ความรู้ทันกินทันใช้ (Knowledge Fast Food)


โครงการศึกษาวิจัยต่าง ๆ น่าจะทำกันไม่เกิน 1 เดือน งบประมาณไม่ต้องมากนัก อาจจะเป็นแค่หลักหมื่น หรือไม่ก็สักแสนต้น ๆ

ในอดีตข้าพเจ้าได้ยินหลาย ๆ ครั้งว่า เวลาจะมีโครงการพัฒนาดี ๆ ต่าง ๆ เกิดขึ้นสักโครงการหนึ่ง ก็จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อไปศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของโครงการนั้น แต่แล้วโครงการดี ๆ เหล่านั้นก็เริ่มจางไปเหมือนฝุ่นหรือควันที่จางไปกับสายลมและแสงแดด

 

เพราะโครงการวิจัยที่ไปศึกษากันนั้นใช้เวลาแรมปี แรมสิบปี กว่าจะได้ผลออกมา บางครั้งความหายนะก็เสนอหน้าเสนอตามายิ้มร่าอยู่หน้าบ้านเรา

จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าหากโครงการวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้หรือโครงการวิจัยต่าง ๆ จะทำแบบง่าย ๆ และเร็ว ๆ "สั่งปุ๊บ ได้ปั๊บ"

สั่งวันนี้ อาทิตย์หน้าได้ไหม สั่งวันนี้ สักสิ้นเดือนจะได้หรือเปล่า

Knowledge Fast Food น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับเมืองไทยที่กำลังต้องการความรู้อย่างเร่งด่วน

ความรู้แบบเดิมทำนาน ๆ โครงการใหญ่ ๆ อาจจะดีและประหยัดในลักษณะ Economy of Scale แต่ทว่าในยุคดิจิตอล น่าจะหันมาใช้เทคนิค Economy of Speed รวดเร็ว ว่องไว อย่าให้เฉิ่ม

โครงการศึกษาวิจัยต่าง ๆ น่าจะทำกันไม่เกิน 1 เดือน งบประมาณไม่ต้องมากนัก อาจจะเป็นแค่หลักหมื่น หรือไม่ก็สักแสนต้น ๆ

ตัดตรงไหนได้บ้างถึงจะเร็วขึ้น

สิ่งแรกที่ควรจะตัดก็คือการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ที่ตัด เพราะไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่ทว่าการที่จะเริ่มทบทวนวรรณกรรมกันใหม่ตลอด ทำไมเราไม่เลือกคนที่เคยทบทวนวรรณกรรมมาแล้ว

ใครคือคนที่เคยทบทวนวรรณกรรมมาแล้ว...?

ใครคนนั้นก็คือ นักวิชาการ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือและเป็นที่ปรึกษาวิทยาพนธ์ของบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตในมหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์นอกจากจะเคยทบทวนวรรณกรรมของตนเองในระดับปริญญาเอกแล้ว ยังจะต้องอ่านและทบทวนวรรณกรรมของลูกศิษย์อีกนับสิบนับร้อย เอาความรู้ตรงนั้นมาเลย จะประหยัดเวลาและงบประมาณได้อีกมาก

ดังนั้น ถ้าเราเลือกใช้คนที่มีทุนทางความรู้ (Knowledge Capital) อยู่แล้ว ก็เหลือแต่เพียงการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ การอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

ในทางปฏิบัติ การเก็บข้อมูลจริง ๆ อาจารย์มหาวิทยาลัยมีกำลังลูกศิษย์ที่ปราดเปรื่อง คล่องแคล่ว และว่องไวอยู่ในมือ อาจจะมีค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ค่าน้ำมันรถนิด ๆ หน่อย จัดแจกงานให้เด็กไปเก็บมา แล้วครูบาอาจารย์ก็ใช้ความรู้และประสบการณ์อันชาญฉลาด นั่งวิเคราะห์ สังเคราะห์ ส่งความรู้ ส่งผลงานให้หน่วยเหนือ แค่นี้ก็จบ

รูปเล่มสำคัญไหม...?

ถ้าเราคิดว่าต้องการหนังสือเล่มหนา ๆ หน้าปกมีตัวหนังสือสีทองแล้วเอาไว้ขึ้นหิ้งเหมือนแต่ก่อนก็สำคัญ

แต่ทว่าเราต้องการเป็นแค่ pocket book หรือหนังสือสกัดความรู้อย่างที่วิจัยชิ้นโต ๆ เขาทำแจกกัน พิมพ์สี่สีสวยงาม อาจารย์สกัดเสร็จ ส่งให้คณะออกแบบนิเทศน์ศิลป์ หรือเรียกเด็กนิเทศน์ศาสตร์มาร่วมมือ ร่วมคิด หรือจะเอาเร็วก็ส่งให้โรงพิมพ์ที่เป็นมืออาชีพไปเลย สามวัน ห้าวัน ก็ได้ออกมาเป็นร้อยเป็นพันเล่ม พร้อมโบสสะเตอร์มาติดหรูหรา อลังการณ์

ความรู้แค่นี้พอไหม...?

ข้าพเจ้าเชื่อว่าอาจารย์ไทยมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ตั้งแต่สมัยเรียนและทำงานมากพอที่เมื่อมีข้อมูลดิบเพิ่มเติมผ่านมือมาจะสามารถวิเคราะห์สังเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ

งานวิจัยที่ต้องการผลหลัก ๆ เพียงแค่บทที่ 4 (ผลการวิจัย) และ 5 (สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ) โดยบทที่ 1 (บทนำ)หน่วยงานให้ทุนก็จัดมาให้ชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไร กำหนดวัตถุประสงค์ให้แน่ชัด ซึ่งอาจจะกำหนดแนวทางบทที่ 3 (ระเบียบวิธีวิจัย) มาคร่าว ๆ ให้นักวิจัยอย่างเรียบร้อย ก็จะเห็นเลา ๆ แล้วว่า วิจัยเล่มนี้จะต้องใช้ทุนสักเท่าไหร่ ก็ให้ทุนเขาไป กำหนดไว้เลยว่า 1 เดือนต้องเสร็จ ถ้าให้ดีก็ให้ฝ่ายการเงินของตัวเองจัดแจงแบ่งประเภทงบมาให้นักวิจัยเลยก็ได้

ไว้ใจกันได้ไหมว่า 1 เดือนเสร็จ...?

เรื่องนี้ต้อง "วัดใจ" กัน ถ้าเสร็จ ก็มีเล่มต่อไป ถ้าไม่เสร็จก็จบ เสียเครดิต คราวหน้าไม่ต้องมาคุย ไม่ใช้งานกันอีก "ถ้าทำดี ทำเร็ว ผลงานมีคุณภาพ งานจะตามมาเรื่อย ๆ"

การพิจารณางบวิจัยหลักสมัยก่อน อาจจะพิจารณาปีละครั้ง หรือหกเดือนครั้ง เอาแบบใหญ่ ๆ ไปเลย ใครพลาดปีนี้ ก็ไปเขียนส่งมาปีหน้า ปีนี้ก็ว่างงานไปก่อน

แต่การวิจัยแบบ Fast Food ทำได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เพราะงบไม่เยอะ อาจจะเป็นเหมือนงบฉุกเฉิน หรือจะงบส่วนตัวแบบ ผู้อำนวยการ CEO คือ ต้องการความรู้เรื่องไหน ก็จ่ายไป แล้วก็ได้ความรู้มา

การคุมงบประมาณควรจะหลวม ๆ...

ในอดีตวิจัยเล่มโต ๆ ระเบียบเยอะ นักวิจัยหลายคนจะประสบปัญหาในทางปฏิบัติว่าที่ควรจ่าย จ่ายไม่ได้ กลับไปจ่ายได้ในเรื่องที่ไม่ควรจ่าย ดังนั้น งานวิจัยเร่งด่วน งบประมาณก็ไม่ควรจะมีระเบียบอะไรมากนัก วัดกันที่คุณภาพ เงินเท่านี้ ควรจะได้ผลงานประมาณนี้ วัดกันที่ความคุ้มค่า ดีกว่าไปวัดกันที่การถูกหรือผิดระเบียบ

งบหลวม ๆ แบบนี้จะรั่วไหลไหม...?

เรื่องนี้ขอใช้คำว่า "ผลตอบแทนที่คุ้มค่า" เพราะการทำงานเร็ว ๆ ให้ดี ๆ นั้นก็ต้องมีค่า Overtime ถ้าในกฏหมายแรงงาน อย่างน้อยก็ต้องจ่าย 1.5 เท่าสำหรับวันปกติ ถ้าเป็นวันหยุดก็ต้องจ่าย 2 เท่า และถ้าเป็นค่าล่วงเวลาในวันหยุดก็ต้องจ่าย 3 เท่าเลยทีเดียว

ดังนั้น การคุมเรื่องระเบียบงบประมาณ ก็ต้องไว้วางใจกัน ให้เกียรติกัน แบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

 

ความรู้ทันกินทันใช้แบบ Fast Food จะเป็น Junk Food หรือเปล่า...?

ความรู้ขยะคือ วิจัยได้ความรู้มาแล้วใช้ไม่ได้ ที่ใช้ไม่ได้ส่วนหนึ่งก็คือ "ช้า" ไม่ทันกาล

แต่ความรู้ Fast Food นี้ ทันกินทันใช้ อยากได้ มาเลย จึงตัดปัญหาข้อนี้ไปได้

แต่ถ้าหากจะคิดให้รอบคอบ ก็จะต้องใช้วิธีป้องกันคือ คัดเลือกนัยวิจัยครูบาอาจารย์ที่มีคุณภาพ เก่ง และเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ซึ่งจะดูจากประสบการณ์ สืบย้อนกลับไปถึงงานวิจัยในระดับปริญญาเอกและงานวิจัยที่เคยทำมา ก็จะสามารถทุ่นเวลาเรื่องการทบทวนวรรณกรรมอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น และงานวิจัยที่ได้ออกมาก็ตรงกับงานประจำที่ทำอยู่ ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนรู้เรื่องใหม่ สามารถต่อยอดจากความรู้ภายในได้ทันที

 

บางครั้งงานใหญ่ ๆ เวลานาน ๆ มันดูดี ดูเหมือนจะมีคุณค่า เหมือนกับอาจารย์เวลาสั่งงานนิสิตที่ปรึกษาให้กลับไปแก้วิทยานิพนธ์ ถ้าเด็กทำเร็วสั่งเช้าได้เย็น สั่งวันนี้พรุ่งนี้มาส่ง อาจารย์จะตั้งแง่ว่า "เฮ้ย ชุ่ย" ทำไม่ดี ทำเร็วเกิน ทั้ง ๆ เด็กอีกคนที่ทำเป็นอาทิตย์ ทำเป็นเดือนมาส่งที ถ้าคิดเฉพาะนาทีที่ทำงานก็ได้เท่า ๆ กันกับเด็กที่ทำวันเดียวเสร็จ แต่แช่ไว้นาน ๆ อาจารย์จะได้คิดว่าตั้งใจทำ คิดแล้ว คิดอีก (เพราะการวิจัยหมายถึง การทำซ้ำแล้ว ซ้ำอีก คิดแล้ว คิดอีก) ทำนานแล้วดูดี๊ ดูดี...!

งบประมาณควรจะให้อาจารย์เท่าไหร่...?

ถ้าหากพูดกันตรง ๆ แบบเปิดอกอีกเช่นเคย ก็ควรจะเอารายได้จากการสอนนักศึกษาภาคพิเศษของอาจารย์มาเป็นฐาน

ไม่ใช่เราจะไปว่าอาจารย์เห็นแก่รายได้จากการสอนพิเศษอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะต้นเหตุที่จริงมันเกิดจากระบบ "ทุนนิยม" เกิดจากองค์การธุรกิจ เกิดจากสื่อ ที่กระตุ้น ปลุกเร้าให้คนเราที่ไม่ใช่พระอิฐพระปูน เกิดกิเลส ตัณหา และกามราคะ ซึ่งอาจารย์เองก็เป็นคน ภรรยา สามี และลูกก็เป็นคน ต้องกิน ต้องใช้ จะให้เขาเฉือนเนื้อตัวเองมาทำงานให้ใครก็ใครก็ใช่ที่

ดังนั้น ถ้าหากจะดึงอาจารย์ผู้มีความรู้ความสามารถในระดับ ดร. ผศ. รศ. และ ศ. มาทำงานวิจัยนั้น ก็ต้องดูว่า เขามีรายได้เดิมเท่าไหร่ แล้วถ้ามาทำงานให้เรา เขาจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ งานวิจัยแบบสั้น ๆ ถึงเหมาะสม เพราะถ้าคิดเป็นปีแล้วเยอะ ทำงานทั้งปีแบบเดิม (วิจัยเล่มใหญ่ ๆ) ได้เงินแค่นี้ เขาก็ทำให้แค่นี้ ก็ถูกต้องของเขา

ถ้าหากเราคิดจบเป็นเดือน ๆ เดือนนึงชิ้นนึง ได้เงินไป มีรายได้พอกินพอใช้ ก็เป็นทางเลือกสำหรับการตัดสินใจที่ไม่เลวที่เดียว

ผลประโยชน์สูงสุดเกิดขึ้นที่ใคร...?

นอกจากเรา หรือหน่วยงานที่มอบหมายให้อาจารย์ไปทำวิจัยจะได้ผลงานดี ๆ เร็ว ๆ เยอะ ๆ แล้ว "นักศึกษา" จะได้ความรู้ที่ สด และใหม่อยู่เสมอ

เพราะระเบียบมหาวิทยาลัย (บางแห่ง) กำหนด (บังคับ) ให้อาจารย์ต้องทำวิจัยอย่างน้อย 3 ปี ต่อ 1 เล่ม

แต่ถ้าหากเรามีวิจัยสั้น ๆ แบบนี้ออกมา อาจารย์ก็จะทำได้ 12 เล่มต่อหนึ่งปี เด็ก ๆ ก็จะมีความรู้กินกันตลอดทั้งปีไม่มีเบื่อ

นอกจากนั้น การพูดคุย แลกเปลี่ยน Small Talk หรือจะเป็น Story telling ระหว่างการทำงานวิจัยของอาจารย์แต่ละคน ก็จะเกิดการหมุนวนเป็นเกลียวทางความรู้

นอกเหนือจากอาจารย์ด้วยกันเอง ลูกศิษย์ นักศึกษา ก็มีโอกาสได้ช่วยงาน มีรายได้ มีความรู้จากการปฏิบัติงานจริงอย่างหลากหลาย เหมือนมีข้าว มีก๋วยเตี๋ยว หลายรส หลายชาดให้กินตลอดทั้งปี ชีวิตนี้ก็ตื่นเต้น

การเรียนการสอนที่ต้องคอยมานั่งปิ้งแผ่นใส หรือคอยฉายสไลด์ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ หายไปจากมหาวิทยาลัยไทย

ความรู้แบบทันกินทันใช้ (Knowledge Fast Food) จึงเป็นอนาคตที่สดใสของนักวิชาการที่คิดจะรับใช้สังคมไทย...

Large_pp258

 

 

หมายเลขบันทึก: 469245เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2011 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เนื่องจากได้รับการติดต่อจากคุณผักหวาน ซึ่งเป็นทีมงานของรายการ "กบนอกกะลา" ว่ามีรายการกบนอกกะลานั้นเป็นแรงบันดาลใจอย่างไรเกี่ยวกับงานทำวิจัยของข้าพเจ้า

 

ซึ่งประจวบเหมาะกับการเขียนบันทึกนี้ (ความรู้ทันกินทันใช้) จึง่ขออนุญาตเชื่อมโยงเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดขึ้น

ก่อนอื่นขออนุญาตบันทึกสิ่งที่ "แว๊บ" ขึ้นมาในหัวเพิ่มเติมตอนนี้้สักเล็กน้อยก่อนว่า นอกจากกบนอกกะลา จะสามารถให้ความรู้ที่ทันกินทันใช้แล้ว ยังเป็นความรู้ที่ "กินได้จริง" ในสังคม ณ ปัจจุบันด้วย

คำว่า "กินได้จริง" ก็คือ เหมาะสมกับ "กาละ" และ "เทศะ"

ซึ่งรายการกบนอกกะลาสามารถตอบโจทย์ง่าย ๆ สำหรับคนหลากหลายสถานะในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน คนหาเช้ากินค่ำ คนหาค่ำแล้วมานอนตอนเช้า ซึ่งจุดเริ่มต้นสำหรับการวิจัยกับกบนอกกะลาเหมือนกัน คือ เกิดขึ้นจาก "ความสงสัย"

คนเราอาจจะมีความสงสัยกันมากมายไปตามสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองได้ประสบ

ทีมงานกบนอกกะลาเอง คงจะมีทีมงานที่ึคัดกรองเลือกเรื่องก่อนและหลังที่ "สมควร" ที่จะมอบอาหารคือ "ความรู้" ให้กับสังคม

สิ่งนี้สามารถตอบโจทย์การวิจัยในระดับชาติได้

เพราะจุดมุ่งหมายของการวิจัยไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ คือ นำความรู้มาให้ "สาธารณะชน"

เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์สำหรับทีมงานกบนอกกะลา ที่สามารถ "ไขปริศนาทางความรู้" ออกมาเป็นฉาก เป็นฉาก ทั้งภาพ และเสียง ซึ่งสามารถคลอดออกมาได้เฉลี่ย 7 วันต่อ 1 เรื่อง

ซึ่งตัวเลขนี้อาจจะดูเหมือนเร็วว่า 7 วันเสร็จ แต่ก็คล้าย ๆ กับการคิดเวลาจากสายการผลิตของรถยนต์ว่า มีรถยนต์ไหลออกจากการผลิตทุก ๆ 3 นาที ซึ่งความเป็นจริง นับตั้งแต่กระบวนการแรกถึงสุดท้าย อาจจะใช้เวลาหลายวัน

กบนอกกะลาก็เป็นอย่างนั้น นับตั้งแต่เริ่มหาข้อมูล จนกระทั่งถ่ายทำและออกอากาศก็อาจจะใช้เวลาแรมเดือน แต่ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ สามารถป้อนข้อมูลความรู้ให้คนไทย ๆ ทุก ๆ "สัปดาห์"

 

ถ้าหากคิดตัวเลขแบบง่าย ๆ ก็หมายความว่า ปีหนึ่ง ๆ กบนอกกะลาสามารถอัดความรู้ลงในหัวคนไทยได้ถึง 52 เรื่อง และเป็นเรื่องตามยุค ตามสมัย ตามความกระหายความรู้ของคนไทย

หากย้อนไปถามคำถามแรกว่า ทำไมข้าพเจ้าคิดเปรียบเทียบงานวิจัยกับรายการกบนอกกะลา

คำตอบนี้ก็คือ ข้าพเจ้าได้เห็นชาร์จขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่กบนอกกะลานำเสนอ เช่น การปลูกกระเทียม หรือการขนย้ายสินค้าต่าง ๆ ซึ่งดูง่าย ๆ และ "น่าดู" 

ซึ่งงานวิจัยเราก็มีแบบนี้ แต่ดูยาก และ "ไม่ค่อยน่าดู" สักเท่าไหร่ เพราะดูแล้วไง ๆ ก็เป็น "วิชาการ"

คุณค่าของงานวิจัยอยู่ที่การนำเสนอ

้ถ้าให้บอกตรง ๆ แบบไม่เกรงใจใคร รายการกบนอกกะลานำเสนองานวิจัยได้ดีกว่านักวิชาการไทยระดับ ดร. หลายร้อยเท่า

การทำงาน รวดเร็ว ว่องไว และไม่เฉิ่ม ของทีมงานทุก ๆ คน เป็นสิ่งที่การันตีผลงานที่ต้องออกมาทุกสัปดาห์

ขนาดเมื่อสักครู่นี้ ข้าพเจ้าส่งเมลล์ปุ๊บ ก็ได้รับการติดต่อกับมาปั๊บ (นับช่วงเวลาไม่ถึง 3 นาที) ถ้าหน่วยงานจัดการการวิจัยไทยทำงานได้รวดเร็วขนาดนี้ ประเทศไทยคงจะเข้าขั้น "ศิวิไลซ์"

หน่วยงานธุรกิจ กับหน่วยงานราชการ พูดถึงเรื่อง Economy of speed แตกต่างกันค่อนข้างมาก

ถ้าหากจะให้แน่ชัดลงไป ต้องลองเข้างบประมาณวิจัยของชาติทั้งหมด แล้วหารด้วยจำนวนงานวิจัยที่ได้รับต่อปี

ลองเปรียบเทียบกับงบบริหารงานของกบนอกกะลา แล้วหารด้วย 52 (ตัวเลขคร่าว ๆ) แล้วจะทราบว่า ผลิตผล (Productivity) ของใคร "เจ๋ง" กว่ากัน

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องกระตุ้นเตือนให้เห็นว่า ภาคเอกชนเขาเอาใจใส่และนำหน้าหน่วยงานราชการไทยไปหลายก้าว

จะพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทนก็ไม่ใช่จะต่างกันเยอะ เพราะหน่วยงานเอกชน ก็มีรายได้หลักจากค่าโฆษณา หรือส่วนต่างในการซื้อเวลาจากสถานีโทรทัศน์

ในเรื่องของคุณภาพ "หัวสมอง" ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะดีกรีนักวิชาการไทย โยนหินขึ้นฟ้า ก็ตกลงมาโดนหัว ดร. แทบทั้งนั้น

ต้องลองเอา KPI ที่มหาวิทยาลัยชอบอ้างกันว่า อัตราส่วนอาจารย์จบปริญญาเอกมีน้อยเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยดัง ๆ ระดับโลก ไปคิดดูกับทรัพยากรของทีมงานกบนอกกะลาดูบ้าง นักวิชาการในมหาวิทยาลัย น่าจะ "หนาว" ไปตาม ๆ กัน

สิ่งนี้อาจจะ "หนาว" เข้าไปถึงผู้บริหารการศึกษาไทย เพราะอาจจะบอกได้เลยว่า "ปริญญา" ไม่สำคัญเท่า "ความกระตือรือร้น"

ความรัก ความเอาใจใส่ในงาน มีค่าสำคัญกว่า "ปริญญา" เยอะ

เราส่งเสริมให้คนไปเรียนปริญญาเอก แต่อย่าลืมส่งเสริมจิตใจความรักและความเอาใจใส่ในงานให้มากตามไปด้วย

แต่เ่ช่นเดียวกัน หากลองเปรียบเทียบรายได้ระหว่างคณาจารย์ นักวิชาการ กับพนักงานรายการกบนอกกะลาก็อาจจะต้องเตรียมเสื้อกัน "หนาว" ไว้อีกหลายตัว

นักวิจัยชอบบ่นว่ารายได้น้อย ผลตอบแทนน้อย ต้องลองไปดูนักวิจัยตัวน้อย ๆ ของรายการกบนอกกะลาดูว่า รายได้เขา "น้อย" กว่าเราแค่ไหน

บันทึกนี้เขียนผิดหลักการเขียนบล็อคค่อนข้างมาก เพราะเป็น Negative Thinking เนื่องจากเกิดความผิดหวังต่อการใช้เงิน "ภาษี" ของนักวิชาการไทย เพราะอย่าลืมว่างบการวิจัยส่วนใหญ่มาจากภาษีของประชาชน

มิหนำซ้ำ ถ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย งบวิจัยที่ได้ก็คือ "ค่าเทอม" ของนักศึกษานั่นเอง

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ข้าพเจ้าก็ยังศรัทธาทีมงานกบนอกกะลาในฐานะนักวิจัยคนสำคัญของเมืองไทย ที่มอบความรู้ใหม่ ๆ กับสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา

เรื่องปอยส่างลอง ก็อาจจะสามารถเป็นตัวอย่างชิ้นเยี่ยมสำหรับนักวิจัยที่ต้องการศึกษาด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรม

ถ้าพิจารณาแบบเป็นกลางแล้ว กบนอกกะลา ทำงานวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่นักวิชาการเราไปประมาทเขาว่า ทำไม่ถูกต้อง "ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology)"

ระเบียบวิธีวิจัย จะสำคัญอะไรถ้าผลการวิจัยไม่ทันกินทันใช้ และไ่ม่มีใครต้องการผลการวิจัยนั้น

ผลงานวิจัยที่สามารถใช้กับชีวิตได้ไม่ใช่หรือที่คนเรานั้น "ต้องการ..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท