การบันทึกเพื่อใช้พัฒนาหน่วยสุขภาพปฐมภูมิเคลื่อนที่ในภาวะอุบัติภัยน้ำท่วม


การแก้ปัญหาและการเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ที่เกิดขึ้นหลายเดือนกระทั่งทุกวันนี้ การจัดการทางด้านสุขภาพของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ และการจัดการเชิงสังคมเพื่องานสาธารณสุขกับการดูแลคุณภาพชีวิตกายใจของประชาชนในหลายเหตุการณ์ จะเป็นการระดมความร่วมมือและระดมทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ระบบปฏิบัติการ ตลอดจนแนวคิดและวิธีปฏิบัติต่างๆ เป็นจำนวนมาก เกิดขึ้นโดยการร่วมกันแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ดังในบันทึกของทีมออกหน่วยสุขภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล [หน่วยแพทย์อาสามหิดล : ห่วงพ่อ และ หน่วยแพทย์อาสามหิดล : A day at Mahidol, Salaya] ซึ่งเครือข่ายทำงานมีความต่อเนื่องกับการทำงานบางส่วนที่ผมได้มีส่วนร่วมอยู่บ้าง จึงขอร่วมเป็นกำลังใจด้วยการร่วมเขียนบันทึกนี้ครับ

ประสบการณ์ดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นบทเรียนจากสถานการณ์จริงที่มีคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง เป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มคนและชุมชนจำนวหนึ่งเปรียบเสมือนผู้ที่ได้มีประสบการณ์ต้นแบบต่อปรากฏการณ์ทางสังคมและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งในการวิจัยทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ในแนวที่มุ่งวิจัยเพื่อสร้างความรู้บนความเป็นจริงทางการปฏิบัติ จะนับว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น กับกลุ่มคนที่มีตัวตนและได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์จริงต่างๆนั้น เป็นหน่วยการวิจัยและหน่วยข้อมูลความจริง ที่เราจะสามารถช่วยให้ได้ถอดบทเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบจัดการตนเองต่างๆของสังคม ที่สนองตอบต่อความจำเป็นสำหรับอนาคตและก่อเกิดโดยมีประสบการณ์ทางสังคมเป็นพื้นฐานรองรับ ได้เป็นอย่างดีที่สุดวิธีหนึ่งที่จะหาโอกาสอย่างนี้ในสถานการณ์อื่นๆไม่ได้

 

ขอบคุณภาพจากณัฐพัชร์ ทองคำ : หน่วยแพทย์และบริการสุขภาพเคลื่อนที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ดูแลสุขภาพชุมชนในภาวะน้ำท่วมเขตพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร

คนที่กำลังทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆของประเทศ ที่ได้เห็นความสำคัญในแง่มุมดังที่กล่าวมา อีกทั้งต้องการทำประสบการณ์ในการทำงานท่ามกลางวิกฤติปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ให้ลุล่วงไปด้วยดีอย่างที่สุด พร้อมกับมุ่งมั่นที่จะให้บทเรียน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคนานัปการที่ประสบแก่ตนเอง ได้มีความหมายมากที่สุดต่อการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆในอนาคต เชื่อว่าคงจะมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย บันทึกนี้จึงขอให้ข้อแนะนำบางประการสำหรับการทำบันทึกและทำวิกฤติที่กำลังเผชิญให้เป็นโอกาสในการได้ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาสิ่งต่างๆที่ต้องการในภายหลัง

ความสำคัญ

  • ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพแบบบูรณาการ มีความซับซ้อนเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของสังคมสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอย่างใกล้ชิด และมีความกว้างขวางกว่าการดำเนินงานสุขภาพที่ขับเคลื่อนผ่านความเป็นองค์กร หลายมิติจะเป็นสุขภาพที่บังเกิดขึ้นบนปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
  • เป็นหน่วยสุขภาพในระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนและสภาพปัญหาในชีวิตจริงมากที่สุด
  • ในอนาคตสามารถพัฒนาเป็นระบบปฏิบัติการเชิงสังคมเพื่อสุขภาพในภาวะวิกฤติและในสถานการณ์การเกิดอุบัติภัยต่างๆ โดยเฉพาะภาวะน้ำท่วมและการเกิดอุบัติภัยในพื้นที่ชุมชนต่างๆ
  • เป็นการผสมผสานบทบาทการทำงานของกลุ่มคนทุกสาขาเพื่อบรรลุเป้าหมายทางสุขภาพในภาวะประสบภัยซึ่งมีความหมายกว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่าสุขภาพในกรอบปฏิบัติทั่วไป
  • ชุมชน อสม. กลุ่มประชาคม กลุ่มพลเมือง ปัจเจก และเครือข่ายจิตอาสา สามารถมีส่วนร่วมได้มาก ทำให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่พลัง Health for All, All for Health จะมีบทบาทต่อระบบสุขภาพอย่างเต็มที่
  • ในอนาคต หากได้ถอดบทเรียนและพัฒนารูปแบบดำเนินการขึ้นอย่างเป็นระบบ พร้อมกับสร้างคนและพัฒนาระบบปฏิบัติการระดับพื้นฐานให้กับชุมชนในจังหวัดต่างๆของประเทศ ก็จะทำให้สังคมมีระบบป้องกันภัยและมีศักยภาพในการจัดการตนเองเพื่อสนองตอบต่อภาวะอุบัติภัยได้ดีกว่าเดิม ลดความสูญเสีย และทำให้เรื่องสุขภาพมีความหมายต่อการชี้นำการแก้ปัญหาของส่วนรวมที่เชื่อว่าจะมีความจำเป็นมากยิ่งๆขึ้นในอนาคตต่อสังคมไทย  

การเข้าถึงความเป็นจริง การสังเกต การบันทึกและถ่ายทอด

  • ประสบการณ์ตรงจากการประสบปัญหาและการแก้ปัญหาของตนเอง
  • การเข้าสู่พื้นที่และทำงานเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง
  • การร่วมเป็นทีมทำงานในพื้นที่ประสบภัยเพื่อทำหน้าที่สังเกตการณ์ด้วยตนเอง
  • การร่วมเป็นทีมทำงานในพื้นที่ประสบภัยเพื่อทำหน้าที่สังเกตการณ์และบันทึกถ่ายทอดข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เครื่องมือ อุปกรณ์ และวิธีการ

  • ตัวเราเอง
  • ทีมทำงาน นักวิจัย นักถ่ายภาพ นักวิชาการจิตอาสา
  • กล้องถ่ายภาพ กล้องวิดีทัศน์ เครื่องบันทึกเสียง
  •  ความมีสติและมีจิตละเอียด ใส่ใจต่อสิ่งที่กำลังประสบ
  • หลังผ่านประสบการณ์และเสร็จสิ้นกิจกรรมต่างๆแล้ว หากมีโอกาสนั่งคุยกับกลุ่มผู้ทำงานในพื้นที่ด้วยกัน ควรหาโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมอง เพื่อเห็นภาพรวมและเห็นรายละเอียดเชิงลึกทางด้านต่างๆได้ดีขึ้น
  • หากมีโอกาสทำบันทึกเหมือนการทำบันทึกภาคสนามสำหรับการวิจัยและลงเก็บข้อมูงในพื้นที่แบบทั่วไป ควรทำบันทึกรายวันตามเงื่อนไขที่ทำได้
  • หากอยู่ในสภาพที่ไม่เอื้อต่อการบันทึกโดยตรง ควรใช้กระบวนการกลุ่มพูดคุยเพื่อบันทึกประสบการณ์ไว้กับความหลากหลายของกลุ่มและทำให้ข้อมูลภายในตนเองฝังแน่นในประสบการณ์ให้มากที่สุด
  • ควรจัดโอกาสให้ตนเองได้นั่งทบทวนประสบการณ์รายวัน ให้สามารถลำดับความต้อเนื่องและเห็นภาพสิ่งต่างๆได้อย่างทั่วถึงที่สุด

ข้อมูลเพื่อการอ้างอิงที่ควรบันทึก

  • วันเวลา สถานที่
  • เหตุการณ์ ข้อมูลผู้เกี่ยวข้องโดยย่อ
  • ผู้บันทึก
  • แนวคิดและเทคนิคการบันทึกข้อมูล เช่น ใน ๒๘.บันทึกข้อมูลและถ่ายทอดด้วยขนาดภาพ และแง่มุมอื่นๆใน ศิลปะและสื่อเพื่อการพัฒนา http://www.gotoknow.org/blogs/books/4861/toc

ตัวอย่างแนวคำถามและประเด็นการสังเกตที่ควรมี

  • สภาพปัญหาและความจำเป็นต่างๆ เป็นอย่างไร เกิดขึ้นและพัฒนาการอย่างไร กลุ่มคนและชุมชนของปัญหามีสภาพเป็นอย่างไร
  • ธรรมชาติของปัญหาสุขภาพในสภาวการณ์อุบัติภัยน้ำท่วม เป็นอย่างไร
  • กระบวนการแก้ปัญหาและการเข้าเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ต้องทำอย่างไร ผู้คนที่เกี่ยวข้อง ต้องทำอย่างไร
  • การปฏิบัติในขั้นพื้นฐานที่สุดที่จะต้องเกิดขึ้นและจำเป็นต้องมีได้แก่อะไรบ้าง เป็นอย่างไร ต้องใช้คนปฏิบัติโดยพื้นฐานที่สุดกี่คน ทักษะที่สำคัญของบุคลากรทางด้านสุขภาพในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต้องเป็นอย่างไร
  • การมีส่วนร่วมของชุมชน ปัจเจก หน่วยงาน และเครือข่ายจิตอาสา ตลอดจนกลุ่มคนต่างๆ มีสภาพเป็นอย่างไร ความเข้มแข็งเป็นอย่างไร ปัญหาและจุดอ่อนจะเกิดจากอะไร เกิดอย่างไร ใครแก้ไขอย่างไร
  • การประสานความร่วมมือและระดมทรัพยากรอย่างเร่งด่วนทำกันอย่างไร ข้อมูลและการระบุความจำเป็นต่างๆในสถานการณ์จริงทำกันอย่างไร
  • การพัฒนาระบบและจัดองค์กรจัดการที่ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์จริงเป็นอย่างไร
  • เครื่องมือ อุปกรณ์ และทรัพยากรพื้นฐานที่สุดที่หน่วยสุขภาพเคลื่อนที่ในภาวะน้ำท่วมจำเป็นต้องใช้ได้แก่อะไรบ้าง
  • การให้บริการสุขภาพในสภาพแวดล้อมน้ำกำลังท่วมก่อเกิดผลกระทบและปัญหาต่อคนทำงานต่างๆอย่างไรบ้าง การจัดระบบสนับสนุนที่จำเป็นเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร เหล่านี้เป็นต้น

ในสภาพการทำงานจริง เราจำเป็นต้องมีความคล่องตัวสูง ทั้งด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัยจากอุบัติเหตุซ้ำซ้อนและเพื่อที่ทุกคนจะสามารถเป็นหน่วยปฏิบัติการด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงจำเป็ต้องลดเครื่องสัมภาระติดตัวให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็จะต้องพึ่งความตื่นตัวต่อการเรียนรู้เข้าใจสถานการณ์ พร้อมกับหาโอกาสทำหน้าที่บันทึกภาพและข้อมูลต่างๆไปบนกระบวนการปฏิบัติ ให้ได้มากที่สุด ข้อคำถามและแง่มุมเหล่านี้จึงอาจจะช่วยการทำงานในหัว ทำให้ผู้ประสบภัยและผู้ได้เข้าไปช่วยชุมชนในพื้นที่ต่างๆของประเทศ ได้ถือโอกาสทำหน้าที่ผู้บันทึก ในสถานการณ์ที่สำคัญครั้งนี้ ได้อย่างดีที่สุด ได้บ้าง.

หมายเลขบันทึก: 469135เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2011 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็นแนวคำถามและประเด็นการสังเกต...ที่สร้างแรงบันดาลใจมากครับอาจารย์

ขอบคุณคะอาจารย์ แนวทาง Community-Based Approach น่าสนใจมาก

  • อ่านบทความนี้ นึกโยงไปถึง การศึกษาปรากฏการณ์ทางสุขภาพอื่นๆ ที่การแพทย์ปฐมภูมิน่าจะใช้ความได้เปรียบในการอยู่ใกล้ชิดชุมชนและสภาพปัญหาในชีวิตจริงมากที่สุด "ต่อให้ติด" กับสถาบันการศึกษา..ที่สำคัญคือ การบันทึกข้อมูล แยกส่วนที่เป็น "Fact" และ "Opinion"
  • ขออนุญาตลองประยุกต์การบันทึกข้อมูลด้วยภาพถ่าย นะคะ
  • เช่น การใช้พืชสมุนไพรโปะแผลของชาวเขา
    การบันทึกส่วนที่เป็น Fact ด้วยภาพถ่าย มีทั้ง
    1) ภาพรวมให้เห็น บริบท บ้านช่องของคนไข้ที่ใช้สมุนไพร
    2) ภาพเฉพาะส่วนแผล clinical ของแผลและลักษณะทาสมุนไพร 
    3) ภาพขยาย ซึ่งอาจหมายถึงนำชิ้นเนื้อไปศึกษาทางจุลชีววิทยา 
  • ยังมีคำถามในใจนิดหนึ่งคะ ว่าควรเลือกเก็บภาพถ่าย มุมใด อย่างไร ให้สะท้อนความเป็นจริง ทุกแง่มุม ไม่ bias ให้มากที่สุด

สวัสดีครับทิมดาบครับ

  • หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมนี้แล้ว เชื่อว่าหลายแห่งที่ได้ประสบภัยและได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน คงได้หาโอกาสนำเอาประสบการณ์มาทบทวนและถอดบทเรียน
  • หลังจากนี้ ทิมดาบก็คงจะมีโอกาสช่วยจัดกระบวนการถ่ายทอดเรื่องเล่า ถอดบทเรียน บันทึกบทเรียน และวางแผนเพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติให้กับชาวบ้านและกลุ่มคนทำงานที่ได้ผ่านเหตุการณ์อยู่มากมายหลายแห่งบ้างเช่นกันนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอปัทมาครับ

  • จากตัวอย่างที่ลองยกมาซ้อมมือของคุณหมอนี่ ก็ต้องทำประเด็นย่อยที่จะเล่า ให้ครอบคลุมหลายๆประเด็น จากนั้น แต่ละประเด็นย่อยๆที่จะบันทึกและถ่ายทอดด้วยการถ่ายภาพ จึงค่อยใช้ขนาดภาพ ๓ ขนาดเป็นอย่างน้อยบันทึกข้อมูลภาพของแต่ละประเด็นย่อยน่ะครับ
  • อย่างจากตัวอย่างของคุณหมอนี้ อย่างน้อยก็แตกประเด็นเพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆได้ ๓ เรื่อง คือ (๑) ข้อมูลผู้ใช้สมุนไพรรักษาแผล (๒) สมุนไพรที่นำมาใช้ และ (๓) แผลที่ใช้สมุนไพรรักษา
  • หากแก่นหลักอยู่ที่การเล่าเรื่องผ่านแผลที่ได้โปะด้วยสมุนไพรนั้น ภาพรวมเพื่อแสดงบริบทและสภาพแวดล้อมควรจะอยู่การแสดงตำแหน่งที่ตั้งของแผลบนร่างกาย ระเบียบวิธีของการบันทึกก็จะสามารถนำมาใช้อย่างเป็นระบบได้เต็มที่ เช่น ต้องเริ่มต้นจัดท่าสำหรับบันทึกข้อมูลถ่ายภาพด้วยท่า Anatomical Position แบบต่างๆ แขนชิดลำตัวและผายมือ ท่ายืน นอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคงซ้ายขวา จากนั้น จึงค่อยเลือกบันทึกและเล่าเรื่องตำแหน่งที่ตั้งว่าแผลอยู่ตรงไหน
  • จากนั้นจึงค่อยลงไปที่แกนหลักของปรากฏการณ์คือ แผลและลักษณะพยาธิสภาพ เช่น ขนาดเชิงเปรียบเทียบจากด้านบน ความนูนจากด้านข้าง จากนั้นจึงบันทึกอาการแสดงทางคลินิคที่สำคัญ เช่น ลักษณะของสี ความด้าน ความใส ความใสแบบบวมอักเสบ มีหนองข้างใน บวมช้ำ ความใสแบบมีน้ำเหลืองข้างใน เป็นต้น
  • การบันทึกข้อมูลผู้ใช้สมุนไพร  (๑) ภาพกว้าง : อาณาบริเวณบ้าน (๒) ภาพแสดงแกนหลักบุคคล : ผู้ใช้ยาสมุนไพรนั่งรวมกลุ่มอยู่กับครอบครัวและญาติพี่น้อง (๓) ภาพเจาะจงระยะใกล้ : ภาพใบหน้าหรือภาพครึ่งตัวของผู้ใช้สมุนไพร 
  • การบันทึกข้อมูลสมุนไพร (๑) ภาพกว้าง : ลำต้นทั้งต้น (๒) ภาพขนาดกลางแสดงลักษณะเฉพาะ : ดอกอยู่กับลำต้น ใบอยู่กับลำต้น รากอยู่กับลำต้น ลำต้นมีกิ่งก้าน เป็นต้น (๓) ภาพขยายรายละเอียด : ถ่ายใกล้เฉพาะดอก ใบ ราก ลำต้นซึ่งหั่นเป็นแว่นๆ เป็นต้น
  • การถ่ายภาพเพื่อใช้บันทึกข้อมูลและทำวิจัย เพื่อป้องกันอคติและปนข้อมูลผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง ในหลายเรื่อง ก็ต้องมีข้อที่ต้องปฏิบัติเคร่งครัดและให้ความรัดกุม ที่สามารถศึกษาและพัฒนาไปได้มากเลยทีเดียวครับ เช่น ถ่ายภาพด้วยทางยาวโฟกัสของเลนส์แบบสายตาปรกติเสมอ คือ ใช้เลนส์หรือปรับขนาดทางยาวโฟกัสที่ ๕๐ มม.เสมอ, ใช้แสงธรรมชาติและควบคุมความเป็นกลางของสีอยู่เสมอ, ไม่ตบแต่งภาพด้วยเทคนิคพิเศษใดๆ, และต้องไม่ลืมที่จะบันทึกข้อมูลต่างๆไว้ในแต่ละภาพเสมอๆ
  • อันที่จริงมีอีกเยอะมากทีเดียวครับ นานๆได้คุยแล้วก็สนุก
  • แต่สำหรับการทำไปก็ค่อยๆหาเคล็ดวิชาของตนเองไปนั้น ก็ถ่ายภาพเก็บไว้ก่อนนี่ก็ดีครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์เซียนศิลป์

เชื่อมั่นในเรื่อง ชุมชนเป็นฐาน มีส่วนร่วมในทุกๆ งาน จะขับเคลื่อนได้อย่างดีและยั่งยืนเจ้า

อ. สบายดีนะคะ ส่งกำลังใจเจ้า

เจริญโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์

เป็นบันทึกการถอดบทเรียนที่น่าสนใจมากครับ อาตมากำลังอยากที่จะเรียนรู้อยู่พอดี

ที่พรหมพิรามนํ้าท่วม 3 เดือน ปัจจุบันแห้งแล้วครับ...เจริญพร

แวะมาอ่านบันทึกการเรียนรู้ "แนวทางสุขภาวะขั้นปฐมภูมิ" พร้อมขอขอบพระคุณอาจารย์มากครับในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ บ้านห้วยส้ม

ผมได้บันทึกพร้อมขึ้นไฟล์รูปไว้ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/469571

สวัสดีครับคุณ Poo
ในสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังจะผ่านไปครั้งนี้ ก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่บอกว่าสังคมไทยทิ้งทุนทางสังคมและสร้างการอยู่ด้วยกันอย่างขาดทุนความเป็นชุมชน ที่น่าจะเป็นจุดแข็งอีกด้านหนึ่งของตนเองไปมากเลยนะครับ และการขาดปัจจัยด้านทุนทางสังคมอย่างนี้นี่ เลยทำเห็นได้อย่างดีเลยครับว่าแม้มีกลไกสังคมที่ทันสมัย มีผู้คนมากกว่าเมื่ออดีต มีเงินทองและเครื่องมือที่ดีกว่าเมื่ออดีต ก็ทำให้แทบหมดประสิทธิภาพ ไม่มีกำลังสู้ปัญหา และเกิดปัญหาที่สร้างความทุกข์ต่อกันจากความไม่สามารถจัดการตนเองของผู้คนในชุมชนต่างๆ มากเสียกว่าเกิดปัญหาที่มาจากน้ำท่วมโดยตรงเสียอีก

กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ
ขอแสดงความยินดีกับชาวพรหมพิรามครับ แถวบ้านผมที่หนองบัว บ้านเรือนไม่เสียหายมาก แต่ข้าวปลานั้นล่มจมไปหลายเจ้าเหมือนกันครับ สงสาร แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ป๊อปครับ
ต้องขอบคุณอาจารย์กับคุณเปิ้ลมากเลยนะครับที่อุตส่าห์รำลึกถึงกันและไปเยี่ยม แวะไปกินกาแฟด้วยกัน หากมีโอกาสขึ้นไปอีกอาจารย์แวะไปนอนและนั่งเสวนากันอีกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท