หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ENV a95 : เจ้าสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้อยู่นี้…ลงตัวเรื่องอะไร


คำอธิบายนี้ช่วยเติมมุมความเข้าใจเจ้าสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆให้ว่า คิดถูกแล้วที่ลองใช้ฟองน้ำเป็นคอนโดให้เจ้าตัวจิ๋วอยู่ คิดตรงแล้วที่จัดวางมันในที่ขวางน้ำไหล ที่เดาว่ามันจะช่วยทำให้น้ำที่ไหลผ่านรูพรุนของมันได้ออกซิเจนเติม น้ำหมุนเวียนช้าๆในคูเติมออกซิเจนให้น้ำก็ใช่เลย ในน้ำมีเจ้าตัวจิ๋วที่สังเคราะห์แสงได้ นี่ก็ใช่เลย หลักการ คือ แพลงตอนพืชได้แดดแล้วสังเคราะห์แสงปล่อยออกซิเจนให้น้ำ

เจอผู้รู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำก็ไม่ควรรอช้าขอเป็นลูกศิษย์ และก็ไม่ผิดหวัง กับความรู้ที่ได้เติมมา ก็นำมาแบ่งปันกันต่อค่ะ เผื่อใครจะใช้งาน

ในวงการเลี้ยงสัตว์น้ำ เขามีระบบกรองน้ำเพื่อจัดการคุณภาพน้ำใช้กันอยู่  ระบบนี้มีอุปกรณ์เพิ่มอากาศเป็นหัวใจอยู่ด้วย

คุณภาพหลังน้ำมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่ ลดลงเรื่อยๆได้ และสุดท้ายก็เป็นน้ำเสียด้วยเช่นกัน  ความช้า เร็วของการลดคุณภาพอยู่ที่ขนาดของพื้นที่ขังน้ำ ปริมาตรที่น้ำอยู่ได้ และความหนาแน่นของสัตว์น้ำที่อาศัย เมื่อไรน้ำมีคุณภาพแย่ลงจนถึงจุดวิกฤติ สัตว์น้ำก็ออกอาการแย่เป็นโรคง่าย และตายได้หลังจากนั้นไม่นาน เขาจึงนำระบบกรองน้ำเข้ามาช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำ

ระบบกรองที่ว่านี้ เป็นการจัดการให้น้ำที่ขังอยู่ในที่หนึ่งๆมีการไหลเวียน เพิ่มออกซิเจน ให้น้ำใสสะอาดและมีคุณภาพดีตลอดเวลา

ระบบนี้สร้างขึ้นมาได้หลายแบบ เช่น วางแผ่นกรองไว้ใต้พื้นกรวด กรองด้วยฟองน้ำ กรองด้วยกระป๋องพ่นฟองอากาศที่วางไว้มุมใดมุมหนึ่งในพื้นที่  ระบบกรองที่ไม่อยู่ในน้ำ  ระบบกรองในน้ำ

แต่ละแบบทำงานแตกต่างกันไป แต่มีจุดประสงค์หลักเพียงหนึ่งเดียวคือรักษาความสะอาดและสร้างคุณภาพน้ำที่ดีให้น้ำที่ขังอยู่

วิธีวางแผ่นกรองใต้พื้นกรวด : เขาใช้แผ่นตะแกรงพลาสติกที่มีช่องฉลุเอาไว้เต็ม และมีท่อโผล่ที่มุมข้างใดข้างหนึ่ง ปูกับพื้นแล้วเทกรวดทับลงไป เอาสายออกซิเจนที่ต่อกับปั๊มลมมาเสียบกับท่อ

ใช้แรงดันจากปั๊มลมผลักอากาศลงไปตามสาย แล้วย้อนกลับออกมาที่ปากท่อด้านบน น้ำจะหมุนเวียนไหลแทนที่กันตลอดเวลาผ่านแผ่นตะแกรงด้านล่าง

ชั้นกรวดที่ปูทับไว้ทำหน้าที่ดูดซับเอาฝุ่นตะกอนของเสียเอาไว้ และเป็นที่สะสมตัวของแบคทีเรียที่ต้องการออกซิเจน การย่อยสลายกันเองของแบคทีเรียทำให้น้ำสะอาดขึ้น เครื่องมือกรองแบบนี้เหมาะกับพื้นที่น้ำขังขนาดเล็กถึงขนาดกลาง

การกรองด้วยฟองน้ำ : เป็นอีกตัวเลือกสำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก เครื่องมือนี้มีรูปร่างเป็นก้อนกลมทรงกระบอก ที่เสียบท่อไว้ตรงกลาง วิธีทำงานคล้ายกับวิธีกรองใต้กรวด เพียงแต่เปลี่ยนจากกรวดมาเป็นตัวฟองน้ำ

กรองด้วยกระป๋อง : มีแรงดันจากเครื่องปั๊มลมผลักน้ำให้ไหลเวียนผ่านใยสังเคราะห์ (ใยแก้ว) ที่ใส่ไว้ตรงกลาง ตัวใยสังเคราะห์ทำหน้าที่ดักจับเอาสิ่งสกปรกต่างๆไว้ วิธีนี้ง่ายตรงถอดล้างง่าย ราคาถูก ทำแล้วทิ้งได้เมื่อเส้นใยเน่า

ระบบกรองในน้ำ : เป็นชั้นวัสดุกรองวางตามแนวตั้ง แต่ละชั้นบรรจุวัสดุกรองประเภทต่างๆไว้ ช่วงบนของเครื่องมือบากทางไว้ให้น้ำไหลผ่านเข้ามา น้ำไหลผ่านชั้นวัสดุกรองตกลงมาจนถึงห้องล่างสุด มีปั๊มน้ำทำหน้าที่ผลักน้ำที่กรองแล้ววนกลับเข้าไปในพื้นที่ เครื่องมือนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่

ระบบกรองที่ไม่อยู่ในน้ำ :จะดูดน้ำส่งผ่านชั้นกรองที่เรียงตามแนวตั้ง แล้วส่งวนเข้าไปในพื้นที่ใหม่ด้วยปั๊มน้ำ คล้ายกับระบบกรองในน้ำ

เครื่องมือพวกนี้ช่วยเติมอากาศให้น้ำด้วยกลไกน้ำที่หมุนวน และยืดเวลาของการดูแลน้ำให้ไม่ถี่ไป ขนาดพื้นที่ ปริมาตรน้ำ และอายุของวัสดุกรองในเครื่องกรองทุกชนิดเป็นตัวแปรต่อการยืดเวลา

ระบบกรองนี้ไม่ได้ทำงานเดี่ยวๆ ยังต้องมีระบบเปลี่ยนถ่ายน้ำเก่าออก เติมน้ำใหม่ลงไป ทำงานคู่ขนานเมื่อยืดเวลาไปได้ระยะหนึ่ง

การทำให้มีลมเป่าผิวน้ำ ขยับน้ำให้ไหวเป็นริ้ว กระแสน้ำ แรงลม เหล่านี้คือวิธีเติมอากาศปนลงไปในน้ำ เพิ่มออกซิเจนให้น้ำที่ใช้กันอยู่ ผิวหน้าของน้ำที่สัมผัสอากาศ จะซับเอาออกซิเจนจากอากาศโดยตรงในจำนวนมหาศาล ปั๊มลมต่อเข้ากับหัวทรายเป็นอีกวิธีที่เขาใช้เพิ่มอากาศให้น้ำ

คำอธิบายนี้ช่วยเติมมุมความเข้าใจเจ้าสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆให้ว่า คิดถูกแล้วที่ลองใช้ฟองน้ำเป็นคอนโดให้เจ้าตัวจิ๋วอยู่  คิดตรงแล้วที่จัดวางมันในที่ขวางน้ำไหล

ที่เดาว่ามันจะช่วยทำให้น้ำที่ไหลผ่านรูพรุนของมันได้ออกซิเจนเติม  น้ำหมุนเวียนช้าๆในคูเติมออกซิเจนให้น้ำก็ใช่เลย

ในน้ำมีเจ้าตัวจิ๋วที่สังเคราะห์แสงได้ นี่ก็ใช่เลย หลักการ คือ แพลงตอนพืชได้แดดแล้วสังเคราะห์แสงปล่อยออกซิเจนให้น้ำ เหมือนที่เจอที่บ่อน้ำทิ้งข้างไตเทียม

อืม ตราบใดที่กลไกเติมออกซิเจนเหล่านี้ยังทำงาน ระบบบำบัดน้ำเสียตรงคูนี้ก็โอ แต่คำว่าตัวแปรก็เตือนให้ฉุกใจว่า สภาวะต่างๆเปลี่ยนแปลงได้

วันนี้จึงสรุปไว้เพียงว่าความรู้ที่ได้มาจากการลองนี้ เป็นเพียงความรู้ระหว่างทาง ที่ช่วยยืดเวลาให้น้ำมีชีวิตชีวาคืนมาระยะหนึ่ง ส่วนจะนานเท่าไรนั้น ขึ้นกับความเสถียรของระบบ ที่ยังคงต้องถอดบทเรียนจากคูแห่งนี้ต่อไป

ที่คิดจะปิดคู จึงควรชะลอไว้ก่อน เปิดบางส่วนให้จัดการตะกอนไปก่อนน่าจะดีกว่า

25 ตุลาคม 2554

หมายเลขบันทึก: 466154เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2011 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท