แนวคิดเกี่ยวกับความเจ็บป่วย


แนวคิดเกี่ยวกับความเจ็บป่วย

แนวคิดเกี่ยวกับความเจ็บป่วย

                ปรากฏการณ์ของภาวะสุขภาพ (Health Status) ที่อยู่ในความสนใจของนักวิชาการทั้งหลาย  ประกอบด้วย  2  องค์ประกอบใหญ่ คือ ภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์ดีที่เป็นที่ต้องการหรือเป็นปกติ (Optimum or desired health, healthiness or healthy) กับภาวะสุขภาพที่ไม่เป็นที่ต้องการ ไม่สมบูรณ์  ไม่ปกติ  หรือทุกขภาพ (undesired, unhealthy or ill-health) ซึ่งการมองจากจุดของภาวะสุขภาพ (health) ดังที่กล่าวนี้ถือว่า เป็นการมองจากปริทัศน์ทางบวก  แต่ขณะเดียวกันมิติของสุขภาพก็สามารถจะมองจากปริทัศน์ด้านลบ  กล่าวคือเริ่มต้นจากภาวะทุกขภาพ  (ill-health) เช่น  การมองภาวะสุขภาพที่ไม่ดีว่าคือภาวะที่เป็นโรค หรือความพิการ  ภาวะที่มีความเจ็บป่วยและมีความไม่สบาย (disease and disability, ill and sick) และภาวะสุขภาพที่ดีก็คือลักษณะที่ตรงกันข้าม  คือปราศจากโรคหรือความพิการ  ความเจ็บป่วย และความไม่สบาย เป็นต้น 

                 1) โรค (disease)  การที่จะบอกว่าใครมีสุขภาพไม่ดีนั้น คนเรามักจะถึงมิติทางชีววิทยา ที่แสดงว่า มีการเปลี่ยนแปลงหรือกระทบกระเทือนในการทำหน้าที่ของร่างกาย ซึ่งยังผลให้มีการหยุ่นลงในสมรรถภาพ  และทำให้อายุขัยสั้นลง  ปรากฏการณ์เหลานี้  สามารถวัดได้อย่างเป็นปรนัย (objectively measurable) และอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งมีอยู่จริงไม่ว่าใครจะสังเกตเห็นมันหรือไม่ก็ตาม ที่เราเรียกว่าเป็นโรค  โดยแนวคิดเกี่ยวกับโรคจะสอดคล้องกับปรัชญาตามแบบแผนประเพณีของสังคม และเป็นมิติหนึ่งของความมีสุขภาพไม่ดี (ill health) หรือไม่มีสุขภาพที่ดี (non-health) การจำแนก หรือประทับตรา มักจะกระทำโดยผู้ที่มีบทบาทเฉพาะ เช่น  แพทย์ในสังคมตะวันตก และในสังคมอื่นก็ได้ได้แก่พวกผู้ทำการรักษาโรค (practitioners) ต่าง ๆ

                 2) การเจ็บป่วย (Illness)  คนจะบอกว่าตัวเองมีสุขภาพไม่ดีจากความรู้สึกที่ตนรู้เอง (subjective feeling)  และการรายงานหรือบอกเล่าความรู้สึกไม่สบายของตนเองนี้กับผู้อื่นก็จะทำให้ผู้อื่นกำหนดให้บุคคลนั้นเป็นคนมีสุขภาพไม่ดี (unhealthy)  ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก หรืออาการ เช่น ความเจ็บปวดอ่อนแอ  วิงเวียน อาเจียน คลื่นไส้ กระวนกระวาย วิตกกังวล เหล่านี้ ก็เป็นอาการที่เรียกว่าเป็นความเจ็บป่วยหรือความไม่สบาย (IIlness)  ตามนิยามหรือคำจำกัดความนี้  ความรู้สึกว่ามีอาการไม่สบายที่ตนรู้สึกเอง  (subjective feeling) จะสอดคล้องกับปรัชญาของประเพณีวัฒนธรรม  มากกว่าความสอดคล้องของอาการไม่สบายที่ได้จากการวัดอย่างเป็นปรนัย หรือที่เรียกว่าเป็นโรค (objectively measurable) และเป็นมิติของความไม่มีสุขภาพดี (non-health) ที่ผู้ป่วยจะรู้สึกเอง  ซึ่งต่างจากการเป็นโรค  ซึ่งเป็นมิติของความไม่มีสุขภาพดีที่จะรู้โดยแพทย์ไม่ใช่ผู้ป่วย  และความเจ็บป่วย หรือความไม่สบายเหล่านี้  จะถูกเข้าใจว่าเกิดจากโรค  และมักจะเป็นชนวนที่จุดความริเริ่มให้คนแสวงหาความช่วยเหลือทางการแพทย์แต่ความเจ็บป่วยไม่เหมือนโรค  เพราะอาจมีการเจ็บป่วยโดยที่ไม่ต้องมีโรคก็ได้ และในบางกรณี บางระยะของโรคก็อาจมีโรค โดยไม่มีอาการได้เหมือนกัน

                3) ภาวะเจ็บไข้หรือป่วย (Sickness) เมื่อบุคคลถูกคนอื่นเรียกหรือกำหนดว่าเป็นคนมีสุขภาพไม่ดี  หรือตัวบุคคลนั้นประกาศตัวเองต่อสาธารณะว่า  ตนมีสุขภาพไม่ดี  รูปลักษณ์ของบุคคลนั้นในสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงไป  โดยบุคคลนั้นจะถูกแขวนป้ายว่า  เป็นคนเจ็บ  คนป่วย  คนไข้ ไม่สบาย  เป็นโรค  ซึ่งในภาวะเหล่านี้  เขาก็จะถูกปฏิบัติต่อแตกต่างไปจากคนอื่นที่มีสุขภาพดี  เอกลักษณ์ทางสังคม (social identity) ที่ถูกกำหนดให้โดยสังคมนี้เรียกว่า   เป็นภาวะเจ็บไข้หรือป่วย (sickness) ดังนั้นโรค (disease)  จึงเป็นสภาวะสังคมชีววิทยา (socio biological status)  ความเจ็บป่วย (illness) จึงเป็นสภาวะทางสังคมจิตวิทยา (social psychological status)  และภาวะป่วย (sickness) เป็นสภาวะทางสังคม  (social status) เหตุการณ์ที่นำไปถึงภาวะเจ็บไข้หรือป่วย (sickness) นั้นอาจเป็นได้ทั้งโรคและความเจ็บป่วย  หรือการทำหน้าที่ของระเบียบสังคมก็ได้ และจะเห็นว่าในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโรคนั้นเป็นบทบาทของการแพทย์ในขอบเขตของชีววิทยา  ส่วนของความเจ็บป่วยเป็นบทบาทของจิตแพทย์ในส่วนของจิตวิทยาและของภาวะป่วยเป็นบทบาทของนักสังคมวิทยา  หรืออาจกล่าวได้ว่าภาวะเจ็บไข้หรือป่วยนั้น  มักจะสะท้อนถึงโรคหรือความเจ็บป่วย  แม้ว่าบางทีมันอาจเกิดขึ้นแยกจากกันต่างหางก็ได้

หมายเลขบันทึก: 467460เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท