ชีวิตที่พอเพียง : 1443. กินเผือกกินมัน


ชีวิตที่พอเพียง  : 1443. กินเผือกกินมัน

เช้าวันที่ ๒๐ พ.ย. ๕๔ สาวน้อยเอาแกงจืดวุ้นเส้นกับมันฝรั่งมาให้กินกับข้าวเป็นอาหารเช้า    ทำให้ผมระลึกถึงชีวิตสมัยเด็กที่แม่เล่าว่าที่เมืองจีนอดอยากไม่มีข้าวกิน ต้องกินเผือกกินมัน   แม่บอกพวกเราเพื่อจะให้เราสบายใจว่าความยากลำบากของครอบครัวเรานั้นยังน้อยกว่าชีวิตในเมืองจีน ที่ตาและยาย (ผมเรียกว่าอากงและอาม้า) เคยประสบ

แม่ของผมเกิดที่เมืองไทย และโตที่เมืองไทย มีวิญญาณคนไทยมากกว่าคนจีน    พูดจีน (แต้จิ๋ว) ได้คล่อง    และพยายามสอนให้ลูกพูดจีนแต้จิ๋ว แต่โชคร้าย ลูกๆ หัวแข็งไม่ยอมเรียน    เพราะเราคิดว่าเกิดและอยู่ที่เมืองไทยก็ต้องเป็นคนไทย ยกย่องภาษาและวัฒนธรรมไทย   ทำไมต้องไปพูดภาษาจีน   แถมคนจีนยังพูดแบบเอะอะไม่เกรงใจใครเสียอีก คล้ายๆ ไม่มีมรรยาท   

เพราะหัวดื้อหัวแข็งเช่นนี้เอง ผมและน้องๆ จึงขาดโอกาสได้เรียนรู้ภาษาจีน

ที่จริงเราน่าจะได้คิดเมื่อดูที่พ่อ ที่เป็นลูกครึ่งไทย-จีน    และพูดจีนได้คล่องเพราะฝึกฝนเอาเอง    และทำให้เป็นคนที่ติดต่องานการเก่ง เป็นคนกว้างขวางเป็นที่รักใคร่ของคนหลากหลายวงการ    แต่เรายังเด็กและโง่เกินกว่าที่จะคิดได้

กลับมาที่กินเผือกกินมัน

ที่จริงสมัยผมยังเด็ก ที่บ้านเราอาหารการกินอุดมสมบูรณ์มาก    คือมีอาหารทะเลและปลาน้ำจืดกินเหลือเฟือ   ปลาน้ำจืดนั้นจับเอาในบ่อปลา หรือท้องนาหลังบ้านได้ง่ายๆ    อยากได้เมื่อไรก็ไปตกหรือทงเบ็ดเอาได้   และผมก็ทำเป็น

แต่กินบ่อยๆ เข้ามันเบื่อ

จึงต้องมีหมูมีไก่กินบ้าง   วันไหนมีหมูมีไก่กินก็ถือว่าเอิกเกริก เป็นวันที่มีอาหารพิเศษกิน    ที่จริงไก่นั้นที่บ้านเราเลี้ยงไว้ฝูงใหญ่    และผมนั่งดูพฤติกรรมของไก่ ทั้งแม่ไก่และไอ้โต้งพ่อเล้าทุกวัน    ชนิดที่คนกรุงไม่มีความรู้    วันก่อนคุยกับคนกรุงเรื่องแม่ไก่   ผมบอกว่าตอนเป็นเด็กผมมีหน้าที่เก็บไข่ไก่ ที่แม่ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยไปแอบไข่ตามที่ต่างๆ    ซึ่งทำได้ไม่ยาก เพราะพอแม่ไก่ไข่ เขาจะกระต๊าก และไก่ตัวอื่นๆ รวมทั้งตัวผู้ก็จะรับกระต๊ากกันต่อๆ จนเรารู้   และเริ่มไปหาว่าไข่อยู่ที่ไหน และด้วยความชำนาญ ผมก็พอจะรู้ว่าควรไปดูตรงไหนเป็นที่แรก และที่ต่อๆ ไป    เมื่อหาเจอ ก็จะพบว่าไข่ไก่ยังอุ่นอยู่    การที่แม่ไก่กระต๊ากเมื่อออกไข่นี้เอง เป็นที่มาของคำว่า “กระโตกกระตาก”  

แต่ก็มีแม่ไก่ที่แอบไปไข่รอดหูรอดตาเรา    เขาจะไข่ไว้ที่เดียวจนได้สิบกว่าหน่วย (วันละฟอง บ้านผมเรียกว่าหน่วย  ไข่ ๒ หน่วย แปลว่าไข่สองฟอง   แต่ต้องพูดสำเนียงปักษ์ใต้) เขาก็จะกกไข่   โดยตอนนั้นแม่ไก่จะทำเสียง “กก กก กก ๆ” ตลอดเวลา    และเวลาเจอคนหรือไก่ด้วยกันก็จะทำขนพองๆ    เราก็จะรู้ว่าแม่ไก่ตัวนี้อยู่ในระยะกกไข่   ช่วงนั้นเขาจะไม่ยอมให้ตัวผู้ทับ    และบางที่เราก็ใช้เป็นสัญญาณบอกให้เราไปหาไข่ที่แม่ไก่ซ่อนไว้    หากเราต้องการไข่มากกว่าลูกไก่ ไข่ที่เพิ่งฟักก็ยังเอามากินได้   แต่ถ้าแม่ไก่ฟักมานานแล้ว เริ่มเป็นตัวแล้ว เราจะไม่กิน

แม่ไก่จะยังทำเสียง กก กก ๆ เรื่อยมาจนในช่วงเลี้ยงลูก   แต่เสียง กก  กก   กก  ๆ  จะห่างออกไป   เสียงนี้เอง น่าจะเป็นที่มาของคำว่า “กกไข่”  “กกลูก”  และคงจะลามไปสู่ “กกสาว”  

เราเรียกไข่ไก่ที่แม่ฟัก แล้วไม่ออกเป็นตัว คือลูกไก่ตายอยู่ในไข่ว่า “ไข่ตายพราย”   ไข่เหล่านี้คือไข่เน่า    และกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก เพราะมันมีก๊าซไข่เน่า    ดังนั้นเมื่อมาอยู่กรุงเทพ และเห็นมีคนหาบไข่ที่ฟักเป็นตัวแต่ยังอยู่ในไข่ เอามาขาย ผมจึงแปลกใจมากว่าเขากินกันด้วยหรือ   และมารู้ภายหลังว่าลูกไก่ในไข่เหล่านี้ไม่ได้ตายเอง มนุษย์ทำให้เขาตายเพื่อเอามาขาย    และเคยลองซื้อมากิน ซึ่งก็อร่อยดี 

สมัยผมยังเด็ก ถือกันว่าไข่เป็ดเป็นของดีกว่าไข่ไก่   ราคาแพงกว่า และอย่างน้อยขนาดฟองใหญ่กว่า    แม้ว่ามันจะคาวกว่า    และไข่เค็มนั้นใช้เฉพาะไข่เป็ดเท่านั้น   แต่ตอนผมไปเรียนที่แอนน์อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา (ปี ๒๕๑๐ - ๒๕๑๑) นั้น    ผมพบด้วยความแปลกใจว่าไข่ไก่ที่นั้นฟองโตเกือบเท่าไข่เป็ด และเปลือกสีขาวคล้ายไข่เป็ด    สมัยนั้นไข่ไก่บ้านเราเปลือกสีไข่ไก่ทั้งสิ้น ไม่มีไข่ไก่เปลือกสีขาว    ผมเอาไข่ไก่ทำไข่เค็มกินโดยเอามันดองน้ำเกลือในขวดกาแฟผงขนาดใหญ่ที่ใช้กาแฟหมดแล้ว    ใช้เวลาประมาณ ๑ เดือนก็ได้ไข่เค็มเอามาทอดหรือต้มกิน

ตอนนั้น (ที่แอนน์ อาเบอร์) ผมหุงข้าวกินเองทุกวัน กินกับไข่ดาว ไข่เจียว แกงจืด แกงไก่ (แฟนส่งเครื่องแกงไปให้ทางไปรษณีย์)    และอาหารที่ราคาถูกที่สุดคือคอไก่ ซึ่งมีขายเป็นแพ็คท์   ผมซื้อเอามาทอดกระเทียมพริกไทย    

ผมพบด้วยความแปลกใจว่าที่เมืองนอกตอนนั้นเนื้อไก่ราคาถูกกว่าเนื้อหมู และที่แพงที่สุดคือเนื้อวัว    ซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านเราสมัยนั้น (เกือบ ๕๐ ปีก่อน)   แต่ตอนนี้ที่บ้านเราก็เหมือนกัน

สมัยผมเป็นเด็ก แม่เล่าเพื่อให้เราภูมิใจว่าบ้านของเราไม่อดอยาก    แม่บอกว่า ที่เมืองจีนไม่มีข้าวกิน   ข้าวเป็นของหายากและราคาแพง    คนที่จะกินข้าวสวยได้นั้นต้องเป็นคนรวย    คนทั่วไปต้องกินข้าวต้ม   และคนจนต้องเอามันหรือเผือกต้มปนกับข้าวต้ม

แต่เดี๋ยวนี้ คนที่จะกินเผือกกินมันได้ต้องเป็นคนรวย   เพราะเผือกมันแพงกว่าข้าว   

วันนี้ผมได้กินมัน

ราวๆ ปี ๒๕๑๓ ผมไปเข้าฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น ๒ สัปดาห์ขององค์การอนามัยโลกที่นครอักรา ประเทศกานา    ไปพักที่หอพักและกินอาหาร ๓ มื้อ ที่มหาวิทยาลัยอักรา    เขามีทั้งข้าวและมันบดเละๆ ให้กินกับเนื้อและผัก    ถามว่าอะไรเขาบอกว่ายัม (yam) คือมันเทศ    ตอนแรกก็ไม่คุ้น แต่กินไปๆ ก็อร่อยดี   เขาบอกว่า ยัมเป็นอาหารหลักในประเทศของเขา

ผมได้เขียนบันทึกเรื่องประวัติศาสตร์มันฝรั่งที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย.​๕๔

หมายเลขบันทึก: 469356เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2011 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หัวกลอยก็อร่อยครับอาจารย์ ที่พัทลุง แถวๆเทือกเขาบรรทัด ยังนิยมหัววกลอยกันอยู่ ฝนๆอย่างกินกลอยต่างข้าวอร่อยดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท