๒๑๑.เมื่อข้าพเจ้า ถูกนิมนต์ให้เข้าคุก


จากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ผู้เขียนตระหนักดีว่า ทุกคนมีโอกาสและศักยภาพ เพียงแต่ใครจะมีดวงตาเห็นสิ่งนั้นก่อนใคร ทำไมคนอย่างพระเจ้าพิมพิสาร ที่ถูกจองจำและทรมาน จึงบรรลุธรรมได้ ก็เนื่องจากท่านถูกจองจำแต่ร่างกาย แต่จิตใจท่านไม่ได้ถูกจองจำ

    

    เมื่อวานนี้(๑๑ พฤศจิกายน ๕๔) ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าคุก เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำจังหวัดพะเยา ได้จัด "โครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาส จะทรงพระชนมพรรษา ๗ รอบ"  ในวันที่ ๕ ธันวาคมที่จะถึงนี้

 

     ตามเอกสารที่ส่งมา เป็นหนังสือนิมนต์ ผ่านทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ได้แจ้งว่าโครงการมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ ดังนี้

     ๑.เพื่อเป็นการแก้ไข ฟื้นฟู พัฒนา และเป็นสวัสดิการในการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ

     ๒.เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน องค์การภาครัฐและเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟู และพัฒนาผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นคนดีของสังคม

 

     ทั้งนี้ได้อาราธนาผู้เขียนไปให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังในหัวข้อ " การสร้างจิตสำนึกทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม" เวลา ๐๙.๐๐-๑๑.๓๐ น. ณ โรงอบรมเรือนจำจังหวัดพะเยา ซึ่งประมาณว่ามีนักโทษที่เตรียมปล่อยร่วมทั้งสิ้น ๒๐๐ คน

 

     ในการนี้ ผู้เขียนได้ชวนพระครูธรรมธรบุญเที่ยง พุทฺธสาวโก ไปด้วย โดยให้พระครูธรรมธรฯ ได้บรรยายตามหลักธรรมไปก่อน ส่วนผู้เขียนถนัดเรื่องให้ข้อคิดมากกว่า เนื่องด้วยเมื่อวัน เวลา ประสบการณ์ผ่านไป งานด้านการอบรมเริ่มจะเบาบางลงไป เนื่องจากความกระตือรือร้น(ไฟ)ในการทำงานด้านนี้ลดลง แต่จะหนักไปทางด้านคิดหรือให้ทัศนะมากกว่า 

 

     นี้เป็นบทพิสูจน์หนึ่งทำให้เห็นว่า แม้แต่อารมณ์ความรู้สึกของเราเองแท้ ๆ ยังไม่เที่ยง เงื่อนไขหนึ่งก็คือ อายุ+ประสบการณ์+ภาระงานอื่น เป็นตัวกำหนดทำให้งานด้านนี้หายไป ซึ่งก็หมายความว่างานอบรมเด็กและเยาวชน ผู้เขียนจะมอบให้ทีมงานไปแทนเสมอในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

     อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ให้ข้อคิดไว้แก่ผู้ต้องขัง ไว้หลายประการ เช่น ผลงานบางอย่างก็เป็นผลงานที่ถูกสร้างสรรค์มาจากในคุก -หนังสือดี ๆ, บทเพลงเพราะ ๆ, คำกลอนเด่น ๆ ฯลฯ  นอกจากนี้แล้ว ผู้ต้องขังควร...ดังนี้

     ๑.ผู้ต้องขังต้องตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง ว่ามีศักยภาพอะไร แค่ไหน?

          ตลอดระยะเวลาที่ถูกจองจำอยู่ในคุกนั้น วัน เวลา ไม่ได้หมุนผ่านเลยไปเท่านั้น แต่หมายความว่า ผู้ต้องขังได้ผ่านกระบวนการฝึกฝนอบรมตนเองในด้านต่าง ๆ อย่างมากมาย เช่น

     ด้านความรู้ซึ่งมีโครงการด้านนี้หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นทางคณะสงฆ์จังหวัดพะเยาได้ให้มีการสอบธรรมศึกษา หรือธรรมสนามหลวงทุกปี ซึ่งมีผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยทั้งชายและหญิงที่สอบผ่านในระดับธรรมศึกษาตรี ธรรมศึกษาโท ธรรมศึกษาเอก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ก็เปิดโอกาสให้กับผู้ต้องขังเรียนรู้ซึ่งมีผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีไปแล้วหลายราย

     นอกจากนี้แล้ว ทางเรือนจำได้มีการฝึกวิชาชีพด้านฝีมือให้อีกไม่ใช่น้อย ซึ่งฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นที่สวยงาม ก็เป็นฝีมือของผู้ต้องขังมาก็ไม่ใช่น้อย

     ดังนั้น ผู้ต้องขังต้องมีทัศนะคติที่ดีต่อสังคม เพราะความเป็นจริงแล้วสังคมมักให้โอกาสเสมอ ไม่มีใครจมปลักหรือยึดถืออดีตตลอดเวลา เพราะพฤติกรรมปัจจุบันและความเสมอต้นเสมอปลายในโอกาสต่อไปต่างหากที่สังคมย่อมรับ ดูตัวอย่างจากประวัติของพระองคุลิมาร, ประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช, แม้แต่คนที่ชั่วที่สุดอย่างพระเทวทัต ในที่สุดแล้ว..ก็ยังจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาล เนื่องจากการสำนึกผิดในวาระสุดท้าย หรือประวัติของ.. ที่ล้วนแล้วแต่ผิดพลาดมาทั้งนั้น

 

     ๒.ผู้ต้องขังต้องมีปณิธาน ความมุ่งมั่น

          ผู้ต้องขังไม่ควรคิดแก้ไขอดีต หรือเศร้าสร้อย น้อยใจในโชคชะตาของตนเอง เนื่องจาก สิ่งเหล่านั้นมันไม่สามารถกลับไปได้แล้ว ต้องหัดเป็นคนให้อภัยตนเอง ให้อภัยคนอื่น โดยพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่

          ผู้ต้องขังไม่ควรคิดหรือกังวลต่ออนาคต เพราะเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ สรรพสิ่งไม่แน่นอน ดังนั้น ต้องมีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์คุณงามความดี ฝึกฝนตนเองให้เก่งในทางใดทางหนึ่งเพื่อเตรียมประกอบสัมมาอาชีพ อย่าให้ห้องขังหรือคุกเป็นเรื่องต้องฝังใจ คอยหลอกหลอนเราตลอดเวลา อย่าให้คุกขังเราไว้ตลอดชีวิต เพราะชีวิตมีสิ่งดี ๆ อีกมากมาย อย่าท้อแท้และสิ้นหวัง

            หลายปีก่อน มีผู้ต้องขังที่เตรียมจะพ้นโทษอีก เข้ามาจับข้อเท้าผู้เขียนแล้วร้องให้ เป็นกังวลว่า เมื่อออกไปแล้ว เขาจะดำรงชีวิตอย่างไร? พ่อแม่ เสียไปแล้ว กลายเป็นว่า เขากลัวต่อโลกที่อิสระ เสรี เพราะการอยู่ในคุกเป็นสถานที่คุ้นเคยมากกว่า

     ด้วยเวลาที่จำกัดสุดท้าย ผู้เขียนก็ได้ให้ศีลให้พร ผูกข้อมือให้กับผู้ต้องขังที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน และมอบหนังสือธรรมะไว้กับห้องสมุดนักโทษทั้งฝ่ายชายและหญิงอย่างละหนึ่งชุด

 

       จากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ผู้เขียนตระหนักดีว่า ทุกคนมีโอกาสและศักยภาพ เพียงแต่ใครจะมีดวงตาเห็นสิ่งนั้นก่อนใคร ทำไมคนอย่างพระเจ้าพิมพิสาร ที่ถูกจองจำและทรมาน จึงบรรลุธรรมได้ ก็เนื่องจากท่านถูกจองจำแต่ร่างกาย แต่จิตใจท่านไม่ได้ถูกจองจำ

 

     น่าเสียดายบางคนถูกจองจำทั้งกายและจิตใจ  บางคนไม่ได้ถูกจองจำ แต่ได้จองจำหรือทำร้ายจิตใจของตนเอง คือไม่ปล่อยใจให้เป็นอิสระ แต่กลับย้ำคิด ย้ำทำ ไม่ให้อภัย จองเวร เหมือนสร้างกรงขังอัตตาให้กับตนเอง ซ้ำรายไปกว่านั้น แม้แต่ตนเอง พ่อแม่ ครอบครัวยังไม่ให้อภัย...จะป่วยกล่าวไปใยต่อ...ใคร ๆ ในสังคม

 

หมายเลขบันทึก: 468015เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 17:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

นิมนต์ไปเทศน์ไม่เป็นไรครับ นมัสการครับ

  • นักการเมืองโดยทั่วไม่กลัวทหาร
  • นักการเมืองสามานย์นั่นคอยด่า
  • รัฐประหารไม่ดีมีมารยา
  • ส่วนตัวเองไร้ค่าไม่ด่าเลย 

 

 

ถ้าใจว่าง จะอยู๋ ณ กรงใด ก็อิสระ

  • นมัสการท่าน
  • ต้องผ่านกรงหลายชั้นไหม
  • อยากเห็นภาพจังเลยครับ
  • สาธุๆๆชอบคำสอนของท่านครับ
  • น่าเสียดายบางคนถูกจองจำทั้งกายและจิตใจ  บางคนไม่ได้ถูกจองจำ แต่ได้จองจำหรือทำร้ายจิตใจของตนเอง คือไม่ปล่อยใจให้เป็นอิสระ แต่กลับย้ำคิด ย้ำทำ ไม่ให้อภัย จองเวร เหมือนสร้างกรงขังอัตตาให้กับตนเอง ซ้ำรายไปกว่านั้น แม้แต่ตนเอง พ่อแม่ ครอบครัวยังไม่ให้อภัย...จะป่วยกล่าวไปใยต่อ...ใคร ๆ ในสังคม

เจริญพรท่านอาจารย์โสภณ การเข้าคุกวันนั้น เป็นการไปให้ข้อคิด

หลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เขานิมนต์ไปอบรม บรรยาย ฝึกปฏิบัติ ไปตรวจเยี่ยมสนามสอบธรรมศึกษา เป็นต้น

แต่ช่วงหลัง ๆ ก็แนะนำให้พระรูปอื่นไปบ้าง

เจริญพร คุณโยมชัยวัฒน์

ใช่แล้ว ถ้าใจว่าง อยู่ ณ คุกไหน ๆ ก็อิสระได้เช่นกัน

สวัสดีครับ ท่านพระมหาวินัย นมัสการเช่นกันครับ

เจริญพร อาจารย์ขจิต

-การเข้าคุกต้องผ่านประตูเหล็กหลายชั้น มีการตรวจค้น แม้แต่โทรศัพท์ก็ต้องฝากไว้ข้างนอกให้หมด

-ส่วนรูปภาพ อันนี้ต้องขออภัยจริง ๆ ไม่มีความชำนาญ คือ อาจารย์สอนคราวก่อน ก็ลืมไปแล้ว...อนิจา.ความทรงจำมันเปลี่ยนไปแล้ว (ลืม)

กราบนมัสการค่ะ

สะท้อนให้ได้คิดมากเลยค่ะ

"....น่าเสียดายบางคนถูกจองจำทั้งกายและจิตใจ

บางคนไม่ได้ถูกจองจำ

แต่ได้จองจำหรือทำร้ายจิตใจของตนเอง

คือไม่ปล่อยใจให้เป็นอิสระ

แต่กลับย้ำคิด ย้ำทำ ไม่ให้อภัย จองเวร

เหมือนสร้างกรงขังอัตตาให้กับตนเอง ...."

กราบนมัสการขอบคุณค่ะ

เจริญพร ศน.ลำดวน ที่แวะเข้ามาทักทาย สาธุ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

สาธุ....

  • นมัสการครับพระคุณท่าน
  • "น่าเสียดายบางคนถูกจองจำทั้งกายและจิตใจ  บางคนไม่ได้ถูกจองจำ แต่ได้จองจำหรือทำร้ายจิตใจของตนเอง"
  • ระหว่างผู้ถูกจองจำทางกายในคุกกับผู้จองจำจิตใจตนเอง กักขังอยู่ในวังวลแห่งความทุกข์ อันไหนจะหมดหนทางกว่ากันครับพระคุณท่าน?

เจริญพรพี่หนานวศิน ต้องเป็นอย่างหลังแน่นอน

ที่ผู้อื่นไม่ต้องจองจำ แต่ได้กักขังตนเองเอาไว้ ใครเล่าจะช่วยได้ อนิจจํ...

กราบนมัสการพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ

ทีแรกนึกว่าพระคุณเจ้าจะถูกจองจำ (การไม่พิจารณา ไตร่ตรอง ตัดสินแค่สิ่งที่เห็นเท่านั้น)

สาธุเจ้าค่ะกับพระธรรมคำสอน

เจริญพรขอบคุณโยม Namsha ที่เป็นห่วง

บางครั้งการพาดหัวข้อข่าว ก็เป็นประเด็นให้น่าคิดอยู่มิใช่น้อย

จะอย่างไรก็ตาม การพิจารณา ใคร่ครวญเป็นสิ่งที่น่าตระหนัก เมื่อเกิดสถานการณ์ใดใดในโลกนี้ สาธุ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท