คำบอกกล่าวจากชาวกรุงเก่า: อยู่กับน้ำอย่างเป็นสุข...ทำได้จริงหรือ?


ผู้ให้ข้อมูลในชุดนี้เป็นคนข้างกายของผู้เขียนเอง ชื่อของเขาคือ ดุลย์พิชัย โกมลวานิช เขาเต็มใจเปิดเผยว่า อายุ ๕๗ ปี ดำรงชีวิต อยู่ในพื้นที่รับน้ำ เป็นทั้งบ้านที่อยู่อาศัยของมารดา ญาติพี่น้อง บุตรบริวาร และครอบครัว ตลอดจนโครงการต่างๆที่รับผิดชอบ เป็นตัวอย่างให้เห็นได้ในปีก่อนๆ โดยเฉพาะในปีน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย พ.ศ.๒๕๕๔ ครบถ้วนทุกตัวอย่าง ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

 

ลมหนาวเริ่มพริ้วมา ม่านหมอกยามเช้าเหนือแม่น้ำป่าสัก หน้าบ้าน

 

๑.     มีบ้านที่อยู่อาศัยปัจจุบันอยู่ริม แม่น้ำป่าสัก อำเภอท่าเรือ

๒.    มีอาคารทำงานอยู่ใกล้การบรรจบของแม่น้ำป่าสัก ลพบุรี และ เจ้าพระยา (อยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบและพัฒนาเอกลักษณ์เมือง) ฝั่งตรงข้ามกับ เกาะเมืองอยุธยา

๓.    มีบ้านที่บุตรบริวารอาศัยอยู่กลางสะดือเมือง ในเกาะเมืองอยุธยาซึ่งล้อมรอบด้วยแม่น้ำทั้งสามสาย - เจ้าพระยา ลพบุรี ป่าสัก

๔.    มีบ้านในถิ่นเกิดซึ่งปลูกให้มารดา อยู่ที่ริม คลองขนมจีน อำเภอเสนา (ติดต่อกับ แม่น้ำน้อย)

๕.    ทำการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างสำคัญ คือ ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯ-เขมรังสี อยู่กลางทุ่งนา บ้านชุ้ง อำเภอนครหลวง

๖.     มีพื้นที่เป็น ทุ่งกว้าง ในบริเวณทุ่งขวัญ ติดโบราณสถานสำคัญ คือ วัดพระยาแมน และ วัดจงกลม (ไม่ไกลจากวัดหน้าพระเมรุ)

๗.    มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบ ชื่อ นาธรรมบ้านแพรก ของ โรงพยาบาลบ้านแพรก อำเภอบ้านแพรก (ใกล้แม่น้ำลพบุรี)

๘.    มีพื้นที่ดูแลรับผิดชอบ ชื่อ โครงการทับขวัญ อำเภอเมือง นนทบุรี อยู่ปลายน้ำของอยุธยา เส้นแม่น้ำเจ้าพระยา

 

เขาได้จัดจัดประเภทของวัยและกลุ่มคนส่วนใหญ่ไว้ ๓ ประเภท

๑.     พวกลืมภูมิ คือ คนพื้นถิ่น อายุ ๕๐ ปีขึ้นไป ที่เปลี่ยนชีวิตโดยสิ้นเชิง หันหลังให้ภูมิตนเอง

๒.    พวกไม่รู้ภูมิ คือ พวกที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับภูมิวัฒนธรรม นิเวศวัฒนธรรม ชีวิตวัฒนธรรม ของตนเองเลย คนกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นทายาทของคนลืมภูมิ ซึ่งไม่มีความรู้ในมิติดังกล่าวและกำลังเย่อหยิ่งกับการขับเคลื่อนชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกไร้พรมแดน

๓.    พวกเสพภูมิ คนเหล่านี้อยู่ต่างถิ่น ต่างชาติ บางส่วนอาจเป็นคนไทยแต่ได้รับการศึกษาแบบภูมิตะวันตก มักชอบอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เอาวัฒนธรรมหนึ่งมาไว้กับวัฒนธรรมหนึ่ง ปรุงแต่งจินตนาการไปเรื่อยๆ เชื่อทฤษฎีวิจัย สงสัยทุกข้อปัญหา ชอบลองผิด ลองถูก

 

แนวต้นสนุ่นน้ำท่วมไม่ตาย มีรากที่ยึดดินริมตลิ่งได้ดีเยี่ยม

ส่วนตนเองนั้น เขาบอกว่าอยู่นอกเหนือกลุ่มคนทั้ง ๓ ประเภท เและกล่าวอย่างค่อนข้างยโสว่า

“....เพราะคนอย่างพวกผมนี่แหละ ได้อยู่ รู้อยู่ จำได้ เป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเภท ตาเห็น เคยเป็น เคยทำ จำได้ เลยจะจัดตัวเองอยู่ในกลุ่มใหม่ที่ตั้งขึ้นเองว่า ภูมิ – มี – ประวัติศาสตร์ ...”

จากกำเนิดจนเติบใหญ่เข้าวัย ๕๗ ปี ประสบการณ์ชีวิตของเขา แบ่งเป็นช่วงๆดังนี้

๑.     ช่วงแรกเกิด – ๗ ขวบ รู้เห็นจากความเป็นจริง บ้านเราอยู่อยุธยา มี ๕ ฤดูกาล ร้อน ฝน หนาว น้ำ แล้ง ทุกฤดูกาลมีจริง  ตรงเวลา ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

๒.    อายุ ๘ – ๑๖ ปี ความจริงเดิมยังอยู่ แต่ระบบการศึกษาทุกรูปแบบเริ่มสอดใส่ ปลูกฝังความแตกต่าง

๓.    อายุ ๑๗ – ๒๐ ปี ได้รับตัวอย่างใหม่ๆ เริ่มปฏิเสธวิถีเดิมโดยสิ้นเชิง

๔.    อายุ ๒๑ – ๓๕ ปี สุดโต่งตะวันตก ถูกยึดครองทั้งกายและจิตวิญญาณ

๕.    อายุ ๓๖ – ๔๐ ปี วัฒนธรรมย้อนกลับ เริ่มเห็นความจริงของภูมิกับชีวิต ปฏิเสธการครอบงำทุกรูปแบบ ละทิ้งการสมมุติที่ระบบอำนาจเป็นผู้กำหนด

๖.     อายุ ๔๑ – ๕๗ ....ปัจจุบัน สะสางความจริงชีวิตแห่งภูมิ ดิ้นรน หาหนทาง เตรียมตัวทุกปัญหา

๗.    ตุลาคม ๒๕๕๔ ความเชื่อปรากฏขึ้นจริง ....น้ำท่วมอยุธยาแบบกรุงแตก เทคโนโลยีแบบต่อต้าน บังคับน้ำ  มองน้ำเป็นอุทกภัย แล้วก็ พ่ายแพ้ต่อน้ำแบบหมดสภาพรวมทั้งการจัดการน้ำท่วมในหลายจังหวัดและในกรุงเทพ

 

เขาย้ำว่า “...น้ำท่วม แท้จริง เป็นฤดูกาล จึงควรอยู่กับน้ำให้มีความสุข จัดสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย จัดการคมนาคมแบบ ครึ่งบก ครึ่งน้ำ ต่อเชื่อมกันให้ได้ เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ทัศนคติ จัดเพิ่มความรู้การดำรงชีพกับน้ำ เทคโนโลยีทั้งปวงต้องตอบสนองและพัฒนาการดำรงชีพอยู่กับน้ำให้ได้ 

วันนี้โชคดีกว่าแต่ก่อน เพราะ คนมีหูทิพย์ ตาทิพย์(การสื่อสาร) เหาะเหิรเดินอากาศได้(อากาศยาน เครื่องบิน) ถ้าเชื่อมโยงกับวิถีการดำเนินชีวิตกับน้ำได้ ถือว่า สวรรค์ที่สุด การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ แปลง น้ำหลาก ให้เป็นโอกาส เราอาจเป็นชนชาติเดียวในโลกที่มีชีวิตวัฒนธรรมไม่เหมือนใคร...”

 

ดอกบัวจงกลนี บัวที่พบได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

เก็บภาพมาจากสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์เชียงใหม่

 

สิ่งที่เขาบอกเล่า ให้แนวคิดนี้ดูอาจเป็นแนวบ้านๆ แต่ก็สอดคล้องกับสิ่งที่นักวิชาการหรือนักปราชญ์ที่ศึกษามาทางมานุษยวิทยา อย่างเช่น รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวไว้ จึงพอจะเชื่อได้ว่าเขาไม่ได้เพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ แบบคลั่งท้องถิ่น คลั่งภูมิปัญญา-วัฒนธรรม

อาจารย์ศรีศักร ได้ใช้แนวคิดทฤษฎีทางมานุษยวิทยามาปรับใช้กับประสบการณ์จากท้องถิ่นต่างๆที่ท่านได้ศึกษามายาวนาน ผู้เขียนได้อ่านจาก หนังสือ คู่มือฉุกคิด – ความหมายของภูมิวัฒนธรรม การศึกษาจากภายในและสำนึกของท้องถิ่น

อาจารย์ศรีศักร ได้ชี้ว่า...

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น Local history คือ การศึกษาลักษณะ ประวัติศาสตร์มีชีวิต Living history ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนใน พื้นที่วัฒนธรรมเดียวกัน คนภายในชุมชนอยู่กันอย่างมีความสัมพันธ์ เกิดสำนึกร่วมของการเป็นคนถิ่นนั้น บ้านนั้น ทว่าระบบการปกครองสมัยใหม่ได้ทำลาย พื้นที่วัฒนธรรม ที่เคยเป็นมาแต่อดีตกาล

คนใน หรือ คนภายใน นี้จะมีการรับรู้ในเรื่องพื้นที่วัฒนธรรมที่ตนใช้ดำรงชีวิตร่วมกันเป็น ๓ ระดับ

  • ระดับที่มีขอบเขตุกว้างขวางที่เรียกว่า ภูมิวัฒนธรรม Cultural landscape เป็นลักษณะภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐาน เช่น แถบภูเขา แถบที่ราบลุ่ม แถบชายทะเล
  • ระดับกลางเป็นท้องถิ่นที่ผู้คนหลายกลุ่มหรือหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเป็นเมือง นับเนื่องเป็น นิเวศวัฒนธรรม Cultural ecology ที่ผู้คนได้ปรับตนเองให้ดำรงชีวิตได้อย่างสอดคล้องสภาพแวดล้อม
  • ระดับเล็กคือระดับชุมชนบ้านเดียวกันที่ทำให้แลเห็นคนและวิถีชีวิตในชุมชนที่เรียกว่า ชีวิตวัฒนธรรม Cultural life หรือ Way of life

 

กอไผ่ที่ชายน้ำ ตอนนี้ก็ยังยืนอยู่ในน้ำ

อาจกล่าวได้ว่าคนข้างกายของผู้เขียนได้บอกเล่าและมีความเห็นต่อเรื่องราวการอยู่กับน้ำหลากอย่างเป็นสุขนี้แบบ “คนใน

“...สำหรับผม ๕๗ ปีแห่งการเรียนรู้ มองเห็นจากความเป็นจริงของอำนาจที่เปลี่ยนมือ เปลี่ยนแปลงทุกภาพของการดำเนินชีวิตและความเชื่อสู่ศูนย์กลางของรัฐ ว่าได้ควบคุมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญเพื่อพาผู้คนสู่ยุคใหม่ เอาชนะ จัดการอหังการ อยู่เหนือธรรมชาติทั้งปวง ความหลงระเริงอยู่ท่ามกลางผลผลิตและวิถีสมมุติ ไร้ราก อยู่แบบกลวงๆ เปลี่ยนทัศนคติของตนเองต่อธรรมชาติจนขาดความรู้ความเข้าใจที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ผู้คนได้ละทิ้งความรู้และทำลายเครื่องมือที่จะอยู่ร่วมกับฤดูน้ำอย่างเหมาะสมและชาญฉลาดจนหมดสิ้น

ฤดูน้ำ คือ ความจริง มีอยู่จริง มาจริงเมื่อถึงเวลา

เดือนกันยา ล่องมา เดือนตุลา มาถึง เดือนพฤศจิกา อยู่ร่วม ธันวา อยู่ดี  มกรา อยู่สุข

กุมภา-มีนา ลาจาก...”

 

น้ำยังคงท่วมที่ดินท่าน้ำด้านขวามือ ที่เราได้ใช้ปลูกผัก กล้วย มะละกอไว้ทานเอง

ตอนหน้าลองมาดูกันว่าเขาคิดอย่างไรในการปรับวิถีคนยุคนี้ให้อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ภูมิ-มี-ประวัติศาสตร์ จากประสบการณ์ชีวิตของเขาเพื่ออยู่อย่างเป็นสุขกับการมาของฤดูน้ำหลาก

 

หมายเลขบันทึก: 468788เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2011 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • ตรงนี้ตรงกับที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนสอนไว้เลยครับ
  • เดือนตุลา มาถึง เดือนพฤศจิกา อยู่ร่วม ธันวา อยู่ดี  มกรา อยู่สุข

กุมภา-มีนา ลาจาก...”

  • ผู้เฒ่าผู้แก่สอนผมว่า
  • เดือนสิบน้ำนอง
  • เดือนสิบสองน้ำทรง
  • เดือนอ้ายเดือนยี่น้ำรี่ไหลลง
  • ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องการปลูกผักในกระถาง เพื่อให้ชาวบ้านมีผักกินครับ
  • อีกอย่างคือการลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านว่าควรจะทำอย่างไรดีหลังน้ำลดครับ
  • นี่ที่กำแพงแสนครับ
  • บ้านห้วยม่วง
  • http://www.youtube.com/user/SuperKhajit?feature=mhee#p/a/u/0/-6PGxAQxXgk

ตามมาอ่านครับ จำได้ว่าตอนเป็นเด็กๆที่ตะพานหิน

ชอบหน้าน้ำมาก เพราะจะได้ไปกระโดดน้ำเล่นจากสะพาน

น้ำป่ามาไม่กี่วันแหล่ะครับ รอกันเป็นปี

น้ำที่ไหลไปอยุธยา-กรุงเทพ

ต้องผ่านฝีมือของพวกผมก่อนครับ

  • สวัสดีครับ
  • ปรับชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ ดีกว่าชนะธรรมชาติอย่างทุกวันนี้
  • เพราะมนุษย์จะเอาชนะธรรมชาติจึงต้องประสบอย่างทุกวันนี้
  • ขอบคุณความรู้และแง่คิดดี ๆ ครับ

สวัสดียามสายค่ะอาจารย์

อาจารย์คงจิบกาแฟเช้า...เคล้าสายหมอกอ้อยอิ่ง จากผิวเรียบนิ่ง ๆ ของสายป่าสักแล้วนะคะ

ตามอ่านตั้งหลายตอน ไชโย้ !!! รู้ชื่อท่านผู้รู้ข้างกายอาจารย์เสียที

วิธีถ่ายทอดก็สำคัญมากนะคะ ทำให้ภูมิรู้ไม่ถูกปิดกั้นด้วยความเคร่งขรึม พออ่านสบายใจ...ก็มีความสุขในการหาความรู้นะคะ

โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในเรื่องพื้นที่วัฒนธรรม ระดับภูมิวัฒนธรรมและนิเวศวัฒนธรรม นั้น...เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยง

ส่วนระดับเล็กหรือชีวิตวัฒนธรรม อันนี้ต้องการรู้เพื่อเทียบเคียงกับงานที่ทำน่ะค่ะ

ตอนที่เรียน...จะถูกสอนแค่การปรับเปลียนในระดับพฤติกรรม แต่ไม่งายอย่างนั้นน่ะซิคะ ถ้าความคิด ความเชื่อไม่ได้ถูกเปลี่ยนเสียก่อน

ที่นี้ การกินเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัฒนธรรม ซึ่งกว้างขวางเชื่อมโยงอีกหลายมิติ ทั้งเรื่องก่อนจะกินและกินเสร็จแล้ว ซึ่งสัมพันธ์กับช่องปากทั้งก่อนและหลังกิน คือ อาหารและความสะอาดของช่องปาก

อ่ะ...แฟนพันธุ์แท้รออ่านตอนต่อไปนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

...

เรามี ภูมิ-มี-ประวัติศาสตร์
เรามี ชาติ-พันธุ์-สังคมสรรค์
เรามี คน-ธรรม-ประจำวัน
เรามี กัน-และ-กัน เนิ่นนานไป

...

บันทึกนี้มีค่ามากครับ พี่นุช ;)...

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ พี่นุช

เมื่อได้มาอ่านบันทึกของพี่นุชในครั้งแรก...

บ้านเป็นโอสถสถาปัตยกรรมก็เกิดชอบบ้านเรือนไทยและบรรยากาศริมน้ำหลังนี้มากมาย

นับเป็นบุญตา เมื่อทราบว่าเป็นผลงานท่านอาจารย์ดุลย์พิชัย

กี่ ร้อน ฝน หนาว น้ำ แล้ง หากปรับตัวให้อยู่กับน้ำได้อย่างมีสุข

บางที....น้ำท่วม ยังดีกว่า ฝนแล้งนะคะ

ขอบพระคุณพี่นุขค่ะ สำหรับดอกบัวสีสวยชอบมากที่สุดค่ะ ^__^

สวัสดีค่ะคุณนุช..มาเป็นกำลังใจเจ้าค่ะ..อยู่กับน้ำ..รักษาใจ..มิให้ไหลตามน้ำไป..เจ้าค่ะ..ยายธี

ได้อ่านบทสัมภาษณ์ ท่านอาจารย์ดุลย์พิชัย ประทับใจความเป็นนักวัฒนธรรม ที่สะท้อนในเรื่อง "ไว้จุก" คะ ..
ขอบคุณตัวอย่างการบันทึกที่ได้ทั้งอรรถรส และคุณค่าวิชาการคะ 

เห็นอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ทำงานแล้วสมกับชื่อ SuperKhajit จริงๆค่ะ

น่าเสียดายที่การศึกษาของไทยไม่เชื่อมต่อกับภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เป็นมายาวนาน พอมีเหตุร้ายเกิดขึ้นก็แทบจะจดจำอะไรมาใช้ไม่ได้แล้ว แถมความรู้เดิมก็ไม่ถูกพัฒนา ความรู้ใหม่ที่ได้มาจากต่างประเทศก็รู้มาแค่เศษเสี้ยว เหมือนปลูกต้นไม้ด้วยกิ่งตอน ไม่แข็งแรง มั่นคงด้วยรากแก้วของตนเองนะคะ

รักษาสุขภาพให้แข็งแรงจะได้มีทั้งกำลังกาย กำลังใจไปช่วยชาวบ้านได้เยอะๆค่ะ

พวกที่สนุกสนานเสมอยามน้ำท่วมไม่ว่าที่ไหนก็คือเด็กๆจริงๆด้วยค่ะคุณคนบ้านไกล 

สมัยก่อนน้ำหลากมาแล้วไปเร็วตามแรงโน้มถ่วงของโลก คนเดือดร้อนไม่มาก อยู่กับน้ำอย่างเป็นสุขเพราะเข้าใจการมาและการจากไป น้ำก็สะอาดเล่นสบายใจ สงสารคนที่อยู่ในแถบน้ำท่วมขังทุกที่ ทั้งเน่าเหม็นและยุงชุมนะคะ

 

สวัสดีค่ะคุณวศิน ชูมณี ปรับชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อจะอยู่ได้อย่าง อยู่เย็น เป็นสุข นั้นเคยเป็นวิถีของคนไทยนะคะ อยู่แบบเอาชนะธรรมชาติคือการคิดแบบชาวตะวันตกซึ่งเขาคิดบนพื้นฐานธรรมชาติและวัฒนธรรมของเขา ซึ่งคนรุ่นหลังๆไม่เข้าใจไปเอาอย่างโดยไม่ทราบที่มาที่ไปน่าเสียดายโอกาสที่เราจะพัฒนาอย่างเข้าใจรากและเป็นตัวของตัวเองค่ะ

ขอบคุณนะคะที่มาแวะและพูดคุยกัน

 

สวัสดียามเย็นค่ะคุณหมอทพญ.ธิรัมภา ดีใจจังมีแฟนพันธ์แท้กับเขาด้วยแล้ว^___^

อากาศย่างเข้าหน้าหนาวเช่นนี้ดวงอาทิตย์ตั้งองศาที่เป็นใจให้ได้นั่งที่ศาลา ที่นอกชานทั้งวัน ลมพัดฟังเสียงใบไม้ซัดส่ายและนกก็ขับขานสำราญใจ อยู่บ้านมีความสุขสงบดีจริงๆค่ะ

ยินดีที่ชื่นชอบการบอกเล่าแบบนี้ เพราะตัวเองก็เขียนเรื่องวิชาการลึกซึ้งหนักๆไม่เป็นแล้วตอนนี้ เนื่องจากพยายามปล่อยวางวิชาการแบบทฤษฎีให้ตัวเบา สมองเบาค่ะ

เห็นด้วยกับคุณหมอค่ะว่าเรามักสอนให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะดูจะสอน หรือ สั่งให้ทำตามได้ง่ายกว่า แต่ความคิด ความเชื่อ นั้นต้องการการลงลึกในรายละเอียดแต่ละบุคคล ต้องใช้เวลาและความอดทน มันทำยากกว่ากันมาก วงการไหนๆก็ต้องการการประเมินที่วัดได้ เห็นผลเร็ว สังคมเลยเบี้ยวๆ เบลอๆเพราะเข้าไม่ถึงความจริงนะคะ

ขอบคุณค่ะที่ตั้งใจติดตามกันขนาดนี้

ขอบคุณค่ะอาจารย์Wasawat Deemarn มาฝากบทกวีคมลึกให้ด้วย

มาเป็นแนวร่วมให้กำลังใจกับแนวคิด วิถีชีวิตอย่างไทย ให้คนไทยเข้มแข็งบนรากบนฐานของตัวเองเช่นนี้ ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณแจ๋ว ชื่นชมกันขนาดนี้ น้ำลดแล้วพี่คงมีโอกาสต้อนรับอาจารย์ที่บ้านนะคะ

ดีใจที่ชอบภาพดอกบัว ที่สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่นั้นเขาจัดเป็นโรงเรือนพืชเป็นกลุ่มๆ บัวมีหลากหลาย เป็นส่วนที่พี่ชอบมากที่สุดค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณยายธี ไม่ได้ไปเยี่ยมบันทึกคุณยายธีนานแล้ว รอว่าจะได้พบกัน ตกลงได้มาเมืองไทยตามแผนหรือเปล่าคะ เดี๋ยวจะตามไปเช็คข่าวที่บล็อกของคุณยายธีค่ะ

ไม่ว่าน้ำจะมาหรือจะไป เราก็เป็น "ผู้ดู" ดูสิ่งที่เกิดขึ้นและดูจิตตนเอง สำคัญจริงๆอย่างที่คุณยายธีว่า ไม่ให้จิตไหลไปตามน้ำ ไหลๆไปเจอน้ำเน่าขังและขยะที่กทม.ล่ะก็เน่าไปด้วยกันเลยล่ะค่ะ

ขอบคุณในคำชมของคุณหมอป. ค่ะ พี่ก็เขียนไปสบายๆ ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นวิชาการ เพราะบอกว่าตัวเองเป็น นักวิชาการอิสระ คือ ปล่อยวิชาการให้เป็นอิสระ เหลือแต่สิ่งที่เป็นตัวเองเท่านั้น

หากเมื่อไหร่มีโอกาสลงมากรุงเทพ เผื่อเวลามาอยุธยาด้วยซีคะ มาสัมผัสวัฒนธรรมภาคกลาง สุนทรีย์ไปอีกแบบหนึ่ง ยินดีต้อนรับค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท