beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

โรงเรียนผู้ปกครอง <๑๔> : ผู้มีปัญญาย่อมหาทรัพย์ได้ด้วยหนูตายเพียง ๑ ตัว


      มูลเหตุของบันทึกนี้ เนื่องจากภาคการศึกษาหนึ่งมีนิสิตเขียนสมุดแห่งการเรียนรู้หรือ Journal ในวิชาการเลี้ยงผึ้ง เป็นนิทานเรื่องผู้มีปัญญาย่อมหาทรัพย์ได้ด้วยหนูตายเพียง ๑ ตัว เห็นว่านิทานเรื่องนี้น่าสนใจเพราะเกี่ยวกับเรื่องของ "การใช้ปัญญาหาทรัพย์"

       ต่อมาจะต้องไปสอนวิชา "การจัดการดำเนินชีวิต" ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งในหมวดการศึกษาทั่วไป ในหัวข้อ "การแก้ไขปัญหาเชิงพุทธปัญญา" เลยคิดว่าจะนำนิทานเรื่องนี้ไปประกอบการสอน

       นิทานเรื่องนี้ มาจากนิทานชาดก "จุลลกเศรษฐีชาดก" ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เนื้อเรื่องนำมาจากอินเตอร์เน็ต ส่วนภาพนำมาจาก เว็ปไซด์ "กัลยาณมิตร" ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ครับ

       เริ่มเรื่องเลยนะครับ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีท่านหนึ่งนามว่า "จุลลกเศรษฐี" เป็นเศรษฐีใหญ่ในเมืองพาราณสี เป็นผู้มีความฉลาดเฉียบแหลม เป็นบัณฑิตผู้รู้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ

       วันหนึ่งท่านจุลลกเศรษฐีเดินทางไปเฝ้าพระราชา (พระเจ้าพรหมทัต) ระหว่างทางพบซากหนูตายตัวหนึ่ง เห็นเป็นนิมิตที่ดี จึงเอ่ยปากพูดขึ้นว่า "หากผู้ใดมีดวงตา คือปัญญาแล้วไซร้ ก็สามารถที่จะนำเอาซากหนูตัวนี้ไปทำทุนเลี้ยงดูภรรยา และ ประกอบการงานได้ใหญ่โตทีเดียว"

 

      ชายผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อ "จูฬันเตวาสิก" ได้ยินท่านเศรษฐีพูดเช่นนั้น ก็คิดว่า ท่านเศรษฐีเป็นบัณฑิตผู้ฉลาด หากไม่รู้จริงก็คงไม่พูด เมื่อพูดก็ย่อมเป็นเช่นนั้นจริงๆ เขาจึงได้นำเอาหนูตายตัวนั้นไปขายให้กับคนเลี้ยงแมว ได้ทรัพย์มากากณิก[กา-กะ-หฺนึก] หนึ่ง (กากณิก คำนาม = ทรัพย์มีค่าเท่ากับค่าแห่งชิ้นเนื้อที่กาพอนำไปได้; เป็นชื่อมาตราเงินอย่างต่ำที่สุดของอินเดียในสมัยนั้น ถ้าเทียบกับมาตราเงินไทยคือ ๑ สตางค์)

 

     จากนั้นก็นำทรัพย์หนึ่งกากณิกนั้น ไปซื้อน้ำ "อ้อยงบ" (น้ำอ้อยที่เคี่ยวแล้วทำเป็นแผ่นสะดวกกับการพกพา) แล้วเอาหม้อใบหนึ่งตักน้ำ ไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้กลับจากการหาดอกไม้ ที่ประตูเมือง เขาได้ให้ชิ้นน้ำอ้อยและให้ดื่มน้ำคนละกระบวย พวกช่างดอกไม้ก็ให้ดอกไม้คนละหนึ่งกำมือเป็นสินน้ำใจตอบแทนแก่เขา

 

    จูฬันเตวาสิกเอาดอกไม้ทั้งหมดนั้น ไปขายได้ทรัพย์มาอีกจำนวนหนึ่ง แม้ในวันรุ่งขึ้น... เขาก็นำค่าดอกไม้นั้นซื้อน้ำอ้อยอีก แต่คราวนี้ตรงไปยังสวนดอกไม้เลยทีเดียว ให้พวกคนปลูกดอกไม้ ได้ดื่มน้ำอ้อย พวกคนปลูกดอกไม้จึงตอบแทนน้ำใจเขา ด้วยการให้ดอกไม้ ที่เก็บแล้ว คนละครึ่ง

 

 

     วันต่อมา เขาก็นำเงินไปซื้อน้ำอ้อยงบและไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้อยู่เช่นเดิม เมื่อได้ดอกไม้มาก็นำไปขาย ทำอยู่เช่นนี้ จนเขามีเงินถึง ๘ กหาปณะหรือ ๓๒ บาท (๑ กหาปณะ เท่ากับ ๒๐ มาสก เทียบเป็นเงินไทยคือ ๔ บาท)

 

      วันหนึ่ง ฝนตกพายุหนัก กิ่งไม้แห้งบ้างสดบ้างในพระราชอุทยาน ถูกพายุพัดลงมาเป็นอันมาก นายอุทยานไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี จูฬันเตวาสิกผ่านไปทราบความ จึงรีบไปแจ้วว่า ถ้าจะให้ใบไม้กิ่งไม้เหล่านั้นแก่ตนแล้ว เขาจะขนออกไปให้หมด คนเฝ้าพระราชอุทยานดีใจรีบบอกให้เขามาขนไปในทันที

 

            ด้วยความดีใจ จูฬันเตวาสิกรีบกลับไปที่สนามเด็กเล่น ให้น้ำอ้อยแก่เด็ก ๆ แล้วขอแรงให้ช่วยขนกิ่งไม้จนหมด และแล้วภายในเวลาไม่นานนักกิ่งไม้จำนวนมากได้มากองอยู่ที่หน้าประตูพระราชอุทยาน

 

 

 

      เขาคิดอยู่ครู่หนึ่ง จึงนำไปเสนอขายให้กับช่างปั้นหม้อของพระราชา ซึ่งเป็นเวลาประจวบกับช่างหม้อหลวงต้องการอยู่ฟืนพอดี  ช่างหม้อหลวงจึงซื้อกิ่งไม้เหล่านั้นทั้งหมด และยังมอบโอ่ง หม้อ ไห เนื้อดีให้แก่เขาอีกด้วย 
      จากการขายไม้ ตอนนี้ชายยากจนอย่างจูฬันเตวาสิกมีทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น ๑๖ กหาปณะแล้ว

 

        เมื่อมีทรัพย์มากขึ้น เขาจึงคิดอะไรได้อย่างหนึ่ง ด้วยการตั้งโอ่งน้ำไว้ไม่ไกลจากประตูเมือง เพื่อให้บริการแก่คนเกี่ยวหญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีจำนวน ๕๐๐ คน
       เหล่าคนหาบหญ้าพอใจในบริการที่มีน้ำใจของเขา จึงเอ่ยปากว่า หากต้องการให้พวกตนช่วยอะไร ขอให้บอกได้เลย

 

 


     นอกจากคนหาบหญ้าแล้ว จูฬันเตวาสิกยังได้ผูกมิตรกับคนมากหน้าหลายตา ทำให้เขามีคนรู้จักมากมายมากมาย

      วันหนึ่ง เพื่อนก็มาบอกข่าวแก่เขาว่า พรุ่งนี้จะมีพ่อค้าม้านำม้า ๕๐๐ ตัวมายังพระนครแห่งนี้  จูฬันเตวาสิกจึงไปพบคนหาบหญ้า และขอหญ้าจากพวกเขาคนละ ๑ ฟ่อน ซึ่งพวกคนหาบหญ้า ได้ขนมาให้เขาที่หน้าบ้านรวม ๕๐๐ ฟ่อน    
      เขายังขอร้องพวกคนหาบหญ้าว่า หากว่าเขายังไม่ได้ขายหญ้า ขออย่าให้ผู้ใดขายหญ้าก่อนเขา

 

     วันรุ่งขึ้น พ่อค้าม้านำม้า ๕๐๐ ตัวมาถึง และพบว่ามีเพียงจูฬันเตวาสิกเท่านั้นที่มีหญ้าขาย จึงต้องให้ราคาสูงเพื่อให้ได้หญ้าไปเลี้ยงม้า ทำให้เขาได้ทรัพย์จากการขายหญ้าในครั้งนี้เป็นจำนวน ๑,๐๐๐ กหาปณะ และยังพลอยทำให้คนเกี่ยวหญ้า ขายหญ้าได้ราคาดีตามไปด้วย

 

     
      ต่อมา ก็มีเพื่อนมาแจ้งข่าวแก่เขาว่า จะมีพ่อค้านำเรือสำเภาขนาดใหญ่มาจอดเทียบท่า จูฬันเตวาสิกไม่รอช้า แต่งตัวภูมิฐาน รีบไปเช่ารถม้าซึ่งมีบริวารติดตามมาด้วย และไปที่ท่าเรือ เจรจากับนายเรือ วางเงินมัดจำ ขอเหมาสินค้าทั้งลำเรือเอาไว้ก่อนผู้อื่น

 อีก ๒-๓ วันต่อมามีีเรือสินค้ามาเทียบท่า ชายหนุ่มจึงรีบไปเช่ารถม้าซึ่งมีบริวารติดตาม และแต่งกายอย่างโก้หรูไปที่ท่าเรือ 

 

 

      พ่อค้ารายอื่น ๑๐๐ คน ที่มาถึงท่าเรือภายหลัง ผิดหวังที่ไม่ได้สินค้า เมื่อทราบว่าใครเป็นผู้เหมาสินค้าไปก่อน จึงต้องมาเสนอร่วมลงทุนในสินค้ากับเขาคนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ และจ่ายค่าสินค้าให้แก่เขาอีกคนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ      
       สุดท้ายเขาได้ทรัพย์จากการค้า เป็นจำนวนถึง ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ     

 

 
     
      เมื่อได้ทรัพย์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ เขาก็เกิดความคิดว่า "เราควรเป็นคนกตัญญู นำทรัพย์ที่ได้ไปตอบแทนท่านเศรษฐี"

      เร็วเท่าใจคิด จูฬันเตวาสิกถือทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ไปมอบให้ท่านจุลลกเศรษฐี เพื่อเป็นการตอบแทนคุณ
           

 


      พอท่านเศรษฐีทราบเรื่องทั้งหมด จึงมองเห็นในสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดของจูฟันเตวาสิก จึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย พร้อมทั้งมอบทรัพย์สมบัติให้ครอบครองดูแล

 

      ต่อมาเมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกก็ได้รับแต่งตั้งจากพระราชาให้เป็นเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสีสืบต่อมา

 


       นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการเชื่อฟังท่านผู้รู้ ไม่ดูเบาต่อคำสั่งสอน พยายามปฏิบัติตาม และทำอย่างมีปัญญา ใคร่ครวญพิจารณาให้ดี มีความคิดรอบคอบ
       และเมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็ระลึกถึงผู้มีพระคุณ บุคคลผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมไม่ตกต่ำ มีแต่จะตั้งตนได้และเจริญรุ่งเรือง ความรู้ ความประพฤติ และการงานที่ดีย่อมเป็นที่พึ่งพิงของบุคคลได้ดีกว่าสิ่งอื่น ดังภาษิตที่ว่า "ไม่มีมิตรใดเสมอได้ด้วยวิชชา"

 

หมายเลขบันทึก: 460142เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2011 04:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาทักทายสหายเก่าแก่ครับ

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราวในบันทึึกนี้ค่ะ

และมารับข้อคิดดีๆ จากบันทึกนี้ค่ะ

พร้อมกับนำไปปฏิบัติค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่มีคุณค่าบันทึกนี้นะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท