ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลกรณีเด็กหญิงปิยนุข


จากข้อเท็จจริง เด็กหญิง ปิยนุช อากาเป มีบิดา – มารดา เป็นแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า แต่จากข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าเด็กหญิงปิยนุช เกิดในประเทศไทยหรือไม่ ดังนั้น ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 7 ทวิ ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย จึงตีความได้ว่าแม้สมมติว่าเด็กหญิงปิยนุช จะเกิดในประเทศไทยก็ตามเขาก็จะไม่ได้รับสัญชาติไทย เนื่องจากมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ข้อเท็จจริงของเด็กหญิงปิยนุช ปรากฎเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า บิดาและมารดาได้เสียชีวิตลงแล้ว เด็กหญิงปิยนุชจึงตกอยู่ในฐานะเด็กกำพร้าที่มีบิดาและมารดาเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เด็กหญิงปิยนุชไม่ได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมายที่ควรจะได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 4 กำหนดว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง และในมาตรา 30 กำหนดว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จะเห็นได้ว่าตามรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตรากำหนดโดยให้ความสำคัญในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ ที่บุคคลย่อมได้รับอย่างเสมอภาคกันตามกฎหมาย แต่จากกรณีของเด็กหญิงปิยนุชจะไม่สามารถได้รับสิทธิ หรือเสรีภาพใด ๆ เลย แต่ประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยขึ้น และจากการศึกษาจากยุทธศาสต์ดังกล่าวได้มีการจัดแบ่งบุคคลตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ออกเป็น 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กรณีบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย 2. กรณีเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย 3. กรณีบุคคลที่ไร้รากเหง้า 4. กรณีบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ 5. กรณีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาที่ได้รับการจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากประเทศต้นทางไม่ยอมรับ และ 6. กรณีคนต่างด้าวอื่น ๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 1 ถึง 5 และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง จากการจำแนกกลุ่มทางยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลไทยต้องการจะแก้ไขปัญหา ในกรณีของเด็กหญิงปิยนุชเมื่อได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้รับจากเอกสารขอจำแนกเด็กหญิงปิยนุชว่าจัดเป็นบุคคลในยุทธศาสตร์กลุ่มที่ 6 กรณีกรณีคนต่างด้าวอื่น ๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติตามข้อ 1 ถึง 5 และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง โดยจากการศึกษาจากเอกสารที่กำหนดให้เด็กหญิงปิยนุชน่าจะเข้าอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ 2 และกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ 5 ข้าพเจ้ามีความเห็นต่างไป ดังต่อไปนี้ กรณีที่ไม่น่าจะอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์แล้ว เด็กหญิงปิยนุชถือว่าเป็นเด็กที่ยังไม่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงต้องไปพิจารณาตามกระบวนการในกลุ่มที่ 1 ประกอบ โดยกรณีที่ไม่มีเชื้อชาติไทยต้องอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปีและต้องเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย จะทำให้ลูกของคนกลุ่มนี้ได้สัญชาติไทย แต่จากกรณีของเด็กหญิงปิยนุชบิดา – มารดาเข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงทำให้เด็กหญิงปิยนุชไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ในกลุ่มที่ 2 นี้ และในกรณีที่ไม่น่าจะเข้าตามกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ 5 เนื่องจากในกลุ่มนี้ แม้ว่าบิดาและมารดาของเด็กหญิงปิยนุชจะเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าแต่ในกรณีนี้ต้องได้รับการจดทะเบียนแต่จากกรณีของเด็กหญิงปิยนุชบิดามารดาเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงไม่น่าจัดอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ 5 แต่ที่ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าเด็กหญิงปิยนุชน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ที่อยู่ในกลุ่มที่ 6 เพราะเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบของกลุ่มยุทธศาสตร์อื่น ๆ แล้วไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์กลุ่มที่ 1 – 5 โดยในกรณีของเด็กหญิงปิยนุชเพื่อแก้ไขปัญหาจึงควรที่จะดำเนินการจัดการให้มีการจดทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อทำให้สามารถรับสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ได้
หมายเลขบันทึก: 46042เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2006 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท