“ความเป็นมนุษย์ (Humanism)” สินทรัพย์สำคัญในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)


หากเข้าใจคำว่า “ความเป็นมนุษย์” อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแล้ว ก็คงมองเห็นเส้นทางอันสว่างสดใสของ Creative Economy ที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการค้นหาและเติมเต็มความปรารถนาที่ละเอียดอ่อนไหวในจิตใจมนุษย์ซึ่งเคยถูกมองอย่างเพิกเฉยเย็นชาในยุคอุตสาหกรรม โดยนับจากนี้ไปความเป็นมนุษย์จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของทุกองคาพยพในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
(www.siamintelligence.com)

“ความเป็นมนุษย์ (Humanize)” คือ มิตรภาพ
อารมณ์อ่อนไหว และความเชื่อใจที่มนุษย์พึงมีต่อกัน แต่
ทั้งหมดนี้ได้ถูกกดทับไว้ในยุคอุตสาหกรรม
ที่สายพานการผลิตได้เรียกร้องแต่ตรรกะของเทคโนโลยีอันเฉียบคมแม่นยำเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม
เศรษฐกิจที่เน้นวัตถุและประสิทธิภาพในการผลิตได้เดินมาถึงทางตันแล้ว
เพราะความฉลาดและการแข่งขันอันดุเดือดได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับ
มนุษยชาติด้วยคุณภาพและความหลากหลายที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน
จนแทบไม่มีอาณาจักรแห่งวัตถุใดที่มนุษย์ไม่อาจพิชิตได้
ในขณะที่อาณาจักรแห่งจิตใจและความรื่นรมย์กลับถูกละเลยมาเป็นเวลานาน
จึงมีช่องว่างแห่งโอกาสอยู่มากมายที่รอคอยให้มนุษย์ไปพิชิตเติมเต็ม

 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)
จึงได้กลายเป็นวาระแห่งชาติของประเทศชั้นนำ
เพื่อเร่งเข้ายึดครองตลาดแห่งความสร้างสรรค์รื่นรมย์ที่ยังเปิดกว้างและเต็ม
ไปด้วยโอกาส แน่นอนว่า ภาพยนตร์ ดนตรี และสิ่งบันเทิงทั้งหลายนั้น
ได้เป็นสินค้าที่เฟื่องฟูอยู่แล้วในยุคอุตสาหกรรม
แต่วิธีการผลิตยังยึดติดในคติแบบเหมาโหล (Mass Production)
ที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก
จึงเน้นการส่งมอบความรื่นรมย์ที่เหมือนๆกันให้กับลูกค้าที่มีอุปนิสัยและ
รสนิยมที่แตกต่างกัน โดยไม่คำนึงถึงจิตใจที่ละเอีดยอ่อนของมนุษย์แต่ละคน

Creative Economy จึงย่อมไม่ใช่การบรรจุความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในสินค้าและบริการอย่างวิธีคิดในยุคอุตสาหกรรม แต่อาจต้องมี “ที่ว่างและความยืดหยุ่น”
เพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับรสนิยมเฉพาะของลูกค้าแต่ละคน ดังนั้น
การวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อค้นหาเทคโนโลยีที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน
จึงอาจต้องเปลี่ยนมาเป็นการค้นหา “รูปแบบทางสุนทรียะ”
ที่ยืดหยุ่นและเปิดกว้างต่อลูกค้าแต่ละคน

 


การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างหลากหลาย
เพื่อตอบสนองคุณค่าความงามในจิตใจของลูกค้าแต่ละคน
อาจทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมหาศาล
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคในวันนี้มีความมั่งคั่งร่ำรวยกว่าในอดีตมากมาย
นัก
ที่สำคัญผู้บริโภคเหล่านี้คงรู้สึกเบื่อหน่ายและเหลือทนกับสินค้าแบบเหมาโหล
ในยุคอุตสาหกรรม ดังนั้น
จึงพร้อมที่จะเปิดรับสินค้าที่อ่อนโยนและมีความเป็นมนุษย์ที่สอดคล้องกับ
บุคลิกเฉพาะของตนเอง ถึงแม้ว่าราคาจะสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัวก็ตาม

แน่นอนว่า
ลูกค้าส่วนใหญ่ย่อมไม่มีกำลังทรัพย์สูงเพียงพอที่จะจ่ายสำหรับการออกแบบ
สินค้าที่ผลิตตามสไตล์ของตนเองเท่านั้น
แต่ก็ยังยินดีที่จะจ่ายในราคาที่สูงกว่าเพื่อหนีพ้นจากสินค้าแบบเหมาโหล
ดังนั้น สินค้าสร้างสรรค์ (Creative Product)
จึงต้องมีการวิจัยอย่างเข้มข้นเพื่อจัดกลุ่มลูกค้าที่มีรสนิยมใกล้เคียงกัน
แล้วผลิตสินค้าแบบจำกัดจำนวน (Limited Edition)
เพื่อตอบสนองเติมเต็มตามกำลังทรัพย์ที่ลูกค้ายินดีจ่ายเมื่อเทียบกับ
“เอกลักษณ์” เฉพาะตัวที่แปรผกผันกับปริมาณสินค้าที่ผลิต

“ความเป็นมนุษย์”
ยังมีขอบเขตที่กว้างไกลกว่าการผลิตสินค้าที่แตกต่างหลากหลายตามรสนิยมของ
ลูกค้า แต่ยังหมายถึงการเอาใจใส่ในอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนของมนุษย์
ที่มีมากกว่าเพียงคุณค่าด้านการใช้สอย (Functional)
หรือแม้กระทั่งสุนทรียะของการออกแบบ (Aesthetic)
แต่ยังรวมถึงความอบอุ่นซึ้งใจ ความไว้เนื้อเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งมิตรภาพ

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ Starbucks ที่เป็นร้านกาแฟระดับบน
ซึ่งอาจไม่ได้ชงกาแฟได้อร่อยวิเศษที่สุด
แต่ก็มีเมนูที่เปิดกว้างให้ลูกค้าได้ปรุงรสในแบบที่ตนเองชื่นชอบ
อย่างไรก็ตาม Starbucks ก็ถูกทำให้เป็นสินค้าเหมาโหลอย่างรวดเร็ว
ตามร้านสาขาที่เพิ่มมากขึ้น ที่อาจทำให้คุณภาพสินค้าและบริการ
รวมถึงสุนทรียะของบรรยากาศต้องลดทอนคุณภาพลง แต่สิ่งที่ยังเป็น “เสน่ห์”
ของร้านก็คือ การใส่ใจในรายละเอียดและความเป็นมนุษย์ที่สะท้อนผ่าน “โต๊ะกลมเล็กๆ” เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องนั่งรับประทานกาแฟเพียงลำพัง ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไปนัก

โต๊ะกลมเล็กๆ อาจไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ของ Starbucks ดูดีขึ้นมาได้
เพราะความเป็นมนุษย์ได้ถูกลดทอนลงตามร้านสาขาที่เพิ่มมากขึ้น
แต่โต๊ะกลมตัวน้อยนี้
ก็เป็นความละเอียดอ่อนที่ร้านกาแฟจำนวนมากละเลยมองข้ามไป

นิยามที่ไม่กระจ่างชัดของ “ความเป็นมนุษย์”
อาจทำให้นักการตลาดแบบเก่ารู้สึกหงุดหงิด
แต่หากต้องการให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย Creative Economy
ก็จะต้องเอาใจใส่และมีมุมมองเชิงบวกต่อความเป็นมนุษย์ ที่สำคัญ
นิยามที่ไม่กระจ่างชัดและหลากหลายไปตามแต่ละบุคคล
ก็กลับเป็นโอกาสทางการตลาดของผู้ประกอบการในธุรกิจสร้างสรรค์
ที่จะค่อยๆเติมเต็มรูปธรรมให้กับความเป็นมนุษย์
เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่อิ่มเต็มกับคุณภาพสูงล้ำหรือ
แม้แต่การออกแบบที่เลิศหรู
หากยังคงกระหายไม่สิ้นสุดกับใครสักคนที่เข้าใจในตัวตนที่อ่อนไหวและเปราะบาง
ในโลกทุนนิยมที่แสนเย็นชา

เราอาจอธิบายได้ว่า “ผลิตภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อม”
เป็นเพียงความหลงตัวเองของผู้บริโภคที่อยากจะรู้สึกดีที่ได้ช่วยลดโลกร้อน
แต่ถึงจะเป็นเพียงความหลงตัวเองก็ยังสะท้อนด้านที่อ่อนไหวในความเป็นมนุษย์
ที่ผู้เชี่ยวชาญในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องจับตาเพราะสักวันหนึ่งมันอาจ
เติบโตเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจไทย ยังไม่นับว่า
ชนชั้นกลางไทยจำนวนหนึ่งที่รู้สึกเปลี่ยวเหงากับความรุ่งโรจน์ทางวัตถุและ
แสงสีในเมืองกรุง  จึงยินดีมอบเงินจำนวนไม่น้อยให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง
เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสอนหนังสือเด็กยากไร้ในชนบทที่ห่างไกล


ความเป็นมนุษย์จึงไม่ใช่สิ่งที่จะตอบสนองกันได้แบบตรงไปตรงมาเหมือนกับความ
ต้องการทางวัตถุในยุคอุตสาหกรรม
บางครั้งความลำบากและการรอคอยก็กลับเป็นคุณค่าที่พึงปรารถนา เช่นเดียวกับ
การจองคิวนานนับปีเพื่อเป็นเจ้าของรถเฟอรารี่แสนแพง
ทั้งที่รู้ดีว่าคุณภาพและความสะดวกสบายในการขับขี่ไม่อาจเทียบได้กับรถเล็ก
ซัสที่ราคาถูกกว่ากันหลายเท่าตัว

Creative Economy
อาจสร้างความเคลือบแคลงให้กับผู้คนจำนวนมากว่าเป็นเพียงการเล่นคำและกระแส
ที่ถูกปั่นขึ้นมาเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อยังมองไม่ออกกันว่า
“ความคิดสร้างสรรค์”
แบบใดที่จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการอย่างมีนัยสำคัญ
จนสามารถสถาปนาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ได้

แต่หากเข้าใจคำว่า “ความเป็นมนุษย์” อย่างลึกซึ้งถึงแก่นแล้ว
ก็คงมองเห็นเส้นทางอันสว่างสดใสของ Creative Economy
ที่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการค้นหาและเติมเต็มความปรารถนาที่ละเอียดอ่อน
ไหวในจิตใจมนุษย์ซึ่งเคยถูกมองอย่างเพิกเฉยเย็นชาในยุคอุตสาหกรรม
โดยนับจากนี้ไปความเป็นมนุษย์จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าของทุกองคาพยพใน
ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

…………………………..

หมายเหตุ บทความนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ www.creativethailand.org โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)



หมายเลขบันทึก: 455502เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2011 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

GotoKnow มีความเป็น Humanism อยู่อย่างกว้างขวางในกลุ่ม CoPs ย่อยๆ ค่ะ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดการสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนและมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นั่นคือ ความรู้ ค่ะ :)

ขอบคุณอย่างยิ่งครับ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ กำลังใจดี ช่วยเพิ่มพลังไฟให้ผมผลิตผลงานสร้างสรรค์ต่อไป

ขอฝาสวัสดี ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ ด้วยนะครับ

ผมไม่ได้เจอท่านนานมาก คิดถึงอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท