ครูฝึกทักษะชีวิตแก่ศิษย์ : ๑. ใช้ case story



          ในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนรู้ต้องเลยเรียนสาระวิชาหรือตัวความรู้   ต้องไปให้ถึงทักษะ  ซึ่งต้องเรียนโดยการฝึกปฏิบัติ   โดยครู/อาจารย์ ต้องเปลี่ยนจาก “ครูสอน” ไปเป็น “ครูฝึก”   ให้นักเรียนได้ฝึกทำฝึกคิดฝึกทักษะที่ซับซ้อน ที่เรียนกว่า 21st Century Skills อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ   คู่ไปกับการเรียนเชิงทฤษีจากการตีความผลการปฏิบัติ

          วิธีเรียนโดยยึดการฝึกปฏิบัติเป็นหลัก เพื่อให้ได้งอกงามทักษะสำหรับคนในศตวรรษที่ ๒๑ เรียกว่า PBL   ซึ่งเป็นการเรียนแบบเน้นการลงมือปฏิบัติ หรือการประยุกต์ใช้ความรู้   ซึ่งไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อให้ได้ทักษะเชิงหัตถศึกษา (manual skills)   แต่เป็นทักษะเชิงซ้อนที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ 

          หนึ่งในทักษะเชิงซ้อนที่เรียกว่า 21st Century Skills นั้น คือทักษะชีวิต (life skills) ซึ่งก็เป็นทักษะเชิงซ้อนอีกเหมือนกัน  

          ทักษะชีวิต ในบริบทนักเรียนไทยคืออะไร ครูควรช่วยกันคิดและตีความกำหนดขึ้น   เป็นการกำหนดนิยามสำหรับเอามาออกแบบการเรียนรู้สำหรับศิษย์   สำหรับคิดโจทย์ให้นักเรียนเรียน   ในวิกิพีเดีย เขานิยาม life skills ว่าประกอบด้วย ทักษะด้านการเงิน  ทักษะด้านการเสพติด (ที่จะไม่ติด)  ทักษะด้านการสื่อสาร

          ในบริบทไทย ผมคิดว่า ทักษะด้านความปลอดภัยทางเพศ และทักษะการคบเพื่อน  มีความสำคัญมากต่อวัยรุ่น  นอกจากนั้น ทักษะในการเสพสื่อ (ไม่เชื่อง่าย)  ทักษะด้านใน (ในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง) ก็มีความสำคัญ

          การออกแบบ PBL เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ทักษะชีวิตเหล่านี้   ที่ดีที่สุดในความเห็นของผมคือการเรียนจาก case story  ที่เป็นเรื่องจริงของผู้เพลี่ยงพล้ำ   ซึ่งอาจได้จากหนังสือพิมพ์หรือจากทีวี หรือแม้แต่ในภาพยนตร์ 

           ครูควรสะสม case story เหล่านี้ไว้   เอามาจัดหมวดหมู่ว่าเหมาะกับเด็กวัยใด  ในสถานการณ์ใด้  แล้วคัดเลือกเอามาให้นักเรียนอ่านหรือดู   โดยมีการทำ BAR กันก่อนว่าต้องการเรียนรู้อะไรบ้างจาก case story นี้   แล้วหลังจากอ่านหรือดู ก็มา AAR กันว่านักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้อะไร   ครูต้องฝึกทักษะในการอำนวยการให้เกิด reflection อย่างลึก   ให้นักเรียนได้ทั้งความรู้เชิงทฤษฎี ที่เป็นพุทธิปัญญา  และปัญญาเชิงปฏิบัติที่ทางพระเรียกว่า ภาวนามยปัญญา   รวมทั้งปัญญาด้านในที่เรียกว่าจิตตปัญญา หรือ จินตมยปัญญา  ปัญญาทั้งสามนี้รวมเรียกว่า ทักษะชีวิต

          ทักษะชีวิตนี้ต้องฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์   ซึ่งที่จริงพ่อแม่ก็ต้องฝึกให้ลูกด้วย   และเมื่อเข้าเรียนอนุบาลหรือชั้นเด็กเล็กก็มีการฝึก และฝึกฝนตลอดเรื่อยมาทุกชั้นเรียน   โดยที่การฝึกด้วย case story เป็นหนึ่งในวิธีการที่หลากหลาย   และผมมีความเชื่อว่า แม้คนแก่อย่างผมก็ต้องฝึกตนเองอย่างสม่ำเสมอ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ ก.ย. ๕๔
                  
                    

หมายเลขบันทึก: 465069เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2011 08:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 07:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่ามากๆครับ "ทักษะชีวิต" สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมยึดมั่นเป็นแนวทางในการทำหน้าที่ครูผู้สอนมาตลอด ถึงแม้ผู้เรียนของผมจะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานแล้ว แต่ผมคิดว่าทักษะด้านนี้ยังขาดกันอยู่มากทีเดียวครับผม

เห้นด้วยกับผู้เขียนค่ะเพราะในโลกปัจจุบันผูัเรียนจะเรียนรู้ในเนื้อหาวิชาอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ต้องมีทักษะชีวิตด้วยเพราะปัจจุบันผู้เรียนที่มีปัญหาแล้วหาทางออกไม่ได้คือเด็กที่เรียนเก่งแต่ขาดทักษะชีวิต

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ เด็กสมัยนี้น่าสงสารมาก โดยเฉพาะเด็กเก่งและพ่อแม่รวย พ่อแม่ที่กลัวไปซะทุกอย่าง ทำแทนลูกทุกอย่าง สรรหาสิ่งที่ดี ๆ ไว้ทุกอย่าง สุดท้ายลูกทำอะไรไม่เป็น แล้วผู้ใหญ่ก็บ่นว่าเด้กไม่มีทักษะชีวิต ทั้งที่บางทีต้อตอของปัญหาจริง ๆ ก็

้คือผู้ใหญ่นี่แหละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท