ความรักและเอื้ออาทรเพื่อนมนุษย์เหนือภัยน้ำท่วม


 

ในสถานการณ์น้ำท่วม ผมได้บทเรียนดีๆหลายอย่าง ในการใช้สังคมในโลกไร้สายอย่างมือถือ กับคลื่นสังคมออนไลน์ ได้มากกว่าการเป็นสื่อทั้งเปิดรับและร่วมสื่อสะท้อนโลกรอบข้างในมุมชีวิตของผมให้กับคนอื่นๆ ที่สำคัญคือ ใช้ปฏิสัมพันธ์กับแม่และญาติพี่น้อง กับสร้างเครือข่ายระดมพลังช่วยเหลือกันทำสิ่งต่างๆเท่าที่มีเหตุปัจจัยให้ทำกันได้กับหมู่มิตรและคนทำงานที่เชื่อมโยงกันได้ในหลายพื้นที่ เป็นกิจวัตรที่ทำโดยทั่วไป แต่บางเรื่องก็ให้บทเรียนและเป็นกรณีศึกษาที่ดีมากไปด้วย

คนต่างจังหวัดและคนนอกพื้นที่
คือเพื่อนร่วมทุกข์ในยามวิกฤตของคนในพื้นที่

ผมได้พบแบบแผนการอาสาสมัครและการสร้างเครือข่ายช่วยเหลือกันที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่งจากกรณีของชาวบ้านแถวอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา กับคนหนุ่มคนสาวและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่อาสาตนเองช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ กล่าวคือ กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่กลับเป็นคนนอกพื้นที่ที่กลับบ้านไม่ทันและตรวจสอบดูแล้วบ้านตนเองไม่เดือดร้อนจากน้ำท่วม จึงร่วมกันเป็นเครือข่ายอาสาสมัครให้กับศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น น้องผู้ประสานงานที่เป็นหลักได้มากที่สุดนั้น เป็นคนอีสาน เคยทำงานด้วยกันหลายครั้ง และเป็นเครือข่ายเคลื่อนไหวเรื่องการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกัน

โดยปรกติแล้ว ในการทำงานวิจัยชุมชนเชิงพื้นที่ แนวคิดหนึ่งในการให้ความหมายความเป็นชุมชนที่ผุดขึ้นมาอยู่เสมอก็คือ การให้ความเป็นสมาชิกของชุมชนผ่านการเป็นบ้านเกิด โดยพากันเชื่อว่า เรื่องสุขภาวะและความจำเป็นของชุมชนนั้น คนชุมชนย่อมรู้ดีและเอาใจใส่ได้มากกว่ากว่าคนที่ไม่ใช่ชุมชน

แต่จากบทเรียนที่เห็นจากการจัดการตนเองของชุมชนในภาวะน้ำท่วมอย่างในครั้งนี้ กลับพบว่า ในหลายกรณีความจำเป็น คนจากนอกพื้นที่แต่ได้อยู่อาศัยและได้เกี่ยวข้องกับชุมชนในพื้นที่ ก็กลับช่วยส่วนรวมและช่วยคนในพื้นที่ ได้มากกว่าคนในพื้นที่น้ำท่วมเสียอีก เพราะเพื่อนพ้องน้องพี่ รวมทั้งเครือข่ายที่ทำวิจัยเชิงพื้นที่ในประเด็นต่างๆด้วยกันที่อยู่ในพื้นที่ และในยามปรกติก็เป็นที่พึ่งให้กับสาธารณชนได้อยู่ตลอดเวลาหลายเรื่องนั้น ณ เวลานี้ นอกจากแทบจะช่วยคนอื่นไม่ได้แล้ว ก็กลายเป็นผู้ประสบภัยแทบช่วยตนเองและญาติพี่น้องไม่ได้เช่นเดียวกับคนอื่นเหมือนกัน หลายคนต้องอยู่เฝ้าระวังบ้านถูกน้ำท่วม ๒-๓ อาทิตย์แล้ว

เช่นเดียวกับผมเอง หลายเรื่องก็ได้ช่วยประสานงานและให้ข้อมูล เชื่อมโยงคนในพื้นที่น้ำท่วมที่ผมมีข้อมูลจากการได้ทำงานเชิงพื้นที่ด้วยกัน ช่วยคนทำงานในพื้นที่จากระยะไกลผ่านสื่อออนไลน์นี่เอง ผมพอได้ช่วยทีมนักวิจัยและน้องๆหลายคนให้ได้แนวระบุคนได้ถูกต้อง ประสานเครือข่ายคน และประสานความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงกับพลังจิตอาสาของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ให้ร่วมกันเป็นพลังเครือข่ายช่วยท่านอธิการบดี ศาตราจารย์นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาธร และท่านรองอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี ที่ได้ตั้งศูนย์พักพิงและช่วยเหลือผู้ประสบภับ ซึ่งทุกคนต่างระดมพลังกันเองเข่งกับภาวะวิกฤติเร่งด่วนโดยพึ่งการจัดการออกจากการต่องานกันคนต่อคนอย่างรีบเร่งและอยู่ในสภาพที่พึ่งปัจจัยนอกตนเองแทบไม่ได้ ผมร่วมทุกข์กับชุมชนถูกน้ำท่วมจากเชียงใหม่ซึ่งเป็นแหล่งที่ไกลออกไปกว่า ๗๐๐ กิโลกเมตร

จากแง่มุมดังกล่าวนี้ ให้ข้อคิดต่อความเป็นชุมชนว่าคืออะไรได้อย่างมีนัยสำคัญต่อเงื่อนไขสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วมากยิ่งขึ้นว่า นอกจากจะผ่านการเป็นบ้านเกิดแล้ว คงจะต้องให้ความสำคัญต่อความเอาธุระและใส่ใจทุกข์ร้อน ร่วมทั้งการเป็นผู้ร่วมทุกข์สุขกัน ทั้งในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและจากเหตุปัจจัยธรรมชาติซึ่งไม่เลือกปฏิบัติตามความแตกต่างของผู้คน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเดียวกัน ผมก็ได้พบจากญาติพี่น้องผมเองที่หนองบัว นครสวรรค์

คนหนองบัวนครสวรรค์
ชาวบ้านชนบทร่วมดูแลคนเมืองถูกน้ำท่วม

เมื่อ ๒-๓ วันที่ผ่านมา แม่และญาติพี่น้องของผมที่บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๖-๗ คน ได้พากันหุงหาข้าวปลาอาหาร และเก็บผลหมากรากไม้ได้จำนวนหนึ่ง แล้วก็ขนขึ้นรถกระบะ ไปช่วยกันดูแลเป็นข้าวปลาอาหารเลี้ยงดูชาวบ้านที่หนีน้ำท่วมในเมืองนครสวรรค์ไปอยู่ที่วัดเขากบ หรือวัดคีรีวงศ์บรรพต กลางตัวเมืองนครสวรรค์ ทั้งหมดเป็นสตรีแม่บ้าน มีเพียงคนขับรถกระบะที่เป็นผู้ชายคนเดียว

โดยปรกติแต่นานนมมาแล้วนั้น คนแถวบ้านผมและชาวบ้านรอบนอกของตัวเมืองนครสวรรค์ เคยแต่รับรู้ตนเองว่าด้อยโอกาสในทุกด้านมากกว่าคนในตัวเมืองนครสวรรค์ นครสวรรค์ก็เหมือนกรุงเทพฯของชุมชนรอบนอก หากจะมีการช่วยเหลือดูแลกัน ก็มักจะเป็นการที่คนในตัวเมืองออกไปดูแลคนในชุมชนรอบนอก เช่น ไปจองเป็นเจ้าภาพกฐินผ้าป่า ระดมเงินและทรัพยากรไปช่วยสร้างความเป็นส่วนรวมให้กับชาวบ้านรอบนอก

การรวมตัวกันเองของชาวบ้านจากชุมชนรอบนอกแล้วขนข้าวของและทำอาหารไปดูแลคนในตัวเมืองในครั้งนี้ จึงสื่อสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยเราไม่ได้สังเกต กระทั่งเกิดความจำเป็นในเงื่อนไขใหม่ๆอย่างอุบัติภัยจากน้ำท่วมในครั้งนี้นั่นเอง จึงได้เห็นการปรากฏตัวขึ้นของทุนทางสังคมที่ชุมชนได้สร้างและสั่งสมไว้นี้

ความเป็นญาติและความห่วงใย

ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมมาเป็นเวลานานสมควรแล้วนี้ ผมนั้นได้ติดต่อกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงเป็นจำนวนมาก มากกว่าในยามปรกติ การมีความทุกข์ร่วมกันนี่เอง ที่ทำให้ผู้คนห่วงใยและกระชับความผูกพันในความคุ้นเคยและความเป็นญาติ เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าในการพัฒนาทางด้านต่างๆเหมือนกันที่เรามักเชื่อกันว่า เมื่อยกระดับการพัฒนาทางด้านต่างๆดีขึ้นแล้ว สุขภาวะและหลายอย่างจะดีขึ้นด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาจจะดีขึ้นแบบต่างอยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ในขณะที่การเรียนรู้จากข้างใน กระทั่งรู้สึกถึงการมีความทุกข์ร้อนร่วมกัน ไม่ใช่ที่การเห็นตนเองประสบความสำเร็จและอยู่สุขสบายต่างจากคนอื่น กลับทำให้จิตสำนึกส่วนรวมและพลังความเป็นกลุ่มก้อนทางสังคมเดียวกัน ผุดขึ้นมาเคลื่อนไหวสังคมมากกว่า

ความแตกต่าง เปลี่ยนแปลงและข้ามได้
ด้วยการทำบุญกุศลและความร่วมทุกข์

โดยปรกติแล้ว คนหนองบัวและแถวบ้านผม ซึ่งก็คือความเป็นชนบทของพื้นที่ต่างๆในประเทศนั้น จะเข้าเมืองก็ต่อเมื่อต้องการไปซื้อของและเข้าถึงสิ่งดีๆของสังคมที่หาไม่ได้ในชุมชนรอบนอก เช่น การศึกษาและหน่วยบริการทางสุขภาพที่ดีกว่า สิ่งอำนวยความสะดวก รวมไปจนถึงอาหารและสิ่งอุปโภคบริโภค ที่ดีกว่า ดังนั้น โดยมากแล้วชาวบ้านจึงเข้าไปในสภาพที่อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ขาดโอกาสและควรจะเป็นผู้ได้รับการหยิบยื่นสิ่งต่างๆให้มากกว่า

เพิ่งจะเห็นจากตัวอย่างในครั้งนี้ได้นั่นเอง ที่งชาวบ้านมีความมั่นใจในสิ่งที่ตนเองมีว่าจะไปช่วยเหลือคนในเมืองได้ในฐานะผู้ให้ การไปดูแลสารทุกข์สุขดิบกันดังตัวอย่างในครั้งนี้ ผู้ได้รับการเอาใจใส่ดูแลก็ได้ขวัญและกำลังใจในชีวิต

ส่วนชาวบ้านที่รวบรวมข้าวของไปช่วยกันก็มุ่งได้บุญกุศลและความดีงามในจิตใจ ไปช่วยแล้ว ไม่ใช่เพียงผู้ได้รับเท่านั้นที่จะมีความสุข แต่ผู้ไปช่วยและนำสิ่งของไปดูแลกัน ด้วยจิตใจที่ปรารถนาให้ผู้อื่นได้ความสุข เกิดพลังใจฝ่าข้ามความทุกข์ยาก ได้ความสบายอกสบายใจและเกิดความดีงามแก่ตนเอง ก็เป็นผู้ที่ได้ความสุขไปด้วย ต่างจากการเข้าเมืองในสถานการณ์ทั่วไป ที่ต้องซื้อมาขายไป โดยไม่เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ผ่านกิจกรรมเงินแลกซื้อของ ให้ได้บ่มสร้างคุณธรรมต่อความเป็นส่วนรวมด้วยกัน มากนัก.

หมายเลขบันทึก: 466530เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2011 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ภัยธรรมชาติครั้งนี้ น่าจะทำให้ชาวบ้าน ชาวเมือง ชนบท ชานเมือง กลางกรุง

รู้สึกถึงความไม่แตกต่างของการร่วมทุกข์ ร่วมสุข ในสังคม ในประเทศ ในโลกใบเดียวกันนี้

สุดท้าย...ความจำเป็นในการมีชีวิตอยู่ ก็เรียบง่าย ไม่เยอะจนเกินไป

การแบ่งปัน ให้และรับ อยู่คู่กันเสมอนะคะอาจารย์

จะหันข้าง แบ่งพวก หนีกันไม่ได้แล้ว

อยู่ร่วมแบบเข้าใจในความต่าง เอาความต่างมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกันดีกว่า

พูดถึงนครสวรรค์ เคยไปอยู่หนึ่งเดือนตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายคะ

รู้สึกอย่างที่อาจารย์ว่าคะ ลักษณะสังคมน่าสนใจ คือคนอำเภอเมืองวิถีชีวิตคล้ายคน กทม.

( แพทย์ใน รพ.ศูนย์ ก็จบจาก กรุงเทพเป็นส่วนใหญ่) แต่คนไข้ ที่ส่งมาจากรอบนอก เป็นคนละแบบ

..เชียงใหม่ ก็เริ่มคล้ายๆ คือ อำเภอเมือง กับอำเภอรอบนอก คิดคนละแบบ ทั้งที่อยู่จังหวัดเดียวกัน

สวัสดีค่ะอาจารย์ ดิฉันมองปรากฎการณ์น้ำท่วมได้สองมุมค่ะ

มุมที่ดีมากๆ คือ

- เราเห็นคนไทยร่วมใจ ร่วมพลังกันไปช่วยอย่างอุทิศตัว ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

- เราเห็นอารมณ์ "ร่วมทุกข์ ร่วมสุข" ของคนไทยได้ชัดเหลือเกิน ในทุกที่ที่ไป

มุมที่ห่วงใย และทุกข์ใจมากคือ

- หลังวิกฤติใหญ่  คนไทยทั้งประเทศได้เรียนรู้ นักวิชาการทุกๆ สาขาเรียนรู้และสรุปบทเรียนเพื่อหาทางออกให้ประเทศจากหายนะ   รอเพียงแต่นักการเมืองตัดสินใจพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อบ้านเมือง มากกว่าทำเพื่อตัวเอง  เพราะเรามีเวลาไม่มาก

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
ตรงกับใจและความรู้สึกได้ที่กำลังเกิดขึ้น
ขณะที่เห็นความทุกข์ยากจากน้ำท่วมครั้งนี้ด้วยกันของผู้คนเลยนะครับ
ต้องเดือดร้อนไปด้วยกัน ต้องพึ่งพาอาศัยกัน
ยากแค้น ระส่ำระสาย ไปด้วยกัน

สวัสดีครับอาจารย์หมอปัทมาครับ
อย่างนี้ก็มีทุนทางสังคมกับคนนครสวรรค์ด้วยเลยสินะครับ เชื่อว่าก็รวมไปถึงคนหนองบัวด้วย
ที่หนองบัวและนครสวรรค์ นอกจากจะมีลักษณะอย่างที่คุณหมอตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะทางสังคมแล้ว
ก็มีอีกหลายอย่างครับ ที่น่าจะทำให้เป็นชุมชนระดับจังหวัดหนึ่ง
ที่เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่
จะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างสุขภาวะของชุมชนเชิงพื้นที่
เป็นจังหวัดที่มีความผสมผสานทางวัฒนธรรม
จากวัฒนธรรมย่อยที่หลากหลายมากแห่งหนึ่งของประเทศเลยละครับ

สวัสดีครับคุณ nui ครับ
ความร่วมแรงร่วมใจกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกันนี่ จะดีไปอย่างนะครับ
ที่ทำให้คนเดือดร้อนมากๆ ปรับใจและเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น
คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมจากอุบัติภัยธรรมชาติ
เดือดร้อนไม่น้อยไปกว่ากัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท