เหง้าบัว อาหารและยา ที่ได้มาจากใต้ดิน


บัว ถือว่าของขวัญด้านอาหาร และสมุนไพรที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ เพราะเป็นถึงสองปัจจัยในปัจจัยสี่ คือ เป็นอาหารและยารักษาโรค เมื่อครั้งอดีตกาลคนในแถบเอเชีย และอเมริกาเหนือต่างรู้จักใช้เมล็ดบัว และเหง้าบัวหลวงเป็นอาหาร โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่อาหารขาดแคลน เหง้าบัวคือ อาหารวิเศษที่ธรรมชาติได้เก็บรักษาไว้ให้ คุณค่าทางโภชนาการของบัวนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับพืชดอกอีกหลายชนิด เราลองมาทำความรู้จักกับ “บัว” ในส่วนของ เหง้าบัว ไหลบัว และสายบัวกันสักหน่อย

บัว พืชแห่งคุณค่าทางโภชนาการและเวชการ

 

 

 

 

         บัวหลวง ถือว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าทางด้านโภชนาการ(อาหาร) และเวชการ(ยาสมุนไพร)ที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ  เพราะเป็นถึงสองปัจจัย ในปัจจัยสี่ที่จำเป็นของมนุษย์ คือ  เป็นทั้งอาหาร และยา(โภชนาการและเวชการ) หมายถึงนำมาทำเป็นอาหาร-ขนม และนำมาปรุงเป็นยารักษาโรคได้ เมื่อครั้งอดีตกาลคนในแถบเอเชีย  และอเมริกาเหนือต่างรู้จักใช้เมล็ดบัว และเหง้าบัวหลวงเป็นอาหาร  โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่อาหารขาดแคลน  เหง้าบัว คือ อาหารวิเศษที่ธรรมชาติได้เก็บรักษาไว้ให้  คุณค่าทางโภชนาการของบัวนั้นสูงมากเมื่อเทียบกับพืชดอกอีกหลายชนิด เราลองมาทำความรู้จักกับ “บัว” ในส่วนของ เหง้าบัว ไหลบัว และสายบัวกันสักหน่อย

เหง้าบัว หรือ รากบัว ที่ขุดได้จากใต้ดินบริเวณแหล่งน้ำ,สระพัง,แคว,มาบ

เหง้าบัวหรือรากบัว คืออันเดียวกัน เหง้าบัวหลวง ชาวบ้านนิยมเอามารับประทานเป็นของหวาน หรือต้มเป็นน้ำสมุนไพรรากบัว

ไหลบัว หรือหลดบัว ก็คืออันเดียวกัน ไหลบัวคือ ส่วนที่เจริญมาจากรากบัว และกำลังจะกลายเป็นต้น ไหลบัวสาย หรือบัวผัน ชาวบ้านนิยมนำเอามาแกงส้ม , ต้มกะทิ

สายบัว คือ ไหลบัวที่เจริญแล้วเป็นก้านบัว ส่วนใหญ่นิยมเอาสายบัวผัน หรือบัวสาย มาทำแกงส้ม , ต้มกะทิ โดยเฉพาะ “ต้มกะทิปลาทู” เป็นตำรับกับข้าว รายการอาหาร แบบบ้านบ้าน ที่วิเศษสุดยอดอย่างหนึ่ง ที่ได้คุณค่าทางอาหารและยา

บัวหลวง (Lotus)

ชื่อวิทยาศาสตร์  Nelumbo nucifera Gaertn.  ชื่อสามัญ :   Lotus    วงศ์ :   Nelumbonaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและไหลอยู่ใต้ดิน เหง้า จะมีลักษณะเป็นท่อนยาว มีปล้องสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลือง แข็งเล็กน้อย ถ้าตัดตามขวางจะเป็นรูกลมๆ หลายรู ไหลจะเป็นส่วนที่เจริญไปเป็นต้นใหม่ ใบ ใบเดี่ยวรูปโล่ ออกสลับ แผ่นใบจะชูเหนือน้ำ รูปใบเกือบกลม ขนาดใหญ่ ขอบเรียบและเป็นคลื่น ผิวใบมีนวล ก้านใบแข็งเป็นหนาม ถ้าตัดตามขวางจะเห็นเป็นรูภายใน ก้านใบมีน้ำยางขาว เมื่อหักจะมีสายใยสีขาว ใบอ่อนสีเทานวล ปลายม้วนงอขึ้นทั้งสองด้าน ก้านใบจะติดตรงกลางแผ่นใบ ดอก เดี่ยว มีสีขาว สีชมพู กลิ่นหอม บัวหลวงจะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมืนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง ๔-๕ กลีบ ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว หรือสีเทาอมชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกมีจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนมากสีเหลือง ปลายอับเรณูมีละอองคล้ายกระบองเล็กๆสีขาว เกสรตัวเมียจะฝังอยู่ในฐานรองดอกรูปกรวย หรือฝักบัว ที่มีสีเหลืองนวล ผลบัว รูปกลมรีสีเขียวนวล มีจำนวนมาก ฝังอยู่ในฝักบัว ที่มีสีเหลือง และเมื่อผลแก่จะขยายใหญ่ขึ้นมีสีเทาอมเขียว ที่เรียกว่า "ฝักบัว" ผลสีเขียวอ่อนฝังอยู่เป็นจำนวนมาก “เมล็ดบัว”

ส่วนที่ใช้ :  ดีบัว ดอก เกสรตัวผู้ เมล็ด ไส้ของเมล็ด ยางจากก้านใบ และก้านดอก เหง้า ราก

สรรพคุณ :

  • ดีบัว  -  มี Methylcorypalline ซึ่งเป็นตัวทำให้เส้นเลือดขยาย
  • ดอก, เกสรตัวผู้ - ขับปัสสาวะ ฝากสมาน ขับเสมหะ บำรุงหัวใจ เกสรใช้ปรุงเป็นยาหอมชูกำลัง บำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ เป็นยาสงบประสาท และขับเสมหะ
  • เหง้าและเมล็ด - รสหวาน เย็น มันเล็กน้อย บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง
  • เมล็ดอ่อน และแก่ – ใช้รับประทานเป็นอาหาร และใช้ทำเป็นแป้งได้ดี
  • เหง้าบัวหลวง – ใช้ปรุงเป็นอาหารได้ทั้งคาว-หวาน ต้มเอาน้ำดื่ม ช่วยลดความดัน  แก้เบาหวาน
  • ไส้ของของเมล็ด - แก้เส้นโลหิตตีบในหัวใจ
  • ยางจากก้านใบและก้านดอก - แก้ท้องเดิน
  • ราก - แก้เสมหะ

สารเคมีที่มีในบัวหลวง :

  • ดอก  มี อัลคาลอยด์ ชื่อ nelumbine
  • embryo  มี lotusine
  • เมล็ด  มี alkaloids และ beta-sitosterol

 

     นายนิกร  นางเอื้อม  สุยสุทธิ์  เกษตรกร หมู่ที่ ๗  ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา บอกว่า "ในช่วงหน้าแล้งจะออกหาเหง้าบัวหลวงที่อยู่ตามใต้ดินที่แตกระแหง ใน มาบ แคว และสระพัง ที่แห้ง ในหมู่บ้าน และท้องถิ่นข้างเคียง  

การสังเกตหาหน่อบัวที่งอกโผล่พ้นดิน ตามรอยแตกของดิน

วิธีการหา โดยดูหน่อบัวที่มีใบโผล่พ้นดินขึ้นมาตามรอยแตกระแหงของดินหลังจากสระพัง หรือ มาบ แคว ที่แห้งแล้ว จากนั้นจะใช้ จอบ หรือ เสียม ขุดตามพื้นดินที่คาดว่ามี ราก หรือ เหง้าบัวหลวง การขุดหาเหง้าบัว ต้องอาศัยความชำนาญ และความพยายาม เพราะต้องขุดลึกประมาณ ๑ ศอก ถึงจะเห็นไหลบัว จากนั้นจะค่อยๆขุดไปตามไหลบัวที่มันชอนไชอยู่ใต้ดิน ต้องใช้ความสามารถ และความพยายามสูงในการขุดหา เหง้า หรือรากบัว ซึ่งยากพอๆกับการขุดหาแร่ หรือขุดหาทองทีเดียวกว่าจะได้ เหง้าบัว ในการขุดไหลบัว ต้องพยายามไม่ให้ราก หรือเหง้าบัวขาด เมื่อขุดมาได้จะนำมาทำการแปรรูปเป็นอาหาร – ขนม ตามขั้นตอน ดังนี้

๑.     ล้างให้สะอาดให้ดินหมดไม่ติดผิวรากเหง้าบัว

๒.     จากนั้นใช้มีด หรือฝอยเหล็กขูดผิวรากบัวออกจนเห็นเนื้อขาว

การขูด หรือขัดผิวเหง้าบัว แล้วให้สะอาดจนปราศจากกลิ่นโคลน

๓.     ล้างทำความสะอาด แล้วหั่นเหง้าบัวเป็นท่อนขนาดเท่าๆกัน

๔.     นำราก หรือเหง้าบัว ที่หั่นได้ขนาดไปต้มในกระทะขนาดใหญ่ ประมาณ ๒ ชม. เพื่อให้เปื่อยก่อนทำไปปรุงแปรรูปโดยการเชื่อม

การต้มเหง้าบัว หลังการทำความสะอาดและหั่นแล้วบนกระทะใบบัวด้วย    ไฟแรง จนสุกนิ่มใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง

๕.     การเชื่อมเหง้าบัว สูตรชาวบก จะใช้วัสดุเครื่องปรุงประกอบด้วย น้ำกะทิ น้ำผึ้งโหนด หรือน้ำตาลทรายแดง ตามสูตร หรือสัดส่วน ดังนี้ เหง้าบัว ๑ กก. ต่อน้ำกะทิ ๑ กิโล น้ำผึ้งโหนด ๑/๒ ลิตร หรือน้ำตาลทรายแดง ๑/๒ กก. และ เกลือ ๑ ช้อนชา

เครื่องปรุงในการเชื่อมเหง้าบัว ปริมาณ ๔ กก. ประกอบด้วยน้ำกะทิ ๔ กก.น้ำผึ้งโหนดหรือน้ำตาลทราย ๒ กก. , เกลือป่น หรือเกลือเม็ด ๑ ช้อนชา   ใส่ในกะทะใบบัวคนให้เข้ากัน ก่อนนำเหง้าบัวที่ล้างสะอาดและหั่นแล้วลงต้ม

๖.     นำน้ำกะทิ และน้ำผึ้งโหนด หรือน้ำตาลทรายแดง เครื่องปรุงที่เตรียมไว้ ใส่ในกระทะใบบัวใส่เกลือป่นตามแล้วคนพอให้เข้ากัน จึงนำ เหง้าบัวที่ต้มเปื่อยได้ที่แล้ว ใส่ลงไปในน้ำกะทิ แล้วใช้ไม้พายกวนตลอดเวลา จนน้ำกะทิแห้งงวดลง และเกาะติดเหง้าบัวทั่วถึงกัน ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้เย็นจึงนำไปรับประทาน หรือจำหน่าย

ขั้นตอนการต้มเคี่ยว,ผัด เหง้าบัวด้วยเครื่องปรุงตามสูตร หลังการต้มสุกจนสุกแล้วเสร็จสามารถรับประทานได้ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง

เกร็ดสาระน่ารู้ในการเลือกซื้อ เหง้าบัวเชื่อมเพื่อรับประทาน เหง้าบัวเชื่อมเสร็จแล้ว จะมีสีของน้ำตาลไหม้เคลือบอยู่ และบางชิ้นจะมีสีดำ ทำให้มีความรู้สึกว่าไม่น่ารับประทาน จริงๆแล้ว เหง้าบัวเชื่อมที่มีสดำจะเป็น เหง้าบัวอ่อน เมื่อทำการต้ม และผัดรวมกับเหง้าบัวแก่จะทำให้มีสีดำ หรือคล้ำ รสชาติจะอร่อยกว่าเหง้าบัวแก่ แต่อันนี้ขึ้นอยู่กับความชอบ ความรู้-ความเข้าใจของผู้บริโภค แล้วแต่จะเลือก และชอบ

เหง้าบัวที่เชื่อม หรือผัดกะทิแล้วเสร็จ เหง้าสีดำคือเหง้าบัวอ่อน

นายนิกร  สุยสุทธิ์  บอกว่า “ เมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่ผ่านมา เหง้าบัวหาได้ง่าย มี ทุกสระพัง ปัจจุบันเหง้าบัวหายากขึ้นทุกที ไม่เหมือนแต่ก่อนเพราะมีการพัฒนา และบุกรุก ถมสระพัง หรือขุดลอกเพื่อใช้เป็นแหล่งทำน้ำดิบของท้องถิ่น ทั้ง อบต. และเทศบาล รวมถึงชาวบ้าน บุกรุกลำราง ทางน้ำสาธารณะ กันมากขึ้น”

นางเอื้อม บอกว่า ปัจจุบันทุกครั้งที่ขุดหาเหง้าบัวได้ เมื่อทำการเชื่อมเสร็จจะมีลูกค้าในหมู่บ้านมาสั่ง และซื้อไปฝากญาติพี่น้องที่อยู่ในเมือง เพราะขนม ของดีๆพื้นบ้านอย่างเหง้าบัวหลวงเชื่อม นับวันหากินได้ยากแล้ว ไม่ค่อยมีคนทำ”

สภาพมาบ,แคว,สระพังบนคาบสมุทรสทิงพระที่เริ่มตื้นเขิน และมีการบุกรุก

รู้อย่างนี้แล้วเราน่าจะช่วยกันอนุรักษ์ และกันพื้นที่เอาไว้ปลูกบัวหลวงให้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นอาหาร และยา ตามหลักของภูมิปัญญาโภชนาการและเวชการ อันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ของไทยเรา

          เหง้าบัว นอกจากนำมาบวช,เชื่อม เป็นขนมหวานแล้ว ในส่วนของอาหารคาวที่นิยมนำเง้าบัวอ่อนมาหั่นแล้วปรุงเป็นอาหาร ได้แก่ เหง้าบัวผัดน้ำมัน , เหง้าบัวอ่อนต้มหรือต๋นกระดูกหมูกับเครื่องยาจีน เป็นตำรับอาหารสมุนไพรที่น่าสนใจ และสามารถทำด้วยตนเองได้โดยง่าย อร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ และเวชการ เรียกว่ากินแล้วนอกจากอิ่มอร่อยแล้วยังเป็นยาบำรุงด้วย

เหง้าบัวอ่อน ต้มกับกระดูกหมู และยาจีน

เหง้าบัวอ่อน ผัดน้ำมันหอย

   สนในเรียนรู้วิถีแบบบ้านตำนานชุมชนชาวบก,วัฒนธรรมวิถีโหนด-นา-เล,ของดีบนแผ่นดินบก ติดต่อได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ "ภูมิปัญญาชาวบก" ๗/๔ ม.๗ ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ๙๐๑๙๐

                โทรศัพท์ ๐๗๔-๓๙๗๑๔๙                มือถือ.๐๘-๗๓๙๑-๒๓๒๕  E-mail. [email protected]

 

แหล่งข้อมูล สืบค้น สัมภาษณ์ :  เมื่อ ๑ ตุลาคม  ๒๕๕๔

บัวหลวง ,สรรพคุณสมุนไพร ๒๐๐ ชนิด. : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03_5.htm -

ขุดหาราก บัวหลวง ตามดินแตกระแหงหน้าแล้งรายได้งาม  : 76.nationchannel.com

บัว เป็นพืชมหัศจรรย์พืชหนึ่งในโลก : web.thai2learn.com/nsm/exhibition-online

นายนิกร  นางเอื้อม  สุยสุทธิ์  หมู่ที่ ๗  ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา : ๑ ตุลาคม ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 463537เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2011 06:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2013 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

กินแกงกะทิสายบัว เป็นยาด้วย อร่อยด้วยในคราวเดียวกัน

สวัสดีค่ะครู

บัวมีประโยชน์มากมายและเป็นยาอีกด้วย ... ขอบคุณความรู้จากบันทึกนี้ค่ะ

หนูรีมีบันทึกเกี่ยวกับอาหารจากรากบัวมาแจมด้วย ที่นี่ค่ะ >>๑๐.ปรุงอาหารเป็นยา : น้ำรากบัว...แก้ร้อนใน

ขอบคุณอ.โสภณ ขอบคุณหนูรี และทุกท่านที่ติดตามและเข้ามาช่วยกันแต่งเติม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขอบคุณอีกครั้ง

บอกบอกว่าทั้งสองบันทึกยังไม่ได้ เพียงผ่านหน้าบ้าน ก็ ปัก "กำจองไว้ก่อน"

ไอ้ย่ะบังเล่นเที่ยว "ปักกำ"ไปทั่วน่าเวียนหัวแทน..แต่กะดีใจเท่ บังได้ ปักกำเอาไว้แล้ว

มีสระบัวหลวงสีขาวประมาณ สองงาน ยังไม่ได้ทำอะไรเพราะเพิ่งวซื้อที่ใหม่อ่านแล้วทำให้มีความรู้ต้องกลับไปใช้ประโยชน์แล้วค่ะ

อาจารย์โชดดีจังที่มีสระบัวเป็นของตัวเองนอกจากได้พื้นที่น้ำสระบัวแล้วยังได้ธรรมชาติบรรยากาศที่ดีมาก และหากอาจารย์นำเอาบัวจำนวนมากมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารและยา ขอบคุณที่เข้าเยี่ยมชม

สวัสดีหัวเช้าครับครู......

ปักกำจองไว้เพราะแขบไม่ได้เข้ามาอ่าน

บันทึกครูต้องอ่านแบบกินข้าวหวันเที่ยง แกงเลียงน้ำชุบปลาลังนึ่งทอด(ได้ปลาลังเตี้ยยิ่งดี).....เปิบกับมือ

ตักน้ำชุบสักช้อนพูนราดลงบนข้าว แ้้ล้วแกะเนื้อปลาลังทั้งซีกซ้ายซีกขวาโป๊ะโส๊ะ ลงไปบนน้ำชุบ แล้วใช้มือซาวยิ่งถ้าซาวให้เนียนเหมือนข้าวป้อนให้ลูกหลานยิ่งอร่อยเพราะเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน....เสร็จแล้วเอานิ้วแต่ละนิ้วดูดข้าวที่ติดนิ้วทั้งห้านิ้วให้หมด.....ล้างมือเอินสักทีก่อนที่จะมาเปิบข้าวซาวน้ำชุบปลาลัง...ค่อยๆเคี้ยวให้นานๆ แล้วซดน้ำแกงเลียงตาม.........นี้คือความรู้สึกถึงอารมณ์จากได้มาอ่านบันทึกครู เป็นอาหารสมองที่สุดยอดตามภูมิปัญญาชาวบ้าน

ขอบคุณ ...วาสนาแห่งGotoKnow ที่ได้ถางป่ามาพบกันครับ

ขอบคุณบังมากที่ให้พลังใจ..ช่วงหลังๆมางานมันยุ่งเหมือนอุงเข้ารัง..มั่วตั้วตั้งสติไม่ใคร่ทันตามประสาคนใช้ได้..เดี๋ยวเขาขอให้เป็นอ้ายหนู้.งเดี๋ยวเขาขอให้ทำอ้ายหนี้..อ้ายเราหมันคนขี้เกรงใจคนกอปรกับคน(เพื่อน)ใช้ได้..จึงไม่ค่อยมีสมาธิเขียนสักเท่าใดทำให้ห่างหายจากเวที..แต่ยังไม่ลืมชาวโกทูโน..จะพยามยามตามประสาคนแก่ที่ยนุ่งๆ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท