Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ์


เป็นกัณฑ์ที่หกกษัตริย์นำพยุหโยธาเสด็จนิวัติพระนคร พระเวสสันดรขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี และเสด็จกลับสู่สีพีนคร เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน พระองค์จะประทานสิ่งใดแก่ประชาชน ท้าวโกสีห์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนขนเอาไปตามปรารถนา ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรมบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ

พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว เมื่อจะตรัสกับพระชนก จึงตรัสคาถานี้ว่า
พระองค์ และชาวชนบท ชาวนิคม ประชุมกันให้เนรเทศหม่อมฉันผู้ครองราชสมบัติโดยธรรม จากแว่นแคว้น.


ต่อนั้น พระเจ้าสญชัย เมื่อจะยังพระโอรสให้อดโทษแก่พระองค์ จึงตรัสว่า
ลูกรัก จริงทีเดียว การที่พ่อให้ขับไล่ลูกผู้ไม่มีโทษ เพราะถ้อยคำของชาวสีพีนั้น ชื่อว่าพ่อได้กระทำกรรมอันชั่วช้า ทำกรรมอันทำลายความเจริญแก่พวกเรา.


ครั้นตรัสคาถานี้แล้ว เมื่อจะทรงวิงวอนพระโอรสเพื่อนำความทุกข์ของพระองค์ไปเสีย จึงตรัสคาถานี้ว่า
ธรรมดาบุตรควรนำความทุกข์ของบิดามารดา หรือพี่น้องหญิงออกเสีย ด้วยคุณที่ควรสรรเสริญอันใดอันหนึ่ง แม้ด้วยชีวิตของตน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทพฺพเห ได้แก่ พึงนำไป.
บทว่า อปิ ปาเณหิ อตฺตโน ความว่า ได้ยินว่า พระเจ้าสญชัยตรัสอย่างนี้กะพระเวสสันดร ด้วยพระประสงค์อันนี้ว่า แน่ะพ่อ ธรรมดาบุตรพึงนำความทุกข์ เพราะความเศร้าโศกของบิดามารดาไปเสีย แม้ต้องสละชีวิต เพราะเหตุนั้น ลูกอย่าเก็บโทษของพ่อไว้ในใจ จงทำตามคำของพ่อ จงเปลื้องเพศฤาษีออก แล้วถือเพศกษัตริย์เถิดนะลูก.

พระโพธิสัตว์ แม้ทรงใคร่จะครองราชสมบัติ แต่เมื่อไม่ตรัสคำมีประมาณเท่านี้ ก็หาชื่อว่า เป็นผู้หนักไม่ เพราะเหตุนั้น จึงตรัสกับพระราชบิดา พระเจ้าสญชัยทรงอาราธนาพระมหาสัตว์ พระมหาสัตว์ทรงรับว่า สาธุ.
ครั้งนั้น เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้สหชาติ รู้ว่า พระมหาสัตว์ทรงรับอาราธนา จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เวลานี้เป็นเวลาสนานพระวรกาย จงชำระล้างธุลีและสิ่งเปรอะเปื้อนเถิด.


ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายรอสักครู่หนึ่ง เสด็จเข้าบรรณศาลา ทรงเปลื้องเครื่องฤาษีเก็บไว้ ทรงพระภูษาสีดุจสังข์ เสด็จออกจากบรรณศาลา ทรงรำพึงว่า สถานที่นี้เป็นที่อันเราเจริญสมณธรรมสิ้น ๙ เดือนครึ่ง และสถานที่นี้เป็นที่แผ่นดินไหว เหตุเราผู้ถือเอายอดแห่งพระบารมี บริจาคปิยบุตรทารทาน ทรงรำพึงฉะนี้แล้ว ทำประทักษิณบรรณศาลา ๓ รอบ ทรงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วทรงสถิตอยู่.
ครั้งนั้น เจ้าพนักงานมีภูษามาลาเป็นต้น ก็ทำกิจมีเจริญพระเกสา และพระมัสสุเป็นต้นแห่งพระมหาสัตว์. ชนทั้งหลายได้อภิเษกพระมหาสัตว์ ผู้ประดับด้วยราชาภรณ์ทั้งปวงผู้รุ่งเรืองดุจเทวราช ในราชสมบัติ.

เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า
แต่นั้น พระเวสสันดรราชทรงชำระล้างธุลีและของไม่สะอาดแล้ว สละวัตรปฏิบัติทั้งปวง ทรงเพศเป็นพระราชา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปวาหยิ ความว่า ให้นำไป ก็และครั้นให้นำไปแล้ว ให้ถือเพศเป็นพระราชา.

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เป็นผู้มีพระยศใหญ่ สถานที่พระองค์ทอดพระเนตรแล้ว ทอดพระเนตรแล้ว ก็หวั่นไหว. เหล่าผู้รู้มงคลทรงจำมงคลไว้ด้วยปาก ก็ยังมงคลทั้งหลายให้กึกก้อง. พวกประโคมก็ประโคมดนตรีทั้งปวงขึ้นพร้อมกัน ความกึกก้องโกลาหลแห่งดนตรี เป็นการครึกครื้นใหญ่ ราวกะเสียงกึกก้องแห่งเมฆคำรามกระหึ่มในท้องมหาสมุทร ฉะนั้น. เหล่าอำมาตย์ประดับหัตถีรัตนะ แล้วเตรียมเทียบไว้รับเสด็จพระเวสสันดร. มหาสัตว์ทรงผูกพระแสงขรรค์รัตนะ แล้วเสด็จขึ้นหัตถีรัตนะ. เหล่าอำมาตย์หกหมื่นผู้สหชาติทั้งปวง ประดับเครื่องสรรพาลังการ แวดล้อมพระมหาสัตว์. ฝ่ายนางกัญญาทั้งปวงให้พระนางมัทรีสนานพระกาย แล้วตกแต่งพระองค์ถวายอภิเษก. เมื่อถวายการรดน้ำสำหรับอภิเษก ณ พระเศียรแห่งพระนางมัทรี ได้กล่าวมงคลทั้งหลายเป็นต้นว่า ขอพระเวสสันดรจงทรงอภิบาล.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
พระเวสสันดรมหาสัตว์สนานพระเศียร ทรงพระภูษาอันสะอาด ประดับด้วยราชปิลันธนาภรณ์ทุกอย่าง ทรงผูกสอดพระแสงขรรค์อันทำให้ราชปัจจามิตรเกรงขาม เสด็จขึ้นทรงพระยาปัจจัยนาคเป็นพระคชาธาร. ลำดับนั้น เหล่าสหชาติโยธาหาญทั้งหกหมื่นผู้งามสง่าน่าทัศนา ต่างร่าเริงแวดล้อมพระมหาสัตว์ผู้จอมทัพ.
แต่นั้น เหล่าสนมกำนัลของพระเจ้ากรุงสีพีประชุมกัน สรงสนานพระนางมัทรีราชกัญญา ทูลถวายพระพรว่า ขอพระเวสสันดรจงอภิบาลพระแม่เจ้า ขอพระชาลีและพระกัณหาชินาทั้งสองพระองค์ จงอภิบาลพระแม่เจ้า. อนึ่ง ขอพระเจ้าสญชัยมหาราช จงคุ้มครองรักษาพระแม่เจ้าเถิด.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปจฺจยํ นาคมารุยฺห ได้แก่ ช้างตัวประเสริฐซึ่งเกิดในวันที่พระเวสสันดรประสูตินั้น. บทว่า ปรนฺตปํ ได้แก่ ยังอมิตรให้เกรงขาม. บทว่า ปริกรึสุ ได้แก่ แวดล้อม. บทว่า นนฺทยนฺตา ได้แก่ ให้ยินดี. บทว่า สิวิกญฺญา ความว่า เหล่าปชาบดีของพระเจ้าสีพีราช ประชุมกันให้พระนางมัทรีสรงสนานด้วยน้ำหอม. บทว่า ชาลี กณฺหาชินา จุโภ ความว่า แม้พระโอรสพระธิดาของพระแม่เจ้าเหล่านี้ ก็จงรักษาพระมารดา.

พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทรงได้ปัจจัยนี้ ทรงอนุสรณ์ถึงการประทับแรมในป่า อันเป็นความลำบากของพระองค์มาแต่ก่อน จึงให้ตีอานันทเภรีเที่ยวป่าวร้องตามเวิ้งเขาวงกต อันเป็นที่ควรยินดี.
พระนางมัทรีทรงได้ปัจจัยนี้ ทรงอนุสรณ์ถึงการประทับแรมในป่า อันเป็นความลำบากแห่งพระองค์มาแต่ก่อน. พระนางถึงพร้อมด้วยพระลักษณะ มีพระหฤทัยร่าเริงยินดี ที่พบพระโอรสและพระธิดา.
พระนางมัทรีทรงได้ปัจจัยนี้ ทรงอนุสรณ์ถึงการประทับแรมในป่า อันเป็นความลำบากของพระองค์มาแต่ก่อน. ทรงมีพระลักษณะ ดีพระหฤทัย อิ่มพระหฤทัยแล้วพร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดา.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทญฺจ ปจฺจยํ ลทฺธา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเวสสันดรและพระนางมัทรี ทรงได้ปัจจัยนี้ คือที่พึ่งนี้แล้วดำรงอยู่ในราชสมบัติ. บทว่า ปุพฺเพ ความว่า ทรงอนุสรณ์ถึงการประทับแรมอยู่ในป่า อันเป็นความลำบากของพระองค์ในกาลก่อนแต่นี้ จึงให้ตีกลองอานันทเภรีเที่ยวป่าวร้อง.
บทว่า รมฺมณีเย คิริพฺพเช ความว่า ให้ตีกลองอานันทเภรีที่ผูกด้วยลดาทองท่องเที่ยวป่าวร้อง ในเวิ้งเขาวงกตอันเป็นที่ควรยินดีว่า เป็นอาณาเขตแห่งพระราชาเวสสันดร จัดเล่นมหรสพให้เพลิดเพลิน.
บทว่า อานนฺทจิตฺตา สุมนา ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยพระลักษณะ ความว่า พระนางมัทรีได้พบพระโอรสพระธิดา ทรงดีพระหฤทัย คือยินดีเหลือเกิน.
บทว่า ปีติตา ได้แก่ มีปีติโสมนัสเป็นไปแล้ว.

ก็และครั้นทรงอิ่มพระหฤทัยอย่างนี้แล้ว พระนางมัทรีได้ตรัสแก่พระโอรสพระธิดาว่า
แน่ะลูกรักทั้งสอง เมื่อก่อนแม่กินอาหารมื้อเดียว นอนเหนือแผ่นดินเป็นนิตย์ แม่ได้ประพฤติอย่างนี้ เพราะใคร่ต่อลูก วัตรนั้นสำเร็จแล้วแก่แม่ในวันนี้ เพราะอาศัยลูกทั้งสอง วัตรนั้นเกิดแต่แม่ก็ตาม เกิดแต่พ่อก็ตาม จงอภิบาลลูก อนึ่ง ขอพระมหาราชสญชัยจงคุ้มครองลูก บุญอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งแม่และพ่อได้บำเพ็ญไว้ จงสำเร็จแก่ลูก ด้วยอำนาจบุญกุศลนั้นทั้งหมด ขอลูกจงอย่าแก่ (เร็ว) อย่าตาย (เร็ว).


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุมฺหํ กามา หิ ปุตฺตกา ความว่า พระนางมัทรีตรัสว่า แน่ะลูกน้อยทั้งสอง แม่ปรารถนาลูกๆ เมื่อลูกๆ ถูกพราหมณ์นำไปในกาลก่อน แม่กินอาหารมื้อเดียว นอนเหนือแผ่นดิน แม่มีความปรารถนาลูกๆ จึงได้ประพฤติวัตรนี้ ด้วยประการฉะนี้.
บทว่า สมิทฺธชฺช ความว่า วัตรนั่นแลสำเร็จแล้วในวันนี้. บทว่า มาตุชํปิ ตํ ปาเลตุ ปิตุชํปิ จ ปุตฺตกา ความว่า โสมนัสที่เกิดแต่แม่ก็ตาม เกิดแต่พ่อก็ตาม จงคุ้มครองลูกๆ คือบุญที่เป็นของแม่และพ่อ จงคุ้มครองลูก เพราะเหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ยํกิญฺจิตฺถิ กตํ ปุญฺญํ ดังนี้.

ฝ่ายพระนางผุสดีเทวีมีพระดำริว่า ตั้งแต่นี้ไป สุณิสาของเราจงนุ่งห่มภูษาเหล่านี้และทรงอาภรณ์เหล่านี้ ดำริฉะนี้แล้ว สั่งให้บรรจุวัตถาภรณ์เต็มในหีบทอง ส่งไปประทาน.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้นจึงตรัสว่า
พระผุสดีราชเทวีผู้พระสัสสุได้ประทานกัปปาสิกพัสตร์ โขมพัสตร์ และโกทุมพรพัสตร์ อันเป็นเครื่องงดงามแห่งพระนางมัทรีผู้พระสุณิสา แต่นั้น พระนางเจ้าประทานเครื่องประดับพระศอแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับต้นพระกร เครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับพระศออีกชนิดหนึ่ง สัณฐานดุจผลอินทผลัมแล้วไปด้วยทองคำ เครื่องประดับพระศอแล้วไปด้วยรัตนะ เครื่องประดับพระนลาตซึ่งขจิตด้วยสุวรรณเป็นต้น เครื่องประดับวิการด้วยสุวรรณ ส่วนพระกายมีพระทนต์เป็นอาทิ เครื่องประดับมีพรรณต่างๆ แล้วไปด้วยแก้วมณี เครื่องประดับทรวง เครื่องประดับบนพระอังสา เครื่องประดับ บั้นพระองค์ชนิดแล้วไปด้วยสุวรรณและหิรัญ เครื่องประดับที่พระบาทและเครื่องประดับที่ปักด้วยด้ายและมิได้ปักด้วยด้าย อันเป็นเครื่องงดงามแห่งพระนางมัทรีผู้พระสุณิสา.
พระนางมัทรีผู้ราชบุตรีทรงเพ่งพินิจพระวรกายอันยังบกพร่องด้วยเครื่องประดับนั้นๆ ก็ทรงประดับให้บริบูรณ์ งดงามดุจเทพกัญญาในนันทนวัน. พระนางมัทรีสนานพระเศียร ทรงพระภูษาอันสะอาด ประดับด้วยราชปิลันธนาภรณ์ทุกอย่าง. งามดุจเทพอัปสรในดาวดึงส์พิภพ. วันนั้น เสด็จลีลาศงามดังกัทลีชาติต้องลมที่เกิดอยู่ ณ จิตรลดาวัน สมบูรณ์ด้วยริมพระโอษฐ์มีสีแดง ดังผลตำลึงและพระนางมีพระโอษฐ์แดงดังผลนิโครธสุกงาม ประหนึ่งกินรี อันเรียกว่ามานุสินี เพราะเกิดมามีสรีระดุจมนุษย์ มีปีกอันวิจิตรกางปีกร่อนไปในอัมพรวิถี ฉะนั้น.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โขมญฺจ กายูรํ ได้แก่ เครื่องประดับพระศอมีสัณฐาน ดังผลอินทผลัมแล้วไปด้วยทองคำ. บทว่า รตนามยํ ได้แก่ เครื่องประดับพระศอ อีกชนิดหนึ่งแล้วไปด้วยรัตนะ. บทว่า องฺคทํ มณิเมขลํ ได้แก่ เครื่องประดับต้นพระกร และเครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยแก้วมณี. บทว่า อุณฺณตํ ได้แก่ เครื่องประดับชนิดหนึ่ง. บทว่า มุขผุลฺลํ ได้แก่ เครื่องประดับดิลกบนพระนลาต. บทว่า นานารตฺเต ได้แก่ มีสีต่างๆ. บทว่า มาณิเย ได้แก่ แล้วไปด้วยแก้วมณี. เครื่องประดับสองชนิด แม้เหล่านี้ คือเครื่องประดับทรวงและพระอังสา. บทว่า เมขลํ ได้แก่ เครื่องประดับบั้นพระองค์แล้วไปด้วยสุวรรณและหิรัญ. บทว่า ปฏิปาทุกํ ได้แก่ เครื่องประดับพระบาท. บทว่า สุตฺตญฺจ สุตฺตวชฺชญฺจ ได้แก่ เครื่องประดับที่มีสายร้อย และมิได้มีสายร้อย. แต่ในบาลีเขียนไว้ว่า สุปฺปญฺจ สุปฺปวชฺชญฺจ ดังนี้ก็มี. บทว่า อุปนิชฺฌาย เสยฺยสิ ความว่า พระนางมัทรีราชเทวีทรงตรวจดูพระวรกายที่ยังบกพร่องด้วยเครื่องประดับที่มีสายร้อยและมิได้มีสายร้อย ก็ทรงประดับให้บริบูรณ์ ทำให้ทรงพระโฉมประเสริฐขึ้นอีก งดงามเพียงเทพกัญญาในนันทนวัน. บทว่า วาตจฺฉุปิตา ความว่า วันนั้น พระนางเจ้าเสด็จลีลาศงาม ดุจกัทลีทองต้องลมซึ่งเกิดที่จิตรลดาวัน ฉะนั้น. บทว่า ทนฺตาวรณสมฺปนฺนา ได้แก่ ประกอบด้วยริมพระโอษฐ์สีแดงเช่นผลตำลึงสุก. บทว่า สกุณี มานุสินีว ชาตา จิตฺตปฺปตฺตา ปติ ความว่า แม้สกุณีมีนามว่ามานุสินี ซึ่งเกิดมาโดยสรีระดุจมนุษย์ มีขนปีกอันวิจิตร กางปีกบินร่อนไปในอากาศ ย่อมงดงาม ฉันใด พระนางมัทรีมีพระโอษฐ์ดังผลนิโครธสุก เพราะมีพระโอฐแดงก็งดงาม ฉันนั้น.

อมาตย์ทั้งหลายนำช้างตัวประเสริฐไม่แก่นัก เป็นช้างทนต่อหอกและศร มีงาดุจงอนรถ สามารถนำมาเพื่อพระนางมัทรีทรง พระนางมัทรีนั้นเสด็จขึ้นสู่ช้างตัวประเสริฐไม่แก่นัก เป็นช้างทนต่อหอกและศร มีงาดุจงอนรถมีกำลังกล้าหาญ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺสา จ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อมาตย์ทั้งหลายได้นำช้างหนุ่มเชือกหนึ่งซึ่งไม่แก่นัก ยังหนุ่มมัชฌิมวัย เป็นช้างทนต่อการประหารด้วยหอกและศร ประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงเพื่อพระนางมัทรี. บทว่า นาคมารุหิ ความว่า เสด็จขึ้นทรงหลังช้าง.

พระเวสสันดรและพระนางมัทรีทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จไปสู่กองทัพด้วยพระอิสริยยศใหญ่ ด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายพระเจ้าสญชัยมหาราชประพาสเล่นตามภูผาและป่า ประมาณหนึ่งเดือนกับด้วยทวยหาญ ๑๒ อักโขภิณี พาลมฤคและนกในป่าใหญ่ถึงเพียงนั้น มิได้เบียดเบียนสัตว์ไรๆ ด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
เหล่ามฤคชาติและปักษีชาติมีอยู่ในป่านั้นทั้งหมดเพียงไร ย่อมไม่เบียดเบียนกันและกัน ด้วยเดชานุภาพแห่งพระเวสสันดร เมื่อพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ เสด็จไปแล้ว เหล่ามฤคชาติและปักษีชาติมีอยู่ในป่านั้นทั้งหมดเพียงไร ต่างมาชุมนุมกันอยู่ที่เดียวกัน เมื่อพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ เสด็จไปแล้ว เหล่ามฤคชาติและปักษีชาติ ในป่านั้นทั้งหมดเพียงไร ต่างไม่ร้องเสียงหวาน.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาวนฺเตตฺถ ตัดบทเป็น ยาวนฺโต เอตฺถ ความว่า ตลอดทั้งในป่านั้น. บทว่า เอกชฺฌํ สนฺนิปตึสุ ความว่า ประชุมในที่เดียวกัน ก็และครั้นประชุมกันแล้ว ได้มีความโทมนัสว่า ตั้งแต่นี้ไป เราทั้งหลายจักไม่มีความละอาย หรือความสังวรต่อกันและกัน ในบัดนี้. บทว่า นาสฺส มญฺชูนิ กูชึสุ ความว่า มีความทุกข์เพราะพลัดพรากจากพระมหาสัตว์ จึงไม่ส่งเสียงร้องไพเราะอ่อนหวาน.

พระเจ้าสญชัยนรินทรราช ครั้นเสด็จประพาสเล่นตามภูผาและราวไพร ประมาณหนึ่งเดือนกับทวยหาญ ๑๒ อักโขภิณีแล้ว ตรัสเรียกเสนาคุตอมาตย์มาตรัสถามว่า เราทั้งหลายอยู่ในป่ากันนานแล้ว มรรคาเสด็จของบุตรเรา พวกเจ้าตกแต่งแล้วหรือ ครั้นเหล่าอมาตย์กราบทูลว่า ตกแต่งแล้ว และทูลเชิญเสด็จว่า ถึงเวลาเสด็จแล้ว พระเจ้าค่ะ จึงโปรดให้ทูลพระเวสสันดร ให้ตีกลองป่าวร้องให้ทราบกาลเสด็จกลับพระนคร แล้วทรงพากองทัพเสด็จกลับ พระเวสสันดรมหาสัตว์เสด็จยาตราด้วยราชบริพารใหญ่ สู่มรรคาที่ตกแต่งแล้ว กำหนดได้ ๖๐ โยชน์ตั้งแต่เวิ้งเขาวงกต จนถึงกรุงเชตุดร.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
ทางหลวงตกแต่งแล้ว วิจิตรงดงามโปรยปรายด้วยดอกไม้ ตั้งแต่เขาวงกตที่พระเวสสันดรประทับจนถึงกรุงเชตุดร. แต่นั้น โยธาหกหมื่นงดงามน่าทัศนา นางข้างใน ราชกุมาร พ่อค้า พราหมณ์ กองช้าง กองม้า กองรถ กองราบ ห้อมล้อมพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ ผู้เสด็จไปอยู่โดยรอบ. ทหารสวมหมวก ทรงหนังเครื่องบังที่คอ ถือธนู สวมเกราะไปข้างหน้าพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ ผู้เสด็จไปอยู่ และชาวชนบท ชาวนิคม พร้อมกันห้อมล้อมพระเวสสันดรผู้ยังแคว้นสีพีให้เจริญ ผู้เสด็จไปอยู่โดยรอบ.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปยตฺโต ได้แก่ ตกแต่งเหมือนในกาลจัดบูชาพิเศษในวันวิสาขบูรณมี. บทว่า วิจิตฺโต ได้แก่ วิจิตรไปด้วยต้นกล้วย หม้อน้ำเต็ม ธงและแผ่นผ้าเป็นต้น. บทว่า ปุปฺผสณฺโต ได้แก่ โปรยปรายด้วยดอกไม้ทั้งหลายมีข้าวตอกเป็นที่ห้า. บทว่า ยตฺถ ความว่า ประดับตกแต่งมรรคาตั้งแต่เขาวงกตที่พระเวสสันดรประทับอยู่ ติดต่อกันจนถึงกรุงเชตุดร. บทว่า กโรฏิยา ได้แก่ หมู่ทหารสวมหมวกบนศีรษะที่ได้นามว่า สีสกโรฏิกะ ทหารสวมหมวกเกราะ. บทว่า จมฺมธรา ได้แก่ ทรงหนังเครื่องบังที่คอ. บทว่า สุวมฺมิกา ได้แก่ สวมเกราะด้วยดีด้วยข่ายอันวิจิตร. บทว่า ปุรโต ปฏิปชฺชึสุ ความว่า โยธาผู้กล้าหาญเห็นปานนี้ แม้มีโขลงช้างซับมันพากันมาก็ไม่ถอยกลับ คงดำเนินไปข้างหน้าพระราชาเวสสันดร.

พระราชาเวสสันดรล่วงมรรคา ๖๐ โยชน์มาสิ้น ๒ เดือนถึงกรุงเชตุดร เสด็จเข้าสู่พระนครอันประดับตกแต่งแล้ว เสด็จขึ้นปราสาท.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
กษัตริย์ทั้งหกพระองค์นั้นเข้าบุรีที่น่ารื่นรมย์ มีปราการสูงและหอรบ ประกอบด้วยข้าวน้ำ และการฟ้อนรำและขับร้องทั้งสอง. ในเมื่อพระเวสสันดรมหาสัตว์ผู้ยังชาวสีพีรัฐให้เจริญ เสด็จถึงแล้ว. ชาวชนบทและชาวนิคมพร้อมกันมีจิตยินดี. เมื่อพระเวสสันดรมหาสัตว์ผู้พระราชทานทรัพย์ เสด็จมาถึง การยกแผ่นผ้าก็เป็นไป รับสั่งให้ตีนันทเภรีป่าวร้องในพระนคร โฆษณาให้ปล่อยสรรพสัตว์ที่ผูกขังไว้.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุปาการโตรณํ ความว่า ประกอบด้วยปราการสูงใหญ่ และเสาค่ายที่มีหอรบเป็นอันมาก. บทว่า นจฺจคีเตหิ จูภยํ ความว่า ประกอบด้วยการฟ้อนรำ และด้วยการขับร้องทั้งสอง. บทว่า จิตฺตา ได้แก่ ยินดี คือถึงความโสมนัส. บทว่า อาคเตธนทายเก ความว่า เมื่อพระมหาสัตว์ผู้พระราชทานทรัพย์แก่มหาชนเสด็จมาถึง. บทว่า นนฺทิปฺปเวสิ ความว่า ให้ตีกลองอานันทเภรีป่าวร้องในพระนครว่า เป็นราชอาณาจักรของพระเวสสันดรมหาราช. บทว่า พนฺธโมกฺโข อโฆสถ ความว่า ได้ป่าวร้องให้ปล่อยสรรพสัตว์จากที่ผูกขังไว้ คือพระเวสสันดรมหาราชโปรดให้ปล่อยสรรพสัตว์จากที่ผูกขังไว้ โดยที่สุด แมวก็ให้ปล่อย.

ในวันเสด็จเข้าพระนครนั่นเอง พระเวสสันดรทรงพระดำริ ในเวลาใกล้รุ่งว่า พรุ่งนี้ ครั้นราตรีสว่างแล้ว พวกยาจกรู้ว่าเรากลับมาแล้ว ก็จักพากันมา เราจักให้อะไรแก่ยาจกเหล่านั้น. ในขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชได้สำแดงอาการเร่าร้อน พระองค์ทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงยังพื้นที่ข้างหน้าและข้างหลังแห่งพระราชนิเวศน์ ให้เต็มด้วยรัตนะสูงประมาณเอวบันดาล ให้ฝนรัตนะเจ็ดตกเป็นราวกะฝนลูกเห็บ ให้ตกในพระนครทั้งสิ้นสูงประมาณเข่า. วันรุ่งขึ้น พระมหาสัตว์โปรดให้พระราชทานทรัพย์ ที่ตกอยู่ในพื้นที่ข้างหน้าและข้างหลังแห่งตระกูลนั้นๆ ว่า จงเป็นของตระกูลเหล่านั้นแหละ แล้วให้นำทรัพย์ที่เหลือขนเข้าท้องพระคลัง กับด้วยทรัพย์ในพื้นที่แห่งพระราชนิเวศน์ของพระองค์ แล้วให้เริ่มตั้งทานมุข.

พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์ผู้ยังสีพีรัฐให้เจริญเข้าพระนครแล้ว วัสสวลาหกเทพบุตรได้ยังฝน อันล้วนแล้วไปด้วยทองคำให้ตกลงมา ในกาลนั้น แต่นั้น พระเวสสันดรขัตติยราชทรงบำเพ็ญทานบารมี เบื้องหน้าแต่สิ้นพระชนมชีพ พระองค์ผู้มีพระปรีชาก็เสด็จเข้าถึงสวรรค์.


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สคฺคํ โส อุปฺปชฺชถ ความว่า จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เสด็จเข้าถึงดุสิตบุรีด้วยอัตภาพที่สอง.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก ซึ่งประดับด้วยคาถาประมาณ ๑,๐๐๐ คาถานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มหาเมฆก็ยังฝนโบกขรพรรษให้ตก ในที่ประชุมแห่งพระประยูรญาติของเรา อย่างนี้เหมือนกัน.
ตรัสดังนี้แล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
พราหมณ์ชูชกในกาลนั้น คือ ภิกษุเทวทัต.
นางอมิตตตาปนา คือ นางจิญจมาณวิกา.
พรานเจตบุตร คือ ภิกษุฉันนะ.
อัจจุตดาบส คือ ภิกษุสารีบุตร.
ท้าวสักกเทวราช คือ ภิกษุอนุรุทธะ.
พระเจ้าสญชัยนรินทรราช คือ พระเจ้าสุทโธทนมหาราช.
พระนางผุสดีเทวี คือ พระนางสิริมหามายา.
พระนางมัทรีเทวี คือ ยโสธราพิมพา มารดาราหุล.
ชาลีกุมาร คือ ราหุล.
กัณหาชินา คือ ภิกษุณีอุบลวรรณา.
ราชบริษัทนอกนี้ คือ พุทธบริษัท.
ก็พระเวสสันดรราช คือ เราเองผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า แล.
จบ นครกัณฑ์

หมายเลขบันทึก: 463675เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2011 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์สุดท้ายของมหาชาติเวสสันดรชาดก

ถือว่าเป็นกัณฑ์สวัสดีมีชัย เพราะเป็นตอนที่ พระเวสสันดร เสด็จกลับเมือง

กัณฑ์นี้ประดับด้วยคาถา ๔๘ พระคาถา

เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร

เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “กลองโยน”

ประกอบกิริยาการยกขบวนพยุหยาตราของ พระเวสสันดร

พรั่งพร้อมด้วยขบวนพระอิสริยยศอย่างสมพระเกียรติ

ข้อคิดจากกัณฑ์

การทำความดีย่อมได้รับผลดีตอบแทน

การใช้ธรรมะในการปกครอง จะทำให้บ้านเมืองมีแต่ความสงบและร่มเย็น

เนื้อความโดยย่อ

เมื่อเหตุทั้งปวงคลี่คลายลง ต่างพระองค์ต่างสงบพระทัยได้แล้ว

พระเจ้ากรุงสญชัย จึงขอให้ พระเวสสันดร เสด็จกลับไปปกครองบ้านเมืองดังเดิม

เหล่าข้าราชบริพารและเหล่าชาวเมือง

ที่ตามเสด็จ พระเจ้ากรุงสญชัย มาต่างก็กราบทูลวิงวอน

ร้องขอให้ พระเวสสันดร ทรงอภัยให้ และกลับไปครองสิริราชสมบัติดังเดิม

พระเวสสันดร ทรงใคร่ครวญไตร่ตรองเหตุที่ควรจะเป็น

และทรงคำนึงถึงพระพรที่ทรงขอจาก พระอินทรเทพ ว่า

ให้พระราชบิดารับกลับไปครองสิริราชสมบัติ จึงตัดสินพระทัยเสด็จกลับพระนคร

กษัตริย์ทั้ง ๖ พระองค์ เสด็จกลับ กรุงสิพี พร้อมข้าราชบริพารและผู้ตามเสด็จ

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องต้อนรับด้วยความปีติยินดีของชาวเมือง

ที่รักเคารพเทิดทูนพระองค์เป็นอย่างยิ่ง

ตัวละครสะท้อนคุณธรรม

ชาวเมืองสิพี เป็นตัวอย่างของผู้รักษาสิทธิ์ ตามระบอบประชาธิปไตย

เมื่อไม่พอใจก็แสดงความคิดเห็น คัดค้านและเรียกร้องให้มีการลงโทษ

เมื่อพอใจก็ยอมรับ และยุติ พร้อมกับรู้จักขอโทษในสิ่งที่ได้กระทำผิดไป

(ที่มา : หนังสือที่ระลึกเทศน์มหาชาติมหากุศลเฉลิมพระเกียรติ

ถวายพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

จัดพิมพ์โดย มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าเพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์)

พระโบราณจารย์เจ้า ได้แสดงอานิสงส์แห่งการบูชาในเวสสันดรชาดกไว้โดยลำดับดังนี้

ผู้บูชากัณฑ์นครกัณฑ์ (กัณฑ์ ที่๑๓)

จะได้เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติ

ข้าทาส ชาย หญิง ธิดา สามี หรือ บิดา มารดา เป็นต้น

อยู่พร้อมหน้ากันโดยความผาสุก

ปราศจากโรคาพาธทั้งหลาย

จะทำการใดๆ ก็พร้อมเพรียงกัน

ยังการงานนั้นๆให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

สาธุ. ความจริงพระพุทธเจ้าก็มีหลายชาตินะ แต่ทำไมต้องเอาเฉพาะเรื่องพระเวสสันดรเท่านั้นมาเทศน์แต่งเป็นเรื่องยาวเหยีดเทศน์ทั้งวันกว่าจะจบ

สาธุท่าน. คำถามนี้ ขอร่วมเสนอความเห็นดังนี้

๑.พระโพธิสัตว์มีหลายชาติก็จริง แต่ชาติที่เป็นพระเวสสันดรนั้นเรียกว่า "มหาชาติ" คือ ชาติที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีชาติสุดท้ายก่อนบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า

๒.ชาติสุดท้ายนี้เป็นการบำเพ็ญทานบารมีที่มีผลทำให้บารมีอื่นสมบูรณ์ไปด้วย ครบสิบชาติ เปรียบเหมือนการประทับตราในหนังสือสำคัญทำให้เกิดความสมบูรณ์ใช้บังคับตาม กฎหมายได้ และในชาติสุดท้ายนี้ พระเวสสันดรได้บำเพ็ญบารมีอื่นๆ ครบทั้งสิบประการ จึงถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งสำคัญยิ่งใหญ่กว่าทุกชาติที่ผ่านมา

๓.การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานตั้งแต่โบราณกาล แต่การเทศน์พระชาติอื่นนั้นยังไม่มีการแต่งทำนอง ระเบียบพิธี วิธีการขั้นตอนที่เป็นลักษณะประเพณีแบบมหาชาติ

๔.อดีตน่าจะเป็นเพราะต้องการเทิดทูนคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญบารมีที่ยิ่งใหญ่เพื่อโพธิญาณ และต้องการส่งเสริมคนไทยให้มีน่ำใจเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จึงมีการส่งเสริมการเทศน์มหาชาติ และมีการแต่คำฉันท์ต่างๆให้มีความไพเราะ น่าฟัง

๕.ชาติอื่นๆ มิใช่ไม่สำคัญจึงไม่เทศน์กันเป็นวันเป็นคืนอย่างพระเวสสันดร แต่เพราะมหาชาติเป็นประเพณีและมีแบบแผนปฏิบัติมายาวนานจึงต้องเป็นไปตามแบบแผนที่ถือปฏิบัติกันมา

อนุโมทนาสาธุค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ อ.ญาณภัทร

ที่ช่วยตอบคำถามให้เข้าใจแจ่มแจ้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท