การขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน


บทความเรื่อง การขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน โดย ธนัช สุขวิมลเสรี

บทนำ

     ด้วยบทบาทที่สำคัญของการขนส่ง คือ การให้บริการหรือการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายคน หรือสินค้าจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการขนส่งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในเมืองส่วนใหญ่ การขนส่งเป็นตัวชี้นำการเจริญเติบโตของเมือง ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบต่าง ๆ ทว่าการพัฒนาการขนส่งในเมืองที่ผ่านมาในอดีต เป็นเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางและการขนส่งเท่านั้น โดยมิได้มีการวางแผนและคำนึงถึงผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมา บทความนี้จะได้กล่าวถึงสถานการณ์การขนส่งในเมือง รวมถึงแนวทางการพัฒนาการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน

 

สถานการณ์การขนส่งในเมือง 

 

รถยนต์กำลังครองโลก

     การครอบครองรถยนต์กลายเป็นเรื่องปกติไปในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว การดำรงอยู่ของมนุษย์ในปัจจุบัน มีความผูกพันกับรถยนต์มากเสียจนกระทั่งว่าเราไม่สามารถจินตนาการได้ถึงชีวิตที่ปราศจากรถได้เลย เสรีภาพที่จะไปไหนก็ได้ในทุกที่และทุกเวลา กลายเป็นสิทธิที่ได้รับการยอมรับไปเสียแล้ว แผนที่ของเมืองได้แผ่ขยายออกไปมากขึ้น ในขณะที่เราได้รถยนต์มาช่วยย่นระยะทางและเวลา เมืองที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากที่มีการประดิษฐ์รถยนต์ขึ้นมา ล้วนแต่ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่รถยนต์และสร้างภาวะพึ่งพารถยนต์ในหมู่ชาวเมือง อย่างเช่น เมืองลอสแองเจลิส ในสหรัฐอเมริกา เมืองบราซิลเลีย ในบราซิล หรือเมืองมิลตัน เคนส์ ในอังกฤษ เป็นต้น การออกแบบเมืองให้มีความหนาแน่นน้อย เกิดจากการตั้งสมมติฐานว่า ผู้อยู่อาศัยจะมีรถยนต์เป็นของตัวเอง การเดินทางกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และต้องขับรถเป็นระยะทางไกลทุกวัน เมืองในลักษณะนี้ ได้รับการออกแบบให้มีถนนที่ไม่จำกัดความเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถยนต์ ถนนมีพื้นที่กว้างขวางมากกว่าบาทวิถีอันจำกัดเฉพาะให้คนเดินเสียอีก

 

ผู้สร้างมลพิษรายใหญ่

     ยนตรกรรมเป็นตัวการทำให้เกิดมลพิษขนานใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์เช่นเดียวกับได้ทำลายต้นไม้และพืชผลต่าง ๆ นอกจากไนโตรเจนออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และ คาร์บอนมอนอกไซด์แล้ว รถยนต์ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณมหาศาลด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง 1 ถัง มีส่วนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 120-180 กิโลกรัม รถตามท้องถนนในทุกวันนี้ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 15 ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาทั่วโลก ความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ในอากาศมีเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อไป

     มลภาวะทางอากาศกำลังเลวร้ายลงทั่วโลก ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้จำนวนผู้ครอบครองรถยนต์และการใช้รถยนต์เป็นพาหนะเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศกำลังพัฒนา ใน ค.ศ. 1992 มีการใช้รถยนต์เป็นพาหนะ 600 ล้านคันทั่วโลก จราจรที่ติดขัดอย่างหนัก พร้อมกับหมอกควันจากท่อไอเสียรถยนต์ กลายเป็นลักษณะร่วมกันของเมืองต่างๆ ทั่วโลก

 

การขนส่งทางไกล

     การส่งเสริมการค้าเสรีในยุโรป ทำให้การขนส่งทางไกลระหว่างศูนย์กลางเมืองต่าง ๆ โดยรถบรรทุกเพิ่มมากขึ้น เครื่องยนต์ดีเซลของรถบรรทุก เป็นตัวการทำให้เกิดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และเขม่าควันอันมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งในปอด แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการออกกฎหมายบังคับให้รถยนต์คันใหม่หลัง ค.ศ. 1993 ทุกคัน ต้องติดเครื่องกรองอากาศเสีย ทว่าการควบคุมควันไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลก็ยังทำได้ไม่มากนัก คณะทำงานเฉพาะกิจด้านสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้แถลงว่า การขนส่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แต่ในความเป็นจริง เจ้าของกิจการรถบรรทุกเหล่านี้ จ่ายเพียง 1 ใน 8 ของต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดเนื่องจากการขนส่งทางไกลด้วยรถบรรทุก มลภาวะทางเสียง แรงสั่นสะเทือน อุบัติเหตุ และความต้องการถนนสำหรับวิ่งและที่จอดรถ ยิ่งไปกว่านั้น ควันไอเสียที่ปล่อยออกมา ล้วนเป็นภาระที่สังคมและสิ่งแวดล้อมต้องแบกรับทั้งสิ้น

 

ลอสแองเจลิส ถ้าไม่มีรถก็ไปไหนไม่ได้

     ลอสแองเจลิส เป็นเมืองที่มีการขยายตัวออกตามเครือข่ายรถไฟฟ้า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการสร้างเครือข่ายถนนสายหลัก ซึ่งมีความยาวรวมกันถึง 21,000 กิโลเมตร และมีอยู่ 2,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนที่ไม่จำกัดความเร็ว สองในสามของการเดินทางที่นั่น เป็นการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล คนจำนวนน้อยที่อาศัยบริการรถขนส่งมวลชนที่จะต้องทนกับความไร้ประสิทธิภาพและความไม่สะดวกสบาย รถที่วิ่งได้โดยอาศัยน้ำมันราคาถูกเป็นตัวที่ควบคุมการออกแบบเมือง โดยทำให้เกิดการขยายเมืองออกไปอีกมาก

 

การเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานในเมือง

     การขนส่งทางไกลเพื่อขนส่งสินค้าที่จำเป็นมาสู่เมือง อาจจะกลายเป็นเรื่องเหนือจินตนาการ หากว่าน้ำมันไม่ได้มีราคาถูก ในภาวะขาดแคลนน้ำมัน เมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีความหนาแน่นของประชากรน้อย อาจจะต้องกลายเป็นอัมพาต รถยนต์และการขนส่งสาธารณะได้มีอิทธิพลต่อการขยายตัวออกไปของเมือง ซึ่งจะทำให้มีการเดินทางเข้าออกจากแถบชานเมืองเป็นประจำ การประหยัดพลังงานจะเกิดขึ้นได้ หากมีการพร้อมใจกันหยุดใช้รถยนต์และหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะแทน เชื้อเพลิงเป็นสิ่งที่เผาไหม้และหมดไปในครั้งเดียว ถ้าเราเผามันไปในวันนี้ วันพรุ่งเราจะไม่มีเชื้อเพลิงใช้อีก การพึ่งพิงแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปอย่างเหนียวแน่น ทำให้เมืองต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงานในอนาคตอย่างยิ่ง

 

ทั่วโลกมีการผลิตรถมากกว่า 1 คันในทุกวินาที หลังจากนอนหลับไปทั้งคืน พอตื่นขึ้นมา คุณจะพบว่ามีการผลิตรถยนต์ไว้รอท่าคุณอยู่แล้ว 30,000 คัน ใน ค.ศ. 1989 สถิติการผลิตรถยนต์ของโลกได้เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 35 ล้านคันต่อปี”

                                                กรีนพีซ ประเทศอังกฤษ, Mad Car Disease

 

แนวทางการพัฒนาการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน

     ตามความเห็นของสหภาพสากลเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ “การพัฒนาที่ยั่งยืน จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในขอบเขตที่โลกสามารถจะรองรับได้” สิ่งนี้เป็นหนึ่งในนิยามที่สำคัญที่สุดในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เป็นที่ชัดเจนว่าการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปอย่างเช่น เชื้อเพลิง ในขนานใหญ่ เป็นการทำลายขอบเขตที่ธรรมชาติจะรองรับได้ การพัฒนาการขนส่งในเมืองอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องครอบคลุมในสิ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility) ความเสมอภาคทางสังคม (Social Equity) ความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา (Ecological Sustainability) สุขภาพและความปลอดภัย (Health and Safety) การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) ความประหยัด (Economy) สารสนเทศ (Information) และการสนับสนุน (Advocacy) โดยจะขอยกตัวอย่างแนวความคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับ ดังต่อไปนี้

 

ความยั่งยืนด้านพลังงาน

     เมืองในยุคใหม่สามารถลดความต้องการพลังงานที่ใช้แล้วหมดไปได้ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้และการนำระบบพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ เพื่อจะทำให้เมืองเกิดความยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับระบบการขนส่ง การพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวกำลังเพิ่มภาระอันหนักหน่วงให้กับสิ่งแวดล้อมในเมืองและธรรมชาติโดยรอบ รถยนต์ได้ให้อิสรภาพแก่คนจำนวนหนึ่ง แต่เป็นการเบียดเบียนคนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอันตรายที่เกิดขึ้นบนท้องถนน และการบริการขนส่งสาธารณะต้องถูกตัดทอนลงไป ดังนั้นจะต้องมีนโยบายด้านการขนส่งที่ไม่ส่งเสริมให้ใช้รถยนต์เป็นอาจิณ และประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงจะมีมาก ในที่ที่มีการดำเนินระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงในการขนส่งและความหนาแน่นของเมือง

     ประชาชนจำนวน 100 คนที่โดยสารรถประจำทาง ใช้เนื้อที่ถนนเพียง 40 ตารางเมตร ตรงกันข้ามกับประชาชน 100 คน ในรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งจะใช้เนื้อที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร การเปรียบเทียบนี้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงคือ รถและความต้องการพื้นที่ถนน ได้กลายเป็นตัวกำหนดรูปร่างของเมืองในยุคใหม่ แต่กระนั้นรถก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเดินทางให้กับคนได้ ในขณะที่ภาวะรถติดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว การใช้พลังงานในการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการลดปัญหามลภาวะในเมือง แลปริมาณการบริโภคเชื้อเพลิงในเมือง เกี่ยวข้องกับลักษณะการวางผังเส้นทางการเดินรถ และระยะทางที่ประชาชนต้องใช้ในการเดินทาง รวมทั้งรูปแบบของการเดินทางที่ใช้ด้วย โดยทั่วไป เมืองต่าง ๆ ในยุโรปและญี่ปุ่น สามารถประหยัดเชื้อเพลิงในการขนส่งได้มากกว่าเมืองในอเมริกาเหนือ เนื่องจากรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างหนาแน่น และระบบการขนส่งสาธารณะที่ดีกว่าในเมืองทั้งสองแห่ง ตัวอย่างเช่น ในกรุงโตเกียว มีผู้เดินทางไปทำงานด้วยรถยนต์เพียงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับใน    ลอสแองเจลิส ซึ่งมีถึงร้อยละ 90

 

การวางผังเมืองให้เกิดความใกล้ชิดกัน

     การยกเลิกการแบ่งโซนในเมือง จะช่วยลดระยะทางของการเดินทางประจำวันในเมืองลงได้ เราจะต้องสร้างเมือง “ย่อย” ขึ้นมา ซึ่งจะรวมเอาที่ทำงานและบ้านของคนมาไว้ด้วยกันให้มากขึ้น ความคิดอีกกระแสหนึ่งที่ควบคู่กันมากับความคิดนี้คือ การสร้างเมืองที่มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดระยะทางที่คนต้องใช้ในการเดินทางลง เมืองต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น พอร์ตแลนด์ และโอเรกอน การวางผังเมืองที่ค่อนข้างหนาแน่น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจะทำให้การลงทุนในกิจการขนส่งสาธารณะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ร้อยละ 43 ของประชากรในเมืองนี้ ใช้รถประจำทางและระบบรถไฟขนาดเล็ก เพื่อการเดินทางประจำวัน ซึ่งนับว่ามากกว่าเมืองอื่น ๆ ในทวีปเดียวกัน

 

ถนนน้อย รถก็น้อย

     ทั่วโลกในยุคอุตสาหกรรมนี้ การตอบสนองความต้องการด้านพื้นผิวจราจรที่เพิ่มมากขึ้น มีวิธีเดียวคือ การสร้างถนนมากขึ้นอย่างไม่จบสิ้น แต่ยิ่งสร้างถนนเพิ่มขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งถูกถมจนเต็มด้วยรถเร็วขึ้นเท่านั้น ปริมาณจราจรมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ตราบที่การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า และยังสะดวกมากกว่า ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีถนนอยู่ทุกแห่ง การจราจรที่ติดขัดอย่างชะงักงัน ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วไป เนื่องจากร้อยละ 90 ของประชากรใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง ในลอสแองเจลิส พื้นที่ 2 ใน 3 ของเมืองถูกสร้างเป็นถนนและที่จอดรถ ดังนั้นจึงควรมีมาตรการเพื่อเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้ลดการพึ่งพารถยนต์ลง อาทิเช่น การให้บริการขนส่งสาธารณะที่มีราคาพอสมควร การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่จอดรถประจำทางหรือรถราง รวมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถจักรยาน เป็นต้น

 

การควบคุมกระแสจราจร

     การใช้มาตรการควบคุมกระแสจราจรในพื้นที่ชั้นในของเมืองที่มีปริมาณรถยนต์หนาแน่น จะมีประสิทธิภาพในการช่วยลดปัญหาจราจร ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบบ “Woonerven” ได้เปลี่ยนให้ถนนหลายสายสามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางทางสังคมแบบดั้งเดิมได้ การทำทางลาด เนินชะลอความเร็ว การทำถนนให้แคบ หรือการปลูกต้นไม้ ล้วนทำให้เกิดการชะลอตัวของกระแสจราจร และกระตุ้นให้คนใช้รถน้อยลง วัตถุประสงค์ก็เพื่อลดระดับความเร็วของการจราจรให้เหลือเพียงเท่ากับคนเดิน เพื่อช่วยให้การข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย และสามารถใช้เป็นสนามเด็กเล่นได้อีกทางหนึ่ง มาตรการดังกล่าวช่วยให้เกิดการพบปะสังสรรค์กันระหว่างประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนมากขึ้น และช่วยทำให้ความรู้สึกของการอยู่ร่วมกันแบบชุมชนกลับคืนมาด้วย ความสำเร็จในการทดลองของชาวดัตช์ และเยอรมัน เกี่ยวกับการควบคุมกระแสจราจร เป็นผลให้มีการนำความคิดนี้ไปปรับใช้ในเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก

 

ขึ้นจักรยานดีกว่า

     ปริมาณรถจักรยานมีจำนวนมากกว่ารถยนต์ถึงสองเท่า  หรือประมาณ 800 ล้านคันทั่วโลก จักรยานและรถสามล้อถีบ เป็นรูปแบบการขนส่งที่พบเห็นมากที่สุดตามเมืองหลายแห่งในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม ในเมืองที่มีการใช้รถยนต์เป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นเรื่องที่อันตรายต่อผู้ใช้รถจักรยาน ผู้บริหารเมืองที่มองการณ์ไกล ได้พยายามจัดให้มีทางสำหรับรถจักรยานมากขึ้น เพื่อลดปริมาณจราจร และการขับขี่รถจักรยานปลอดภัยมากขึ้น ในเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ เช่น อัมสเตอร์ดัม และอ็อกซฟอร์ด จำนวนผู้ใช้รถจักรยานมีเพิ่มมากขึ้น ในเนเธอร์แลนด์ มีผู้ใช้รถจักรยานเป็นพาหนะ 1 ใน 3 ของการเดินทาง ในเดนมาร์ก เยอรมนี และญี่ปุ่น ได้มีการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เดินทางจะสามารถนำรถจักรยานขึ้นไปจอดในสถานีขนส่งสาธารณะได้ด้วย

 

เคอร์ริติบา สถานีรถบนดิน

     เมืองเคอร์ริติบา (Curitiba) ประเทศบราซิล เป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าในการจัดระบบขนส่งสาธารณะในเมือง  โดยมีระบบ “สถานีรถบนดิน“ ที่พิเศษ โดยเป็นระบบเครือข่ายรถประจำทางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากเสียจนไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ระบบขนส่งใต้ดิน รัฐได้ดำเนินการสร้างช่องทางด่วนพิเศษสำหรับรถประจำทาง เพื่อจะได้ไม่ถูกกีดขวางโดยการจราจร ป้ายรถจะห่างกันประมาณ 400 เมตร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร รวมทั้งระบบการเก็บเงิน ยังช่วยให้ผู้โดยสารสามารถจ่ายเงินโดยสารล่วงหน้าได้ เป็นการลดระยะเวลาในการขึ้นรถทางหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่ ใช้บริการขนส่งสาธารณะของเมืองเป็นประจำทุกวัน เนื่องจากความรวดเร็วและราคาค่าโดยสารที่ถูกกว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ทางเทศบาลยังได้จัดสร้างทางรถจักรยานตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการหามาตรการควบคุมกระแสการจราจรในถนนบางสาย แม้ว่าเมืองแห่งนี้จะมีอัตราการครอบครองรถยนต์สูง คือ รถยนต์ 1 คันต่อประชากร 5 คน แต่ประชาชนที่นี่กลับใช้รถยนต์น้อยกว่าเมืองอื่นๆ ในประเทศ

     นครนิวยอร์กได้จับตามองระบบสถานีรถบนดินของกรุงเคอร์ริติบาอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อหวังจะปรับปรุงเส้นทางรถประจำทางของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เครือข่ายของรถประจำทางที่ให้ความรวดเร็ว จะช่วยให้การเชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ในเขตนครหลวงดียิ่งขึ้น

 

รายงานการขนส่งและสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 2005

     ในขณะที่สหภาพยุโรปกำลังมุ่งหวังที่จะมีนโยบายร่วมในด้านพลังงานของยุโรป แต่ก็ไม่ละเลยการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและนโยบายการขนส่งอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเกี่ยวโยงระหว่างนโยบายการขนส่งและการรักษาสิ่งแวดล้อม European Environment Agency (EEA) ได้จัดทำรายงานวิจัยเรื่อง Transport and Environment 2005: Facing a Dilemma ซึ่งเปิดเผยว่าภาคการขนส่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับสหภาพยุโรป เนื่องจากการเติบโตของภาคขนส่งนี้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพิ่มขึ้น แม้ภาคการขนส่งมีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังประสบปัญหา “การดำรงสภาพการสัญจรอย่างคล่องตัวโดยสร้างผลกระทบน้อยที่สุด” สหภาพยุโรปรับทราบปัญหาเกี่ยวกับการใช้พลังงานในภาคการขนส่งมาหลายปี และพยายามแก้ปัญหาโดยการกำหนดนโยบาย แต่ก็มีความคืบหน้าช้ามาก คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงจัดเตรียมข้อเสนอให้ภาคการขนส่งบรรจุอยู่ในแผน Emissions Trading Scheme (ETS) และยังระบุให้ “การขนส่งอย่างยั่งยืน” เป็นหนึ่งในความสำคัญเร่งด่วนในยุทธศาสตร์ Sustainable Development Strategy (SDS) ด้วย

     ข้อสรุปบางประการจากรายงานวิจัย มีดังนี้

     1)    ปริมาณการขนส่งสินค้าเติบโตไปในทางเดียวกับ GDP

     2)    ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ

     3)    การปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำลังเพิ่มสูงขึ้น

     4)    แม้ว่าโดยทั่วไปการขนส่งจะสร้างมลพิษน้อยลง แต่ปริมาณการขนส่งที่มากขึ้น กลับทำให้คุณภาพอากาศและสุขภาพแย่ลง

     5)    แม้ว่ากำลังมีการพัฒนาทางเลือกใหม่และพลังงานที่สะอาดขึ้น (เช่น Biofuels) แต่ยังมีปริมาณน้อย

     6)    การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่สามารถลดการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษ แต่ควรมีความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

     7)    ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากภาคการขนส่งของยุโรประหว่างปี1990-2002 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22

     8)    ไอร์แลนด์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่ง (ไม่รวมการบินและการเดินเรือ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 130 ขณะที่เยอรมันปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5

     9)    ระดับปริมาณโอโซน (อากาศพิษที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดด) ปัจจุบันมากเกินกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้สำหรับ ค.ศ. 2010

    10)   ประมาณการว่าในยุโรปจะมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากมลภาวะทางอากาศจำนวน 370,000 คนต่อปี

     ด้านคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปนั้น กำลังดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในด้านการขนส่งทางรถนั้นมีข้อเสนอ อาทิเช่น การดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด    การกระตุ้นให้ผู้บริหารในประเทศและระดับชาติใช้ยานยนต์ที่ประหยัดพลังงานและลดมลพิษเพื่อสร้างตลาดให้แก่ผู้ผลิตยานพาหนะประเภทนี้ การใช้มาตรการห้ามยานพาหนะที่สร้างมลพิษสูงและสิ้นเปลืองน้ำมันเข้าในเขตใจกลางเมือง ตลอดจนนำการรับรองมาตรฐานด้านเทคนิคมาใช้รับรองรถที่สร้างมลพิษน้อย

     สำหรับประเทศสมาชิก ได้ให้ความสำคัญแก่การประหยัดพลังงานในภาคการขนส่งว่าสามารถนำแผนงานออกใช้ในระดับของการปฏิบัติได้อย่างกว้างขวาง เช่น กระตุ้นการใช้การขนส่งสาธารณะและการเพิ่มประสิทธิภาพของเชื้อเพลิง เป็นต้น

 

การขนส่งสาธารณะที่ปลอดมลพิษ 

     คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้เผยผลการทดลองซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกในการใช้รถประจำทางขับเคลื่อนด้วยเซลเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และประกาศริเริ่มในการใช้พลังงานไฮโดรเจนในที่ประชุม Clean Urban Transport for Europe (CUTE) ที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2006     

     ตั้งแต่กลาง ค.ศ. 2003 จนถึงปัจจุบัน รถประจำทาง 27 คันในโครงการ CUTE ได้ทดลองวิ่งเป็นระยะทางมากกว่า 1 ล้านกิโลเมตรและขนคนมากกว่า 4 ล้านคนโดยไม่ปล่อยไอเสียและไม่มีอุบัติเหตุระหว่างการทดลองวิ่ง คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงประกาศริเริ่มการใช้พลังงานไฮโดรเจนเพื่อการขนส่ง ซึ่งจะประกอบด้วยการใช้ยานพาหนะพลังไฮโดรเจนจำนวน 200 คันและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของสถานีเติมเชื้อเพลิง

     รถประจำทางที่ทดลองนั้น ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงให้แก่เซลเชื้อเพลิงซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางเคมีและไฟฟ้าที่ใช้ออกซิเจนจากอากาศรวมกับไฮโดรเจนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่จะขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าโดยไม่มีไอเสียเลย ความสำเร็จของโครงการ CUTE ประกอบด้วยการออกแบบ การก่อสร้างและดำเนินงานโครงข่ายการผลิตไฮโดรเจนและสถานีเติมเชื้อเพลิงจำนวน 9 แห่ง  การผลิตและการใช้ไฮโดรเจนจำนวนมากกว่า 192 ตัน ซึ่ง 100 ตันนั้นผลิตมาจากแหล่งกำเนิดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ การเติมเชื้อเพลิงอย่างปลอดภัยเกือบ 9000 ครั้ง และรถประจำทางสามารถพร้อมใช้งานได้มากกว่าร้อยละ 90

     โครงการอื่นๆ ต่อไป จะอยู่ภายใต้ความคิดริเริ่มที่ชื่อว่า “Hydrogen for Transport” ซึ่งจะนำยานพาหนะพลังไฮโดรเจนประมาณ 200 คันวิ่งบนท้องถนน ความคิดริเริ่มนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนมูลค่า 105 ล้านยูโร ซึ่งคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปร่วมลงทุนด้วย 48 ล้านยูโร “Hydrogen for Transport” ประกอบด้วย 3 โครงการคือ HyFLEET: CUTE, ZERO REGIO และ HyCHAIN: MINITRANS

     HyFLEET: CUTE จะใช้รถประจำทางพลังงานไฮโดรเจนเกือบ 50 คันวิ่งใน 3 ทวีป คือรถจำนวน 34 คัน จะทดลองวิ่งในเมือง Amsterdam, Beijing (China), Barcelona, London, Luxemburg, Madrid, Perth (Western Australia) และ Reykjavik (Iceland) ขณะที่อีก 14 คัน ซึ่งใช้เครื่องยนต์ที่มีการสันดาปภายใน (Internal Combustion Engine, ICE) จะทำการวิ่งใน Berlin โครงการจะตรวจสอบการพัฒนารถประจำทางรุ่นใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในเทคโนโลยีทั้งสองแบบ

     ZERO REGIO จะมีการทดลองใช้รถยนต์โดยสารที่ใช้เซลเชื้อเพลิงจำนวน 8 คัน ทดลองวิ่งใน Frankfurt และ Mantova

     HyCHAIN: MINITRANS จะใช้ยานพาหนะขนาดเล็กจำนวน 158 คัน (รถมินิแวน รถมินิบัส สกู๊ตเตอร์ จักรยาน และรถเข็นคนพิการ) ในประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน และอิตาลี ยานพาหนะชนิดต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวแทนของรถต่างๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของพลังไฮโดรเจนและเซลเชื้อเพลิง

 

 

หมายเลขบันทึก: 468030เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท