เคล็ดลับปราบเด็กดื้อ


การสอนเด็กให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ก็เพียงพอเพื่อให้แกสามารถเลือกสิ่งที่แกจะได้ประโยชน์ดีที่สุด โตขึ้นแกเห็นอะไรไม่ดีไม่งามจะได้ไม่ทำ

 

 

 

 

เคล็ดลับปราบเด็กดื้อ

 

          เคยไปบรรยายเรื่องการเลี้ยงลูกให้ดีและเก่งในที่หลายๆ แห่ง แต่มีอยู่วันหนึ่งไปบรรยาย ที่จูเนียร์แบรนด์คลับและมีพ่อแม่พาลูกมาเข้าชมรมอย่างตั้งอกตั้งใจจนชื่นชม

                  

           ท่าทางแต่ละคนรักลูกมากและตั้งใจฟังอย่างดี คำถามมักจะเกี่ยวกับลูกที่เอาแต่ใจ ดื้อ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เช่น มีแม่คนหนึ่งมีลูกสาววัย 8 ขวบ และเป็นลูกคนเดียวทำให้เธอห่วงลูกมาก กลัวจะเป็นอะไรไป แต่ยอมให้ลูกไปว่ายน้ำมืดค่ำเพราะลูกชอบ ส่วนตัวแล้วเธอไม่ค่อยว่าง เนื่องจากต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ลูกเป็นเด็กดีแต่ดื้อ

 

            พ่ออีกคนหนึ่งบอกว่าลูกดื้อมากจะไปส่งเรียนในโรงเรียนประจำดีไหม เพราะลูกไม่ยอมทำอะไร

 

            ผู้เขียนบอกว่า ทุกอย่างอยู่ที่ตัวของพ่อแม่มากกว่าจะเลี้ยงลูกแบบไหน  ตามใจมากก็ดื้อ บีบคั้นมากก็ดื้อลึก ๆ ว่ามากก็ดื้อ  ฯลฯ

                                             

            ดร.มาเรียน ไนเฟิร์ท (Dr. Marianne Neifert) ผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวในนิตยสาร  Parenting Magazine  บอกว่า   การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย   โดยเฉพาะจะต้องมาเลี้ยงลูกตั้งแต่ยังเล็กจนเติบใหญ่

 

       พฤติกรรมของเด็กจะหลากหลาย วันนี้อาจดีเหลือเชื่อ อีกไม่นานอาจร้ายแทบคิดไม่ถึงก็ได้ เช่น เถียงพ่อแม่คำไม่ตกฟาก ถ้าพ่อแม่โต้ตอบเด็กจะยิ่งก้าวร้าวมากขึ้น

                                                                                      

          ดร.ไนเฟิร์ท ผู้เชี่ยวชาญพฤติกรรมพ่อแม่ลูกเตือนสติว่า ลูกไม่ใช่คู่ต่อสู้แต่เป็นผู้ที่เราจะต้องค่อย ๆ ให้แกเรียนรู้ต่อสู้กับโลกได้   หากลูกเราพูดจาหยาบคายหรือเถียงเราตลอดเวลา หรือแสดงอากัปกิริยา  ไม่น่าดูไม่ให้เกียรติพ่อแม่

 

ซึ่งดร.ไนเฟิร์ทบอกถึงวิธีแก้ไขดังนี้

1. แบบอย่างที่ดี (Be a good example) ตั้งแต่เล็กคนที่ลูกเห็นคือพ่อแม่ ฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำดีหรือไม่ดี เด็กจะค่อยๆ ซึมซับเข้าไปเหมือนถ่ายวิดีโอโดยไม่รู้ตัว

ฉะนั้นพอลูกพูดได้ เราต้องไม่ใช้คำหยาบคายหรือด่าหรือสบถเป็นอันขาด เพราะเด็กจะพูดตาม ตัวอย่างในชุมชนแออัด เด็กไม่น้อยจะด่าได้ตั้งแต่พูดไม่ได้เต็มประโยค

ควรใช้คำพูดที่ไพเราะ เช่น ครับ ค่ะ ขอบคุณ ขอโทษ และอย่านินทาหรือว่ากล่าวใครจนเด็กเลียนแบบตาม

 

 2. ให้ลูกรู้ว่าอะไรที่แกทำได้หรือไม่ได้ (Get clear on what's permissible and what isn't)

แต่ไม่ใช่ห้ามเด็กตลอดเวลา จนแกกลายเป็นเด็กไม่กล้าแสดงอะไรเหมือนได้หุ่นยนต์มาตัวหนึ่ง

การสอนเด็กให้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ก็เพียงพอเพื่อให้แกสามารถเลือกสิ่งที่แกจะได้ประโยชน์ดีที่สุด โตขึ้นแกเห็นอะไรไม่ดีไม่งามจะได้ไม่ทำ อย่างไรก็ตาม การให้เด็กรู้จักกฎเกณฑ์เป็นสิ่งดี แต่เราต้องพยายามเข้าใจว่า ความรู้สึกหรือความต้องการของเด็กด้วย เป็นการใช้ระบบเอาใจ "ลูก" มาใส่ใจ "เรา" เพื่อให้เกิดความร่วมเป็น "พวกเรา" (สองคนแม่กับลูกหรือพ่อกับลูกหรือพ่อแม่ลูก)

 

                      

3. ถ้าลูกทำเกินไปต้องรีบจัดการ (Don't wait to tell your child when he is over the line) อย่ารอหรือกลัวลูกจะโกรธ หากลูกทำไม่ดีต้องบอกโดยทันทีแกจะได้รู้ว่า ถ้าผิดจริงแม่ (หรือพ่อ) ไม่ยอมแน่ เด็กส่วนมากถ้ารู้ว่าผู้ใหญ่เอาจริงแกจะไม่กล้าท้าทายเพราะกลัวโดนลงโทษ

       

                                                                              

4. พูดเฉพาะสิ่งที่เด็กทำไม่ใช่ตัวแก (Criticize the behavior, not the child) เพื่อแกจะได้เข้าใจและยังมีความเชื่อมั่นตัวเอง เช่น ลูกเถียงเวลาเราสอนก็ให้บอกลูกไปว่า "แม่ไม่ได้ว่าลูก แต่แม่ไม่ชอบภาษาที่ลูกพูด"  อย่าได้พูดแบบปากมหาภัย "ลูกเลวอยู่แล้ว ถึงได้พูดแบบนั้น" ขอให้พูดว่า "ลูกเป็นเด็กดีเกินกว่าจะพูดจาแบบนั้น"

 

                                       

5. ไม่ให้อะไรพิเศษถ้าลูกไม่เชื่อฟังเด็กคือเด็ก (Deny privileges when your child breaks the rules) แกไม่รู้ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ ฉะนั้นถ้าแกทำอะไรผิดต้องบอกแกทันที    ถ้าแกไม่เชื่อ ก็อาจว่ากล่าวตักเตือน หรือลงโทษตามแต่กรณีว่าทำผิดมากหรือน้อย เช่น ถ้าลูกร้องไห้ลั่นหรือลงไปนอนดิ้นกระแด่วๆ ตอนห้ามแกซื้อของที่แกไม่ควรกิน ถ้าแกไม่เชื่อต้องบอกเด็กต่อไปว่า

"แม่ไม่ชอบที่ต้องพาลูกทำตัวแบบนี้ไปไหน"

"ลูกจะขอโทษไหมที่ทำตัวแบบนั้น"

        ถ้าลูกไม่ยอมขอโทษ ไม่ยอมรับผิดและยังอาละวาดต่อ ก็ต้องมีบทลงโทษกันบ้างด้วย ถ้าเดินอยู่ก็จูงลูกกลับบ้าน ถ้าขับรถอยู่ให้ขับรถกลับบ้าน ถ้าแกอยากซื้ออะไร ก็ไม่ซื้อและไม่พาแกไปที่แกต้องการจะไป

 

                                                                                    

        ถ้าทำทั้ง 5 วิธีที่กล่าวมานี้    เชื่อว่าลูกอาจจะเชื่อฟังเราบ้าง ขอแค่พ่อแม่อย่าใจอ่อน   ลูกเราจะได้เป็นเด็กน่ารักที่ไม่ใช่แต่สำหรับเรา   แต่ยังเป็นที่ชื่นชมของชาวบ้าน

      ไม่ใช่ชอบอาละวาดจนชาวบ้าน(อีกแล้ว) หาว่าลูกเราก็แค่อันธพาล(น้อย ๆ) ที่พ่อแม่ไม่สั่นสอน

 

P

ครูสุภาภรณ์

ครูสุภาภรณ์ พลเจริญชัย

โรงเรียนเทศบาล4(เพาะชำ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.elib-online.com/doctors45/child_behavior001.html
คำสำคัญ (Tags): #เด็กดื้อ
หมายเลขบันทึก: 461802เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2011 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ควรจะสอนกันไว้ก่อนจะเป็นไม้แก่นะครับ

สวัสดีค่ะ คุณนาย ปภินวิช pap2498 ถนอมวงศ์  และคุณIco48โสภณ เปียสนิท  ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่มักจะใจอ่อน  อดตามใจลูกไม่ได้  เด็กก็เคยตัว  .....ดื้อ...เอาแต่ใจ  ดิฉันเองก็เป็นเหมือนกันค่ะ  ตอนนี้ลูกโตแล้ว  จะย้อนเวลากลับไปสอนกันใหม่ก็ไม่ได้  ...แต่ก็โชคดีที่ลูกไม่ได้ทำอะไรให้หนักใจ

 

สวัสดีครับ

  • มาขอบคุณที่แวะไปอ่านกลอนและให้กำลังใจ
  • เด็กดื้อ น่าจะเป็นเด็กฉลาด ซึ่งต้องการคำอธิบายที่มีเหตุผลและความใจเย็นจากผู้ใหญ่
  • ข้อมูลที่นำเสนอน่าสนใจมากครับ

    สวัสดีค่ะ คุณIco48 สันติสุข สันติศาสนสุข  จริง ๆ ค่ะ  เด็กดื้อ  เด็กชน  เด็กที่ไม่อยู่นิ่ง  มักจะเป็นเด็กฉลาด  ดังนั้นคำอธิบายต้องมีเหตุผลค่ะ

   ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท