ผู้ปกครองที่รัก


“ผู้ปกครอง และ ครู” ต่างเป็นหุ้นส่วนในความสำเร็จของ ลูก และ ศิษย์

ผู้ปกครองที่รัก

“ผู้ปกครอง” ในเรื่องราวที่จะคุยกันในที่นี้ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แน่ ต้องเป็นผู้ปกครองนักเรียนและขอตีกรอบแคบเข้ามาอีกนิด คือ เป็นพ่อหรือแม่ของนักเรียน หรือบุคคลที่ทำหน้าที่เสมือนพ่อหรือแม่ จะไม่หมายรวมผู้ที่เพียงทำหน้าที่ลงนามในหนังสือราชการจากโรงเรียนเท่านั้น

โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542   บุคคล ครอบครัว ชุมชน และทุกองค์กรในสังคม ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อบุตรหลานอย่างมีคุณภาพ ในหน่วยปฏิบัติการจัดการศึกษาที่เรียกว่า “โรงเรียน” ก็จะมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มุ่งสร้างสรรค์งานพัฒนา “นักเรียน” เป็นเป้าหมายร่วมกัน  โรงเรียนจึงเสมือนเป็นหน่วยผลิต มีผลผลิตที่มีค่าดัง “อัญมณี” ที่จะพาสังคม ชุมชน ประเทศชาติ ตลอดจนโลกใบนี้ให้สว่างสุกใสด้วยความอบอุ่น และสงบน่าอยู่ ...  นี่เป็นคำบรรยายที่หลายคนร่วมฝันและร่วมสร้างอย่างมีความหวัง แต่ก็คงจะมีคนอีกจำนวนมาก ไม่เคยคิดที่จะฝันด้วย เพราะกระแสข่าวสารรอบตัวทุกวันนี้ มีความรุนแรงของปัญหานานัปการ ทั้งปัญหาคุณภาพโรงเรียน ความรับผิดชอบของผู้ปกครอง และการซ้ำเติมด้วยความก้าวหน้าทางวัตถุที่มีหลุมพรางเชิงธุรกิจ คอยลอกล่อให้นักเรียน ผู้ปกครอง และไม่เว้นแต่ครูก็ก้าวพลาดมากมาย ปัญหาสังคมจึงกลายเป็นวงจรวิบากที่เกี่ยวพันจนไม่สามารถหาต้นทางที่จะแก้ไข สุดท้ายมีข้อสรุป “ใครไม่โกงกลายเป็นคนเสียเปรียบ” เป็นสังคมที่แข่งกันฉ้อโกง ต่างทำร้ายกัน

แต่ ณ ทางสองแพ่งนี้ หลักสัจจธรรม  “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” เป็นทางออกที่ประกันความอยู่รอดของสังคม และประเทศชาติอย่างแน่นอน

กลับเข้ามาดูในโรงเรียน ภายในโรงเรียนบุคคลสำคัญที่กำลังทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจ คือ “ผู้ปกครอง และ ครู”  เราต่างเป็นหุ้นส่วนในความสำเร็จของ ลูก และ ศิษย์ของเรา โรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำวิจัยศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองอย่างที่พบในเกณฑ์การประเมินระดับชาติเพราะ โรงเรียนไม่ใช่หน่วยบริการทางธุรกิจที่จะหาผลประโยชน์จากผู้ปกครอง ผู้ปกครองไม่ใช่ผู้มารับบริการหรือลูกค้า  เป็นความเข้าใจผิดของการมอง “โรงเรียน” และใช้กระแสความคิดทางธุรกิจมากำหนด แต่ทั้งนี้ก็มีเหตุการณ์ความเข้าใจเช่นนี้ในบางโรงเรียนที่มีผู้ปกครอง “เรียกร้อง” แล้วครูก็ “สนองความต้องการ” จากนั้นผู้ปกครอง  “เรียกร้องเพิ่ม” จนถึงจุดหนึ่งที่ครู “สนอง” ไม่ได้  สถานการณ์เช่นนี้ เป็นความขัดแย้งที่พบ ผู้เสียหายคือ “นักเรียน” และส่งผลให้วัฒนธรรมไทยของความเป็นครู-ศิษย์ เปลี่ยนไปเป็น “คนขาย” และ “คนซื้อ”  

การทำงานเพื่อนักเรียนเป็นสำคัญ หุ้นส่วนความรับผิดชอบฉบับย่อที่สุด คือ ครู-ผู้ปกครอง ทั้งสองมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันและประสานกันให้เกิดผลผลิตที่มีคุณค่าดังอัญมณีได้อย่างไร ลองมาพิจารณา

ครู มีหน้าที่กำหนดโดยหลักปฏิบัติของวิชาชีพครู มีจรรยาบรรณกำกับบทบาทให้ครูทำงานแบบมืออาชีพ   ครูอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การทำงานในระบบการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีมาตรฐาน ครูจะได้รับการพัฒนา อบรม นิเทศ ยกย่อง เลื่อนฐานะ ... ตามจังหวะการปฏิบัติงาน

ผู้ปกครอง มีหน้าที่กำหนดโดยฐานะของความเป็น แม่หรือพ่อของนักเรียน หลักการปฏิบัติของผู้ปกครองเป็นไปตามความเข้าใจ ความพอใจส่วนบุคคล  ไม่มีระบบคุณภาพ ไม่มีจรรยาบรรณมากำกับ มีแต่หลักธรรมตามคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ  และกฎหมายเมื่อถึงขั้นมีข้อพิพากษ์

การทำงานร่วมกันของ ครู-ผู้ปกครอง จึงมักเริ่มต้นที่ครูก่อน   ครูจะชี้แจงให้รายละเอียดเรื่องต่างๆ ด้วยการประชุมผู้ปกครอง  พบปะ-พูดคุยกับผู้ปกครองเป็นรายบุคคลตามความสะดวก และตามความจำเป็น

ผลความร่วมมือพิจารณาได้จากนักเรียนเป็นรายบุคคล ดูความเจริญกาย เจริญจิต และเจริญปัญญา  โดยธรรมชาติของนักเรียนมีความแตกต่างที่ผู้ปกครองและครูต่างรับรู้ เข้าใจ  ความสำเร็จที่พบจึงเป็นทักษะการทำงานร่วมกัน ที่เกิดจากการเรียนรู้ ของ ครู-ผู้ปกครอง  ความร่วมมือของ ครู-ผู้ปกครองที่สำคัญที่สุด คือ สร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตเพื่อชีวิตที่ดีให้ลูกศิษย์

นักเรียนจะเรียนรู้และสร้างวินัยได้ทั้งอยู่บ้าน และ อยู่โรงเรียน  เรียนรู้หลายอย่างที่แตกต่างกันจากบ้านกับผู้ปกครอง  เรียนรู้อีกมากมายจากที่โรงเรียน  เด็กได้รับการพัฒนาปัญญา พัฒนาการใช้เหตุผลและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  

จากชีวิตจริง เราได้ตัวอย่างบทเรียนมากมาย และคงเป็นการเรียนที่ไม่รู้จบตามสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน  แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นบทสรุปที่โรงเรียนได้จากผู้ปกครอง คือ พลังความร่วมมือของผู้ปกครอง ให้ตัวอย่างบทเรียนที่มีค่าแก่ครูและผู้ปกครองด้วยกันเอง  ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้กับตนเอง  ส่วนครูได้โอกาสชวนกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเชื่อมโยงการเรียนรู้ที่ทันสมัยทันเหตุการณ์ตามสภาพจริงในสังคม

ผู้เขียนมีความสนใจ และประทับใจที่ได้เรียนรู้การดูแลลูกและสอนศิษย์จากการคุยกับผู้ปกครองและครูหลายคน  ขอถือโอกาสถ่ายทอดความรู้ที่ได้สัก 5 ประเด็น ดังนี้

  •  เป็นความประทับใจของ ครูประจำชั้นอนุบาลที่พบผู้ปกครอง ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในชีวิตประจำวันที่ฝึกวินัยด้วยความรัก แม่-ลูกสามารถสื่อสารอย่างเข้าใจ ไม่พบความดื้อ หรืองอแงอย่างไร้เหตุผล ความอบอุ่นที่ได้จากแม่อย่างสม่ำเสมอทำให้ลูกรักแม่ ไม่มีความลับต่อแม่ แม่รู้ทุกเรื่องที่เกิดที่โรงเรียน ลูกรู้ทุกสิ่งที่แม่ต้องการให้ทำ และทำได้ดีตามวัย เด็กมีชีวิตที่ร่าเริง แจ่มใส รู้กาละ เทศะ
  • ลูกเรียนรู้ภาษาตั้งแต่เล็กจากบ้าน  คำพูดที่ใช้ ถูกต้อง เหมาะสม สื่อถึงใจที่บริสุทธิ์ เช่น กล่าว คำสวัสดี  ขอบคุณ ขอโทษ การแสดงออกด้วยคำเหล่านี้ แสดงถึงสติปัญญา และ จิตใจ และแสดงออกอย่างเหมาะสมและไม่เคอะเขิน นับว่าเป็นทักษะที่ลูกมีโอกาสฝึกในวิถีชีวิตของครอบครัว   ครูเล่าว่า ทั้งคุณพ่อคุณแม่เป็นคนอารมณ์ดี มีเวลาพูดคุยกับลูก สนใจทุกเรื่องที่เกี่ยวกับลูก รวมทั้ง เพื่อนของลูก เป็นครอบครัวที่ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันที่หลากหลาย ตามโอกาสต่างๆ ทำให้นักเรียนมีเรื่องมาเล่าให้ครูและเพื่อนฟัง เป็นการเล่าที่มีสาระ และมีชีวิตชีวา
  • กิจกรรมวันหยุดที่มีความหมาย สำหรับเด็กระดับอนุบาลและประถมศึกษา  ผู้ปกครองจำนวนมากใช้แผนกิจกรรมในครอบครัวที่ลูกมีส่วนร่วม พ่อ แม่ ตั้งใจจะสร้างบรรยากาศที่ลูก ๆ ให้ความร่วมมือ  บางครั้งมีเงื่อนไขที่ลูกต้องทำความดีก่อน เช่นตั้งใจเรียน สอบได้คะแนนไม่ต่ำกว่าที่ให้สัญญาไว้  กิจกรรมที่ทำมีหลายลักษณะ  เช่น ไปเยี่ยมคุณตา คุณยายที่ต่างจังหวัด เที่ยวทะเล ความสนุกที่ได้รับเหมือนรางวัลชีวิตของทุกคน ครูมักจะได้โอกาสให้นักเรียนเล่าเรื่อง เขียนบันทึก หรือวาดภาพตามประสบการณ์ นักเรียนมีโอกาสเลือก ทำด้วยความพอใจ ไม่ใช่สร้างความกดดัน
  • รักษาโรคติดอินเทอร์เน็ต  ผู้ปกครองที่พบว่าลูกติดโรคนี้ ส่วนใหญ่เป็นลูกที่อยู่ชั้นประถมปลายหรือมัธยม  ผู้ปกครองเองไม่ได้ระวังการแพร่ระบาดของโรคนี้มาก่อน  แต่เมื่อพบแล้วว่าแก้ไขไม่ยาก เพราะ โรคนี้เกี่ยวกับระบบการจัดระเบียบความคิดและการควบคุมความต้องการตนเองของนักเรียน   จนทำให้อินเทอร์เน็ตเข้าไปแทรกแซงกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากเกินไป ผู้ติดโรคนี้ จะมีอาการหลายอย่าง เช่น ผลการเรียนตก  คุณภาพงานต่ำ มนุษย์สัมพันธ์กับคนรอบข้างไม่ดี  บางคนถึงขั้นเก็บตัว หมกมุ่นอยู่กับกิจกรรมบนอินเทอร์เน็ต เช่น เล่นเกมออนไลน์  ชมการ์ตูน ภาพยนตร์ ดาวน์โหลดเพลงออนไลน์  และ การสนทนาผ่านอินเทอร์เน็ตและหาเพื่อนออนไลน์   ตัวอย่างการรักษาโรคนี้ให้ลูกได้ผลนั้น ผู้ปกครองกับครูผนึกกำลังสองทาง ทางโรงเรียน ครูให้ความรู้ แนะนำการใช้ และชี้ให้เห็นภัย    ส่วนทางบ้าน ผู้ปกครองเรียนรู้อย่างที่ครูแนะนำ แล้วกำกับการใช้เวลาของลูก สร้างข้อตกลง ติดตามดูแล ให้กำลังใจ ผู้ปกครองและครูต้องรู้ทันอาการของการต่อต้าน หรือ ดื้อยาช่วยกันกำจัดโรคหายแต่รักษาลูกให้อยู่  ไม่กดดันให้ลูกหายไปพร้อมโรค  เรื่องนี้แนะนำยาก เพราะเกี่ยวพันกับวิถีปฏิบัติในแต่ละครอบครัว  แต่ตัวอย่างที่ได้ผลดี เกิดขึ้นจากพ่อแม่มีความตั้งใจแนวแน่ เปลี่ยนแปลงตนเองในวิธีดูแลลูก  ผู้ปกครองที่ยังพยายามอยู่  ขอให้พบวิธีที่เหมาะตามกรณี
  • ช่วยลูกสมาธิสั้น  บกพร่องการเรียนรู้ ครูชื่นชมผู้ปกครองที่สามารถเป็นกำลังใจให้ลูกที่มีสมาธิสั้น สามารถเรียนและใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข  กุญแจความสำเร็จคือ ความเข้าใจของพ่อแม่ด้วยการศึกษาสภาพการเป็นเด็กสมาธิสั้นจากแพทย์ จากครู และจากการค้นคว้า มีการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดูแลให้ลูกกินยาตามกำหนด ช่วยทบทวนบทเรียนและงานที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว คือ หัวใจของพ่อแม่ทุ่มเท ใส่ใจเกินร้อย
  • ช่วยลูกที่มีความบกพร่องการเรียนรู้  ส่วนมากผู้ปกครองรู้เมื่อได้รับรายงานจากครู  ผู้ปกครองที่ให้ความช่วยเหลือลูกอย่างน่าชื่นชม คือ ผู้ปกครองที่ฟังการวิเคราะห์ปัญหาพฤติกรรมของลูกจากครู พิจารณาปัญหาด้วยสติ และแก้ไขลูกพร้อมตนเอง  ครูจะขอความช่วยเหลือจากผู้ปกครองให้ติดตามการบ้าน ตัดทอนกิจกรรมที่รบกวนสมาธิในชีวิตประจำวัน เช่น ดูทีวีมากเกินไป เล่นในกลุ่มเพื่อนที่มีลักษณะเป็นหัวโจก ชวนเกเร ไม่รับผิดชอบงานเรียน งานบ้าน และที่สำคัญ คือ ความรู้สึกของพ่อแม่ต่อลูก ต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ไม่ลำเอียง ทั้งนี้ สาเหตุของความบกพร่องมีมากและอาจซับซ้อนเกินกว่าที่ครูและพ่อแม่จะแก้ไขได้หมด  แต่ที่แน่นอน ครู พ่อแม่จะช่วยได้โดยไม่ต้องรอการวินิจฉัย คือ ความรัก ต้องแสดงด้วยการให้เวลาให้ลูกรับรู้ได้ว่าเขาเป็นคนที่มีความสำคัญในความรู้สึกของพ่อแม่และครู อย่าให้เขาเกิดความสับสน จนสร้างวีรกรรมเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น หรือ ทำพฤติกรรมที่สวนทางกับความถูกต้อง เหมาะสม

สังคมปัจจุบัน คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียเวลาไปกับการแสวงหาความเจริญทางวัตถุ จนลืมความเจริญทางจิตใจ    มองข้ามความละเอียดอ่อนในจิตใจของคนรอบข้าง  โดยเฉพาะลูก  ปัญหาที่ตามมา จะขยายจากบ้านไปสู่สังคมและก่อความเสียหายได้ สำหรับเรา โรงเรียนพร้อมเป็นบ้านที่สอง  ความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งของผู้ปกครองและครู เราจะเดินไปพร้อมกันเพื่อ ลูกและศิษย์ ให้เขาเติบโตพร้อมเป็นกำลังดูแลตนและสังคมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 463195เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2011 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความเจริญเติบโตด้านร่างกายต้องควบคู่ไปกับด้านจิตใจ พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครูต้องมีความเข้าใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหรือลูกศิษย์ เพราะเด็กจะซึมซับทุกพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว แล้วกระทำพฤติกรรมเช่นนั้นออกไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังคำกล่าวที่ว่า อยู่กับคนเช่นใดย่อมเป็นคนเช่นนั้น ถ้าแม่แบบไม่ดีแล้วก็จะพิมพ์ออกมาไม่ดีเช่นกัน สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การให้ความรัก ความเอาใจใส่ หลักสำคัญที่จะทำให้เด็กเจริญเติบโตหรือพัฒนาทางด้านจิตใจ อย่างเห็นได้ชัดคือ การที่เด็กสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ด้วยตนเอง มีเหตุ มีผล สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการเวลาและการฝึกฝนอย่างจริงจัง

เห็นด้วยกับบทความของอาจารย์อย่างซาบซึ้ง ด้วยปัจจุบัน ข้าพเจ้าทำงานที่ต้องดูแลปัญหาพฤติกรรมเด็ก จากประสบการณ์จะเห็นได้ชัดเจนว่า หากบ้านใดที่ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเด็กในอีกขั้น บ้านนั้นจะค่อนข้างมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมเด็กไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ก่อนอื่นคือผู้ปกครองยอมรับในข้อจำกัดของเด็ก มีทัศนคติที่ดีในการช่วยจัดการพฤติกรรมที่เป็นปัญหา รวมถึงมีความจริงจังหนักแน่นในกฎ-กติกา และอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาควบคู่กันไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท