เรื่องของครอบครัว


จากชีวิตจริงสู่ละคร จากละครมองย้อนสู่ตน

          ทุกคนคงเคยเรียนในวิชาสังคม รึไม่ก็คงเคยได้ยินผ่านหูมาบ้างในเรื่องของสถาบันครอบครัว ซึ่งในบทเรียนเรื่อง "โครงสร้างทางสังคม" ได้สอนเอาไว้ มีใจความประมาณว่า สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เป็นสถาบันแรกของทุกคน จะดีจะร้าย สถาบันครอบครัวก็เป็นผู้ชี้ทางผู้แรก

          สำหรับเด็กๆ หรือผู้ที่ครอบครัวอบอุ่นอยู่แล้วนั้น ก็คงเรียนๆ ไปตามบทเรียน จำๆ ไปพอรู้ถึงความสำคัญ แต่คุณจะรู้ซึ้งถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เมื่อครอบครัวไม่อบอุ่น เมื่อนั้น คุณจะเข้าใจความสำคัญของสถาบันครอบครัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

          เมื่อดูละครเกี่ยวกับเรื่องของครอบครัว ถ้าดราม่าหน่อยก็ชนิดที่ครอบครัวสุขสันต์ สมาชิกเข้าใจกันและกัน อบอุ่น กับอีกแนวก็มาแบบไม่อบอุ่น ครอบครัวแตกแยก ร้องไห้ ช้ำใจ อันนี้เครียดหน่อย  แต่ถ้าเป็นประเภทคอมเมดี้ ก็ประมาณว่า ภรรยาตามสามี ดึงหู ตามหึงหวง ก็ฮาไป เรื่องราวเหล่านี้ มันไม่ได้ไกลตัวเราเลย เราทุกคนมีสิทธิ์เป็นแบบนั้นในวันหน้า ถ้าไม่รู้จักสงเคราะห์ภรรยา-สามี (มงคลชีวิตข้อที่ 13)

          พูดถึงละครคอมเมดี้ที่เกี่ยวกับครอบครัวหรือสามี-ภรรยา ที่ล้อปัญหาสังคมสร้างละครออกมาแบบสนุกสนาน หลายคนคงชอบที่จะดูคลายเครียด แต่ในชีวิตจริงแล้ว มันเป็นเรื่องกวนใจ วุ่นใจ ทุกข์ใจแสนสาหัส ยิ่งสำหรับครอบครัวที่มีลูกเป็นโซ่ทองแล้ว นั่นยิ่งหนักอกหนักใจไปใหญ่ เพราะเมื่อเกิดปัญหาครอบครัวขึ้น ไหนจะทุกข์ใจตัว ไหนจะความรู้สึกลูก ไหนจะค่าอยู่ค่ากิน ค่าเล่าเรียน สาระพัดค่าอันคำว่า "ลูก" นั้น ไม่รู้เขาเป็นใคร มาจากไหน เมื่อคนสองคนทำให้เขาเกิดมาแล้ว ก็ต้องเลี้ยงดูให้เติบใหญ่ เลี่ยงไม่ได้ที่จะรักและผูกพัน

          ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกนั้น ถ้าอบอุ่นก็ดีไป เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ แต่หากไม่อบอุ่น พ่อแม่ทะเลาะกัน พ่อแม่นอกใจกัน ครอบครัวแตกแยก ลูกนั้น อาจจะกลายร่างจากกำลังของชาติ ไปเป็นผู้สร้างปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมากมาย ยิ่งลูกที่อยู่ในวัยเรียนแล้ว ไม่ว่าจะเรียนในระดับไหน แม้จะเป็นอุดมศึกษา ก็ไม่เว้นที่จะสร้างปัญหาให้กับสังคม ...ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ขนาดระดับอุดมศึกษา ถือได้ว่า เป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำไมไม่คิดให้มากๆ ไม่คิดให้ดีๆ ไม่คิดหลายๆ มุม...

          ไม่ว่าจะเรียนระดับไหน หากยังอาศัยเงินพ่อแม่เรียน นั่นหมายถึงเขายังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ เขายังต้องการการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ เมื่อเกิดปัญหาครอบครัวเงินหมุนใช้ก็จะน้อยลง ภาวะจิตใจของสมาชิกก็ไม่ดี แล้วลูกจะมีกำลังใจตั้งใจเรียนได้อย่างไร เชื่อแน่ว่าหลายครอบครัวจะบอกให้ลูกตั้งใจเรียนนะ เรียนให้จบให้ได้ทำงานนะ ลูกคือความหวังนะ ในภาวะนี้ มันสุดแสนจะกดดัน จากที่เรียนอย่างมีความสุข เป้าหมายคือออกไปรับใช้สังคม จะเปลี่ยนไปเป็นเรียนอย่างกดดัน เป้าหมายคือเพื่อทำงานเลี้ยงชีพ เป็นที่พึ่งของพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง

          ถ้าครอบครัวจะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกยืดยาวในช่วงลูกวัยเ่รียน ถ้าไม่สามารถอบอุ่นเหมือนเดิมได้จริงๆ สู้หย่ากันไปเลยเสียจะดีกว่าไหม แม้จะเกิดปมด้อย แต่อย่างน้อยก็อยู่อย่างสบายใจ เมื่อพ่อแม่สบายใจ แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ความเป็นพ่อ-ลูก แม่-ลูก ก็ไม่เคยตัดขาด ลูกก็ไม่มีห่วง ก็เรียนอย่างมีความสุข พร้อมที่จะจบออกไปพัฒนาสังคม

          ครอบครัวนั้นแม้จะแข็งแรงมาโดยตลอด แต่ถ้าอ่อนแอเมื่อไร เมื่อนั้นความทุกข์กายทุกข์ใจจะมาหาทันที ปัญหาอื่นๆ จะตามมาไม่รู้กี่ร้อยพัน ถ้ายังรักลูก รักสามี รักภรรยา ขอจงถนอมน้ำใจกัน ให้เกียรติกันและกัน นึกถึงวันก่อนๆ ที่ยังมีความสุขกัน ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ถ้าไม่มีกันในวันนั้น มีหรือจะมีวันนี้ได้ หากมองในมุมของลูก ลูกมีพ่อเพียงคนเดียว มีแม่เพียงคนเดียว ไม่มีใครสามารถมีพ่อแม่หลายคนได้ หากไร้ซึ่งพ่อแม่คนนี้แล้ว ลูกจะมีใคร ผู้เป็นพ่อแม่จงคิดถึงลูกให้มาก ผู้เป็นลูกจงบูชาพ่อแม่ให้มาก ปัญหาทุกอย่างมีทางออก เพียงเห็นใจกัน ให้เกียรติกันและกัน ครอบครัวแข็งแรง ประเทศชาติจึงจะเจริญ

          ขอให้ทุกครอบครัวรักกันให้มาก

หมายเลขบันทึก: 468682เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2011 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท