คุณค่าของแบบเรียนภาษาไทยโบราณ 1


การสอนอ่านคำอักษรคู่จากมูลบทบรรพกิจ

"กิเลสของครู  อยู่ที่ความงอกงามของเด็ก"
                กลับมาเขียนบันทึกใหม่หลังจากว่างเว้นไปเสียนาน
เพราะเพิ่งทราบว่ามีคนสนใจติดตาม เลยเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาใหม่ (ฮา)
ถ้าจะอธิบายความหมายของสำนวน "ร้อนวิชา" ดิฉันมักจะยกตัวอย่างจากตัวเองเสมอเพราะรู้หรือทำอะไรใหม่เป็นต้องรีบบอกคนอื่นให้เอาไปใช้ โดยไม่สนใจว่าเขา
อยากได้หรือไม่ (ฮา) เพื่อนครูบอกว่า ทำไมไม่ไปเป็น ศน.ซะให้รู้แล้วรู้รอด
ก็ถ้าไปเป็น ศน.แล้วดิฉันจะเห็นความงอกงามของเด็กตรงไหน (ละคะ)
                เด็กสอบเสร็จแล้ว ดิฉันก็เริ่มหยิบหนังสือแบบเรียนภาษาไทยเก่าๆ
ที่สะสมไว้มาอ่าน เพื่อหาเทคนิคกลวิธีการสอนของคนสมัยก่อนที่ทำให้อ่าน
ออกเขียนได้ เพื่อจะเอามาสร้างแบบฝึกแก้ปัญหาการอ่านการเขียนของเด็กให้ครู
ชั้นประถม หรือ มัธยมเอาไปใช้ บันทึกแรกนี้จะเขียนถึงการสอนอ่านคำจาก
มูลบทบรรพกิจ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ดิฉันชอบการสอนอ่านที่เอาคำที่มี
พยัญชนะต้นเป็นอักษรสูง มาสอนคู่กับอักษรต่ำไปเลย จะทำให้เด็กสามารถ
จำแนกอักษรสูงอักษรต่ำและการออกเสียงที่ต่างกันได้ (ปัญหานี้พ่อบ้านเคย
มาปรึกษาว่าเด็กอ่านอักษรสูง ต่ำไม่ถูก) ลองดูตัวอย่างกันนะคะ  เขียนฉาก-
ฉุดกระชาก  น้ำกระฉอก - ช้ำชอก  หวายถัก - ถามทัก  ถั่วเป็นฝัก - ผลแฟงฟัก
หรืออักษรต่ำที่มี ห.นำกับไม่มีห.นำ เช่น ผมหงอก - เพาะไม่งอก  ไรเหงือก -
นกเงือก  กำหมัด - ผูกมัด  คลานหมอบ - หมายมอบ ฯลฯ นอกจากจะทำให้
เด็กจำแนกเสียงอ่านได้แล้ว ยังจำแนกความหมาย และสนุกกับการออกเสียง
อีกด้วย ลองนำไปใช้กันดูนะคะ พบกันใหม่คราวหน้า

หมายเลขบันทึก: 463498เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2011 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท