มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

เสียงชาวบ้านฉบับที่ ๕๖ : สิบปีกับเงินหมื่น


รัฐบาลไทยจะทะยอยส่งแรงงานจากประเทศพม่าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้กลับอย่างดี แต่ผมกลับเห็นคนในค่ายผู้ลี้ภัยซมซานกลับมากันเองด้วยหนี้มหาศาล หลายคนถูกเจ้าหน้าที่หรือคนที่บอกว่าตัวเป็นเจ้าหน้าที่ปล้นระหว่างทาง

สิบปีกับเงินหมื่น

 

 

แอ้เกอะลื่อตอ

ภาพโดย Peter Biro/IRC

 

เป็นยังไงมั่งแล้วหือ ไอ้หลานชาย ที่นั่นเป็นยังไง เอ็งจะกลับมาถึงเมื่อไหร่ รู้มั้ยวันก่อนน้าสาวกับน้าเขยของเอ็งนั่งรถหนีน้ำกลับมาหมดไปคนละห้าพัน แล้วยังโชคร้ายถูกจับส่งตัวไปที่ฝั่งพม่า ถูกหน่วยรักษาชายแดน (กองกำลังดีเคบีเอเดิม)  เรียกคนละสองพันห้า เท่านั้้นยังไม่พอ ข้ามกลับมาฝั่งไทยยังถูกตำรวจไทยเรียกเก็บอีกห้าร้อย แต่ที่ข้าส่งให้เอ็งไปก็น่าจะพอกลับมานะ เอ็งเลือกรถที่มันเชื่อถือได้หน่อย”

ยายขายขนมจีนในค่ายผู้ลี้ภัยเล่าให้ผมฟังว่าได้คุยกับหลานชายไว้แบบนี้ ในตอนนั้นแกยังหวังว่าหลานจะไม่ต้องเสียเงินหลายต่อหลายตอนเหมือนน้าของเขา แกสอบถามได้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่คนแถวนั้นต้องจ่ายค่ารถนายหน้าราว ๆ หัวละห้าพันจึงจะกลับมาค่ายได้ จึงไปกู้หนี้ยืมสินมาได้หนึ่งหมื่นบาท และจัดการส่งให้หลานกับลุงของเขาโดยด่วน

เห็นภาพข่าวน้ำท่วมกับคนงานถูกปล่อยทิ้งไว้หลาย ๆ ที่แล้วข้านอนไม่หลับ ลูกสาวข้าที่เป็นน้าของไอ้หลานนี่มันเพิ่งไปทำงานที่กรุงเทพฯได้แค่ 2-3 เดือนน้ำก็ท่วม ยังไม่ทันจะเก็บเงินได้เลย เงินที่หาได้ก็จ่ายเป็นค่ารถค่านายหน้าขาที่พาลงไปหมดแล้ว พอเขาให้หยุดทำงาน มันก็เลยต้องกลับ ค่ารถขากลับก็ขอติดหนี้เขาไว้ แต่ดูซิป่านนี้มันยังกลับไม่ถึงค่ายเพราะต้องอยู่ทำงานแถว ๆ ด่านจนกว่าจะจ่ายหนี้ทั้งหมดให้ได้ก่อน ไม่งั้นเขาไม่ปล่อยมันกลับมา”

วันนั้นหลานชายโทรมาบอกว่ามันกับลุงซื้อตั๋วรถได้แล้ว จะกลับแบบธรรมดา ๆ เพราะถูกกว่า ไม่ต้องเสียค่านายหน้า มันจะเสี่ยงเอา ยายกับแม่จะได้ไม่ต้องเป็นหนี้เยอะ แต่มันก็โชคร้ายถูกตำรวจจับอีก”

หลานชายของยายถูกจับพร้อมกับลุงแถวด้านหน้าสถานีขนส่งนั้นเอง แต่ยายบอกผมว่า ทั้งคู่จะกลับมาถึงค่ายพรุ่งนี้เช้าแล้ว โดยเสียเงินให้กับรถนายหน้าอีกหัวละห้าพันบาท รวมทั้งหมดเป็นหนึ่งหมื่น การเดินทางด้วยนายหน้าขนส่งนั้นแพงมาก ยิ่งในภาวะนี้พวกเขายิ่งโขกราคา แต่หลายคนก็ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องมองว่าคุ้ม เพราะการันตีความปลอดภัยได้พอสมควร เว้นแต่จะโชคร้ายเหมือนรายลูกสาวและลูกเขยของยาย

วันรุ่งขึ้นผมกลับไปหาหลานชายของยายที่ร้านขายขนมจีน เขากลับมาแล้วจริง ๆ

ตอนตำรวจเรียกผม ผมรู้แล้วว่าต้องมีปัญหาแน่ ๆ ผมพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่ลุงพยายามอธิบายว่าเราขอกลับบ้านเราเท่านั้นเองเพราะน้ำมันท่วม” ชายหนุ่มเล่าให้ฟัง “ลุงผมโทรศัพท์ขอให้เถ้าแก่และตำรวจที่รู้จักกับเถ้าแก่รับรองเรา แต่ตอนนั้นพวกตำรวจก็รื้อค้นห่อเสื้อผ้า แล้วเจอบัตรประชาชนของลุงที่เขาดูออกว่าปลอม เขาขู่ว่า ติดคุกเป็นสิบปีนะโว้ย มีบัตรปลอมน่ะ ผมตัวสั่นไม่รู้จะทำยังไง บัตรนี้เถ้าแก่จัดการให้ลุงทำ เพราะลุงพูดไทยได้ดี ช่วยงานเขาได้เยอะ ถ้ามีบัตรจะไปไหนมาไหนสะดวก เขาหักค่าแรงลุงไปเป็นค่าบัตรตั้งหกพันนะครับ ไม่ใช่ฟรี”

เราได้แต่ขอเขาว่า คุณตำรวจครับ อย่าจับเราเลย จะเอาอะไรไปก็ได้ เราให้คุณทั้งหมด แต่ผมต้องทำงานเลี้ยงแม่กับยายของผม ถ้าผมติดคุก เขาจะทำยังไง แม่ผมไม่ค่อยสบายด้วย เราบอกเขาว่าเราไม่มีเงินมากหรอก น้ำท่วมแบบนี้เถ้าแก่ไม่จ่ายเงิน มีแต่เงินที่ยายของผมส่งมาให้เป็นค่ารถกลับบ้านหมื่นนึง จ่ายค่าตั๋วรถกลับบ้านก็หมดไปพันแล้ว”

ตำรวจเรียกชายหนุ่่มและลุงไปที่ลับตาคน

เขาว่า.. กูจะปล่อยมึงไป แต่ไม่ต้องพูดมาก เดี๋ยวคนอื่นจะหาว่ากูเรียกเงินมึง นี่กูปล่อยเพราะสงสาร..”

ชายหนุ่มและลุงสูญเสียเงินทั้งหมด รวมทั้งตั๋วรถที่ติดอยู่ในกระเป๋าสตางค์ที่ตำรวจเอาไป ตำรวจให้เงินติดตัวเขาไว้ 100 บาท ใช้เป็นค่าแท็กซี่นั่งกลับไปหานายจ้างและติดต่อกับยายที่ค่ายผู้ลี้ภัยใหม่ ค่าแท็กซี่นั้นตกสองร้อยกว่าบาท เขาต้องขอให้นายจ้างออกให้ไปก่อน เมื่อได้เงินก้อนใหม่จากยายแล้วจึงคืนเงิน และฝ่ายลุงติดต่อหารถนายหน้ากลับมา

ผมฟังเรื่องราวทั้งหมดแล้วกลืนขนมจีนที่กำลังเคี้ยวอยู่แทบไม่ลง     ตอนนี้ยายติดหนี้แล้วรวมสองหมื่นบาท    แผงขนมจีนเล็ก ๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยไม่ใช่จะทำกำไรอะไรมากมาย ผมดูข่าวโทรทัศน์เรื่องน้ำท่วมอยู่ทุกวัน มีคนอธิบายว่า รัฐบาลไทยจะทะยอยส่งแรงงานจากประเทศพม่าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้กลับอย่างดี แต่ผมกลับเห็นคนในค่ายผู้ลี้ภัยซมซานกลับมากันเองด้วยหนี้มหาศาล หลายคนถูกเจ้าหน้าที่หรือคนที่บอกว่าตัวเป็นเจ้าหน้าที่ปล้นระหว่างทาง มีคนเล่าให้ฟังด้วยว่าที่ชายแดนนั้น เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยสั่งให้คนที่ไม่มีเงินจะให้หรือมีน้อยวิดพื้นคนละ 50 ครั้งและตบหัวคนละทีสองทีแทนค่าปรับ

เรามันคนไม่มีบ้านไม่มีเมืองจะอยู่ เรามันคนทุกข์ยากอยู่แล้ว ทำไมเขาถึงทำแบบนี้อีก” ยายถามผมเหมือนไม่ได้ต้องการคำตอบ แล้วแกก็พูดต่อว่า “เขาจะทำกับเรายังไง เราก็ต้องทนไป”

ผมถามหลานชายว่า แล้วเขากับญาติ ๆ เหล่านี้จะกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯอีกไหม เขาตอบผมว่า ถ้าน้ำลด ก็คงจะกลับไป เพราะพวกเขาติดหนี้คนไว้มากมาย จำเป็นต้องไปทำงานหาเงินมาใช้หนี้ “แต่ตัวผม ผมคิดว่าผมจะตัดสินใจสมัครไปประเทศที่สามดีกว่า ผมเองก็มีบัตรยูเอ็น จะไปก็ไปได้ ตอนนี้ผมคิดว่าผมไปดีกว่า”

คำกล่าวโบราณของพม่าว่าไว้ว่า  “ถ้าแผ่นดินยังลุกโชน คนเหมือนกันจะเหยียบย่ำกัน”  หลังการเกิดพายุนาร์กิสตอนนั้น  ตำรวจพม่าก็มารีดไถเงินและของบริจาคจากชาวบ้านแถวบ้านผม    ความช่วยเหลือที่ดูเหมือนมากมายก็เข้าไม่ถึงมือพวกผม   ตอนนี้เราหนีความทุกข์ยากและการกดขี่ข่มเหงมาอยู่เมืองไทย เราก็เจอกับสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งเราก็ไม่มีทางเลือกอะไรมากนอกจากต้องอดทน หรือว่าบนโลกใบนี้จะไม่มีสถานที่ใดที่จะปลอดจากการกดขี่ข่มเหงแบบนี้ 

หมายเลขบันทึก: 469240เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2011 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท