ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๓๘. ชัยชนะของผู้แพ้


ความโชคดี อยู่ที่การตัดสินใจไม่รับ และไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่โต ที่ผลการเสนอชื่อแสดงความพ่ายแพ้ หรือไม่ถือเป็นความพ่ายแพ้ เพราะผมไม่คิดต่อสู้กับใครทั้งสิ้น หรืออาจเรียกว่า ได้ตั้งเข็มชีวิตเป็น “ผู้แพ้” มาตลอด


          สมัยเป็นนิสิตจุฬา ผมติดนวนิยายที่แต่งโดยดอกไม้สด จำได้ว่าเรื่องหนึ่งคือ “ชัยชนะของหลวงนฤบาล”   เนื้อเรื่องเป็นอย่างไรจำไม่ได้เสียแล้ว   จำได้แต่ว่าเป็นชัยชนะและความพ่ายแพ้ในมิติชนะใจสาวหรือชนะใจหนุ่ม   ซึ่งไม่ใช่ประเด็นในที่นี่  

 

          ในที่นี้เรากำลังคุยกันเรื่องการทำงานรับใช้สังคม (public service) ที่มีการแข่งขันคัดเลือกตัวบุคคลทำหน้าที่บริหารในมหาวิทยาลัย ที่ผมเคยทำงาน   และผมเป็นผู้แพ้   เป็นความพ่ายแพ้ที่เจ็บปวด  เพราะคิดว่าได้ทุ่มเททำงานในหน้าที่คณบดีคณะแพทยศาสตร์อย่างเต็มที่ และได้ผลดี   มีการวางรากฐานระยะยาวให้แก่คณะไว้อย่างดีมาก เป็นที่เลื่องลือในประเทศ

 

          แต่เมื่อผมจะครบวาระ ๔ ปี มีการดำเนินการสรรหาคณบดี   มีการให้หน่วยงานต่างๆ เสนอชื่อมา ๓ ชื่อ  เมื่อนับความถี่ ชื่อผมเป็นอันดับที่ ๓  แสดงว่าคนในคณะฯ ต้องการเปลี่ยนตัวคณบดี   เพราะมีกระแสเบื่อผม ที่มุ่งสร้างความเจริญแก่คณะด้านต่างๆมากเกินไป   โดยคำนึงถึงความรู้สึกของคนน้อยไป   ทำนองว่าเน้นมุ่งงาน ด้อยด้านมุ่งคน

 

          ผมยังจำความเครียดและความเจ็บปวดในปี ๒๕๓๒ นั้นได้ดีมาจนบัดนี้ ผ่านมา ๒๒ ปีก็ยังแจ่มชัดในใจ

 

          ผมโชคดีมากที่ตัดสินใจถูกต่อสถานการณ์นั้น   โดยที่ในที่สุดคนที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับ ๑ และ ๒ ไม่รับ  เหล่าคณะ “ผู้ก่อการ” จึงมาหาผม มาขอโทษ และบอกว่าอย่าคิดอะไรมาก ไม่มีใครเกลียดผมหรอก ขอให้รับเป็นคณบดีต่อเป็นวาระที่ ๒ เถิด

 

          กัลยาณมิตรคนหนึ่งคือ ศ. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ มาบอกผมไว้ก่อนแล้วว่า ท่านที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นอันดับ ๑ และ ๒ ไม่รับ   และเขาจะมาขอให้ผมรับ  อ. หมอวีระศักดิ์แนะนำว่าไม่ควรรับ  เพราะจะทำงานยากมาก   ผมไตร่ตรองแล้วก็เห็นจริง   จึงตอบคณะกรรมการสรรหาว่าผมไม่รับ   และบอกทุกคนว่าผมทำใจได้แล้ว  ขอให้ร่วมกับคณบดีท่านใหม่ในการทำงานพัฒนาคณะต่อไป   โดยผมก็จะช่วยด้วยในฐานะอาจารย์ธรรมดา

 

          ความโชคดี อยู่ที่การตัดสินใจไม่รับ และไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่โต ที่ผลการเสนอชื่อแสดงความพ่ายแพ้  หรือไม่ถือเป็นความพ่ายแพ้   เพราะผมไม่คิดต่อสู้กับใครทั้งสิ้น  หรืออาจเรียกว่า ได้ตั้งเข็มชีวิตเป็น “ผู้แพ้” มาตลอด

 

          เรื่องนี้ผมทำใจไม่ยาก เพราะยึดถือมาตลอดชีวิตว่าการทำงาน ไม่ว่าในหน้าที่ใดถือเป็นการรับใช้บ้านเมือง รับใช้สังคม เป็นหลัก   ความเจริญก้าวหน้าของตนเองเป็นเรื่องรอง   และในทุกตำแหน่งผมไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง   การรับตำแหน่งบริหารถือเป็นการสวมหัวโขน หรือสวมมงกุฎหนาม ที่เจ็บปวดทิ่มแทงจากสารพันปัญหา   การปลอดตำแหน่งบริหารถือเป็นโอกาสมีชีวิตที่เบาสบาย และมีเวลาสนุกสนานกับงานวิชาการที่ผมรัก

 

          ย้อนกลับไปในปี ๒๕๓๒ ผมเชื่อว่าหากผมรับเป็นคณบดีอีกวาระหนึ่ง   ชีวิตของผมคงจะเดินไปคนละทางกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   คือสู้ชีวิตแบบในปัจจุบันไม่ได้  

 

          ความพ่ายแพ้เป็นระยะๆ ในชีวิต อาจเป็นเส้นทางสู่ชัยชนะยิ่งใหญ่ในระยะยาวก็ได้

 

          Win the war ยิ่งใหญ่กว่า win the battle

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ส.ค. ๕๔
                  

หมายเลขบันทึก: 462240เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2011 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณค่ะ..เพราะเชื่อว่า  "To do somethings is better to be someone"..จึงมีวันนี้ที่มีความสุขค่ะ..

ทีมงานขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิสยามกัมมาจล

  • อ่านเรื่องเล่าเก่า
    โง่ฉลาดขลาดเขลาได้ทบทวน
  • อ่านใจคิดหวน
    น้อยใจไยโกรธไปทำไมมี
  • เพราะเราคือคน
    อยากได้ลาภ-ยศ-สรรเสริญจัดเต็ม
  • เพราะใจไม่เต็ม
    ยังไม่อิ่มยิ้มไม่ออกหลอกกันไป
  • มาถึงวันนี้
    วันที่ Win the war คือคำตอบ
  • มาสู่ที่ชอบ
    ปลอบตัวเองด้วยรอยยิ้ม...อิ่มใจ.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ปฏิบัติการของ "ผู้แพ้" เป็นประสบการณ์ที่ดีมากจริงๆครับ

เห็นด้วยกับคำกล่าวของอาจารย์ "ความพ่ายแพ้เป็นระยะๆ ในชีวิต อาจจะเป็นเส้นทางสู่ควายิ่งใหญ่ในระยะยาว" เป็นวลีที่จะทำให้ "ผู้แพ้" เกิดแรงมุ และ "กำลังใจ" ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป "The Show Must Go On" แต่เรื่องของการสรรหาผู้บริหารระดับสูง ไม่ควรเรียกผู้ได้รับเลือกว่า "ผู้ชนะ" หรือเรียกผู้ไม่ได้รับเลือกว่า "ผู้แพ้" จะกลายเป็นเรื่องของการแข่งขัน เหมือนเกมกีฬา ซึ่งในเวทีวิชาการหรือสถานศึกษา ไม่ควรมี .. ผู้ได้รับเลือก จะเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในทุกๆ ด้านมากกว่า ผู้ไม่ได้รับเลือก และเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ได้รับเลือก ย่อมจะรู้สึกดีใจ ต่างจากผู้ไม่ได้รับเลือก ที่ต้องเสียใจ หรือผิดหวัง ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกติกา บนพื้นฐานของความถูกต้อง ความประณีตงดงาม และไม่ก่อให้เกิดความแตกความสามัคคี เพื่อภาพพจน์ที่ดีขององค์กร.. แต่อย่างไรก็ตาม ต้องคิดถึงว่า "อำนาจไม่อยู่กับใครนาน" ไม่ว่าวันนี้ หรือวันข้างหน้า อำนาจก็จะหมดไปในที่สุด.. สิ่งที่พวกเราควรทำคือ ยกย่อง ชมเชย ทุกท่านที่ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง สังคม หรือองค์กร และร่วมสานต่อนโยบายที่ดี/มีประโยชน์กันต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่านค่ะ

สวัสดีครับท่านอาจารย์

ชัยชนะของผู้แพ้ คับคล้ายว่า เป็นผลงานของหลวง วิจิตร วาทะการ เนื้อเรื่อง สาวชาวสวนบ้านนอก ถูกข้าราชการทิ้ง เธอเรียนรู้ต่อสู้ ไต่เต้า จนได้รับชัยชนะในที่สุด (เนื้อหาประมาณนี้) หลายสิบปีแล้วที่อ่านมา หรือว่า ผิดพลาดขออภัยครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์ว่า ยิ่งแพ้ยิ่งเรียนรู้ โดยเฉพาะเอาชนะใจตนเอง ครับ

..(.เคยมีประสพการณ์นี้เช่นกัน.)..ชีวิตที่ไม่ต้องสวม..หัวโขน..ทำงานด้วย..ใจ..รัก..จะเป็นสุข..กับความอิสระที่ได้มา..อันนำพามาซึ่งความพอดี..ที่หาได้ยาก..ในสังคมปัจจุบัน..เจ้าค่ะ...ยายธี...

ชอบประโยคทอง (Sound bite) นี้จังครับ ท่านอาจารย์ เป็นคติที่ยึดถือ และปฏิบัติได้ เป็นแรงบันดาลใจให้คนทำงานได้ดี

".....ชีวิตว่าการทำงาน ไม่ว่าในหน้าที่ใดถือเป็นการรับใช้บ้านเมือง รับใช้สังคม เป็นหลัก ความเจริญก้าวหน้าของตนเองเป็นเรื่องรอง และในทุกตำแหน่งผมไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง การรับตำแหน่งบริหารถือเป็นการสวมหัวโขน หรือสวมมงกุฎหนาม ที่เจ็บปวดทิ่มแทงจากสารพันปัญหา การปลอดตำแหน่งบริหารถือเป็นโอกาสมีชีวิตที่เบาสบาย และมีเวลาสนุกสนานกับงาน..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท