ทำไมผมไม่ลาออก : สิ่งที่กล่าวหาไม่ใช่หน้าที่ของผม


ฝ่ายกำกับดูแลเป็นผู้กำหนดว่าให้ทำอะไร กำหนดเป้าหมาย และร่วมกับฝ่ายบริหารในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุผลที่กำหนด ฝ่ายกำกับดูแลไม่ใช่ฝ่ายลงมือทำ

ทำไมผมไม่ลาออก : สิ่งที่กล่าวหาไม่ใช่หน้าที่ของผม

จดหมายและข้อเรียกร้องในสื่อมวลชน ดังที่ลงในบันทึกเมื่อวาน ซึ่งอ่านได้ที่นี่   เป็นโอกาสที่ผมจะอธิบายแก่สังคมไทยว่าผมมีความเข้าใจหน้าที่กำกับดูแลองค์กรอย่างไร

โดยขอยืนยันว่า ข้อความในจดหมายแสดงว่าผู้เขียนไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับกติกาว่าด้วยหน้าที่กำกับดูแล (governance)  และเข้าใจสับสนกับหน้าที่บริหาร (management)

คนที่ทำหน้าที่กำกับดูแล หากหลงเข้าไปทำหน้าที่บริหาร กิจการขององค์กรจะยุ่งเหยิงสับสนมาก   หน้าที่ของฝ่ายบริหารคือทำให้กิจการสำเร็จ เป็นผู้ลงมือทำ   ฝ่ายกำกับดูแลเป็นผู้กำหนดว่าให้ทำอะไร กำหนดเป้าหมาย และร่วมกับฝ่ายบริหารในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุผลที่กำหนด   ฝ่ายกำกับดูแลไม่ใช่ฝ่ายลงมือทำ

ดังนั้นหน้าที่ในการเจรจาทำความเข้าใจกับ สกอ. จึงเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร   ไม่ใช่หน้าที่ของผมซึ่งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย  

และฝ่าย สกอ./กกอ. ที่มีหน้าที่เจรจากับมหาวิทยาลัยมหิดล ก็คือฝ่ายบริหารของ สกอ. คือเลขาธิการ กกอ.  รองเลขาธิการ และผู้บริหารระดับล่างลงมา   ไม่ใช่ผม ซึ่งเป็นประธาน กกอ.   เป็นฝ่ายกำกับดูแล ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติงานประจำ 

นอกจากนั้น ในการทำหน้าที่ประธานของฝ่ายกำกับดูแล (ในที่นี้คือประธาน กกอ. และนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล) นั้น   ประธานคนเดียวไม่มีฤทธิ์เดชหรืออำนาจใดๆ   จะมีอำนาจต่อเมื่อประกอบกันเข้าเป็นองค์คณะ   ใช้อำนาจขององค์คณะลงมติ   ดังนั้นประธานจึงไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ นอกเหนือจากการเรียกประชุมคณะกรรมการ

ในการทำหน้าที่กรรมการ กกอ.  กรรมการแต่ละคนมีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน   เพราะกรรมการแต่ละท่านต่างก็มีภารกิจหน้าที่คนละหลายๆ อย่าง  เช่น บางคนเป็นอธิการบดี บางคนเป็นเจ้าของโรงเรียน และอีกหลายคน รวมทั้งผม เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย   เราจึงมีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรและถือปฏิบัติเคร่งครัดดังนี้

 

 

ระเบียบคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ว่าด้วยปฏิญญาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา

และคณะกรรมการอื่นหรือคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา 

พ.ศ. 2547

-------------------------

                    เพื่อให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการอื่นหรือคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 และมาตรา 24(5) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546   คณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 5/2547 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547

จึงได้ออกระเบียบว่าด้วยปฏิญญาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการอื่นหรือคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา ไว้ดังนี้

 

ข้อ 1 ระเบียบนี้ เรียกว่า  “ ระเบียบคณะกรรมการการอุดมศึกษาว่าด้วยปฏิญญาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการอื่นหรือคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ”

         ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3 ประธาน และกรรมการหรืออนุกรรมการ ทุกคนยินดีปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะขององค์คณะ โดยเคารพและให้เกียรติกับกระบวนการทำงานของคณะกรรมการ/อนุกรรมการ รวมถึงการเสนอความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผล เคารพเวทีการประชุม และยึดถือมติข้อตกลงของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเป็นที่ตั้ง

                     ข้อ 4  ประธาน และกรรมการหรืออนุกรรมการ ทุกคนยินดีให้ความคิดเห็นและข้อมูล

ที่เป็นประโยชน์ต่อที่ประชุม เพื่อให้สามารถดำเนินการบรรลุภารกิจตามวัตถุประสงค์

ข้อ 5 ประธาน และกรรมการหรืออนุกรรมการ ทุกคนปฏิบัติหน้าที่โดยระบบคุณธรรมและมีประสิทธิภาพสูงสุด หลีกเลี่ยงมิให้เกิดความทับซ้อนหรือขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่ ประธานและกรรมการหรืออนุกรรมการ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา

ข้อ 6  ประธาน และกรรมการหรืออนุกรรมการ ผู้ใดที่มีความเกี่ยวพันกับสถาบันอุดม

ศึกษาหรือบุคคลใดซึ่งอยู่ในส่วนที่ กกอ. หรือคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ จะต้องพิจารณา   ทุกคนยินดีที่จะปฏิบัติดังนี้

6.1  เปิดเผยแก่ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ ถึงความเกี่ยวพันกับสถาบันอุดมศึกษาหรือบุคคลนั้น

6.2  ไม่เข้าร่วมพิจารณา  ยกเว้นแต่จะได้รับการร้องขอให้เป็นผู้ให้ข้อมูลในฐานะ

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ  โดยงดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงใด ๆ

6.3  ละเว้นการปฏิบัติใดๆ ในลักษณะชักจูงหรือกดดันให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีการตัดสินใจที่อาจให้คุณหรือให้โทษในการพิจารณา

          ข้อ 7 ประธาน และกรรมการหรืออนุกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ เสียสละ อดทน ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส มีคุณธรรมและยุติธรรม

ข้อ 8 ประธาน และกรรมการหรืออนุกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่โดยมุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการให้คำแนะนำ ให้ข้อวิจารณ์และทัศนะที่สร้างสรรค์ตามหลักวิชาการด้วยความเป็นกลางเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวมและการอุดมศึกษาของประเทศ โดยไม่หวังผลประโยชน์และการตอบแทนใด ๆ

          ข้อ 9 ประธาน และกรรมการหรืออนุกรรมการ ต้องอุทิศตนและรักษาเวลาในการเข้าร่วมประชุม หากมีความจำเป็นให้แจ้งต่อประธานกรรมการ หรือฝ่ายเลขานุการเพื่อแจ้งที่ประชุมต่อไป

ข้อ 10 ประธาน และกรรมการหรืออนุกรรมการ ต้องรับผิดชอบในการรักษาความลับโดยเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ มีการประชุมลับ

ข้อ 11 การให้ข่าวกับสื่อมวลชนหรือบุคคลภายนอก ให้เป็นหน้าที่ของประธานกรรมการ 
กกอ. และหรือ กรรมการและเลขานุการ กกอ.

ข้อ 12 ให้ประธานกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษารักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

                    

                     ประกาศ ณ วันที่  18 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2547   เป็นต้นไป

 

 

 

 

 

(ศาสตราจารย์พจน์  สะเพียรชัย)

                                        ประธานกรรมการ

                                        คณะกรรมการการอุดมศึกษา

 

คณะกรรมการ กกอ. ชุดที่ทำหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ได้มีมติให้ใช้ระเบียบนี้ด้วย 

ดังนั้นเมื่อมีเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยมหิดลเข้า กกอ. ผมจะเดินออกจากห้องประชุมทันที  รวมทั้งเมื่อมีการพิจารณาเรื่องของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เมื่อวันที่ ๑ ก.ย. ๕๔ ด้วย

ในการทำงานด้านกำกับดูแลของผม ผมจะหมั่นเตือนตนเองให้มุ่งทำงานที่สำคัญ ที่เกิดประโยชน์ภาพใหญ่และเชิงอนาคต  คอยระวังไม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องเชิงเทคนิค   สิ่งที่จดหมายและข่าวเรียกร้องจากผม เป็นเรื่องเชิงเทคนิค ซึ่งผมไม่ทำ   ส่วนหนึ่งเพราะเจียมตัวว่าไม่มีความรู้   และส่วนหนึ่งเพราะเคารพผู้มีความรู้ ในเรื่องเชิงเทคนิคเหล่านั้น

การทำหน้าที่กำกับดูแล มีธรรมชาติอยู่กับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา   แต่โดยทั่วไปเราใช้หลักฐานเหตุผลในการเจรจา พิจารณา และลงมติ   การใช้อารมณ์เป็นเครื่องมือบีบบังคับ เป็นเรื่องที่ผมไม่รับ   อารมณ์เป็นสิ่งที่ดีต่อศิลปะและการสร้างสรรค์   แต่จะเอามาบีบบังคับการตัดสินใจเชิงกำกับดูแลหรือการบริหารงานจะไม่เหมาะสม  ผมจึงหมั่นฝึกฝนให้รู้เท่าทันอารมณ์ ทั้งของตนเองและของผู้อื่น  และไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์พลุ่งพล่านชั่วแล่น   ผมเสียดายที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร   หากผมเป็นฝ่ายบริหารผมจะเอาเรื่องทั้งหมดที่เป็นเอกสารหลักฐานให้สื่อมวลชนเอาไปเผยแพร่เพื่อความรู้ความเข้าใจของสาธารณชน  

เขียนอย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าผมบอกคำตอบแล้วว่าทำไมผมไม่ลาออกตามคำเรียกร้องในข่าว   แต่ถ้ายังมีคนไม่เข้าใจ   ผมอธิบายต่อก็ได้  ว่าผมถือหลัก “รับฟังให้มาก รวมทั้งถ้อยคำที่ไม่พึงใจ”   ผมฝึกฝนตนเองให้รับฟังผู้อื่น รับฟังความเห็นที่ต่าง ด้วยความเคารพ   แต่ฟังแล้วผมจะไตร่ตรอง   การตัดสินใจเป็นสิทธิของผม เพราะผมต้องเป็นผู้รับผิดชอบการตัดสินใจนั้น ไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้เรียกร้อง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องที่ใช้แต่อารมณ์ ไร้เหตุผล

วิจารณ์ พานิช

๒ ก.ย. ๕๔

หมายเลขบันทึก: 457804เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2011 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ส่งกำลังใจหนึ่งมาถึงอาจารย์หมอนะครับ ;)...

เชื่อมั่นในอาจารย์ค่ะ...เพราะไม่เคยเห็นอาจารย์ทำเพื่อตนเองเลย อาจารย์ทำให้เห็นทำให้เป็นตัวอย่างเสมอ เป็นการสอนแบบไม่ได้สอนแต่ปฏิบัติให้ดู

เหตุผลที่เชื่อ

เพราะเชื่อคนที่มีศีลธรรมค่ะ...

แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้เรียนหนังสือ หากแต่...มีศีลและมีธรรมนั่นน่ะ คือ ผู้มีปัญญา...และจิตใจที่งดงาม

Large_zen_pics_007 

ทำให้นึกถึง "ที่ว่าง"...

ที่ว่างอันเป็นที่ปลดปล่อยทางอารมณ์ เสมือนเป็นที่ปลดปล่อยระบายออกทางแห่งความทุกข์ที่บีบคั้นของผู้คน

จากถ้อยความจากจดหมาย...เห็นความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามาในจิตใจ

และสภาวะที่อัดแน่นคล้ายระเบิด...อาจารย์คือ ที่ว่าง...ที่รองรับ

...

ด้วยความเข้าใจค่ะ

ในทางกฎหมาย เราจะให้ความสำคัญกับหลักการเรื่อง "ผู้มีส่วนได้เสีย" หรือ "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ที่อาจส่งผลต่อความยุติธรรม

ในกรณีของการพิจารณาในคดีความหากผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี มีส่วนได้เสีย หรือ มีเหตุใดๆอันจะส่งผลต่อความยุติธรรมในดคีนั้น ผู้พิพาษาท่านนั้น จะไม่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดี เพื่อเหตุแห่งความยุติธรรม การกระทำดังนี้ สอดคล้องกับหลักวิชาชีพนักกฎหมายครับ ซึ่งถือเป็นหัวใจของนักกฎหมาย

ในสาขาวิชาชีพอื่นๆที่มีการกระำทำใดๆอันส่งต่อความเป็นธรรม แนวคิดเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียก็คงไม่ต่างกันกระมังครับ

ออกเถอะครับ คนมากมายคิดว่าท่านแก้ปัญหาไม่ได้ และในคำชี้แจงของท่านก็ไม่มีทางออกให้คนมหิดลเลย

อาจารย์ประเวศดูคนไว้ถูกจริง ๆ

เป็นสถานการณ์ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรเรียนรู้ว่าตนเองควรมีบทบาทอย่างไร

ผมชอบแนวทางของอาจารย์นะครับ คือ รับฟังให้มาก ส่วนการตัดสินใจเป็นเอกสิทธิของเรา ผู้บริหาร สมัยผมเป็น รองอธก.วิชาการ ผมพูดเช่นนี้เสมอต่อที่ประชุมหลากหลายที่ได้เป็นประธานที่ต้องตัดสินใจในมากเรื่อง

สุดท้ายผมลาออกโดยไม่มีใครร้องขอ เพราะเบื่องานบริหารมากๆ (เขียนบลอกสนุกกว่าเยอะเลย :-) ยื่นใบลาออกห้าครั้ง ในเวลาหนึ่งปี ถูกยับยั้งทั้งหมด ครั้งที่หก นายท่านคงเบื่อเลยยอม ผมเลยเป็นไทแก่ตัวมาได้ ๙ ปีนี้แล้ว (แต่กลายเป็นทาสบลอก อิอิ)

ปล. อาจารย์คงจำมดต้วเล็กๆ อย่างผมไม่ได้แล้วหรอกครับ เราเคยเจอกันที่ออสเตรเลีย ขณะที่ผมไป "ดูงาน" ในคณะของสภาคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาลัยของรัฐ แล้วอาจารย์ก็ไปประชุมที่นั่นพอดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท