ชีวิต ความสุข และน้ำท่วม ตอนที่ ๒


เรียกได้ว่า เป็นเวลา ๑ เดือนในหน้าน้ำหลากที่ชีวิตมีความสุขดีทีเดียว

ตอนที่ ๑

          สถานการณ์น้ำก็เริ่มสูงขึ้นมาเรื่อยๆ คืบคลานเพิ่มขึ้นทุกวันๆ จนผู้เขียนต้องยกข้าวของเครื่องใช้บางอย่าง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ตู้เย็นขนาด ๑๒.๙ คิวบิกฟุต เครื่องซักผ้าขนาด ๑๒ กิโลกรัม โทรทัศน์ขนาด ๔๒ นิ้ว และ PC รวมไปถึงเครื่องใช้ในครัวอื่นๆ ขึ้นมาไว้ที่ชั้น ๒ ของบ้าน

          รถที่เคยจอดอยู่ที่โรงรถตรงปากทางเดินเข้าบ้าน ก็ต้องย้ายไปไว้ที่ว่าการอำเภอบางกรวยแทน พร้อมทั้งสั่งซื้อถุงพลาสติกห่อรถราคา ๒,๐๐๐ บาท แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะระดับน้ำสูงขึ้นทุกวัน จนกระทั่งถึงวันนี้ พลาสติกผืนนั้นก็อยู่ในรถอย่างปลอดภัย (กลัวพลาสติกห่อรถเปียกน้ำ) ส่วนรถก็ต้องใช้แม่แรงยกรถและรองด้วยอิฐหลายชั้น เพื่อให้สูงขึ้นไปอีกเกือบ ๕๐ เซ็นติเมตร

          ผู้เขียนต้องย้ายชีวิตปกติที่ชั้นล่าง มาอยู่ที่ชั้น ๒ ของบ้านทั้งหมดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม และรอคอยดูน้ำขึ้นลงตามธรรมชาติทุกวัน และวันที่ ๓๐ ตุลาคม ระดับน้ำภายในบ้านก็ขึ้นสูงสุด ๔๐ เซ็นติเมตร และตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ระดับน้ำก็ลดลงไปเรื่อยๆ วันละ ๕ เซ็นติเมตรบ้าง ๑๐ เซ็นติเมตรบ้าง และคาดว่า น้ำคงจะทรงตัวอย่างนี้ไปอีกหลายวัน

          ผู้เขียนเริ่มวางแผนการใช้ชีวิต หากน้ำยังท่วมสูงกว่านี้  แม่ ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงโทรศัพท์มาถามไถ่กันตลอด รวมไปถึงความห่วงใยผ่าน Social Network ที่ยังใช้การได้ดี ทุกคนบอกให้ผู้เขียนอพยพออกจากพื้นที่ แต่ผู้เขียนรับฟังข้อมูลข่าวสาร และวิเคราะห์สถานการณ์จริงของที่บ้านด้วยตัวเอง เนื่องจากบ้านผู้เขียน อยู่ติดน้ำ หน้าบ้านเป็นคลอง และบริเวณรอบๆ บ้าน คือ ที่สวน ซึ่งเป็นที่โล่งกว้าง ดังนั้น หากน้ำขึ้นสูงกว่านี้ ก็จะขึ้นแบบเรื่อยๆ คือ ขึ้นลงตามธรรมชาติของน้ำขึ้นน้ำลง (แม้จะมีน้ำท่วมขังสะสมอยู่เต็มพื้นที่แล้วก็ตาม) และมีต้นไม้มากมาย ซึ่งช่วยชะลอความแรงของน้ำได้ระดับหนึ่ง ต่างกับหมู่บ้านจัดสรร ที่ทางเข้าออกคับแคบและมีสิ่งปลูกสร้างมากมาย หากน้ำมาก็จะทำให้กระแสน้ำทั้งแรงและเร็ว ตามที่เห็นจากข่าว ซึ่งบางครั้งข่าวก็นำเสนอในด้านที่ดูแล้วขายข่าวได้ หรือเสนอด้านที่ทำให้คนดูตื่นตระหนก อีกทั้งบ้านผู้เขียนก็อาศัยอยู่กันเพียง ๒ คน ไม่มีเด็ก คนแก่ คนป่วย ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือสัตว์เลี้ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

          ดังนั้น คาดว่า หากห้องน้ำชั้นบนสามารถใช้งานได้ตามปกติ และไม่มีการตัดน้ำตัดไฟ ข้าวปลาอาหารก็ไม่ขาดแคลน แม้น้ำจะขึ้นสูงมากกว่านี้ (เพราะคาดว่า คงไม่สูงถึงชั้น ๒ ของบ้านแน่นอน) ผู้เขียนก็ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข จึงไม่ได้คิดจะย้ายออกไปที่ไหน แม้ว่า จะมีการเตรียมกระเป๋าเสื้อผ้าไว้กรณีฉุกเฉินแล้วก็ตาม

          ผู้เขียนเริ่มใช้ชีวิตเป็นปกติสุขกับการกินอยู่ที่ชั้น ๒ ของบ้านโดยไม่ได้ออกไปไหนเลยเป็นเวลาเกือบเดือน เรียกได้ว่า เป็นเวลา ๑ เดือนในหน้าน้ำหลากที่ชีวิตมีความสุขดีทีเดียว

          ชมภาพประกอบเพิ่มเติมได้

          สถานการณ์น้ำท่วมบ้าน

          สถานการณ์น้ำท่วมบ้าน วันที่ ๓๐ ตุลาคม

          สถานการณ์น้ำท่วมบ้าน วนที่ ๑ พฤศจิกายน

          การช่วยชีวิตรถ

 

หญิง สคส.

๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

         

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 467272เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2011 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท