แนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพ


แนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพ

แนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพ

สุขภาพตามความหมายขององค์การอนามัยโลก

                WHO: ได้ให้ความหมายของสุขภาพว่า “Health  is  complete  physical,  mental,  social  and  spiritual  well  being.”  ซึ่งหมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทางกาย ทางจิต  ทางสังคมและทางจิตวิญญาณ

                สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางกาย  หมายถึง ร่างกายที่สมบูรณ์  แข็งแรง  คล่องแคล่ว  มีกำลังไม่เป็นโรคไม่พิการไม่บาดเจ็บ มีเศรษฐกิจดี มีอาหารพอเพียง  มีสภาพแวดล้อมที่สร้างเสริมสุขภาพซึ่งคำว่ากายในที่นี้หมายถึงทางกายภาพด้วย

                สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางจิต  หมายถึง  จิตใจที่มีความสุข รื่นเริง ผ่อนคลาย ไม่เครียด มีความเมตตา  มีสติ  มีสมาธิ  มีปัญญา  รวมถึงลดความเห็นแก่ตัวลงไปด้วยเพราะตราบใดที่ยังมีความเห็นแก่ตัวจะมีสุขภาพที่สมบูรณ์ทางจิตไม่ได้

                สุขภาพที่สมบูรณ์ทางสังคม  หมายถึง  มีการอยู่ร่วมกันได้ดี  มีครอบครัวอบอุ่น  ชุมชนเข้มแข็ง  สังคมมีความยุติธรรม  มีความเสมอภาค  มีสันติภาพ  มีความเป็นประชาสังคม  มีระบบบริการที่ดี

                สุขภาวะที่สมบูรณ์ทางจิตวิญญาณ (Spiritual  well-being)  หมายถึง  สุขภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อทำความดีหรือจิตสัมผัสกับสิ่งที่มีคุณค่าอันสูงสุด เช่น การเสียสละ  การมีความเมตตากรุณา  การเข้าถึงพระรัตนตรัย  หรือการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ความสุขทางจิตวิญญาณเป็นความสุขที่ไม่ระคนอยู่กับการเห็นแก่ตัว  แต่เป็นสุขภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์หลุดพ้นจากความมีตัวตน  จึงมีอิสรภาพ  มีความผ่อนคลายอย่างยิ่ง  เบาสบาย  มีความปิติแผ่ซ่านทั่วไป  มีความสุขอันปราณีตและล้ำลึก  หรือความสุขอันเป็นทิพย์  มีความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจ

 นักทฤษฎีทางการพยาบาล ได้ให้ความหมายของสุขภาพ ดังนี้

คำว่า “สุขภาพ” มากจากภาษาอังกฤษ “health”  ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมันว่า “health”  มีความหมาย  3  ประการคือ  ความปลอดภัย (safe) ไม่มีโรค (sound) หรือทั้งหมด (whole) ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด  จึงให้ความหมายของ health ว่าความไม่มีโรคทั้งร่างกายและจิตใจ (วิฑูรย์  อึ้งประพันธ์, 2541)  อย่างไรก็ตามในระยะต่อมานักวิชาการทั้งหลายรวมทั้งองค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายของสุขภาพ  แตกต่างกันไป  ซึ่งความหมายของสุขภาพที่แตกต่างกันนี้จะนำไปสู่เป้าหมายและวิธีการกระทำเพื่อสุขภาพแตกต่างกันได้

สมิธ  (Smith, 1983 อ้างใน สมจิต หนุเจริญกุล, 2543)  ได้ทบทวนข้อเขียนทั้งหมดในช่วงเวลานั้น  และวิเคราะห์แนวคิดของสุขภาพที่มีอยู่โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงปรัชญา  พบว่ามี  3 แนวคิด คือ

1)            แนวคิดทางด้านคลินิก  (Clinical  model)  ในแนวคิดนี้ให้ความหมายเกี่ยวกับ   สุขภาพ ว่า

เป็นภาวะที่ปราศจากอาการ  และอาการแสดงของโรค  หรือปราศจากความพิการต่าง ๆ ส่วนความเจ็บป่วย  หมายถึงการมีอาการ  และอากรแสดงหรือมีความพิการเกิดขึ้น  ความหมายของสุขภาพเช่นนี้  ถือว่าเป็นความหมายที่แคบที่สุดและเน้นการรักษา เสถียรภาพ (Stability)  ทางด้านสรีรภาพ  ถ้าใช้ความหมายของสุขภาพดังกล่าวเป็นเป้าหมาย  จะนำไปสู่การบริการสุขภาพเชิงรับ  คือรอให้ประชาชนเกิดอาการและอาการแสดงของโรคและความพิการเท่านั้น  ซึ่งทำให้การส่งเสริมสุขภาพและ ป้องกันโรคเกิดได้น้อยมาก และไม่มีแนวทางในการปฏิบัติ  แพทย์จะมีบทบาทเด่น  ในระบบบริการสุขภาพ  เจ้าหน้าที่สุขภาพอื่น ๆ และประชาชนจะมีบทบาทน้อยมาก  เพราะถือว่าสุขภาพเป็นเรื่องของแพทย์  เรื่องของโรงพยาบาล

2)            แนวคิดการปฎิบัติตามบทบาท (Role  performance  model)  ความหมายของ  สุขภาพ  ใน

แนวคิดนี้    ได้รับอิทธิพลมาจากนักสังคมวิทยา    ซึ่งสนใจเกี่ยวกับบทบาทของบุคคลในสังคมเป็นหลัก

 คำว่า  สุขภาพ  จึงหมายถึง  ความสามารถของบุคคลในการกระทำตามบทบาทที่สังคมกำหนดไว้ครบถ้วน  เช่น  ความสามารถในการทำงาน  เป็นต้น  ส่วนความเจ็บป่วยหมายถึงความล้มเหลวในการทำหน้าที่ตามบทบาท  เมื่อเจ็บป่วยบุคคลสามารถหยุดกระทำในบทบาทต่าง  ๆ ได้  เช่น  หยุดงาน  นอนพัก  เป็นต้น  ความหมายของสุขภาพตามแนวคิดนี้  ได้เพิ่มมาตรฐานทางด้านจิตสังคม  คือไม่เพียงแต่ปราศจากอาการและอาการแสดงของโรคเท่านั้น   แต่ต้องสามารถทำหน้าที่ตามบทบาททางสังคมด้วย  และยังคงเน้นการรักษา  เสถียรภาพ  แต่เป็นเสถียรภาพทางสังคม  ซึ่งยังถือว่าเป็นเป้าหมายทางด้านสุขภาพที่แคบ  และนำไปสู่การบริการสาธารณสุขในเชิงรับเช่นกัน

3)            แนวคิดทางด้านการปรับตัว (Adaptation  model)  ความหมายของ  สุขภาพ  ในแนวคิดนี้

ได้รับอิทธิพลมาจากดูบอส (Dubos  1965 อ้างใน หนุเจริญกุล, 2543) ซึ่งเชื่อว่าบุคคลมีการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง  และต่อเนื่องตลอดเวลา  เพื่อรักษาดุลยภาพกับสิ่งแวดล้อม  สุขภาพที่ดีจึงหมายถึงความยืดหยุ่น  ในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลเป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชีวิต  ส่วนการเกิดโรคหมายถึงความล้มเหลวในการปรับตัว  เป็นการทำลายความสามารถของบุคคลที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อม

 

การมองสุขภาพว่า     เป็นเรื่องของดุลยภาพ     ในท่ามกลางปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้ให้

แนวทางในการรักษาสุขภาพที่เน้นการดำรงชีวิตให้มีความประสานสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ  และมีความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างราบรื่น  เจ้าหน้าที่สุขภาพจะเน้นที่การส่งเสริมให้บุคคลมีชีวิตที่สมดุล  บุคคลแต่ละคนจะมีบทบาทมากที่สุดในการดูแลสุขภาพของตนเอง  เพราะดุลยภาพขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติของบุคคล  บุคคลภายนอก หรือเทคโนโลยี  มีส่วนช่วยหนุนเสริมเท่านั้น   การมีสุขภาพดีไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าทางการแพทย์  แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น  อากาศปราศจากมลภาวะ  มีน้ำใช้ที่ดี  มีส้วม  และการะบายน้ำที่ดี  รวมทั้งมีครอบรัวที่อบอุ่น  และชุมชนที่เอื้ออาทรต่อกัน  เป็นต้น

                เพนเดอร์    (Pender  and  Pender,  1987  :  19-27)    ได้ให้ความหมายของ      “สุขภาพ”  ไว้  3  ลักษณะ  ดังนี้

1) สุขภาพคือความคงที่  (Definition  of  health  focusing  on  stability)  กล่าวคือ  สุขภาพเป็น

ภาวะที่บุคคลมีความสามารถในการปรับตัว  เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป  สุขภาพเป็นความสมดุลของระบบย่อย  ได้แก่  ร่างกาย  จิตใจ  สังคม

2) สุขภาพคือความสำเร็จสูงสุดในชีวิต  (Definition  of  health  focusing  on  actualization) 

กล่าวคือ  สุขภาพเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดในชีวิต    สุขภาพเป็นภาวะที่ต่อเนื่องระหว่างการเจ็บป่วย  ภาวะสุขภาพปกติ  ภาวะสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด  และอาจเปลี่ยนมาเป็นสุขภาพดี  สุขภาพไม่ดี  เจ็บป่วยเล็กน้อย  เจ็บป่วยมาก  จนถึงตายในที่สุด

3) สุขภาพคือความคงที่และการบรรลุความสำเร็จสูงสุดของชีวิต  (Defomotopm  pf  health  focusing  on  stability  and  actualization)  กล่าวคือ  สุขภาพเป็นผลรวมของความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่  มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง  และส่งผลให้บุคคลประสบผลสำเร็จสูงสุดในการดำเนินชีวิต  และสามารถคงศักยภาพนั้นไว้ให้ยาวนานที่สุด

 

                เพนเดอร์  (Pender, 1996 : 21)  ได้จำแนกการให้ความหมายสุขภาพในทั้ง 3รูปแบบ  ดังกล่าว ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นการรักษาเสถียรภาพ  (stability) ได้แก่  แนวคิดทางด้านคลินิก  การกระทำตามบทบาทหน้าที่ และแนวคิดทางด้านการปรับตัว  ส่วนการบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิต (actualization)  เป็นการเน้นพัฒนาการของมนุษย์ที่ไปถึงขีดสูงสุด  และได้อธิบายความหมายสุขภาพในเชิงบูรณาการทั้ง  2  กลุ่มเข้าด้วยกัน  ซึ่งแนวคิดของการบูรณาการนี้สอดคล้องกับความหมายของสุขภาพตามที่เสนอโดยองค์การอนามัยโลก  ศาสตราจารย์  นพ.ประเวศ วะสี และโอเร็ม

                 โอเรม  (Orem,  1995  :  96-101)  กล่าวว่า  “สุขภาพ”  เป็นภาวะที่มีความสมบูรณ์ไม่บกพร่อง  และคนที่มีสุขภาพดี คือคนที่มีโครงสร้างที่สมบูรณ์  ทำหน้าที่ของตนได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  สามารถดุแลตนเองได้ในระดับที่เพียงพอ  และต่อเนื่อง  สุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นต่อบุคคล  ความผาสุกเป็นการรับรู้ถึงภาวะที่เป็นอยู่ของตนเองซึ่งแสดงออก  โดยความพึงพอใจ  ความยินดี  และการมีความสุข

จะเห็นได้ว่าวิวัฒนาการของความหมายของสุขภาพมีมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันให้ความหมายของสุขภาพว่า หมายถึง  สุขภาวะ  หรือดุลยภาพทั้งทางร่างกาย  ทางจิต  ทางสังคม  และทางจิตวิญญาณ  ซึ่งมีองค์ประกอบขยายรวมถึงเรื่อง  เศรษฐกิจ  จิตใจ  ครอบครัว  ชุมชน  วัฒนธรรม  สิ่งแวดล้อม  การเมือง  การศึกษา  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบในระบบสุขภาพทั้งสิ้น  ทุกส่วนต้องเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวและมีความถูกต้องจึงจะเกิดสุขสำคัญกับความเป็นคนทั้งคน  หรือมองคนแบบองค์รวม  (Holistic  veiw)

หมายเลขบันทึก: 467458เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท