ์รุ่มรวยของแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมปลอดสารพิษ
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อสังหาริมทรัพย์ที่ตกแต่งอย่างมีรสนิยม
และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ชนชั้นร่ำรวยที่มักมีอิทธิพลทางการเมืองทั้งในทางตรง
และทางอ้อม
ต้องถูกบังคับให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติไม่ใช่ด้วยคุณธรรมความดี
หากเป็นการมีผลประโยชน์ร่วมกันกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

พิจารณาเพียงผิวเผิน
ธุรกิจที่อิงอาศัยความอุดมสมบุรณ์ของผืนดินและวัฒนธรรมไทยอาจจะเป็น
อุตสาหกรรมในยุคเก่าแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม
เราสามารถสอดใส่ความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นเข้าไปได้
เพื่อให้สินค้าของไทยมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก
โดยเฉพาะในยุคสมัยที่สินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงไม่สามารถรักษาความโดดเด่นได้
ยาวนานอีกต่อไป

แน่นอนว่า การแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์มีความหนักหน่วงรุนแรงยิ่ง
ดังนั้น
การกีดกันธุรกิจยุคใหม่ที่สามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตออกไปจากประเทศไทย
ได้เพียงชั่วข้ามคืน จึงไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง
เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ย่อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ในบางระดับ
เพียงแต่ไม่สามารถหวังพึ่งพาฝากผีฝากไข้ได้ สิ่งที่ดีกว่า คือ
การทุ่มเทงบประมาณของชาติที่มีจำกัดไปเพิ่มมูลค่าและความคิดสร้างสรรค์ให้
กับอุตสาหกรรมที่อิงอาศัยผืนแผ่นดินไทย
ในขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ไม่อิง
อาศัยผืนแผ่นดินไทย เพียงแต่ไม่ต้องสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือมากมายนัก


การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรักชาติและเลือกคนดีเข้าสภาจึงไม่ใช่คำตอบสุด
ท้าย หากสิ่งที่ฉลาดกว่าคือ
การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมและแรงจูงใจของคนในชาติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ซึ่งนั่นก็คือ
การมีสินทรัพย์ที่ผูกติดกับผืนแผ่นดินไทยทั้งคนรวยและคนจนเสมอเหมือนกัน



2. Knowledge Management Vs Google Management

ในยุคที่ Google สามารถให้ “ข้อมูลข่าวสาร” ทุกชนิดบนโลกใบนี้กับเราได้
หากทว่า สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การบริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร (Knowledge
Management) ให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับชีวิต

วิกฤตน้ำท่วม 2554 คงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ตระหนักได้ดียิ่งว่า
ทำเลที่ตั้งของบ้านและความสูงจากระดับน้ำทะเล
มีความสำคัญต่อการอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตทรัพย์สิน หากทว่า
ข้อมูลที่หาได้ไม่ยากเหล่านี้กลับแทบไม่มีนัยสำคัญเลยต่อการเลือกซื้อบ้าน
ของคนไทยเลย

Knowledge Management ที่เคยเป็นวลีฮิตในแวดวงธุรกิจไทย
ก็กลับแทบไม่ช่วยอะไรเลยต่อการอยู่รอดของธุรกิจในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า knowledge Management ส่วนใหญ่ในประเทศไทย
เน้นไปที่การได้รับและเก็บรักษาข้อมูลเท่านั้น
หากทว่าการนำข้อมูลที่ล้นเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกลับไม่ค่อยมีคนใส่
ใจไต่ถามกัน

ธุรกิจและชีวิตที่ดี
จึงไม่ใช่เพียงการหมกมุ่นในแวดวงคับแคบของตัวเองเท่านั้น
หากยังต้องมีการประเมินวิกฤตในอนาคตอย่างรอบด้าน (Future Crisis)
เพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้อย่างดีที่สุด

“น้ำดื่มบรรจุขวด” นับเป็นตัวอย่างที่ดีของ Knowledge Management
หากโรงงานผลิตทั้งน้ำดื่มและขวดบรรจุใดมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล
โดยการกระจายความเสี่ยงของโรงงานไว้ในที่สูงซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง
ก็ย่อมได้รับประโยชน์มหาศาลจากยอดขายในช่วงที่ผู้คนเป็นกังวลกับการขาดแคลน
น้ำ โดยที่แทบไม่ต้องขึ้นราคาสินค้าเลย
แถมยังได้รับชื่อเสียงและความขอบคุณจากประชาชนอีกด้วย

ทุกวันแห่งชีวิตที่ผ่านไปไวดั่งสายน้ำ
คนไทยจึงไม่ควรปล่อยชีวิตให้ไหลไปตามข้อมูลข่าวสารที่ผ่านเข้ามา
หากควรรู้จักตั้งโจทย์สำคัญให้ชีวิต

“หากบริษัทของเราล้มละลายในวันพรุ่งนี้
เราจะสามารถหางานใหม่ได้ภายในกี่วัน ? หากต้องการมีเงินเดือน 1,000,000 บาท
เราจะต้องพัฒนาทักษะอะไรบ้าง ? หากเราต้องตายในอีก 10 ปีข้างหน้า
เราจะใช้ชีวิตเรื่อยเฉื่อยเหมือนดั่งที่เป็นอยู่นี้หรือไม่
และเราอยากจะทิ้งผลงานและคุณค่าใดไว้ให้คนที่อยู่เบื้องหลัง ?”

คำถามเหล่านี้อาจเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก ที่สำคัญ Google
ยังไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปตายตัวให้เรา อย่างไรก็ตาม เมื่อเราฝึกฝนทักษะ
Knowledge Management อย่างถูกวิธี ก็ย่อมค้นหาคำตอบทั้งหลายโดยไม่ยากนัก
ตั้งแต่การพัฒนาทักษะในการอ่อนน้อมถ่อมตน
เพื่อให้สามารถผูกมิตรกับคนเก่งในหลากหลายวงการที่มีความสามารถจะสนับสนุน
ข้อมูลในการตอบคำถามของเราได้ การเจียดเวลาวันละ 1
ชั่วโมงในการเลือกสรรหนังสือดีจากทั่วทุกมุมโลกมาศึกษาใคร่ครวญ
สุดท้ายก็คือ การลงมือทำอย่างเต็มที่
โดยกล้าที่จะละทิ้งความรู้เดิมที่เคยเชื่อถือไม่ว่าเราจะลงทุนลงแรงไปกับมัน
มากเท่าไร
เพื่อปรับตัวเข้าหาความจริงใหม่ที่เราเสียสละหยดเลือดและน้ำตาเข้าแลกมา
หากมุ่งมั่นกระทำถึงเพียงนี้แล้ว
ก็เชื่อแน่ว่าวิกฤตทั้งหลายจะกลายเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ให้ชีวิต

วิกฤตของคนในศตวรรษที่ 21
จึงไม่ใช่การมีข้อมูลข่าวสารที่ล่าช้าหรือถูกปิดบังซ่อนเร้นเอาไว้
หากทว่ากลับเป็นการไร้ซึ่งทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นประโยชน์สูง
สุดต่อชีวิตที่แสนสั้น

3. สินค้าราคาถูก Vs แรงงานราคาแพง

วิกฤตน้ำท่วม 2554 ได้สะท้อนให้เห็นสัจธรรมที่ว่า การเกิดมาบนผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหารนั้นมีคุณค่าเพียงใด

การบริหารจัดการให้สินค้าพื้นฐานสำคัญของชีวิตมีราคาที่เหมาะสม
ย่อมเป็นหลักประกันชั้นดีว่า ในยามวิกฤตขาดแคลนมาเยือน คนไทยก็จะไม่อดตาย
ถึงแม้ว่าจะมีสินค้าบางชนิดขึ้นราคาไปบ้าง ก็ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้


วิกฤตในประเทศยุโรปและอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีของความล่มสลายทางเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะการปล่อยให้สินค้าและบริการในประเทศของตนมีราคาที่สูงเกินความจริง
ดังนั้น เมื่อประเทศต้องเผชิญสินค้าราคาถูกจากจีนและประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย
เศรษฐกิจที่หรูหราฟู่ฟ่าก็ย่อมเดินทางมาถึงทางตีบตัน

ประเทศไทยจึงควรมียุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดในการเดินทางไปสู่ความร่ำรวย
นั่นคือ การรักษาระดับราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม
โดยรัฐบาลและบริษัทเอกชนต้องร่วมมือกันในการลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพของแรงงาน
เพื่อให้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง
ไม่ใช่เพียงแต่เพิ่มค่าแรงจนเกินขอบเขต
ในขณะที่ราคาสินค้าก็เพิ่มสูงขึ้นทัดเทียมกัน
เหมือนกับที่ประเทศยุโรปและอเมริกาต้องเผชิญกับความยากลำบากนี้อยู่ใน
ปัจจุบัน

ในระยะสั้น
อาจทำให้ชนชั้นล่างที่เคยถูกกดขี่มาอย่างยาวนานไม่พึงพอใจได้ หากทว่า
ในระยะยาวแล้ว ชนชั้นล่างย่อมตระหนักได้เองว่า
การเพิ่มแรงงานให้ทุกคนโดยเท่าเทียมกันหมด ก็เท่ากับไม่ได้เพิ่มให้ใครเลย
หากทว่า การอดทนเพื่อพัฒนาทักษะของตัวเองขึ้นไปให้สูงขึ้น
โดยมีรัฐบาลและบริษัทเอกชนคอยสนับสนุค่าใช้จ่าย
จะเป็นการเพิ่มค่าแรงที่ยั่งยืนกว่า
เพราะจะทำให้แรงงานที่ขยันและเอาใจใส่ในการพัฒนาตนเองได้รับโอกาสที่ดีกว่า
ในชีวิต ส่วนแรงงานที่พึงพอใจกับความสุขสบายในระยะสั้น
ก็ยังไม่ถึงกับต้องพบความเลวร้ายในชีวิต
เพราะยังมีสินค้าราคาประหยัดให้เลือกซื้อหาบริโภคกัน

สุดท้ายแล้ว บทเรียนชีวิตจากวิกฤตน้ำท่วม 2554
ได้กระตุ้นให้เราตระหนักว่า “ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก
หากไม่รู้จักขบคิดใคร่ครวญในเชิงลึก” ดังนั้น
จึงถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องตื่นตัว
ไม่ใช่เพียงพร่ำบ่นถึงความเดือดร้อนทุกข์ที่ต้องได้รับในเวลานี้
หากทว่าจะต้องเปิดใจกว้างเพื่อเพ่งมองไปยังอนาคตเบื้องหน้า
มองให้เห็นถึงรากเหง้าแห่ง Future Crisis
ที่เราจะต้องเผชิญร่วมกันในอีกหลายสิบปีข้างหน้านี้



หมายเลขบันทึก: 469690เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2011 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ...

ขอให้หนังสือของอาจารย์ทุกเล่มหลายดีนะครับ

เพราะผลบุญที่อาจารย์ได้ให้ผมอ่านบันทึกที่ยอดเยี่ยม

และฟรีอย่างนี้ครับ

อาจารย์สบายดีนะครับ...คิดถึงเสมอครับ

ขอบคุณอย่างยิ่งครับ สำหรับกำลังใจที่ช่วยแปรเปลี่ยนเป็นพลัง

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์

ขอให้อาจารย์มีความสุขมากมากนะครับ

แล้วเราคงได้เจอกันสักวันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท