momay
นางสาว จันจิรา เตงเอียด

ครูที่ดี


การเป็นครูที่ดีนั้นต้องทำอย่างไร

               

 มกราคม ๒๕๕๑

                ปัจจุบันนี้ โลกของเราถือเป็นยุคของโลกไร้พรมแดนที่ถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ทำให้ประเทศเกิดความเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วในทุกด้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากความทันสมัยนั้น ก็คือคนในสังคมขาดคุณธรรมจริยธรรม มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม และด้วยการเปิดรับการไหลบ่าของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามาทางข้อมูลข่าวสาร ทำให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เกิดการเลียนแบบวัฒนธรรมต่างชาติโดยไม่มีการคัดกรองว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี เนื่องจากไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในเบื้องต้นให้แก่เด็ก
                จากสภาพการณ์ดังกล่าว ครู จึงถือว่ามีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ในฐานะเป็นผู้ที่สั่งสอนหรือถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ รวมทั้งเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ ภูมิปัญญา เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถตระหนักได้ว่าควรจะเลือกรับวัฒนธรรมต่างชาติที่ดี ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของตนเอง แต่ทั้งนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ครู จะต้องทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีและเหมาะสมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเสนอบทบาทหน้าที่ของครู จรรยามรรยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู ว่าการเป็นครูที่ดีนั้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง
                หน้าที่ของครูอาจารย์ที่พึงมีต่อศิษย์
                ๑. แนะนำดี คือ การให้คำแนะนำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ดีๆ ให้แก่ ลูกศิษย์
                ๒. ให้เรียนดี คือ การแนะนำส่งเสริม สนับสนุน ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ ลูกศิษย์ ให้มีผล
การเรียนที่ดี
                ๓. บอกศิลปะให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง โดยการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งหมดที่ตนเองมีอยู่ให้แก่ลูกศิษย์
                ๔. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ให้การสนับสนุนและยกย่องลูกศิษย์ที่มีความประพฤติดีให้ปรากฏแก่เด็กคนอื่นๆ เพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง
                ๕. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย  ปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกศิษย์ จาก        สิ่งแวดล้อมและสิ่งยั่วยุที่ไม่ดีทั้งหลาย

               

                จรรยามรรยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู
                ๑. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
                ๒. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
                ๓. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งอุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้
                ๔. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใดๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
                ๕. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
                ๖. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
                ๗. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตนและไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน
                ๘. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
                ๙. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
                ๑๐. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

               

                จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คงจะทำให้เห็นว่า ครู ถือเป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างมาก ในการเป็นผู้ที่อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน เพราะในชีวิตของคนเรานั้น ถือว่าบิดา มารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะเป็นผู้ที่ให้กำเนิด ให้ความรัก ความเมตตา ความห่วงใยและเสียสละเพื่อลูก ครูก็ถือเป็นผู้ที่เสียสละเช่นกัน เพราะหากครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตน และมีจรรยามรรยาทอย่างเคร่งครัดแล้ว เด็กก็จะนำไปเป็นแบบอย่างยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เด็กก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
แม้ว่าในปัจจุบันนี้ จะมีครูที่กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้น จะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย เพราะยังมีครูอีกเป็นจำนวนมากที่มีจิตสำนึกของความเป็นครูอย่างแท้จริง พร้อมที่จะเสียสละและอุทิศตน ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้ต่อไปในอนาคต
และในโอกาสที่ วันครู ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีที่จะเวียนมาถึงนี้  ลูกศิษย์ทั้งหลายจึงสมควรน้อมจิตรำลึกถึงพระคุณและแสดงความเคารพสักการะต่อครูผู้มีพระคุณ ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

กฤษณา  พันธุ์มวานิช
กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 468827เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีบ้างครูบางคนที่เห็นนั้นก็แค่น้อยนิดค่ะ

แต่มีอีกมากมายที่เป็นครูที่ดีพร้อม

เพราะคนทำดีย่อมไม่ตกเป็นข่าวมากมาย

เลยไม่มีใครรู้

ก็ขอยกย่องให้ครูดีทุกคนในวันครูนี้นะค่ะ

มารับทราบเรื่องราวดีๆ ขอให้มีความสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท