การคิดเชิงวิเคราะห์


การคิด

เทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์

       เทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือผู้กำลังคิด ให้สามารถจำแนก, แยกแยะ, จัดหมวดหมู่, องค์ประกอบที่เกี่ยวพันในเนื้อหาของเรื่องที่กำลังคิดอย่างเป็นระบบ สามารถทำให้ผู้คิดมองเห็นความสัมพันธ์ได้อย่างสอดคล้องและกระจ่างชัด โดยไม่ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งง่ายต่อการนำไปศึกษาหรือพยายามทำความเข้าใจ ตลอดจนสามารถสืบค้นตรวจทานเนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบเหล่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คิดสามารถนำไปตีความ หรือให้คุณค่าในเนื้อหาเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทั้งนี้ มีนักวิชาการหลายท่านที่กล่าวถึงเทคนิคการคิดเชิงวิเคราะห์ไว้ ดังนี้

       ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้กล่าวโดยสรุปในการบรรยาย เรื่องการคิดเชิงวิเคราะห์ ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับกลาง ของกระทรวงมหาดไทย ไว้ตอนหนึ่งว่า "การคิดเชิงวิเคราะห์ ช่วยให้เราเข้าใจหลักการวิเคราะห์และนำไปใช้วิเคราะห์ทุกๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต สามารถอ่านสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างทะลุปรุโปร่งช่วยในการดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็น อย่างดี และสามารถนำหลักแนวคิดวิธีการไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและองค์กรต่อไปในอนาคต"

         นอกจากนี้ ดร.ไสว ฝักขาว (2547) ยังได้ให้ความหมายของ "การคิดเชิงวิเคราะห์" ไว้ว่า "การคิดเชิงวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการจำแนกแจกแจง องค์ประกอบต่างๆของสิ่งใดสิ่งหนึ่งและหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่าง องค์ประกอบเหล่านั้นเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น"

         จากความหมายดังกล่าวจะเห็นว่าความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์นั้นมีความจำ เป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเราอย่างมาก ในการที่บุคคลใดจะเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดีหรือไม่นั้นมีองค์ประกอบที่ สำคัญ 4 ประการ (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) คือ

1) ความสามารถในการตีความ ซึ่งหมายถึง ความพยายามที่จะทำความเข้าใจและให้เหตุผลแก่สิ่งที่เราต้องการจะวิเคราะห์ เพื่อแปลความหมายสิ่งที่ไม่ปรากฏของสิ่งนั้น ซึ่งแต่ละคนอาจใช้เกณฑ์ต่างกัน เช่น จากความรู้เดิม จากประสบการณ์ หรือจากข้อเขียนของคนอื่น

2) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ ผู้วิเคราะห์จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่จะวิเคราะห์ดีพอเสียก่อนไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการใช้ ความรู้สึกส่วนตน

3) ความช่างสังเกต ช่างสงสัยและช่างถาม คุณสมบัติข้อนี้จะช่วยให้ผู้วิเคราะห์ได้ข้อมูลมากเพียงพอก่อนที่จะวิเคราะห์

4) ความสามารถในการหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยเริ่มจากการแจกแจงข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมเสียก่อนจากนั้นจึงคิดหา เหตุผลเชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อค้นหา ความจริง

         นอกจากองค์ประกอบของการคิดเชิงวิเคราะห์ที่กล่าวมาแล้ว การเป็นนักคิดเชิงวิเคราะห์ที่ดียังต้องมีคุณสมบัติ (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) ดังนี้

1) เป็นผู้ที่รับข้อมูลแล้วไม่ด่วนสรุป ผู้คิดจะต้องตีความข้อมูลที่ได้ให้กระจ่างเสียก่อนโดยเริ่มจาก การกำหนดนิยามของสิ่งที่จะคิดให้ตรงกัน จากนั้นจึงตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงเหตุผล โดยพิจารณาจาก สิ่งที่สื่อความหมายสัมพันธ์กัน สิ่งที่ละไว้ สิ่งที่ส่อนัย (Implication) และความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ในปัจจุบันคนในสังคมจำนวนไม่น้อยกำลังถูกหลอกให้หลงเชื่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผล โดยการอ้างเหตุผลที่ไม่ถูกต้องแต่ดูเหมือนถูกต้องซึ่งในทางปรัชญา เรียกว่า "การใช้เหตุผลวิบัติ" (Fallacy)

2) เป็นผู้ไม่ด่วนแก้ปัญหาแต่มีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าปัญหาที่แท้จริง คืออะไรเสียก่อน อาจใช้เทคนิค Why-Why Analysis คือ การถามว่าทำไมไปเรื่อยๆ อย่างน้อย 5 คำถาม

3) เป็นนักตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ที่ดี ซึ่งอาจเป็นคำถามในลักษณะต่อไปนี้

(1) คำถามแบบ "5Ws 1 H" คือ What (มันคืออะไร) Who (ใครเกี่ยวข้องบ้าง) Where (มันเกิดที่ไหน) When (มันเกิดเมื่อไร) Why (ทำไมจึงเกิดขึ้น และ How (มันเป็นอย่างไร)

(2) คำถามเชิงเงื่อนไข (Conditions) โดยถามในลักษณะ "ถ้า.......จะเกิด.........." (If................Then............)

(3) คำถามเกี่ยวกับจำนวน (Number) หรือ ความถี่ (frequencies) เช่นเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกี่ครั้งแล้ว หรือมีความถี่แค่ไหน

(4) คำถามเกี่ยวกับลำดับความสำคัญ (Priority) เช่น เราควรทำอะไรก่อน-หลัง

(5) คำถามเชิงเปรียบเทียบ (Comparative) เช่น สุขภาพกับความสุขอะไรสำคัญกว่ากัน

สำหรับเครื่องมือที่นักคิดเชิงวิเคราะห์นิยมใช้เพื่อช่วยในการคิด (ดร.ไสว ฝักขาว, 2547) ได้แก่

1) แผนผังแบบ Conceptual Map เช่น Concept Map, Web Diagram และ Mind Map

2) แผนภูมิแบบก้างปลา (Fishbone Diagram) ซึ่งนิยมใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุและผลกระทบ

3) แผนภาพแสดงความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal relation) ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งนิยมใช้สำหรับการคิดเชิงระบบ (System Thinking)

คำสำคัญ (Tags): #การคิด
หมายเลขบันทึก: 456556เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท