นโยบายด้านอุดมศึกษาของ รมต. ศึกษาธิการ


นโยบายเฉพาะต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏ

นโยบายด้านอุดมศึกษาของ รมต. ศึกษาธิการ

ผมได้รับเอกสาร ๒ ชิ้นข้างล่างมา   คิดว่าคนในวงการอุดมศึกษาน่าจะได้รับรู้   จึงนำมาเผยแพร่ต่อ   จริงๆ แล้วเป็นนโยบายเฉพาะต่อ มรภ.

 

ประชุมอธิการบดี มรภ.กับ รมต.กระทรวงศึกษาธิการ 

เรื่อง  การระดมความคิดจาก มรภ. กับนโยบายรัฐบาลด้านการศึกษา

วันที่ ๒๑ สค. ๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๓๐ – น. ณ สนง.ที่ประชุมอธิการบดี มรภ. กระทรวงศึกษาธิการ

          ประธานที่ประชุมอธิการบดี  เสนอภาพรวมบทบาทหน้าที่ของ มรภ.ตาม พรบ.มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏ  มีประเด็น เรื่อง

  • ปรับกรอบอัตราบุคลากรที่ไม่ใช่ราชการ เป็นข้าราชการ จำนวนนักศึกษามาก  แต่บุคลากรน้อย  อัตราส่วนบุคลากรป.เอก ยังไม่ถึงร้อยละ ๒๐ 
  • งบประมาณแผ่นดินมีทั้งหมด ๔๐ แห่งมีเพียงประมาณ ๗ พันกว่าล้าน 
  • การเรียนการสอนส่วนใหญ่เป็น ป.ตรี
  • โจทย์ที่จะคิดต่อไปคือ จะออกนอกระบบราชการเมื่อไร
  • วิจัยและพัฒนา ๖ เรื่อง  คือ การผลิตครู  ปัญหาคุณภาพการศึกษา  พัฒนาควบคู่กับการเรียนการสอน เน้นการสร้างงานและรายได้  การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยพัฒนาหลักสูตรการท่องเที่ยวอาเซียน  การนำผู้นำท้องถิ่นสู่ประชาคมอาเซียน  เพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการผู้นำท้องถิ่น

แผนยุทธศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการ  โดย รมต.ศธ. เสนอยุทธศาสตร์ 2555 (ไม่ใช่ พศ.)

          รมต. ศธ. มองว่า  มรภ. มีรูปแบบแนวคิดคล้ายคลึงกับนโยบายรัฐบาล 

การก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เราไม่รู้ว่าประเทศอื่นต้องการสินค้าอะไร  รูปแบบใดที่เป็นความต้องการของกลุ่มอาเซียน  ซึ่งแต่ละประเทศมีมาตรฐานและรสนิยมที่แตกต่าง  เรายังขาดงบประมาณทำการตลาดเชิงรุก

รมต.  ขอให้ มรภ.ทุกแห่งทำงาน  Area based   โดยค้นหา ๕ ศักยภาพ คือ

  1. ศักยภาพทรัพยากรธรรมชาติ มีอะไรบ้าง
  2. ศักยภาพของพื้นที่ตามลักษณะภูมิอากาศที่ได้เปรียบ  มีอะไรบ้าง
  3. ศักยภาพทางภูมิประเทศ และทำเลที่ตั้ง ที่ได้เปรียบ
  4. มีศิลป วัฒนธรรม ประเพณี  วิถีชีวิตอะไร  มีการท่องเที่ยวอะไรบ้าง
  5. ศักยภาพด้านทรัพยากรมนุษย์ ในแต่ละพื้นที่ บุคคลที่มีจิตบริการ (hospitality)

การจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่ ต้องตอบ ๕ กลุ่มอาชีพ

๑.   กลุ่มเกษตรกรรม

๒.   กลุ่มอุตสาหกรรม

๓.   กลุ่มพาณิชยการ

๔.   กลุ่มความคิดสร้างสรรค์

๕.   กลุ่มวิชาชีพเฉพาะทาง เช่น แพทย์ นักกฎหมาย

มหาวิทยาลัยต้องจัดการศึกษาผลิตเศรษฐกิจขนาดเล็กก่อนไปสู่เศรษฐกิจขนาดใหญ่

ดัชนีตัวชี้วัดทางการศึกษาต่อไป  คือ การมีงานทำ

โดยบูรณาการการศึกษาทุกระดับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ให้มรภ.ไปคุยกับ ๕ แท่งในจังหวัด

มอบให้ มรภ. ทำหลักสูตรในจังหวัด  ทั้งระดับมัธยม ระดับประถม  โดยเชื่อมโยงความรู้จากมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง  เนื่องจากความเป็นจริงจะมีคนร้อยละ ๙๐ อยู่ในพื้นที่  จึงต้องพัฒนาหลักสูตรในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพจริงในพื้นที่

การวัดผลในอนาคต คือ การพัฒนาพื้นที่ การพัฒนาคน  มรภ.เป็นที่ปรึกษาพัฒนาแผนจังหวัด

มรภ. เป็นหน่วยที่ก่อให้เกิดการพัฒนา

จะบูรณาการงบประมาณในพื้นที่อย่างไร เพื่อการพัฒนาพื้นที่

ขอให้ มรภ. ไปค้นหาว่าในแต่ละจังหวัดมีอาชีพอะไร  มรภ.ไปพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับอาชีพในพื้นที่  พัฒนาคนให้มีขีดความสามารถนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้กับการเรียนการสอน

ดังนั้นต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ภายในองค์กร  จะมีคณะกรรมการบริหารจัดการบูรณาการยุทธศาสตร์ในพื้นที่  จะตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่ มีศูนย์บ่มเพาะอาชีพและงบประมาณจากส่วนราชการต่างๆตั้งแต่วัยเรียน   มีการสร้างเครือข่ายธุรกิจในสถานศึกษาเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจจริง

ต่อไปจะมีโครงการเงินกู้ที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) แต่ละสาขาอาชีพจะได้ทุนไม่เท่ากัน  โดยรัฐอุดหนุนส่วนหนึ่ง  ผู้เรียนอุดหนุนส่วนหนึ่ง  เมื่อเด็กจบแล้วต้องมีงานทำ  ตัวชี้วัดใหม่คือความท้าทาย

เด็กต้องมี เครื่องมือสำคัญ คือ ไอที และภาษาต่างประเทศ

มรภ. ต้องมีแผนพัฒนาจังหวัด  รัฐบาลจะได้ใส่งบประมาณ ตามแผน งบฯวิจัย ร้อยละ๗๐ ต้องมีการปฏิบัติการในพื้นที่ชัดเจน  สามารถดึงนักวิจัยจากหน่วยงานอื่นๆมาร่วม  ทั้งภาคเอกชน  ภาครัฐอื่นๆ และภาคประชาชน มาร่วมทำวิจัย

การศึกษาต้องพัฒนาประเทศได้ ต้องเกี่ยวข้องกับเศรษฐฏิจ  ผู้เรียนต้องมีงานทำ มีรายได้

รมต.ศธ. แจ้งว่าต้องส่งงบประมาณให้รัฐบาล ภายในวันที่ ๕ กย. จึงขอนัดแต่ละ มรภ. ให้มาเสนอแผนจังหวัดภายในเดือน สค.นี้  โดย จะให้ทำแผนบูรณาการจังหวัด  จะพัฒนาจังหวัดอย่างไร  มรภ.จะเชื่อมโยงกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับมหาวิทยาลัยในส่วนกลางอย่างไร  จะเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างไร  เชื่อว่าการทำงานบูรณาการจะลดค่าใช้จ่ายได้  ทุกสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาพื้นที่ 

          การประเมินจะเน้น  การมีงานทำของผู้เรียน

ให้ มรภ. ระดมสมองคิดเกณฑ์การประเมินใหม่   ให้เห็นภาพการพัฒนา  เห็นความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน 

          รมต. ศธ. กล่าวว่า  การบูรณาการที่ดีที่สุด  คือการบูรณาการงบประมาณ  ปีต่อไปจะบูรณาการงบประมาณทุกกระทรวง   จึงเชื่อว่าในพื้นที่สามารถบูรณาการกับทุกกระทรวงได้

          งบประมาณปี ๒๕๕๕ จะออกมาประมาณ เดือน กพ. ดังนั้นในช่วง ๖ เดือนแรก จะไม่มีงบลงทุน จะใช้ได้ ๖ เดือนหลัง 

          หลักการพัฒนาคือการยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ 

          รูปแบบการจัดการจะทำรายละเอียด  หลังแถลงนโยบาย

อธิการบดี มรภ.ลำปาง  เล่าว่า ผู้มาเรียน มรภ. ส่วนใหญ่ถูกดูแคลนด้านคุณภาพการศึกษา   เด็กร้อยละ ๘๐ มีงานทำ  แต่เงินเดือนไม่ได้ตามเกณฑ์    ปัจจุบันมีเด็กจีนมาเรียน  การท่องเที่ยว  ภาษา 

รมต. แนะว่าต้องบูรณาการเชื่อมโยงหลักสูตรมัธยมในจังหวัด  มีกลุ่มอาชีพ  และกลุ่มวิชาการเพื่อเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย  ดังนั้นโรงเรียนมัธยมแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไป  อธิการบดี มรภ. จะไปทำงานบูรณาการการศึกษาในจังหวัด  รัฐบาลจะจัดงบประมาณการศึกษาเป็นรายจังหวัด  เชื่อว่าอธิการการบดี มรภ. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง   

          Area based  จะดูจังหวัดเป็นหลัก  มหาวิทยาลัยมีหน้าที่พัฒนา  ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นฝ่ายปกครอง  มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด  มีบุคลากรมากที่สุด  และมีงบประมาณมากที่สุด

           

 

กระทรวงศึกษาธิการ

ยุทธศาสตร์ 2555

 

ภายใต้กรอบเวลา 2 ปี กระทรวงศึกษาธิการจะสามารถพัฒนา 5 ศักยภาพของพื้นที่ ใน 5 กลุ่มอาชีพใหม่ ให้สามารถแข่งขันได้  ใน 5 ภูมิภาคหลักของโลก

 

วิสัยทัศน์ 

ภายในปี  2555 กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นองค์กรหลักที่ทรงประสิทธิภาพในการผลิตและพัฒนาทรัพยากรบุคลากรของชาติ   เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดี สร้างความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคมให้กับประเทศ  ด้วยฐานความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และศักยภาพของประเทศ

 

ภารกิจ

พัฒนา ยกระดับ และจัดการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถให้ประชาชนได้มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่งคั่งและมั่นคง เพื่อเป็นบุคลากรที่มีวินัย เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมจริยธรรมมีสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม


หลักการพื้นฐาน

  • คำนึงถึงศักยภาพและบริบทรอบๆ ตัวผู้เรียน
  • พัฒนาและยกระดับองค์ความรู้และกระบวนการเรียนการสอน ให้ทัดเทียมอารยะประเทศ ด้วยการบริหารจัดการและเทคโนโลยีสมัยใหม่
  • มุ่งสู่เป้าหมายของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับศักยภาพในการทำงานให้กับบุคลากรคนไทย ให้แข่งขันได้ในระดับสากล

 

ศักยภาพ

  • ศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละพื้นที่
  • ศักยภาพของพื้นที่ตามลักษณะภูมิอากาศ
  • ศักยภาพของภูมิประเทศ และทำเลที่ตั้งของแต่ละพื้นที่
  • ศักยภาพของศิลป วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่
  • ศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละพื้นที่

 

แท่งหลักสูตรของ 5 กลุ่มอาชีพ

  • กลุ่มหลักสูตรใหม่ด้าน เกษตรกรรม
  • กลุ่มหลักสูตรใหม่ด้าน อุตสาหกรรม
  • กลุ่มหลักสูตรใหม่ด้าน พาณิชยกรรม
  • กลุ่มหลักสูตรใหม่ด้าน ความคิดสร้างสรรค์
  • กลุ่มหลักสูตรใหม่ด้าน บริหารจัดการและการบริการ

 

วิธีการบริหารและการจัดการ

  1. กำหนดกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในแต่ละแท่งหลักสูตรใหม่ ของแต่ละแท่งอุตสาหกรรม
  2. มหาวิทยาลัย กำหนดหลักสูตรด้านวิชาการและการวิจัยที่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในแต่ละแท่งหลักสูตรใหม่
  3. อาชีวะ กำหนดหลักสูตรด้านปฏิบัติการที่สอดคล้องกับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในแต่ละแท่งหลักสูตรใหม่
  4. มหาวิทยาลัย อาชีวะศึกษาและผู้ประกอบการร่วมพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้แก่ สพฐ เพื่อเชื่อมโยงหลักสูตรให้สอดคล้องและสัมพันธ์กัน โดยคำนึงถึงการประกอบอาชีพและการมีงานทำของผู้เรียนที่แท้จริง  
  5. ฝึกอบรมและคัดสรรผู้เชี่ยวชาญจากภายในและภายนอกเพื่อทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน
  6. พัฒนาระบบและนำเทคโนโลยีการเรียนการสอนสมัยใหม่มาใช้ในการเรียนการสอน ให้มีคุณภาพเทียบเท่าในระดับสากล
  7. ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการภายในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อก่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ
  8. จัดตั้งกองทุนตั้งตัวและมีศูนย์เพาะบ่มผู้ประกอบอาชีพเพื่อสนับสนุนการสร้างงานและการประกอบอาชีพของผู้ที่สำเร็จการศึกษา
  9. สร้างเครือข่ายสังคมและธุรกิจระหว่างผู้เรียน ผู้สอน นักวิจัย สถาบันการศึกษาและเครือข่ายภายในและภายนอก

10.สนับสนุนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำงานและสร้างรายได้ ได้ตั้งแต่ขณะเรียน

11.เพิ่มองค์ความรู้พื้นฐานที่ควรสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ความคิดสร้างสรรค์ และภาษาต่างประเทศ

12.มอบให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมทำหน้าที่จัดทำแผนยุทศาสตร์พัฒนาจังหวัดที่คำนึงถึง ศักยภาพของพื้นที่ ในแต่ละจังหวัดโดยแบ่งเป็น 2 ระดับคือ รับผิดชอบในระดับจังหวัด และภูมิภาค รวมถึงรับผิดชอบในการเข้าร่วมพัฒนายุทธศาสตร์ในแต่ละด้านของประเทศที่สอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขัน ของโลก

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 455380เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2011 05:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท