คำชมต้องให้ด้วยความจริงใจ และบริสุทธ์ใจ


วันนี้นำเอาประสบการณ์ และคำถามของผู้บริหารท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากเลยครับ ท่านได้เล่าให้ฟังว่า ท่านได้พยายามปรับปรุงวิธีการบริหารลูกน้องของท่านใหม่ หลังจากที่ได้อ่านบทความ และได้เข้าชั้นเรียนฝึกอบรมในเรื่องของการเป็นหัวหน้างานที่ดี โดยเรื่องที่ท่านพยายามนำไปใช้เป็นเรื่องแรกก็คือ การให้คำชมเชยกับพนักงานที่ทำงานได้ดี

ผู้บริหารท่านนี้เล่าให้ฟังว่า โดยปกติท่านจะไม่เคยชมเชยพนักงานมาก่อนเลย หลังจากที่ได้เรียนรู้วิธีการในการเป็นหัวหน้างานที่ดีแล้ว ก็เห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่ตนเองจะต้องปรับปรุงและแก้ไขให้ดีขึ้น เพราะว่าคำชมเชยนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับพนักงานอย่างมหาศาล

จากนั้นท่านก็เริ่มชมเชยพนักงานมากขึ้น เวลาลูกน้องของท่านทำงานได้ดี หรือส่งงานก่อนเวลา และงานที่ทำก็ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ก็เรียกพนักงานมาชมเชยต่อหน้าทีมงาน

ผลที่เกิดขึ้นคืออะไรทราบมั้ยครับ ท่านเล่าว่า หลังจากที่ทำแบบนี้ไปได้ประมาณ 2 วันก็เริ่มได้ยินเสียงสะท้อนกลับมาว่า นายเป็นอะไรก็ไม่รู้ ท่าทางไม่ค่อยจะปกติเท่าไร ปกติไม่เคยชมเวลาทำงานเลย แต่นี่เริ่มมีคำชมเชย ก็เลยรู้สึกแปลกๆ ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานที่ได้รับคำชมยังรู้สึกว่า ไม่ค่อยได้รับความจริงใจจากนายสักเท่าไร ท่านเล่าว่าเคยได้ยินมากับหูเลยว่า “ชมแบบนี้ ไม่ต้องมาชมกันยังจะดีซะกว่า”

ผมก็เลยสอบถามท่านดูว่า ท่านรู้สึกอย่างไรในการให้คำชมเชยพนักงาน จากที่ไม่เคยให้มาก่อนเลย ท่านก็ตอบว่า ท่านเองรู้สึกเกร็งๆ ฝืนๆ ไม่ค่อยกล้าพูดเท่าไร และบางครั้งก็ต้องแสร้งชม บางครั้งก็อ้ำๆ อึ้งๆ อยู่นานกว่าจะหลุดปากชมออกไปได้ พอออกปากชมไปแล้วก็รีบเดินหลบเข้าในห้องของตนเองทันที

เห็นแบบนี้ก็พอจะนึกสภาพออกว่าทำไมพนักงานถึงรู้สึกไม่ค่อยดีกับคำชมของ นายสักเท่าไร ก็เพราะคำชมที่ออกมานั้นออกมาแบบไม่ค่อยเต็มที่ พนักงานก็เลยรู้สึกไม่ค่อยเต็มที่เหมือนกัน

ผมก็เลยบอกต่อไปว่า อย่าเพิ่งเลิกพฤติกรรมชมเชยนะครับ เพราะบางคนเจอเหตุการณ์แบบนี้แล้ว ก็เลยพาลเลิกไปเลย เพราะคิดแค่เพียงว่า “ตั้งใจทำดีแล้วกลับไม่ได้ดีตอบมา” อย่าเพิ่งเลิกนะครับ เพราะการเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยากมากกว่าการเลิก และเมื่อเราเริ่มต้นได้แล้ว ก็ต้องพยายามต่อไปครับ แล้วพนักงานจะเห็นเองว่า เราให้คำชมเชยด้วยความจริงใจจริงๆ

สิ่งที่สำคัญก็คือ คนที่จะให้คำชมเชยคนอื่นนั้น จะต้องรู้สึกยินดีไปกับสิ่งที่พนักงานทำได้ดีด้วย ไม่ใช่รู้สึกอิจฉาที่เขาทำได้ดีกว่าเรา หรือรู้สึกว่า เก่งเกินหน้าเกินตาเรา เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีความรู้สึกอย่างที่ว่าในใจ แล้วพูดคำชมออกมา คำชมที่ออกมานั้นจะไม่ได้ออกมาจากใจจริงๆ สีหน้า แววตา น้ำเสียง มันก็จะฟ้องครับว่าเราไม่ได้ชมด้วยความจริงใจ ถ้าเราไม่ใช่ดาราฮอลิวูดส์ ผมเชื่อว่าน้อยคนที่จะปิดบังสิ่งเหล่านี้ได้มิดครับ

ดังนั้นถ้าเราจะชมเชยพนักงาน เราจะต้องพูดชมเชยออกมาจากส่วนลึกของจิตใจ ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ไม่มีการฝืนใจพูด ไม่คิดหวังผลประโยชน์จากคำชมนั้น และที่สำคัญก็คือ ต้องไม่เสแสร้งแกล้งชม ถ้าเราชมด้วยความรู้สึกจริงใจ และบริสุทธ์ใจจริงๆ แม้ว่าจะมีความรู้สึกขัดๆ และอ้ำๆ อึ้งๆ อยู่บ้างในระยะแรกๆ แต่พนักงานเขาสามารถรับรู้ได้ถึงความจริงใจของเรา และเขาจะรับรู้ได้อีกว่า นายกำลังพัฒนาตัวเองอยู่ เพื่อให้เป็นนายที่ดีนั่นเองครับ

คำสำคัญ (Tags): #คำชม
หมายเลขบันทึก: 466425เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2011 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • น้ำท่วมเพราะพื้นต่ำและน้ำมาก
  • และท่วมจากขาดทางการวางแผน
  • ขาดผู้รู้ผู้ใหญ่ในดินแดน
  • มาเป็นแกนหนุนนำสู้น้ำเอย

 

สำคัญมากเลยครับ ประเด็นนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท