HA Accredit เรื่องง่ายๆ ด้วยพลังจากเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลด้วยระบบพี่เลี้ยง จ.อยุธยา


งานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเป็น “วิถี” ไม่ใช่การ “ประเมินผล” วิธีคิด ทัศนคติของบุคลากรสายสุขภาพต่องานพัฒนาคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต่อการพัฒนางานให้บรรลุผลสำเร็จ

บทบาทในการไปถอดบทเรียนความสำเร็จของการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)มาช่วงระยะ ๒ – ๓ ปีที่ผ่านมาของผม ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เรียนรู้การทำงานของบุคลากรทางด้านสุขภาพที่ใช้ HA เป็นมาตรฐาน บทเรียนของความสำเร็จหากจะให้สรุปสั้นๆก็คือ แต่ละโรงพยาบาลล้วนแล้วแต่ เป็นความสำเร็จที่เกิดจาก “การทำงานหนักอย่างชาญฉลาด” และ “เป็นตัวของตัวเองอย่างที่สุด” และความยั่งยืนอยู่ที่ “ความสุข” ของทุกคนในองค์กร

งานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเป็น “วิถี” ไม่ใช่การ “ประเมินผล” วิธีคิด ทัศนคติของบุคลากรสายสุขภาพต่องานพัฒนาคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต่อการพัฒนางานให้บรรลุผลสำเร็จ

ผมได้รับการติดต่อจาก คุณเจษฏา  (พี่เจี้ยบ ท่าเรือ) โรงพยาบาลท่าเรือ ผู้ประสาน Node ท่าเรือ เป็นหัวเรือหลักในการนำพากลุ่มโรงพยาบาลในจังหวัดอยุธยารวมทั้งหมด  ๗ โรงพยาบาล (ประกอบไปด้วยโรงพยาบาลท่าเรือ.โรงพยาบาลอุทัย,โรงพยาบาลบางปะหัน,โรงพยาบาลบางบาล,โรงพยาบาลบางไทร,โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช,โรงพยาบาลภาชี) ตามโครงการถอดบทเรียนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลด้วยระบบพี่เลี้ยง และหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งบนเขาใหญ่ อากาศสดชื่นและผ่อนคลายเป็นอย่างมาก

หน้าที่ที่ได้รับคือ “การถอดบทเรียน” (ตามชื่อโครงการ) และทางผู้ประสานงานก็บอกว่า อยากให้มีการแนะนำ+ ฝึก ทักษะการถอดบทเรียนเเละการเขียน ร่วมกันไปด้วย โจทย์ก็คือ "การทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายว่าประสบความสำเร็จเพียงใด และจะขับเคลื่อนในปีต่อไปนั้นจะทำอย่างไรกันต่อ?"

ทั้งโจทย์ และความคาดหวังที่ได้รับจากผู้ประสานงาน ทำให้ผมและทีมงานต้องทำการบ้านพอสมควร เมื่อดูจากผู้เข้าร่วมเวทีดังกล่าวโรงพยาบาลละประมาณ ๑๐ คนก็ ร่วม ๗๐ คน ถือว่าเป็นเวทีที่ใหญ่พอสมควร การถอดบทเรียนหากต้องการได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึก ในกรณีแบบนี้ต้องใช้ Facilitator ทีมใหญ่ด้วย แล้วจะทำอย่างไรกันดี? (วงถอดบทเรียน หากใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง หรือ Story telling วงละ ๖ -๘ คนต่อ Facilitator ๑คนจะเหมาะสมที่สุด)

 

ทีมงานผมได้กำหนด Facilitator หลักไว้เพียง ๓ คน และมีผู้ช่วยอีก ๓ (ทำหน้าที่ช่วยทั่วไป รวมสันทนาการ) และสิ่งหนึ่งที่ผมคิดหนักก็คือ นอกจากผมแล้ว ทีมงานทั้งหมดแทบไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับ งานพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเลย (ผมเข้าใจดีว่า ระบบ HA ค่อนข้างเฉพาะ และมีศัพท์แสงที่น่าเวียนหัวอีกมากมาย หากไม่ใช่คนในวงการก็คงมึนงงไม่ใช่น้อย) แล้วจะทำอย่างไรกันดี?

ข้อท้าทายหลายๆข้อที่เกิดจากเวทีนี้ก่อนเริ่ม ทำให้ทีมงานต้องทำการบ้านค่อนข้างหนัก โดยให้หนึ่งในทีมงาน (คุณธนะภูมิ ชาญประไพ) เป็นผู้รวบรวมความรู้ HA ฉบับเข้าใจง่ายให้ทุกคนทำความเข้าใจเป็นพื้นฐาน (พอให้รู้) และ มีการเตรียมความพร้อมก่อนการประชุม หรือ BAR ผ่านอีเมล (ตรงนี้ทำล่วงหน้าประมาณ ๑ เดือน) รวมไปถึงการ BAR ก่อน Workshop ๑ วันเพื่อให้เกิดความพร้อมเต็มที่

ทีมงานได้ออกแบบกระบวนการ สรุปและถอดบทเรียน พร้อมกับการ Training ไปด้วยใช้วิธีการให้ “ถอดบทเรียนกันเองผ่านกระบวนการ” โดนเชื่อมั่นว่าบุคลากรทางด้านสุขภาพได้ผ่านกระบวนการ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพมาแล้วจากการทำงาน ดังนั้นการออกแบบการถอดบทเรียนง่ายๆ ทำกันเอง (ถามเอง ตอบเอง และ เขียนเอง) น่าจะเป็นทางออกของเวทีที่มีกลุ่มคนเยอะๆเช่นนี้

ในช่วงเช้าวันแรกมีการบรรยายเพื่อเป็นพื้นฐานเพื่อพัฒนาทักษะในหัวข้อ “การถอดบทเรียน สู่การเขียนเพื่อการจัดการความรู้” และช่วงบ่ายก็เริ่มกระบวนการถอดบทเรียนกันเลย

นับว่าโชคดีที่ได้เรียนรู้กระบวนการ ABC จาก เวทีครูเพื่อศิษย์ ที่เพิ่งผ่านไป จึงได้นำกระบวนการไปประยุกต์ใช้ในเวทีนี้ได้เป็นอย่างดี โดยการแบ่งกลุ่มละ ๓ คน (คละโรงพยาบาล ไม่ซ้ำกัน) ให้ A ตั้งคำถาม B เล่าเรื่อง C จดบันทึก แล้วมีการสลับบทบาทกันใน ๓ ช่วงเวลา(๒๐ นาทีต่อช่วงเวลา) กระบวนการเช่นนี้ทำให้ทั้ง ๓ คน คือ A,B และ C ต่างก็ได้ทำบทบาทครบทั้ง ๓ บทบาท (ตั้งคำถาม-เล่าเรื่อง และ จดบันทึก)  ยังมีเวลาให้ทั้ง ๓ คนได้มีโอกาสทบทวนเรื่องเล่าตัวเอง แก้ไข เติมเต็มได้หลังจากนั้น กระบวนการนี้พบว่า เราได้ “เรื่องเล่า” ที่มีบริบทที่หลากหลายของแต่ละคน (๗๐ คน เราก็ได้เรื่องเล่า ๗๐ เรื่อง) แม้ว่าผลลัพธ์การเขียนของเรื่องเล่าอาจจะไม่สละสลวยมากนักจากเวลาที่จำกัด แต่การที่ได้พูดคุยกัน ใช้เวลาชั่วโมงเศษของกลุ่ม ก็ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวการทำงานพัฒนาคุณภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ –ถือว่า การแลกเปลี่ยนตรงนั้นเป็นการไขว้ประสบการณ์ที่เยี่ยมยอดอยู่แล้ว

ในเย็นวันแรกของ Workshop เราได้รวบรวมเรื่องเล่าของแต่ละโรงพยาบาล (แยกโรงพยาบาล) ให้กับทีมงาน Facilitator ไปนั่งอ่าน และจับประเด็นในช่วงกลางคืน แล้ว นำมาเสนอเพื่อเลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันรุ่งขึ้น – ภาพการทำงานของแต่ละโรงพยาบาลจะถูกสรุป บีบแคบลงให้เห็นการขับเคลื่อนแต่ละโรงพยาบาลอย่างชัดเจน บางโรงพยาบาลสามารถเห็นจุดแข็ง จุดอ่อนได้จากเรื่องเล่าเหล่านั้น หลายๆโรงพยาบาลเห็นรูปแบบการทำงานพัฒนาคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ในวันที่สองของ Workshop จะเป็นการแยกกลุ่มเพื่อถอดบทเรียนในภาพใหญ่โรงพยาบาล ๗โรงพยาบาล + ทีมเครือข่าย ๑ ทีม โดยใช้ข้อมูลเรื่องเล่าจากเมื่อวาน + บทสรุปที่ Facilitator ได้สรุปไว้เป็นข้อมูลตั้งต้น ช่วยกันระดมความคิดถึงรูปแบบการทำงานที่ประสบความสำเร็จ พร้อมกับ ระดมความคิดการขับเคลื่อนการพัฒนาต่อเนื่อง จะทำอย่างไร?  หลังจากที่ระดมความคิดเสร็จแล้วมีการนำเสนอ  ทุกโรงพยาบาลได้เรียนรู้วิธีคิดซึ่งกันและกันผ่านเวทีใหญ่ในวันที่สองอย่างสนุกสนาน เห็นพลังเครือข่าย เห็นพลังของความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเห็นความสุขที่เกิดขึ้นกับทุกคนในเวทีแห่งนี้

ผมนั่งสรุปจับประเด็นเป็น Mind map เงียบๆคนเดียวหลังฉากใหญ่ ในขณะที่ทีมงานทุกคนช่วยกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีข้างหน้าผม

ผมนั่งยิ้มและจับประเด็นอย่างมีความสุขที่ได้ฟังบทเรียนที่มีคุณค่าและเป็นบทเรียนที่เราอยากได้ยินจริงๆจากการนำเสนอของแต่ละโรงพยาบาล – ผมประเมินผลเวทีนี้ผ่านข้อมูลที่ถูกจัดแบ่งไว้อย่างสวยงาม เป็น “ต้นทุนปัญญาอันอุดม” รับรู้ด้วยกันผ่านช่วงเวลานั้น

เวทีในครั้งนี้ยังมีงานเลี้ยงเล็กๆที่จัดเฉลิมฉลองสานสัมพันธ์คนคุณภาพในช่วงกลางคืน (คืนแรกของการสัมมนา)  มี กิจกรรมสังสรรค์,การประกวดธิดา HA มีการร้องเพลง บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนานเป็นกันเอง พลังของเครือข่ายที่ผมได้สัมผัสของกลุ่ม Node อยุธยา มีพลังเหลือล้นจริงๆ

น่าภูมิใจแทนพี่น้องประชาชนชาวอยุธยาที่จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาคุณภาพในครั้งนี้ของโรงพยาบาลที่รวมตัวกันเป็นเครือข่าย จัดการความรู้ สร้างกระบวนเรียนรู้  เป็นเครือข่ายทางสังคมเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ร่วมด้วยช่วยกัน อบอุ่น และไม่โดดเดี่ยว

 

HA Accredit ง่ายนิดเดียว พวกเขาบอกผมทำนองนั้น

 

 


 

แผนที่ความคิดสรุปภาพรวมของทั้ง ๗ โรงพยาบาล (คลิ้กที่รูปเพื่อชมภาพใหญ่)

แผนที่ความคิดความสำเร็จในการขับเคลื่อนในรูปแบบเครือข่าย (Node Manager)

หมายเลขบันทึก: 456490เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2011 23:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

น้องเอกครับ ปีนี้รพ.ปากพะยูนขอ Accredit ด้วยครับ ส่งเอกสารให้ สรพ.แล้ว

อาจบางทีต้องขอให้น้องเอกมาช่วยบ้างน่ะครับ

ผมชื่นชมวัฒนธรรม "พี่เลี้ยง" มากครับ เพราะยิ่งมองลึก ยิ่งเห็นทักษะ และคุณลักษณะของการเป็นผู้ประสานที่ดีที่มีอยู่ในโรงพยาบาลแต่ละโรงพยาบาล  "ติดตาม ส่งเสริม เกื้อหนุน"  นั่นคือความงามในเชิงวัฒนธรรมการทำงานครับ

ขอบคุณครับคุณพนัสแผ่นดิน ผมเพิ่งรื้อหนังสือ "เครือข่ายทางสังคม"ที่คุณพนัสมอบให้เมื่อปีก่อน มาอ่านทบทวนอีกครั้ง ก่อนเขียนบันทึกนี้ครับ :)

ขอบคุณมา ณ โอกาสนี้อีกครั้ง

ความสนุกสนานของเวที ปาร์ตี้ HA night ที่เขาใหญ่

อ.เอก ขอบคุณนะคะ รู้สึกดี ได้พลังเพิ่มขึ้นในการทำงาน

ไม่กี่เดือนจะถึงนี้...สรพ.จะมาประเมินโรงพยาบาลป่าติ้ว...

มาแวะบันทึกนี้มีกำลังใจดีจัง...

คิดถึงน้องเอก...

ฝากคิดถึงพี่เจี๊ยบด้วยห่างหายไปเลยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท