กินข้าวเย็นก่อนพระอาทิตย์ตก ลดกรดไหลย้อน [EN]


สำนักข่าวนิวยอร์คไทมส์ / nytimes ตีพิมพ์เรื่อง 'Really? The Claim: To reduce heartburn, Don't eat four hours before bed'  = "จริงไหม? คำกล่าวอ้าง (เคลม): งดอาหาร 4 ชั่วโมงก่อนนอนลดแสบร้อนหน้าอก (อาการโรคกรดไหลย้อน)", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease / GERD / เจ้า "เกิร์ด") "อาหาร-น้ำ-ลม-น้ำย่อย-กรด" ในกระเพาะอาหารไหลย้อนศร จากกระเพาะอาหารขึ้นไปยังหลอดอาหาร หรือสูงกว่านั้นในบางคน
.
อาการของโรคขึ้นกับระดับของการไหลย้อนว่า ขึ้นสูงไปถึงระดับใด และปริมาณมากน้อยแค่ไหน
.
ถ้าเจ้าเกิร์ดไหลย้อนไปถึงระดับหลอดอาหาร อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนในอก (heartburn), ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องได้
.
ถ้ากรดไหลย้อนสูงกว่านั้น เช่น ย้อนไปถึงระดับกล่องเสียง ทำให้เจ็บคอ แสบคอ ไอเรื้อรังได้, ถ้าไหลย้อนไปถึงระดับหลังช่องปาก ทำให้มีอาการเรอเปรี้ยว ฟันสึก เสียวฟันได้
.
คนไข้โรคเกิร์ดหรือกรดไหลย้อนมักจะได้รับคำแนะนำให้กินข้าวเย็นเร็วขึ้น หรือหยุดกิน (kitchen cut-off time) ก่อนนอน 3-4 ชั่วโมง, ไม่นอนหลังอาหาร เช่น หลังมื้อเที่ยง ฯลฯ
.
การศึกษาหนึ่ง (ตีพิมพ์ใน Am J Gastroenterology) ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างคนไข้ 350 รายพบว่า การกินอาหารภายใน 3 ชั่วโมงก่อนนอน เพิ่มเสี่ยงอาการกรดไหลย้อนหรือ "เกิร์ด" 7 เท่า
.
การศึกษาจากศูนย์การแพทย์ทหารวอลเตอร์ รีด ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างคนไข้ 30 ราย ให้ลองกิน 2 วิธีเปรียบเทียบกัน คืนหนึ่งกินอาหารเย็น 2 ชั่วโมงก่อนนอน, อีกคืนหนึ่งกินอาหารเย็น 6 ชั่วโมงก่อนนอน
.
ผลการศึกษาพบว่า การกินข้าวเย็น 2 ชั่วโมงก่อนนอน เพิ่มอาการกรดไหลย้อนหรือ "เกิร์ด" มากกว่า 6 ชั่วโมง
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ กระเพาะอาหารคนเราจะโป่งออกมากน้อยเพียงไร ขึ้นกับปริมาตรรวมของ "อาหาร-น้ำ-ลม", ยิ่งโป่งมากยิ่งเพิ่มเสี่ยงต่อการเอ่อล้นขึ้นข้างบนมาก
.
คนที่กินมากมักจะมีอาการมากกว่าคนที่กินน้อย, คนที่กินน้ำมาก เช่น กินข้าวคำ-น้ำคำ, ดื่มเครื่องดื่มแก้วใหญ่ ฯลฯ มักจะมีอาการมากกว่าคนที่ดื่มน้อย
.
คนที่มีลมในกระเพาะอาหารมากมัจะมีอาการมากกว่าคนที่มีลมน้อย... ลมในกระเพาะฯ ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่มีฟองฟู่ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ ฯลฯ
.
ลมในกระเพาะฯ อีกส่วนหนึ่งมาจากการกลืนเข้าไป ซึ่งคนแต่ละคนมีธรรมชาติในการกลืนลมมากน้อยไม่เท่ากัน ทว่า... โดยทั่วไปแล้ว, ยิ่งพูดมากยิ่งกลืนลมเข้าไปมาก
.
คำแนะนำสำหรับท่านที่เป็นกรดไหลย้อน คือ ไม่กินไปพูดไป ให้ฟังคนอื่นแทนพูด หรือที่ดีกว่านั้น คือ พิจารณาธรรม หรือเจริญกรรมฐานไปในระหว่างการกิน
.
ปกติหูรูดกระเพาะอาหารขาออกจะค่อยๆ ปล่อย "อาหาร-น้ำ-ลม" ออกไปสู่ลำไส้เล็กทีละน้อย กว่าจะหมดใช้เวลาประมาณ 2-6 ชั่วโมง
.
ระยะเวลาที่จะทำให้กระเพาะอาหารแฟบลงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้โอกาส "เอ่อ-เรอ-ล้น" ย้อนกลับไปในหลอดอาหารลดลงมากพอในคนที่เป็นโรคกรดไหลย้อน คือ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง
.
โบราณสอนให้กินช้าๆ เคี้ยวช้าๆ... การศึกษาใหม่พบว่า การเคี้ยวให้ช้าลงคือ 30-40 ครั้ง/คำ ช่วยให้การกินช้าลง กินน้อยลง ลดเสี่ยงอ้วน-น้ำหนักเกิน เนื่องจากกระบวนการรับรู้ว่า "อิ่ม" ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
.
โบราณสอนให้เดินย่อยอาหาร... ไม่ใช่เดินเร็วหลังอาหาร ซึ่งอาจเพิ่มเสี่ยงหัวใจขาดเลือด, ทว่า... ให้ลุกขึ้น เดินช้าๆ แบบชมนกชมไม้ วิธีนี้ช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้
.
ชาวยุโรปใต้ เช่น กรีซ อิตาลี สเปน ฯลฯ มีธรรมเนียมนอนหลังอาหารเที่ยง (siesta) ซึ่งอาจเพิ่มอาการกรดไหลย้อนได้
  • [ siesta ] > [ สี่ - เอ๊ส - ต่า ] > http://www.thefreedictionary.com/siesta > noun = นอนหลังอาหารเที่ยง
  • ศัพท์เดิมภาษาสเปน = 6 (ชั่วโมงที่ 6 นับจากเวลาเช้า) = เที่ยงวัน
ถ้าชอบนอนหลังอาหารจริงๆ... ควรใช้เก้าอี้นอนที่ปรับยกด้านหัวให้สูงขึ้นได้ หรือไม่ก็นอนเตียง แล้วใช้ก้อนอิฐหรืออะไรหนุนขาเตียงด้านหัว ให้สูงกว่าด้านเท้าประมาณ 1/2 คืบ
.
ถ้ากระเพาะอาหารคนเราเป็นขวดแก้ว หลอดอาหารจะเป็นส่วนคอขวด, ขวดที่ตั้งตรง (ท่ายืน-เดิน-นอนหัวสูง) จะทำให้น้ำล้นจากขวดได้ยากกว่าท่านอนราบ
.
ทีนี้ถ้ากินอาหารเย็น 3 ชั่วโมงก่อนนอนแล้ว อาการกรดไหลย้อนยังไม่ดีขึ้น จะทำอย่างไรดี... ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำให้กินเร็วขึ้นคราวละชั่วโมง จาก 3 เป็น 4, 5, 6, 7, ... ชั่วโมง หรือจะไม่กินข้าวเย็นได้ก็ยิ่งดี
.
คนเรากินอาหารเฉพาะก่อนเที่ยงก็อยู่ได้ ลองไปดูพระป่าที่เคารพพระวินัย บิณฑบาต-กวาดวัด-ทำความสะอาดวัดเป็นวัตร ดูจะป่วยน้อยอาพาธน้อย
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
. 

> [ Twitter ]

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 11 กันยายน 2554. ยินดีให้ท่านนำบทความทั้งหมดไปใช้ได้ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 460149เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2011 06:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ สุขภาพดีป้องกันโดยปฏิบัติตัวให้ถูกต้องในชีวิตประจำวัน ดีกว่าไปนอนรักษาในโรงหมอนะค่ะ

ขอบคุณสาระดีๆค่ะ โรคนี้รักษายากจัง

ต้องปรับพฤติกรรมการกิน...ขอบคุณค่ะ

 

ได้ความรู้เพิ่ม นำไปปฏิบัติได้ ขอบคุณมากค่ะ

เป็นกรดไหลย้อนกินalgyconอยู่คะคุณหมอ แนะนำหน่อยคะต้องทำตัวอย่างไรดี หมอที่จ่ายยานี้ให้หนูบอกว่าปลอดภัยมากขนาดคนท้องยังกินได้ แต่ก็นะคะหนูต้องฟังข้อมูลหลายๆด้านคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท