๒๑๔.กว๊านพะเยา สายน้ำแห่งปัญญา (เพื่อ)พัฒนาชุมชน


รูปศัพท์ของคำว่า "กว๊าน" เป็นภาษาท้องถิ่นเป็นกิริยาหรือการแสดงออก จะเรียกว่าการไหลรวม หรือ การหลอมรวมของแม่น้ำทั้ง ๑๒ สายก็ได้ ซึ่งมันสื่อให้เห็นว่า น้ำไม่ว่าจะสายไหน (ลำน้ำแม่ต๋ำ ลำน้ำแม่ต๋อม ลำน้ำแม่เยี่ยน ลำน้ำร่องห้า ลำน้ำหนองเล็งทราย ฯลฯ) เดิมเรียกว่าอย่างไรไม่สำคัญ แต่เมื่อรวมกันแล้วเรียกว่า "กว๊านพะเยา" ตรงนี้หมายความว่าคุณจะมาจากภาคไหนของประเทศไทย หรือส่วนไหนของโลกเมื่อคุณมาอยู่ตรงนี้ มาพำนักอยู่ตรงนี้แล้ว จะขอเรียกว่า "เป็นคนพะเยา"

    

     วานนี้ (๑๙ พย.๕๔) กองกิจการนิสิต งานวินัยและพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดโครงการ มหาวิทยาลัยเติมใจให้สังคม เสริมสร้างคุณธรรมในใจนิสิต นักศึกษา (มหาวิทยาลัยภาคเหนือ) ครั้งที่ ๒ โดยใช้ชื่องานว่า "กว๊านพะเยา สายน้ำแห่งปัญญา พัฒนาชุมชน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้นิสิต นักศึกษา ได้รู้จักเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนรอบกว๊านพะเยา รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

     ในปีนี้เป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นเจ้าภาพ ส่วนปีที่แล้ว ๒๕๕๓ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เป็นเจ้าภาพครั้งที่ ๑ ส่วนปีหน้า (๕๕) ครั้งที่ ๓ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ จะเป็นเจ้าภาพ

     อย่างไรก็ตามในการจัดกิจกรรมครั้งที่ ๒ นี้มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ๑๐ สถาบันเข้าร่วม คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง, มหาวิทยาลัยนเรศวร, วิทยาลัยพยาบาลสวรรค์ประชารัตน์ นครสวรรค์, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่, มหาวิทยาลัยนอธ์ทเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา

     การเปิดเวทีครั้งนี้มีผู้ร่วมให้ทัศนะ ๒ ท่านคือผู้เขียน ในฐานะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ของเมืองพะเยาในมิติประวัติศาสตร์ ศาสนา ประเพณีและวัฒนธรรม ส่วนอีกท่านหนึ่งคือคุณชัยวัฒน์ จันทิมา นักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผู้ทำงานวิจัยเรื่องกว๊านพะเยามาอย่างต่อเนื่อง โดยมี ผศ.มนตรา พงษ์นิล รองคณะบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.พะเยา ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสังคม ชุมชน คนพะเยามาหลายโครงการ เป็นผู้ดำเนินรายการ

     การเปิดเวทีวันนั้น ผู้เขียนได้ให้ทัศนะว่า ชื่องานวันนี้คือ "กว๊านพะเยา สายน้ำแห่งปัญญา (เพื่อ)พัฒนาชุมชน"  ซึ่งผู้เขียนจะไม่กล่าวถึง "กว๊านพะเยา" ในแง่ของระบบนิเวศวิทยา, ในแง่ของเศรษฐกิจ, ในแง่มุมของการท่องเที่ยว ฯลฯ แต่ผู้เขียนจะขอพูดถึงกว๊านพะเยาในแง่ของประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิต  ดังนั้น หากดูตามหัวข้อดังกล่าวแล้วทำให้เห็นคำทั้ง ๓ คำนี้ในบริบทที่เป็นคน+ภูมิปัญญา=ผลของการกระทำ หมายความว่า

     ๑.คำว่า "กว๊านพะเยา"

      ในความหมายนี้ หมายถึง "คนที่มารวมตัวหรืออยู่เมืองพะเยา" หากดูความเป็นมาแล้ว ลำน้ำ ๑๒ สายที่ไหลมาจากที่ต่าง ๆ มารวมกันที่หนองน้ำแห่งนี้ จนกลายเป็นกว๊าน รูปศัพท์ของคำว่า "กว๊าน" เป็นภาษาท้องถิ่นเป็นกิริยาหรือการแสดงออก จะเรียกว่าการไหลรวม หรือ การหลอมรวมของแม่น้ำทั้ง ๑๒ สายก็ได้ ซึ่งมันสื่อให้เห็นว่า น้ำไม่ว่าจะสายไหน (ลำน้ำแม่ต๋ำ ลำน้ำแม่ต๋อม ลำน้ำแม่เยี่ยน ลำน้ำร่องห้า ลำน้ำหนองเล็งทราย ฯลฯ) เดิมเรียกว่าอย่างไรไม่สำคัญ แต่เมื่อรวมกันแล้วเรียกว่า "กว๊านพะเยา" ตรงนี้หมายความว่าคุณจะมาจากภาคไหนของประเทศไทย หรือส่วนไหนของโลกเมื่อคุณมาอยู่ตรงนี้ มาพำนักอยู่ตรงนี้แล้ว จะขอเรียกว่า "เป็นคนพะเยา"

     หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ย้อนขึ้นไปอีกเกือบ ๑,๐๐๐ ปีที่แล้ว เราจะเห็นว่าบรรพบุรุษของเราอพยพมาจากที่อื่น คือเมืองหิรัญเงินยาง เชียงแสน ก่อนจะมาตั้งเมืองต้องดูชัยภูมิก่อนคือมีภูเขา ซึ่งอาจจะสมมติให้เป็นเหมือนภูเขาสิเนรุ หรือศูนย์กลางจักรวาลตามคติของพราหม (ดูบันทึกที่ว่าด้วยสังคมทางการเมืองการปกครองในอาณาจักรภูกามยาว รัฐพะเยาในอดีต ของผู้เขียน) ต้องมีแหล่งน้ำคือกว๊านพะเยา, มีภูเขาล้อบรอบ เหมือนกำแพงเมืองธรรมชาติ และที่สำคัญมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่-พระเจ้าตนหลวง เป็นศูนย์รวมใจ (ประเด็นหลังนี้น่าจะเป็นคติสอดแทรกเข้ามาทีหลัง เนื่องจากพระเจ้าตนหลวงถูกสร้างขึ้นยังไม่ถึง ๖๐๐ ปีมานี้) จนเมืองพะเยาในยุคนั้นเป็นอาณาจักรภูกามยาว ๑ ในมหาอำนาจของภาคเหนือตอนบน (สุโขทัย-ภูกามยาว-ล้านนา) ซึ่งประเด็นนี้เนวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ถ่ายทอดบทกลอนเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนว่า "เมืองพะเยา เมืองพญา เมืองมหาอาณาจักร สายน้ำแห่งความรัก ที่รวมใจรวมแผ่นดิน..."

     ส่วนคำว่า "สายน้ำแห่งปัญญา"

     นั้นเป็นสายธารของการระดมความคิด หรือที่เรียกว่า "ฮอมผญา" (ให้อ่านว่า ฮอม-ผะหย๋า) ของผู้คนในระดับต่าง จากทุกวงการ ทุกสังคม โดยมีจิตอาสา ซึ่งเป็นทุนทางสังคมของคนพะเยาเป็นแรงขับเคลื่อนจนทำให้เกิดเป็นพลังในการสร้างสรรค์ขึ้น จนก่อให้เกิดเป็น "ภูมิปัญญา" ของตนเองขึ้น (ดูบันทึกที่ว่าด้วยทุนปัญญาในระดับทรัพยากร-คน-เงิน-ภูมิปัญญา-จิตอาสา ของผู้เขียน) 

     ประการต่อมา มหาวิทยาลัยพะเยา โดยใช้ภาษาอังกฤษว่า University of Phayao ทำไมไม่ใช้คำว่า Phayoa University นั่นก็หมายความว่า "มหาวิทยาลัยเป็นของคนพะเยา" ยิ่งมีปณิธานว่า "ปัญญาเพื่อชุมชน" ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ต้องทำเพื่อชุมชนโดยมีฐานทางด้านปัญญามาดำเนินการ ทำอย่างไรจะให้ประชาชน คนท้องถิ่นเกิดสติและปัญญาขึ้นมา ซึ่งผู้เขียนได้เสนอแนะว่าการดำเนินการที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้สร้างปัญญาให้เกิดแล้ว ๒ ระดับ แต่ระดับที่ ๓ นี้ ผู้เขียนยังอยากเห็นให้เป็นรูปธรรมให้มากยิ่งกว่านี้ คือ

     ๑.หากการสอนในระดับปริญญาตรี โท เอก หรือในระดับใดใดก็ตาม เมื่อเทียบแล้วคือสุตมยปัญญา ทางพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต มาแล้วนับไม่ถ้วน

     ๒.ส่วน จินตมยปัญญา หากเทียบแล้วก็คือการวิจัย เท่าที่ผ่านมาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้ทำวิจัยกันมากมาย ตลอดทั้งคนพะเยาเข้าร่วมกันทำ ซึ่งมีผลงานการวิจัยและงานเขียนเกี่ยวกับพะเยาจำนวนกว่า ๑๐๐ ผลงาน นี้เป็นปัญญาในระดับที่ ๒ ที่มีอยู่  แต่...

     ปัญญาในระดับที่ ๓ ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ยังนำมาใช้ให้เกิด ให้มี ให้เป็นรูปธรรม ยังมีไม่มากนัก ปัญญาระดับที่สามนี้เอง ที่คนพะเยาต้องการมากที่สุดในเวลานี้

     จากสิ่งที่กล่าวมา ๒ ประการคือ "กว๊านพะเยาและสายน้ำแห่งปัญญา" จึงหมายถึง คน+ภูมิปัญญา นั่นเอง ส่วนคำที่สามคือ "(เพื่อ) พัฒนาชุมชน" ในเมื่อเรามี คนที่มีจิตอาสาที่มีปัญญาพร้อมแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าจะพัฒนาชุมชนอีกเลย เพราะการพัฒนาจะดำเนินการไปเองโดยอัตโนมัติ ... 

หมายเลขบันทึก: 468831เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มารับทราบเรื่องราวครับ นมัสการครับ

ขอบคุณครับท่านมหาวินัย ที่ได้แวะเวียนมาทักทาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท