514 คำแนะนำสำหรับพระสงฆ์เดินทางไปอินเดีย


ปรับตามสถานการณ์

 

 

 

คำแนะนำสำหรับพระสงฆ์ไปสังเวชนียสถานที่อินเดีย 

ผมเคยเขียนคำแนะนำสำหรับชาวพุทธที่จะไปสักการะสังเวชนียสถานที่อินเดียและเนปาลแล้ว แต่ไม่ได้นึกถึงเรื่องของพระสงฆ์ อาจเพราะพระสงฆ์เป็นผู้ที่รอบรู้เรื่องศาสนา จึงไม่ได้คิดที่จะดูในรายละเอียด แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องคิดถึงพระสงฆ์ที่ไปสังเวชนียสถานหรือไปแสวงบุญในอินเดีย จึงต้องนำมาบอกกล่าวกัน

1.ปัญหาแรกก็คือการฉัน

การเดินทางไปอินเดียจากประเทศไทยใช้เวลาเดินทางต่างกัน ถ้าไปกัลกัตตาก็ประมาณ 1 ชม.กว่า ไปมุมไบหรือเดลีก็ประมาณ 3-4 ชม. ดังนั้นวลาของเที่ยวบินจึงอาจกระทบเวลาฉันเพลของพระ ในกรณีที่ไปกับคณะลูกศิษย์ เมื่อถึงเวลาเพลก็จะมีลูกศิษย์เตรียมอาหารถวายได้ ถ้าเป็นในเครื่องบินก็ไม่มีปัญหา แต่ในกรณีที่ต้องแวะต่อเครื่องบิน ช่วงที่รอขึ้นเครื่องต่อบางทีอยู่ในช่วงเพลพอดี หลายคณะต้องใช้ที่นั่งรอสาธารณะในสนามบินเป็นที่ถวายเพลแด่พระสงฆ์ ถ้าเป็นพระสงฆ์ที่เดินทางบ่อย ก็คุ้นเคยกับการปรับตัวนี้ แต่หากเดินทางไปอินเดียเป็นครั้งแรก มักจะเห็นเป็นปัญหาได้ และหากพระสงฆ์เดินทางรูปเดียวหรือไปกับพระด้วยกันไม่มีลูกศิษย์ไปด้วย ก็ต้องหาที่ฉันเอง

ปัญหาที่ผมเคยเห็นก็คือหากเป็นพระผู้ใหญ่หรือพระสูงอายุ อาจไม่สะดวกเลยที่จะฉันในบริเวณที่นั่งรอสาธารณะในสนามบิน ก็อาจต้องทำใจว่านี่คือระหว่างการเดินทาง สามารถปรับตามสถานการณ์ต่างๆได้

2.อีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยก็คือเวลาพระสงฆ์ผ่านช่องตรวจการรักษาความปลอดภัยที่สนามบิน มักจะเจอการตรวจที่เข้มงวด หลายองค์บอกว่าเข้มงวดเกินปรกติ ทำให้รู้สึกไม่ดี และโดยเฉพาะที่อินเดียซึ่งเรื่องการตรวจรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะมีการเตือนภัยเรื่องการก่อการร้ายเสมอๆ การตรวจก่อนขึ้นเครื่องจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและเจ้าหน้าที่มักจะเข้มงวดโดยเฉพาะกับคนต่างชาติหรือชาติที่ต้องระวังเป็นพิเศษ สำหรับพระสงฆ์ซึ่งมีฐานะไม่เหมือนคนธรรมดา คือแต่งกายเป็นนักบวช บางครั้งจนท.ก็ไม่มีความรู้การปฏิบัติกับพระสงฆ์เช่นพุทะศาสนิกชน การตรวจจึงมีเรื่องให้ตรวจมากกว่าปรกติ มองในแง่หนึ่ง คนไทยไม่ชอบการเสียมารยาท หากผู้นั้นมีอาวุโสหรือมีความสำคัญ เป็นที่เคารพยกย่องเช่นพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ก็อยากจะให้ จนท.ตรวจแบบเกรงใจหรือให้เกียรติกันบ้าง แต่ จนท.เหล่านี้ก็มิได้ดีซะทุกราย ส่วนใหญ่ตรวจกันเข้มไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร แม้นักการทูตเองก็โดนตรวจไม่มียกเว้น รวมทั้ง จนท.สายการบินเองก็ต้องโดนตรวจเช่นเดียวกัน

เป็นปัญหาเรื่องจิตใจที่ บางครั้งพระผู้ใหญ่เองก็มิได้โกรธอะไรมากแต่ลูกศิษย์รอบข้างอาจไม่พอใจที่พระอาจารย์ของตนโดนตรวจแบบเข้มงวด ผมประสบเหตุการณ์แบบนี้มาหลายครั้ง ทั้งโดนด้วยตัวเองก็มี ซึ่งในที่สุด ก็ต้องทำใจเพราะมองในอีกมุมหนึ่งการตรวจแบบเข้มงวดก็ทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสำหรับผู้โดยสารทุกคนด้วย

เจอปัญหาแบบนี้ จนในวันหนึ่ง ผมกลับมานั่งคิดว่าจะแก้ไขอย่างไรดี ปรากฏว่าได้ความคิดที่น่าจะเป็นทางออกและเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับพระสงฆ์ที่เดินทางมาอินเดีย ดังนี้

หลังจากผ่านช่องตรวจหนังสือเดินทางแล้ว ก็จะต้องผ่านช่องตรวจ รปภ. ซึ่งจะมีการตรวจสัมภาระและการตรวจร่างกายบุคคล ตรงนี้ ขอแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งหลายเอาสิ่งของที่เป็นโลหะทั้งหมด(รวมทั้งวัตถุต่างๆ ที่คนชาติอื่นอาจไม่รู้จักหรือเข้าใจ เช่นเครื่องรางของขลังต่างๆ)ใส่ในสัมภาระและให้ผ่านช่อง scan ตรวจสัมภาระ จากนั้นเมื่อร่างกายไม่มีสิ่งของที่เป็นโลหะแล้ว การตรวจร่างกายก็จะไม่มีปัญหาใดๆ เพราะ จนท.จะใช้เครื่องมือตรวจโลหะเป็นประการแรก เมื่อไม่เจออะไร ก็จะทำให้การตรวจง่ายและเร็วขึ้น

ผมพอจะเข้าใจ จนท.ว่าเขาคงไม่มีความรู้เรื่องพุทธศาสนาและพระสงฆ์ ซึ่งต้องมีพระเครื่อง สร้อยเหล็ก วัตถุมงคลรูปแบบต่างๆ ก็ต้องสงสัยเป็นธรรมดา หากเราแยกสิ่งเหล่านี้ไว้ในสัมภาระ (เฉพาะช่วงผ่านช่องตรวจ) ก็จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น พอผ่านเข้าในในสนามบินแล้ว จะเอากลับมาใส่อีกก็ไม่มีใครว่าอะไร

คำแนะนำนี้จึงสำคัญและเป็นทางออกที่ดีและผมมั่นใจว่าจะได้ผล จะได้ทำให้พระสงฆ์และคณะลูกศิษย์ไม่ต้องมีโจกย์มาทดสอบอารมณ์ขันติบารมี

3.พระสงฆ์ที่อายุมากแล้ว หากเดินทางมาอินเดีย ควรมีประวัติการรักษาพยาบาลติดตัวมาด้วย หากเกิดเจ็บป่วยจะได้เป็นข้อมูลสำหรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

4.แม้ว่าการเดินทางมาสักการะสังเวชนียสถานที่อินเดียและเนปาลจะลำบากและมีปัญหาบ้าง แต่ผมก็สนับสนุนให้พระไทยเดินทางมาอินเดียเพราะเป็นแดนพุทธภูมิที่จำเป็นต้องมาระลึกถึงพระพุทธองค์ มาเพื่อจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้เกิดปัญญาสำหรับการพัฒนาจิต และที่สำคัญจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าโชคดีเหลือเกินที่เราเกิดมาเป็นคนไทย และคนไทยนี้สามารถส่งเสริมความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม และศาสนากับอินเดียเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ พระสงฆ์จะเป็นผู้ที่เข้าถึงจิตใจของคนได้เป็นด่านแรกและจะมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้สอนผู้เผยแพร่พุทธศาสนาซึ่งไทยเรามีความเข้มแข็งที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

ก็หวังว่าคำแนะนำนี้จะเป็นประโยชน์กับพระคุณเจ้าและท่านเจ้าคุณ พระอาจารย์และหลวงพ่อทั้งหลายรวมทั้งคณะลูกศิษย์ที่เกี่ยวข้องทุกท่านครับ

ด้วยความปรารถนาดี

หมายเลขบันทึก: 467194เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

Ico24 ดร.ภิญโญ

และ Ico24 "พี่หนาน".

ขอบคุณครับ สำหรับดอกไม้กำลังใจ ผมมั่นใจว่าวิธีการนี้ จะทำให้พระสงฆ์ผ่านการตรวจไปได้อย่างไม่มีปัญหา

ช่วยกันแนะนำนะครับ

สวัสดีค่ะคุณพลเดช

อ่านข้อความแล้วก็เห็นด้วยค่ะ สำหรับตัวน้าจ้าเองไม่มีปัญหาอะไร เพราะอย่างที่คุณพลเดชพูดถ้าเรารู้กฎ ปัญหาก็อาจจะไม่เกิดขึ้น

คำแนะนำของคุณใช้ได้กับบุคคลทั่วไปด้วยค่ะ. อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการนำอาหารการกินเข้าไปยังประเทศที่เราจะไปด้วยค่ะ ต้องศึกษาก่อนว่าประเทศที่เราจะไปเขาอนุญาติให้นำอาหารอะไรเข้าไปได้ในตอนนี้ ที่พูดเรื่องอาหารเพราะมีหลายๆคนที่กลับมาจากเมืองไทย มาเล่าให้ฟังว่าของกินที่นำเข้ามาถูกโยนทิ้ง ฟังแล้วเสียดายแทน แต่ตัวน้าจ้าขอบอกตรงๆว่าไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้ เพราะเมืองที่อยู่มีพร้อมทุกอย่าง เลยเอาเนื้อที่ของกระเป๋าบรรจุแต่หนังสือ หนักกว่าของกินอีก ;-) .

น้าจ้าสบายดีค่ะ แต่เป็นห่วงคนไทยและญาติพี่น้องที่ถูกน้ำท่วมนะคะ

คูณพลเดชและครอบครัวสบายดีนะคะ

น้าจ้าครับ

ครับ เรื่องอาหารก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะโดนตรวจและถูกยึด วิธีเลี่ยงประการหนึ่งคืออย่าใส่กล่องกระดาษแบบที่คนไทยชอบทำเพราะกล่องเป็นที่น่าสงสัย ทางออกก้คือใส่ในกระเป๋าเดินทาง เพราะอย่างไร ก็เป้นการเอาของทานไปทานส่วนตัวเท่านั้นไม่ได้นำไปเพื่อการค้า ถ้ารู้จักวิธีแพคกระเป๋า ก้ไม่น่ามีปัญหาอะไร

วิธีการเหล่านี้เป้นสิ่งที่เรียนรู้ได้ครับ

ขอบคุณครับที่ห่วงใยคนไทยเรื่องน้ำท่วม

โดนน้องน้ำท่วมกันส่วนใหญ่ครับ บ้านผมทั้งสองแห่ง คือบ้านของพ่อแม่ที่บางแคเหนือโดนน้ำท่วมไปแล้ว โดยคุณพ่อคุณปม่ยอมย้ายออดโดยดี ส่วนบ้านอีกแห่งหนึ่งที่หน้าโรงเรียนร่วมฤดี มินบุรี ณ ตอนนี้น้ำยังมาไม่ถึงแต่คนอยู่ก็เตรียดกันเพราะไม่รู้จะมาวันใดและหากท่วมมากเกรงว่าจะย้ายออกไม่ทัน

เรื่องน้ำท่วมนี้ ต้องปรับใจครับ ไม่ให้จมน้ำ ผมก็ได้แต่ส่งกำลังใจให้ครอบครัวและคนที่ประสบภัยครับ หากแวะกลับเมืองไทยได้ ก็คงออกไปอาสาช่วยเช่นคนอื่นๆ ครับ

สวัสดีค่ะ

ขอแนะนำว่า

ถ้ามาถึงเดลีแล้วยังหาที่ฉันภัตตาหารไม่ได้

ให้แวะสถานทูตไทยเสียก่อน

เขาว่ามีพ่อครัวฝีมือดี เคยทำอาหารถวายเพลพระมาแล้ว

สาธ สาธุ สาธุ ค่ะ

Ico48

แหม แนะนำได้ดีเยี่ยม สาธุ

ยินดีเสมอ ห่วงแต่ว่าหากออกมาจากสนามบินแล้ว จะกลับไปต่อเครื่องไม่ทันน่ะซิ

ที่ประสบมาจึงเป็นการที่คณะลูกศิษย์ต้องถวายอาหารในบริเวณสนามบิน บางครั้งแทบหาที่นั่งว่างไม่ได้เลย จึงเป็นที่มาของการแนะนำให้นึกถึงความไม่สะดวกตรงนี้ด้วย

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ สัมภาระที่นำมากับคณะแสวงบุญ ควรกะให้พอดี โดยเฉพาะอาหาร มิฉะนั้นจะกลายเป็นภาระและน้ำหนักเกินมาก หากเป็นสายการบินไทยคงพูดได้ แต่หากเป็นสายการบินอื่น พูดยากมาก 

การมาแสวงบุญ ก็อาจต้องนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ด้วยเช่นกัน อาจจะลำบากบ้างแต่ก็ลำบากพอดีๆ นะ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท