เรื่องที่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ต้องใส่ใจ


อย่าด่วนสรุปเชื่อใคร? ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุด คือ ข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคณะกรรมการดำเนินการนั่นเอง ดังนั้น คณะกรรมการฯ ต้องกล้าที่จะทำ เพื่อแสดงความสุจริตโปร่งใสของตนเอง....
ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายจังหวัด อาทิ เลย มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ และปทุมธานี  นำเงินของสหกรณ์ฯ ไปทำสัญญาลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล กับ บริษัทเอกชน  ซึ่งอ้างว่าได้รับการจัดสรรโควต้าสลากกินแบ่งมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีมูลค่าสัญญาตั้งแต่หลักร้อยล้านบาทขึ้นไปจนถึงขั้นสัญญาละ 3,000 กว่าล้านบาท และตอนนี้มีข่าวที่เชื่อถือได้ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ก็กระทำเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน 

กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งว่าทำไม่ได้
เรื่องนี้ นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องการที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดำเนินธุรกิจจัดหาสลากกินแบ่งมาจำหน่ายแก่สมาชิกนี้ แม้ว่าจะยังไม่เกิดความเสียหาย แต่สหกรณ์ฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ และธุรกิจนี้ ไม่ใช่กิจกรรมร่วมกันตามประเภทของสหกรณ์ตามความในมาตรา 33(1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และไม่เป็นไปตามวัตุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ ประกอบกับลักษณะดำเนินธุรกิจดังกล่าว เข้าข่ายการแสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน จึงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจเอกชน อันเนื่องมาจากสหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทำสัญญาซื้อสลาก
คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ชุดที่ 54 จำนวน 15 คน  ได้ดำเนินการลงนามทำสัญญากับ บริษัท เทวาสิทธิ พิฆเนศ จำกัด จำนวน 2 สัญญา โดยเนื้อหาในสัญญาไม่มีใครยอมเปิดเผย  

อนุมานสัญญา
เนื่องจากไม่มีใครยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงในสัญญาดังกล่าว ผู้เขียนจึงใช้การอนุมาน จากบทความในหนังสือพิมพ์  ใบปลิว หนังสือร้องเรียน และข้อมูลจากสัญญาของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอื่นๆ ที่เคยทำกับบริษัทฯ นี้มาแล้ว  ซึ่งเนื้อหาอาจจะมีผิดพลาดไปบ้าง ผู้เขียนขอสงวนสิทธิ์ในการถูกฟ้องร้องใดๆ ทั้งสิ้น และขอให้ผู้อ่านใช้วิจารญาณในการวิเคราะห์เอาเอง 
  • สัญญาแรก - เริ่มเดือนพฤศจิกายน 2553 ระยะเวลาสัญญา 12 เดือน ส่งมอบสลากกินแบ่งจำนวน 24 งวด ซึ่งสหกรณ์ฯ ต้องโอนเงินค่ามัดจำสัญญาล่วงหน้าประมาณ  396 ล้านบาท ให้แก่บริษัท เทวาสิทธิ์ พิฆเนศ จำกัด คู่สัญญา
  • สัญญาที่สอง - เริ่มเดือนมกราคม 2554 ระยะเวลาสัญญา 12 เดือน ส่งมอบสลากกินแบ่งจำนวน 24 งวด ซึ่งสหกรณ์ฯ ต้องโอนเงินค่ามัดจำสัญญาล่วงหน้าประมาณ 396  ล้านบาท ให้แก่บริษัท เทวาสิทธิ์ พิฆเนศ จำกัด คู่สัญญา
  • นอกจากนั้นแล้ว สหกรณ์ฯ จะต้องโอนเงินไปให้บริษัท เทวาสิทธิฯ เพื่อซื้อสลากกินแบ่งในแต่ละงวดๆ ละอีกประมาณ 145 ล้านบาท (2 สัญญาๆ ละ 72.5 ล้านบาท) ซึ่งหมายถึง สหกรณ์ฯ จะได้รับสลากกินแบ่งมาจำหน่ายให้แก่สมาชิก จำนวนถึง 2,000,000 ฉบับ (145 ล้านบาท/ราคาซื้อจากกองสลากฯ ฉบับละ 72.50 บาท )
  • บริษัท เทวาสิทธิฯ ต้องจ่ายเงินคืนในแต่ละงวด ให้สหกรณ์ฯ (หลังจากที่บริษัทฯ ได้นำสลากกินแบ่งในโควต้าของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ไปจำหน่ายได้แล้ว) ดังนี้
    • ค่ารับซื้อสลากกินแบ่งคืน 162,000,000  บาท (2,000,000 ฉบับ ราคารับซื้อคืนจากสหกรณ์ฯ ฉบับละ 81 บาท) ดังนั้น สหกรณ์ฯ จะได้กำไรงวดละ 17,000,000 บาท(162,000,000-145,000,000 บาท)
    • จ่ายคืนค่าเงินมัดจำสัญญาล่วงหน้า (จ่ายคืนเป็นรายงวด) สัญญาละ 10 ล้านบาท/ต่องวด  รวม 2 สัญญา เป็น 20 ล้านบาท/ต่องวด (มีบางแหล่งข่าวรายงานว่าสัญญาละ 8 ล้านบาท/ต่องวด รวม 2 สัญญา เป็น 16 ล้านบาท/ต่องวด)

 

 

สหกรณ์ฯ เอาเงิน 700 กว่าล้านบาทมาจากไหน
ในใบปลิว "เล่าเรื่องสหกรณ์ " โดย คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 54 ท่านหนึ่ง ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า "เงินที่ใช้ซื้อสลากนี้ ขอเรียนให้สมาชิกทราบว่าเป็นเงินซึ่งคณะกรรมการได้ไปกู้มา มิใช่เงินฝากของสมาชิกแต่อย่างใด" ผู้เขียนขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า ท่านควรต้องถามย้อนกลับว่า เงินที่ท่านคณะกรรมการฯ ไปกู้มากว่า 700 ล้านบาทนั้น ท่านใช้อะไรไปเป็นหลักค้ำประกัน  มีแหล่งเงินกู้ที่ไหนเขาจะให้ท่านมาฟรีๆ  ที่ท่านไปกู้ก็คือ หนี้สินของสหกรณ์ฯ หนี้สิ้นของสมาชิกทั้งหมด เครดิตที่ใช้กู้ก็คือ เงินสดของสมาชิกที่ฝากไว้ในแหล่งเงินกู้นั้นๆ เป็นหลักค้ำประกันนั่นเอง ท่านไม่ได้กู้ในนามบุคคลทั้ง 15 คน ท่านกู้ในนามของสหกรณ์ฯ   ลองคิดในมุมกลับ หากท่านคณะกรรมการฯ ไม่มีปัญญาใช้หนี้ตามแผนการที่ท่านวางไว้  หนี้สินเหล่านี้จะตกอยู่ที่ใคร? คงไม่ใช่คณะกรรมการทั้ง 15 ท่านนี้กระมัง ที่ต้องชดใช้หนี้...

ที่สำคัญเงินที่ท่านไปกู้มา ต้องเสียดอกเบี้ย แต่ท่านประเคนไปให้บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ ใช้ฟรีๆ 

มีแหล่งข่าวแจ้งว่าเงินที่กู้มา 700 กว่าล้านบาทนี้ คาดว่ามาจากแหล่งเงินกู้ ดังนี้ (กรุณาอย่านำข้อมูลนี้ไปอ้างอิง เพราะเป็นเพียงแค่กระแสข่าว - ผู้เขียน)
  1. จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) สาขาราชบุรี จำนวน 200 กว่าล้านบาท (ได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของธนาคารฯ ว่า มีการกู้จริง แต่เป็นการกู้เพื่อนำไปให้สมาชิกกู้ยืมอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามวาระปกติ)
  2. จากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด จำนวน 500 ล้านบาท     


มันทำกำไรได้อย่างไร
แหล่งข่าวในสหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งหนึ่ง เล่าว่าปกติแล้ว สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจะซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากบริษัทเอกชน หรือยี่ปั๊ว ฉบับละ 72.50 บาท และขายคืนให้บริษัทเอกชนหรือยี่ปั๊วนั้นๆ ฉบับละ 81 บาท ทำให้ สหกรณ์ฯ ได้รับกำไรส่วนต่าง ฉบับละ 8.50 บาท และใน 8.50 บาทนี้จะจัดสรรประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ดังนี้

  • ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์  ฉบับละ 0.50 บาท
  • กรรมการและผู้ประสานงาน ได้ฉบับละ 0.25 บาท
  • ผู้จัดการสหกรณ์ ได้ฉบับละ 1 บาท
  • กำไรเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ฉบับละ 6.75 บาท

หากการซื้อขายเป็นเช่นนี้จริง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ซึ่งซื้อสลากกินแบ่งงวดละ 2,000,000 ฉบับ ดังนั้นในรอบ 15 วันที่สลากกินแบ่งรัฐบาลออก จะมีการจัดสรรงบประมาณดังนี้

  • ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จะได้รับเงินจัดสรร 1,000,000 บาท
  • กรรมการและผู้ประสานงาน จะได้รับเงินจัดสรร 500,000 บาท
  • ผู้จัดการสหกรณ์ จะได้รับเงินจัดสรร 2,000,000 บาท
  • กำไรเข้าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 13,500,000  บาท
  • รวมเงินจัดสรรทั้งสิ้น 17,000,000 บาท


การบริหารความเสี่ยง

  • หากสัญญาดังกล่าวเป็นจริง ตอนนี้บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ รับเงินค่ามัดจำก้อนโตจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ไปแล้วจำนวน 792 ล้านบาท (396+396 ล้านบาท) และจะทยอยคืนเงินค่ามัดจำให้สหกรณ์ฯ เป็นงวดๆ ละ 20 ล้านบาท หมายถึงตอนนี้ บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ มีเงินสดเข้ากระเป๋าไปแล้ว 792 ล้านบาท ส่วนเขาจะนำไปฝากธนาคาร ใช้สำรองหมุนเวียน หรือนำไปลงทุนทำอะไรก็ได้  ก็เป็นสิทธิของเขา
    คำถาม :  ทำไมต้องนำเงินสหกรณ์ไปมัดจำสัญญาให้บริษัทฯ  โดยเฉพาะเงินก้อนนี้เป็นเงินที่สหกรณ์ฯ กู้ยืมมา ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับแหล่งเงินกู้  แต่กลับนำไปประเคนให้บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ โดยไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ จากเงินก้อนนี้เลย    
  • ใครจะเป็นคนค้ำประกันสัญญาว่า บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ นี้จะคืนเงินค่ามัดจำสัญญานี้ให้สหกรณ์ฯ จนครบ 792 ล้านบาทจริง  
    คำถาม : 
    หาก บริษัทฯ นี้ไม่กระทำตามสัญญา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ จะทำอย่างไร? 
  • ในแต่ละงวดของสลากกินแบ่งรัฐบาล รอบ 15 วัน สหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ต้องโอนเงินไปให้บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ เพื่อซื้อสลากกินแบ่ง จำนวน 2,000,000 ฉบับ เป็นเงิน 145 ล้านบาท หลังจาก บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ นำไปจำหน่ายได้แล้วจะโอนเงินกลับคืนมาให้สหกรณ์ฯ 162 ล้านบาท
    คำถาม : แล้วหากบริษัท เทวาสิทธิ์ฯ ไม่โอนเงินคืนกลับมา อ้างว่าจำหน่ายไม่หมด หรือจำหน่ายไม่ได้ สหกรณ์ จะทำอย่างไร?
    คำถาม : สลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2,000,000 ฉบับ มีตัวตนหรือไม่? หรือมีแต่ตัวเลข
    คำถาม : หากสหกรณ์ฯ จะนำสลากกินแบ่งมาจำหน่ายให้สมาชิกในราคาสวัสดิการ ทำไมต้องซื้อถึง 2,000,000 ฉบับ ทั้งๆ ที่สมาชิกสหกรณ์มีจำนวน 9,000 กว่าคน หรือสหกรณ์ฯ กำลังจะทำธุรกิจเป็นซาปั๊ว จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเสียเอง
  • อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ไปทางผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้ว ท่านแจ้งว่า พฤติกรรมลักษณะนี้ที่กองสลากไม่มี แต่อาจจะมีพวกยี่ปั๊วและซาปั๊ว ไปรวมกลุ่มกัน และไปติดต่อ หลอกหลวงกับทางสหกรณ์เอง
    คำถาม : ทำไม? สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จึงไม่ตรวจสอบเครดิตเรื่องโควต้าสลากกินแบ่งของ บริษัท เทวาสิทธิ์ฯ ไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้วชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด อยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ ไม่ให้คำปรึกษาและชี้แนะแก่สหกรณ์ แถบยังให้กู้ยืมเงินแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ราชบุรี เพื่อมาใช้ทำสัญญาเรื่องนี้ อีกถึง 500 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีอีกหลายหน่วยงานที่สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำได้อาทิ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือแม้แต่สหกรณ์จังหวัดราชบุรีเอง
  • ฯลฯ


ประชุมวิสามัญเร่งด่วนเพื่อชี้แจง
เรื่องที่ผู้เขียนได้เขียนมานี้ เป็นเพียงเรื่องที่อนุมานและสังเคราะห์ขึ้น โดยนำข้อมูลมาจากบทความในหนังสือพิมพ์ ใบปลิว หนังสือร้องเรียน แหล่งข่าวบุคคลที่เชื่อถือได้  ข้อความ ตัวเลข วันเวลา และระยะเวลาที่ระบุอาจมีความผิดพลาดแตกต่างกันไป  หากสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ต้องการทราบข้อมูลที่แท้จริงแล้ว คงต้องเกิดจากการชี้แจงของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ชุดที่ 54 เองโดยตรง

วันนี้..แม้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่วันหน้ายังไม่แน่
วันนี้..ยังไม่มีใครผิด ใครพลาด แต่สมาชิกฯ ก็ควรที่จะต้องทราบข้อเท็จจริงเอาไว้
เผื่ออาจจะต้องเตรียมรับมือกับความผิดพลาดในอนาคต

อย่าด่วนสรุปเชื่อใคร?  ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุด คือ ข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคณะกรรมการดำเนินการนั่นเอง ดังนั้น คณะกรรมการฯ ต้องกล้าที่จะทำ เพื่อแสดงความสุจริตโปร่งใสของตนเอง....    

ขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ได้เข้าชื่อกันกว่า 300 คน ร้องขอให้มีการจัดการประชุมวิสามัญ เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 54 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการลงทุนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลในครั้งนี้ให้สมาชิกฯ ทราบ โดยยื่นหนังสือให้แก่ประธานคณะกรรมการโดยตรง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554  ซึ่งหากเป็นไปตามระเบียบและข้อบังคับของสหกรณ์ฯ แล้ว คณะกรรมการดำเนินการ จะต้องจัดให้มีการประชุมวิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นั่นหมายถึงต้องจัดให้มีการประชุมวิสามัญ ภายในไม่เกินวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2554 ที่จะถึงนี้  ....ข้อเท็จจริงต่างๆ ก็จะปรากฎขึ้น

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูราชบุรี ทุกคนต้องใส่ใจ..อย่าปล่อยให้มันสายเกินไป


*******************************
หมายเลขบันทึก: 455566เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2011 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท