คุยเป็นกัน ปันประโยชน์


การสนทนาที่ดีคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเหมือนทางพระที่ว่า "ให้ท่าน ท่านจักให้ตอบ" เราฟังเขา เขาก็จะฟังเรา แต่เราต้องเก็บตกข้อมูลที่มีประโยชน์เท่านั้นนะคะ

        
          ในอดีตดิฉันเป็นพยาบาลที่แผนกฉุกเฉินมาก่อน การพูดคุยกับญาติก็เป็นลักษณะบอกให้ทราบ-บอกให้รู้-บอกให้ทำ ไม่ค่อยมีใครมาบอกให้ดิฉันนั่งฟัง ซึ่งต้องรีบถามรีบฟังและให้ความช่วยเหลือแก้ไขสภาพผู้ป่วยในภาวะวิกฤตไปด้วย ดิฉันถึงเป็นพยาบาลคนหนึ่งที่เป็นนักพูดมากกว่านักฟัง

          หลังจากได้ย้ายงานมาเป็นวิทยากรเบาหวานมือใหม่ ต้องบอกว่าวิญญาณนักพูดในร่างก็ยังอยู่ค่ะ ทั้งๆ ที่ได้ผ่านการพร่ำสอนอบรมจากเหล่าคณาจารย์ เรียกว่ารู้วิธีแล้วแต่ยังนำไปใช้ไม่เก่ง มานั่งทบทวนดูในวันนี้แล้วเราก็ไม่ต่างจากผู้ป่วยที่รู้ว่าจะกินอะไรดีแต่ยังทำไม่ได้ถูกใจ อาจเป็นเพราะยังเข้าไม่ถึงสัจจะธรรมปัญญาจึงยังไม่เกิด ดิฉันจึงค่อยๆ เรียนรู้จากการสังเกตและหมั่นทบทวนตำรา เพื่อเตือนตนเอง โดยอาศัยผู้ป่วยเป็นครูคอยฝึกให้ นานๆ เข้าก็เริ่มบรรลุทีละน้อย และรู้ว่าวันนี้ตัวเราเองมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลายอย่างในเรื่องการเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการพูด และการฟัง เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันระหว่างเราและผู้ป่วยมากขึ้น กลายเป็นการเปิดทางสร้างสัมพันธภาพที่ดีโดยที่เราไม่คาดคิดแล้วยิ่งถ้าเราคุยในลักษณะถามทุกข์สุข ห่วงใย เขา(โดยต้องเน้นให้ใกล้ตัวเขามากที่สุดในเรื่องวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน อยู่กับใคร ทำงานอะไร ทานอย่างไร) และใช้คำพูดที่เข้าใจง่ายบนพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจที่เขามี ต้องไม่วิชาการจนเกินไปบรรยากาศในการคุยยิ่งดีขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์จากการคุย ทำให้ดิฉันพบสัจจธรรมว่า

           - การที่เราพูดมากกว่าฟังทำให้ผู้ป่วยเบื่อ เพราะเขาไม่ได้อยากมานั่งฟัง Lectureจากเรา  แต่เขาอยากให้ข้อมูลให้เราช่วยแก้ไขของเขาให้ตรงจุดอย่างง่ายๆ     การที่เราพูดโดยไม่มีข้อมูลย่อมแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

          - การฟังมากกว่าพูดอาจทำให้เราหลงทางไปถึงผู้ฟังได้โดยไม่เกิดประโยชน์ และเสียเวลาไปมาก ทำให้หลงประเด็น

          - การพูดเท่ากับการฟัง จึงถือเป็นการสนทนาระหว่าง 2 คน ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างมีโอกาสได้พูดแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก ระบายออกมาเป็นคำพูด และจะต้องคุยบนหัวข้อของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะเราคือผู้ให้ ต้องให้บนความต้องการของผู้รับเสมอ

          ในการคุยที่ดีนั้นต้องมีบรรยากาศความเป็นกันเอง และให้เกียรติซึ่งกันและกัน เราต้องพยายามสบสายตาเป็นมิตรแก่ผู้ฟังทุกคนทั้งเวลาพูดและเวลาฟัง เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้บรรยากาศสนทนาดีขึ้น ขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ลืมบทบาทหน้าที่ของตนเองที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย โดยการดึงการสนทนาให้เข้าประเด็น ขณะที่ฟังก็ต้องพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์หาว่า.......

          1) อะไรคือปัญหาหลักที่ผู้ป่วยกังวลมาก เพื่อดึงมาเป็นตัวเลือกแรกในการเชื่อมโยงไปสู่การวางพื้นความรู้ และแนวทางแก้ไข

          2) เพื่อค้นหาบุคลิกภาพของผู้ป่วยเป็นคนลักษณะไหน คนดื้อ คนมีเหตุมีผล ความเชื่อต่างๆ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในความร่วมมือที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

          3) การดำเนินชีวิตในแต่ละวันรวมถึงเรื่องอาหาร เพื่อประเมินเวลาปริมาณและลักษณะอาหารแบบเดิมกับกิจกรรมที่ปฏิบัติมีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด

          ฟังดูแล้วอาจจะดูยุ่งยากหลากปัญหาในการกระทำในช่วงเวลาอันสั้นของการสนทนานะคะ ดิฉันต้องบอกว่ายากเสมอสำหรับการเริ่มต้นในครั้งแรกๆ แต่จะง่ายเมื่อปฏิบัติบ่อยๆ จนเคยชินค่ะ การสนทนาที่ดีคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเหมือนทางพระที่ว่า "ให้ท่าน ท่านจักให้ตอบ" เราฟังเขา เขาก็จะฟังเรา แต่เราต้องเก็บตกข้อมูลที่มีประโยชน์เท่านั้นนะคะ และหน้าที่อีกอย่างคือเราต้องช่วยให้เขาสามารถที่จะเลือกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ถูกได้โดยที่เขาเป็นคนเลือกกระทำเอง ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหาร และการใช้ชีวิตไปทุกๆ วัน เราจะทำหน้าที่เป็นแค่พี่เลี้ยงที่ดี คอยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่น กำลังใจ และความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ได้ แต่เราได้พัฒนาเทคนิคการให้คำปรึกษาของตน ส่วนผู้ป่วยเบาหวานก็ได้ปลอดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ถ้าดูแล BS ดี

ยุวดี     มหาชัยราชัน

คำสำคัญ (Tags): #แลกเปลี่ยน
หมายเลขบันทึก: 45595เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท