โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๘)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๘)

           เรายิ่งได้เห็นการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ    เป็นการเรียนรู้แบบซับซ้อนหลายมิติในเวลาเดียวกัน    โดยมีเป้าหมายเพื่อการทำนาปลอดสารพิษ ทำนาแบบยั่งยืน   โดยมีตัววัดผลสำเร็จในภาพรวมคือการเจริญเติบโตของต้นข้าว    ทักษะในการสังเกต  วัด  นับ และบันทึก ยิ่งได้รับการฝึกฝนมากขึ้นอีก

ตอนที่  7  ดิน  ปุ๋ย  ต้นข้าว

           สภาพของดินในแปลงต่างๆ  ล้วนมีความแตกต่างกันไป  สิ่งที่นำมาสู่ความแตกต่างมีหลากหลายปัจจัย  แต่สิ่งที่นักเรียนชาวนาควรจะต้องสังเกตและเรียนรู้คือ  การเชื่อมโยงระหว่างเรื่องของดิน  การใส่ปุ๋ยให้กับต้นข้าว  และการเจริญเติบโตของต้นข้าว  เพราะต้นข้าวอาศัยดินในการเจริญเติบโต  และอาศัยปุ๋ยในการเจริญเติบโตเช่นกัน 
 ดินอย่างไรต้นข้าวจึงจะเจริญเติบโตได้ดี  และจะใส่ปุ๋ยอะไรลงไปในดินเพื่อให้รากของ      ต้นข้าวดูดธาตุอาหารแล้วเจริญเติบโตได้ดี  เรื่องราวของดิน  ปุ๋ย  และต้นข้าว  จึงเป็นสิ่งที่น่าท้าทายการเรียนรู้ของทั้งคุณกิจและคุณอำนวยเป็นอย่างยิ่ง

              

                        
                                 ภาพที่  48 – 49  เรียนรู้รากของต้นข้าว

            คุณกิจกับคุณอำนวยจึงลงไปในนาข้าว  เพื่อสุ่มเก็บตัวอย่างต้นข้าวจากแปลงนาต่างๆมาทำการศึกษาเปรียบเทียบ  ดูการเจริญเติบโตของต้นข้าว  เมื่อเก็บตัวอย่างต้นข้าวมาหลายกรณี  ก็พบว่าแต่ละต้นจากแต่ละนาตามแต่ละกรณีมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันไป  อย่างเช่น  บางต้นรากยาวมากและรากมีสีขาว  แต่บางต้นก็มีรากเป็นสีน้ำตาล  บางต้นรากสั้น  ทว่ามีจำนวนรากมากเกาะกลุ่มตามบริเวณโคนต้น  นั่นเป็นผลมาจากลักษณะดินในแปลงนาที่ไม่เหมือนกัน  และเป็นผลมาจากการใส่ปุ๋ยแต่ละอย่างลงไปในดินด้วย  

       ต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ผ่านการเผาฟาง   ต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยเคมี

 

               

 

         

             

        

 

        ต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพ    ต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพ
ร่วมกับจุลินทรีย์                        

ภาพที่  50  เปรียบเทียบรากของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินตามกรณีต่างๆ  (4  กรณี)

           จากการสุ่มเก็บตัวอย่างต้นข้าวในแปลงนาของนักเรียนชาวนาจากหลายพื้นที่  ในเบื้องต้นนั้น  พบว่า  รากของต้นข้าวมีลักษณะการหาอาหารเลี้ยงต้นแตกต่างกัน  4  กรณี  ได้แก่
 -  กรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ผ่านการเผาฟางมาก่อน 
 -  กรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยเคมี
 -  กรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพ
 -  กรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์
           ทั้ง  4  กรณี  ทำให้ทราบว่าการกระจายตัวของรากในการหาอาหารแตกต่างกัน  โดยที่ในกรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ผ่านการเผาฟางมาก่อน  และในกรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยเคมีนั้น  รากจะแผ่ตัวกระจายไปตามผิวดินและรากจะสั้น  ทั้งนี้เพราะรากพยายามดูดธาตุอาหารที่มีอยู่บริเวณผิวดิน  ส่วนในกรณีของต้นข้าวที่เจริญเติบโตในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพ  และในดินที่ใส่ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์  รากจะยาว  รากแทงลงไปในดิน  เพราะรากพยายามดูดธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน
           เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตขึ้น  คราวนี้ลองมาพิจารณาดูต้นข้าวในแต่ละช่วงอายุวันตามช่วงระยะของต้นข้าว  ดังนี้ 

 

                                

    

ระยะกล้า   ระยะแตกกอ  ระยะย่างปล้อง ระยะตั้งท้อง 

                  ภาพที่ 51 การเจริญเติบโตของต้นข้าวในแต่ละช่วงระยะเวลา (1)

 

                                

ระยะตั้งท้อง  ระยะออกดอก  ระยะแทงช่อดอก  ระยะน้ำนม  ระยะเริ่มแข็ง  ระยะเก็บเกี่ยว 

               ภาพที่ 52  การเจริญเติบโตของต้นข้าวในแต่ละช่วงระยะเวลา (2)

            สำหรับในกรณีนี้  ได้นำตัวอย่างข้าวเบาหรือข้าวที่มีอายุ  3  เดือน  มาศึกษาเรียนรู้ดูการเจริญเติบโตของต้นข้าวในแต่ละช่วงอายุ  ทั้งคุณกิจและคุณอำนวยได้เฝ้าจับตาดูการเจริญเติบโตของ     ต้นข้าวทุกสัปดาห์
           ต้นข้าวในช่วงแรกถือเป็นระยะต้นกล้า  อายุประมาณ  14  วัน  จากนั้นต้นข้าวจึงเริ่มแตกกอ  หรือช่วงที่ต้นข้าวมีอายุกว่า  20  วัน  เมื่อต้นข้าวอายุกว่า  40  วัน  จะเป็นระยะย่างปล้อง  จนถึงช่วงอายุประมาณ  50 – 60  วัน  ข้าวจะอยู่ในระยะตั้งท้อง  และจะเข้าสู่ระยะแทงช่อดอก  เมื่อต้นข้าวอายุได้ประมาณ  70  วัน  จนเข้าสู่ระยะออกดอกในช่วงเวลาถัดมา  ซึ่งต้นข้าวจะอายุได้ประมาณ  70  กว่าวัน  และต้นข้าวอายุได้ประมาณ  80  กว่าวัน  จะอยู่ในระยะน้ำนม  แล้วต้นข้าวเข้าสู่ระยะเริ่มแข็ง  (เมล็ดข้าว)  ต้นข้าวจะอายุถึง  90  กว่าวัน  จวบจนต้นข้าวอายุกว่า  90  วัน  ถึง  100  วันกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้
           รากของต้นข้าวบอกอะไรแก่นักเรียนชาวนาบ้าง  ผลจากการหาอาหารของรากต้นข้าว  ทำให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้อย่างเชื่อมโยงระหว่างดิน  ปุ๋ย  และต้นข้าว  โดยเฉพาะรากของต้นข้าว  ทำให้ต้องกลับมาคิดกันว่า  หากนักเรียนชาวนาต้องการได้ผลผลิตข้าวจะต้องดูแลรักษาต้นข้าวอย่างไร  การดูแลต้นข้าวอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ  จะต้องดูแลรักษาสภาพของดินด้วย  ถ้าดินดี  ข้าวก็ต้องดี  จนต้องมาคิดถึงเรื่องปุ๋ยที่จะใส่ลงไปในดิน  เพื่อให้ทั้งต้นข้าวและดินมีชีวิต  ซึ่งจะส่งผลต่อนักเรียนชาวนา  คุณกิจผู้คลุกคลีอยู่กับดินกับข้าว  ให้ได้มีสุขภาวะ  กาย  ใจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ครบพร้อม  4  ประการ 

          ชาวนาเห็นผลเชิงประจักษ์ ว่าดินปลูกข้าวที่ให้ต้นข้าวแข็งแรงที่สุดคือดินที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และใส่จุลินทรีย์    สิ่งที่เห็นช่วยตอกย้ำให้เห็นชัดว่าจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายอินทรียสารเป็นอาหารแก่ต้นข้าวได้จริง    และช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ดินมีชีวิต” ได้ดีขึ้น

วิจารณ์ พานิช
๑๗ สค. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4664เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2005 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท