การใส่แรงทั้งสามเพื่อขับเคลื่อนองค์กร (การบริหารแบบ buton ๒)


การใส่แรงผลักจากภายนอกนั้นมักด้อยประสิทธิภาพและเป็นการเพิ่มความเครียดได้มาก ส่วนการใส่แรงดึงจากภายนอกนั้นได้ประสิทธิภาพมากกว่า

เซอร์ ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกท่านหนึ่ง ตั้งกฎที่สำคัญไว้ว่า “สรรพสิ่งที่มีมวลย่อมหยุดนิ่งหรือเคลื่อนไปในทิศทางเดิมด้วยความเร็ว (หรือความช้า) เดิม จนกว่าจะใส่แรงจากภายนอกเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลง”

                องค์กรเปรียบได้กับวัตถุก้อนหนึ่งที่มีมวล (ขนาด) และ ความเร็วในการเคลื่อนที่ (โมเมนตัม) ซึ่งกำลังเคลื่อนที่ไป(หรือคิดว่าเคลื่อนที่ไป)ในทิศทางหนึ่งเพื่อไปสู่จุดหมายอันหนึ่ง (ถ้ามี)

 

ก่อนอื่นควรต้องวิเคราะห์ให้ได้เสียก่อนว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่มุ่งหวังหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็มีได้สองทางคือ ยังไม่ถูกต้อง หรือ ถูกต้องแล้ว ซึ่งจะต้องจัดการเป็นกรณีไปให้เหมาะสม

  1. ถูกต้องแล้ว ต้องถามต่อไปว่าแล้วเดินไปด้วยความเร็วที่เหมาะสมหรือยัง ซึ่งอาจเหมาะสมแล้ว หรือ เร็วเกินไป หรือ ช้าเกินไป ก็เป็นได้ ซึ่งก็ต้องจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป
  2. ไม่ถูกต้อง ต้องถามต่อไปว่าทิศทางเฉไปในทิศใด และ กำลังวิ่งเฉไปด้วยความเร็วมากหรือน้อย เพียงใด ซึ่งก็ต้องการมาตรการเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมต่อไป

 

                ในกรณีที่ถูกต้องแล้ว เราต้องใส่แรงในทิศทางเดิมเพิ่มเติม หรือ ลดแรงลง แล้วแต่ว่าจะให้เร็วขึ้นหรือช้าลง ในกรณีที่ผิดทั้งขนาดและทิศทางเราก็ต้องเปลี่ยนทั้งทิศทางและหรือขนาดของแรงที่เหมาะสมต่อไป

 

                แต่การใส่แรงเข้าไปเพื่อปรับระบบนั้น มีได้สามลักษณะคือ

1)      การใส่แรงผลักจากภายนอก 

2)      การใส่แรงดึงจากภายนอก

3)      และการสร้างแรงขับเคลื่อนจากภายใน(กำลังภายใน)  

 

การใส่แรงผลักจากภายนอกนั้นมักด้อยประสิทธิภาพและเป็นการเพิ่มความเครียดได้มาก ส่วนการใส่แรงดึงจากภายนอกนั้นได้ประสิทธิภาพมากกว่าและเกิดความเครียดน้อยกว่าด้วย สำหรับการสร้างแรงจากภายในนั้นทำได้ยากที่สุด แต่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และยังเป็นการลดความเครียดด้วย

                อุปมาดังเช่น การจะทำให้สุนัขเดินไปตามทิศทางที่ต้องการนั้น อาจทำด้วยการผลักดันสุนัขทางก้น ซึ่งเป็นอาการที่ยากลำบากทุลักทุเลมาก ไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพ  ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการใช้เชือกผูกดึงหรือจูงสุนัขไป แม้จะทุลักทุเลอยู่บ้าง ก็ยังดีกว่าวิธีผลักมาก นอกจากจูงด้วยเชือกแล้วยังอาจจูงด้วยเครื่องล่อเช่นอาหารขบเคี้ยวเพื่อล่อให้เดินตาม  วิธีที่สามคือเรียนรู้นิสัยของสุนัขแล้วปลูกฝังความรักความสัมพันธ์กับสุนัขจนสุนัขเดินตามเราไปทุกทางที่เราไป วิธีนี้ไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะเกิดจากแรงดลใจภายในของสุนัขเอง สุนัขเองก็ไม่เครียดด้วยเพาะทำเองตามความสมัครใจ ออกจะไม่ค่อยดีนักที่เอามาเปรียบกันสุนัขแต่ก็คงได้ภาพพจน์ที่ง่ายดี ไม่ต้องอธิบายกันมาก

...ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๒๗ สค. ๒๕๕๔)

จบตอน ๒

โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 456501เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2011 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท