การจัดการความรู้ในสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร


ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาคราชการต่างให้ความสำคัญต่อการจัดการความรู้(Knowledge Management)ในองค์กร สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาองค์กรจากการทำประกันคุณภาพองค์กรมาระยะหนึ่งในระหว่างปี 2543 จนถึงปัจจุบัน และเล็งเห็นประโยชน์ของการนำการจัดการความรู้มาเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการของสำนักหอสมุดโดยมีเป้าหมายหลักคือการเป็นหน่วยงานแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) สอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานคุณภาพ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ (Complex Adaptive University) ยังประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา ชุมชนและประเทศชาติ พัฒนาการจาก QA สู่ KM 17  มิถุนายน พ.ศ. 2543 เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมประกันคุณภาพของสำนักหอสมุดโดยแต่งตั้งคณะกรรมการประกันคุณภาพสำนักหอสมุด ขึ้นมาดำเนินงาน ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 สำนักหอสมุดดำเนินกิจกรรมประกันคุณภาพอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากขึ้น คือมีการกำหนดนโยบายประกันคุณภาพที่สอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัย มีการจัดทำคู่มือการประกันคุณภาพ ปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นแนวทางการทำประกันคุณภาพภายใน และแต่งตั้งคณะคณะกรรมการที่ปรึกษางานประกันคุณภาพ โดยมีบุคคลภายนอกหน่วยงานที่มีความรู้ความชำนาญด้านการประกันคุณภาพองค์กรมาเป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งจัดการอบรมบุคลากรและการไปศึกษาดูงานหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จด้านการประกันคุณภาพ เพื่อให้บุคลากรพร้อมรับการประเมินคุณภาพและสร้างจิตสำนึกให้การประกันคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงาน อีกทั้งยังได้ปฏิบัติกิจกรรม 5 ส ควบคู่กับการประกันคุณภาพอีกด้วย  จากการปรับปรุงแนวทางและพัฒนาคู่มือการประกันคุณภาพอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา จนกระทั่งพัฒนาการนำเสนอรายงานการประเมินคุณภาพองค์กรจากรูปแบบเอกสารมาเป็นการรายงานผลการประเมินการประกันคุณภาพบนอิเล็กทรอนิกส์หรือ SAR-Online http://www.lib.nu.ac.th/saronline/ ซึ่งคณะกรรมการตรวจประเมินสามารถกรอกคะแนนและให้ข้อเสนอแนะและวิธีการปรับปรุงการทำงานต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ จนทำให้ได้รับรางวัลนวัตกรรมด้านประกันคุณภาพประจำปี 2548 นอกจากนี้สำนักหอสมุดและบุคลากรยังได้รับรางวัลด้านประกันคุณภาพอื่นๆ อีกหลายรางวัล ผลงานในทางรูปธรรมประการสำคัญ คือ สภาพแวดล้อมของหน่วยงานดีขึ้นจากเดิม บุคลากรทำงานอย่างมีความสุขและเกิดความสามัคคีในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างเห็นได้ชัด เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลจากการปฏิบัติงานด้านประกันคุณภาพภายในสำนักหอสมุด อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการดำเนินการจัดเก็บขั้นตอน ความรู้ของการจัดกิจกรรม การแก้ปัญหา จากการทำงานในองค์กรเพื่อนำมาพัฒนางานด้านต่างๆ รวมถึงขั้นตอนการนำข้อเสนอแนะของผู้ตรวจประเมินไปดำเนินการปรับปรุงก็ไม่ได้นำเสนอไว้ เพียงแต่เก็บข้อมูลเอกสารและแหล่งอ้างอิงเพื่อนำเสนอคณะกรรมการตรวจประเมินการประกันคุณภาพองค์กรตามดัชนีชี้วัดต่างๆ ดังนั้นการประกันคุณภาพของสำนักหอสมุดที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจึงเป็นการนำไปสู่การจัดการความรู้ในองค์กร เพื่อเป็นการยกระดับสำนักหอสมุดที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนการเรียนการสอน (Non-Teaching Unit) ให้เป็นหน่วยงานที่มีคุณภาพและเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อีกหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยนเรศวร รางวัลด้านประกันคุณภาพที่สำนักหอสมุดและบุคลากรได้รับ 
ปี ชื่อรางวัล หน่วยงาน/บุคลากร
2002 NUQA staff of the year  2002   นางวลุลี โพธิรังสิยากร
2002 NU Non-teaching unit of the year 2002 สำนักหอสมุด
2003 NU Non-teaching unit of the year 2003  (หน่วยงานสายสนับสนุนที่นำ QA มาใช้จนได้รับความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการ) สำนักหอสมุด
2004 NUQA Non-academic staff of the year 2004   (บุคคลผู้ให้ความสำคัญและนำ QA มาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงาน) นางสุเพ็ญ ทาเกิด
2004 NU Non-teaching unit of the year 2004   (หน่วยงานสายสนับสนุนที่นำ QA มาใช้จนได้รับความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการ) สำนักหอสมุด
2005 NU Non-teaching unit of the year 2005   (หน่วยงานสายสนับสนุนที่มีนวัตกรรมด้านประกันคุณภาพ : SAR-Online) สำนักหอสมุด
 การจัดการความรู้พัฒนาคนพัฒนางาน                 สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เข้าร่วมกิจกรรมการจัดการความรู้โดยการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)  และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งเครือข่าย (University Knowledge Management : UKM) กับมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยจัดให้มีการลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2547 โดยได้ตั้งจุดมุ่งหมายของการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยนเรศวรบนความเชื่อ การนำความรู้จากการปฏิบัติงานของบุคลากรซึ่งเป็นความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) มาแลกเปลี่ยนกันในทุกรูปแบบ ( Knowledge Sharing) และทุกช่องทาง เช่น การพบปะแลกเปลี่ยนในกิจกรรมกลุ่ม (Face to Face) การบันทึกความรู้ผ่านบล็อก (GotoKnow Blog หรือ blog to blog) และมีการนำความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติของแต่ละคนที่นำมาแลกเปลี่ยนนั้นไปต่อยอดเพื่อก่อให้เกิดความรู้ใหม่ที่มีพลังมากขึ้น เน้นหนักการดำเนินกิจกรรมในเชิงบวกที่คาดหวังได้ว่าจะทำให้การพัฒนาองค์กรก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนจากสมาชิกขององค์กรทุกภาคส่วน ในลักษณะการมีส่วนร่วม ประการสำคัญแต่ละหน่วยงานไม่ได้อยู่ในภาวะโดดเดี่ยวหากแต่มีหน่วยงานอื่นๆ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นเครือข่าย (Network) ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน (peer to peer) ทั้งในระดับปัจเจก และระดับหน่วยงานภายในจนถึงระดับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ภาพประกอบ 1  ภาพรวมการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ                 เมื่อมีพลังขับเคลื่อนในระดับมหาวิทยาลัยอย่างมีเป้าหมายเป็นรูปธรรมชัดเจนสำนักหอสมุด ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสเข้าร่วมในกระบวนการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัย โดยการนำของรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ดร. รุจโรจน์ แก้วอุไร ที่เป็นแรงผลักดันให้บุคลากรสำนักหอสมุดเข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยโดยการสนับสนุนให้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการความรู้ ให้เข้ารับการฝึกหัดเป็นวิทยากรกระบวนการ และได้รับการอบรมแนวทางการจัดการความรู้ตามแนวทางของ สคส. อย่างต่อเนื่อง มีบุคลากรสำนักหอสมุดเข้ารับการอบรมการจัดการความรู้จากมหาวิทยาลัย 3 ราย มีโอกาสไปร่วมเพิ่มเติมความรู้ในการประชุมเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (UKM) เพิ่มขึ้นอีก 1 ราย พร้อมกันนี้บุคลากรเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ (Knowledge Management Facilitator : KMF) และเกิดพลังที่แสดงออกในรูปของการเขียนบล็อกเล่าเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติงานที่มีผลให้เกิดความเข้าใจระหว่างบุคลากรภายในสำนักหอสมุดมายิ่งขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการความรู้ที่เป็นรูปธรรมของสำนักหอสมุด ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขั้นตอนการเตรียมจัดทำขุมความรู้ (Knowledge Asset : KA) และวางแนวทางการจัดทำฐานความรู้ของบุคลากร หาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development : HRD) ให้เหมาะสมเพิ่มพูนขุมความรู้ที่เป็นทรัพยากรเบื้องต้นและสำคัญที่สุดของสำนักหอสมุดเป็นลำดับแรก โดยสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความรู้ฝังลึกเกิดการพัฒนาคนพัฒนางานต่อเนื่องเกิดพลังการพัฒนาจากบุคลากรในหน่วยงานอย่างเข้มแข็ง                 หลังจากสมาชิกบางส่วนได้ไปร่วมงานการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัย สำนักหอสมุด เริ่มนำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในบล็อก GotoKnow.org มาเผยแพร่และจัดอบรมให้กับสมาชิกของสำนักหอสมุดขึ้น โดยเชิญ อ. สมลักษณ์ วงศ์มาโนดน์ หรือ beeman เจ้าของบล็อก http://gotoknow.org/blog/beesman  เป็นวิทยากรอบรมการจัดการความรู้ให้ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการปูพื้นฐานให้สมาชิกรู้จักหลักการจัดการความรู้ที่เป็นแนวระนาบเดียวกัน เข้าใจการพูดคุยแนะนำตนเอง ฝึกการฟังอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ไม่มีถูก ไม่มีผิด ไม่มีสายการบังคับบัญชา หรือ ตำแหน่งใดๆ การมีส่วนร่วมคิดและนำสนอข้อคิดเห็น และเป็นไปในลักษณะของการเชื่อในความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ของแต่ละบุคคล นำความรู้จากการปฏิบัติงานมาแลกเปลี่ยนกับสมาชิกกลุ่ม และครั้งที่ 2 จัดอบรมเทคนิคการใช้บล็อกใน Gotoknow.org  เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อก ส่งเสริมให้สมาชิกในสำนักหอสมุดเริ่มเปิดใจรับและ เต็มใจให้ และเริ่มมีการบันทึกข้อมูลลงบล็อกทั้งข้อมูลการปฏิบัติงาน ความรู้ที่แต่ละคนได้รับรู้มาจากแหล่งต่างๆ รวมถึงการนำเสนอรายงานการเข้าร่วมอบรมด้านต่างๆ กระจายความรู้ที่ตนมีสู่เพื่อนก่อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดสิ่งที่ได้รับมาเพื่อเป้าหมายการพัฒนาองค์กรร่วมกันตามกระบวนการ Knowledge Sharing :KS  กำหนดนโยบายการจัดการความรู้ของสำนักหอสมุด หรือ Knowledge Vision : KV  ไว้ 7 ประการคือ 1.       ส่งเสริมให้บุคลากรสำนักหอสมุดมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความรู้2.       ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้3.     ส่งเสริมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำผลของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาพัฒนาองค์กร4.       ส่งเสริมและสนับสนุนการบันทึกและเผยแพร่ความรู้จากการปฏิบัติงานผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ5.        สนับสนุนบุคลากรเป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย6.       พัฒนาระบบกลไก กิจกรรมการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนาสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวรสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้7.       ส่งเสริมให้บุคลากรมีทักษะและวิธีคิดในเชิงบวก ตัวอย่างบล็อกของสมาชิกสำนักหอสมุด http://gotoknow.org/blog/libraryidea      (ดร. รุจโรจน์ แก้วอุไร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ)http://gotoknow.org/blog/library             (นางสุวรรณา นุ่มพิษณุ  บรรณารักษ์งานข้อมูลท้องถิ่น)http://gotoknow.org/blog/nulib-service  (นางสาววันเพ็ญ ตันจันทร์กูล บรรณารักษ์ฝ่ายบริการ)http://gotoknow.org/blog/information     (นางสาวศศิธร ติณะมาศ  หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรฯ )http://gotoknow.org/blog/tangkwa-dad   (นายเกดิษฐ เกิดโภคา  หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี)http://gotoknow.org/blog/moonois          (นางสาวขวัญตระกูล กลิ่นสุคนธ์  หัวหน้าฝ่ายบริการ)http://gotoknow.org/blog/suikadream     (นายสมัทรชา เนียมเรือง  นักประชาสัมพันธ์ห้องสมุด)http://gotoknow.org/blog/narat-k7           (นายนะรัตร์ คงสวัสดิ์  พนักงานห้องสมุดฝ่ายเทคโนโลยี)                ปัจจัยสู่ความสำเร็จ                 มหาวิทยาลัยนเรศวรมีนโยบายดำเนินการประกันคุณภาพมาพัฒนาองค์กรตั้งแต่ ปี 2544 และดำเนินนโยบายด้านการจัดการความรู้ต่อเนื่องกันมา พร้อมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยพัฒนาตนเองสู่องค์กรการเรียนรู้ ประกอบกับสำนักหอสมุดเห็นความสำคัญของการทำประกันคุณภาพและการจัดการความรู้โดยมีการกำหนดนโยบายรองรับซึ่งสอดรับกับนโยบายของมหาวิทยาลัย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า มหาวิทยาลัยและสำนักหอสมุด พร้อมสนับสนุนให้องค์กรก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งคุณภาพและพร้อมพัฒนาตนเองโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ตลอดจนสนับสนุนบุคลากรให้มีส่วนร่วมกับการจัดการความรู้ในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ความร่วมมือของบุคลากรในองค์กรซึ่งเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จสำคัญที่จะทำให้การจัดการความรู้บรรลุเป้าหมายได้โดยแต่งตั้งผู้รับผิดชอบงานการจัดการความรู้ของสำนักหอสมุดขึ้นทำหน้าที่โดยตรง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาการจัดการความรู้ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร บทสรุป การจัดการความรู้ในสำนักหอสมุดนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับบุคคลบางส่วน อาจ  เนื่องมาจาก การจัดการความรู้เป็นสิ่งใหม่บุคลากรบางส่วนไม่เข้าใจว่าการทำงานจะเป็นไปในลักษณะใด นอกจากนี้การจัดการความรู้เน้นหนักที่การสร้างบรรยากาศให้เกิดการมีส่วนร่วมในการเปิดรับและการให้ โดยเป็นไปในแนวระนาบเดียวกัน มีความเท่าเทียมกันหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เป็นสิ่งที่แตกต่างจากการบริหารงานในหน่วยงานราชการที่เป็นไปตามสายการบังคับบัญชา ซึ่งเน้นการสั่งงานจากผู้มีตำแหน่งสูงกว่า ทำให้บุคลากรต้องใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อแสดงบทบาทของตนเอง  เช่น สร้างความเชื่อมั่นในความรู้ฝังลึกที่ตนมี การเปิดใจยอมรับความรู้จากผู้ที่มีหน้าที่แตกต่างออกไป รวมทั้งการให้ความรู้ของตนแก่เพื่อนร่วมงาน              อย่างไรก็ตามสำนักหอสมุดตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแกนนำชุมชนเครือข่ายห้องสมุดในมหาวิทยาลัยและมีบทบาทสนับสนุนการให้บริการวิชาการในมหาวิทยาลัย โดยใช้การจัดการความรู้ การประกันคุณภาพ และการทำวิจัย ในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้พัฒนาขึ้นเรื่อยเป็นวงจรการพัฒนาที่ไม่มีวันจบของหน่วยงานย่อยซึ่งมีหน้าที่แตกต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกัน คือมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ โดยมีเครื่องมือสำคัญ คือ การทำประกันคุณภาพ การพัฒนางานวิจัย และการจัดการความรู้จากทุกภาคส่วนทั้งในระดับปัจเจกไปจนถึงทั่วทั้งองค์กรที่มีเกลียวพลังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่สิ้นสุด ดังสัญลักษณ์ของการพัฒนาการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยภาพประกอบ 2  สัญลักษณ์ของการพัฒนาการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวรบรรณานุกรม  วิบูลย์ วัฒนาธร. 2549. KMในมหาวิทยาลัยนเรศวร  (อีกครั้ง).  Available :                         http://gotoknow.org/blog/nurqakm/37049  (27 สิงหาคม 2549)____________. 2549. นเรศวรวิจัย-QA-KM : DNA.  Available :                         http://gotoknow.org/blog/nurqakm/28765  (27 สิงหาคม 2549)สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร. 2545  คู่มือการประกันคุณภาพการปฏิบัติงาน. พิษณุโลก : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร.                      
คำสำคัญ (Tags): #kmสำนักหอสมุดม.น.
หมายเลขบันทึก: 46756เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 16:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท