โรคเรื้อรังกับผู้สูงอายุ


โดย Wipusinee

บันทึกการเยี่ยมบ้าน  วันที่ 18 สิงหาคม 2554

A : หญิงไทยคู่   อายุ 67 ปี น้ำหนัก 49 กก. สูง 153 เซนติเมตร BMI  20.93  แปลผล น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  และไขมันในเส้นเลือดสูง  ตรวจภายในและมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี  มีก้อนเนื้อขนาดเท่าเมล็ดถั่วที่รักแร้ด้านขวาประมาณ 2 ปี  ขนาดเท่าเดิม ไม่มีกดเจ็บ  เคยได้รับการผ่าต้อหินและต้อกระจกที่ตาข้างขวาที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารี เมื่อปี 2552  แต่ผู้ป่วยปฏิบัติตนหลังผ่าตัดไม่ดี  จึงทำให้ปวดตามากจนถึงปัจจุบัน  ผู้ป่วยรับยาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและโรงพยาบาลค่ายสุรนารี มีพฤติกรรมการทานยาไม่ค่อยเหมาะสม คือ ลดยาเองเนื่องจากเห็นผลช้า และหันไปรับประทานยาสมุนไพรที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูง  ผู้ป่วยทราบเรื่องการรับประทานอาหาร แต่ควบคุมได้บ้าง  อาศัยอยู่กับสามี  มีลูกชาย 1 คน ไปทำงานต่างจังหวัด  ลักษณะบ้านเป็นบ้านปูน 2 ชั้น  ผู้ป่วยนอนชั้นล่าง  สิ่งแวดล้อมภายในบ้านจัดไม่เป็นระเบียบ  แต่บริเวณทางเดินโล่ง  ห้องน้ำปูด้วยกระเบื้องหยาบไม่มีน้ำขัง ไม่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ

                ผลการประเมินภาวะซึมเศร้า คะแนน 4 คะแนน ไม่มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า

                ผลการประเมินการฆ่าตัวตาย คะแนะ 0 คะแนน ไม่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

P :  แนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับโรค

I :

Medication (M)  แนะนำและให้ความรู้ผู้ป่วยในเรื่องยาที่ตนเองได้รับ เกี่ยวกับชื่อยา ฤทธิ์ของยา การทานยาต่อเนื่อง ขนาด และจำนวนครั้งที่ต้องทานในแต่ละวัน ข้อควรระวัง ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ข้อห้ามสำหรับการใช้ยา รวมทั้งการดูวันหมดอายุของยาให้ผู้ป่วยทราบ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และในด้านการรับประทานยาสมุนไพร  แนะนำว่าผู้ป่วยสามารถรับประทานได้  แต่ควรทานควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบัน  และนำยาไปปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาให้เข้ากับแผนการรักษา

 

 

 

ยาที่ผู้ป่วยได้รับ 

                Combizym เอนไซม์ช่วยย่อยและดูดซึมไขมัน

                Fenofibrate (Lipantyl) 200 mg. 1×1 p.c.  ยาลดไขมันในเลือด

                Metformin 500 mg. 1×2 p.c. ยาลดน้ำตาลในเลือด

                Januvia (Sitaglaptin 100) 1×1 a.c. ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

                Aspent 60 mg. 1×1 p.c.  ยาระงับปวด ลดไข้

                Diclofenac  ยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาหยอดตา           -Glauco-OPH (Timolol)   หยอดตาขวา รักษาต้อหิน

                                -Quinax หยอดตาขวา  รักษาต้อกระจก

                                -Liposic  น้ำตาเทียม

                                -Optal  ยาล้างตา

               

Environment and Economic (E) แนะนำผู้ป่วยและแม่บ้าน  เรื่องการจัดวางสิ่งของภายในบ้านและรอบๆ บ้านให้เป็นระเบียบ  จัดเตรียมผ้าถูพื้นไว้บริเวณห้องน้ำเพื่อเช็ดพื้นให้แห้งตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

Treatment (T) แนะนำเรื่องการรับประทานยาให้ครบ และตรงเวลา  การออกกำลังกาย  การรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรค การสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเช่น หน้ามืด ปวดศีรษะ มึนงง เป็นลมหมดสติ ควรมาพบแพทย์ทันที

Health (H)  แนะนำเรื่องการออกกำลังกาย ยืด เหยียดกล้ามเนื้อ  การเดินรอบๆ บริเวณบ้าน  หรือแกว่งแขนไปมาปฏิบัติเป็นประจำ   หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 15 -30 นาที  แนะนำเรื่องการดูและเท้า บริหารเท้า และข้อต่างๆ

Outpatient Referral (O)  ทบทวนเรื่องวันนัด  ผู้ป่วยมีนัดไปโรงพยาบาลค่ายสุรนารีเพื่อตรวจตาวันที่ 26 สิงหาคม   ควรถือบัตรประจำตัวและบัตรนัดไปด้วยทุกครั้ง  และนำยาที่เหลืออยู่ไปด้วยเพื่อสะดวกในการสั่งยาครั้งต่อไป  หากมีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด ปวดศีรษะ มึนงง เป็นลมหมดสติ ควรมาพบแพทย์ทันทีไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด  และติดต่อเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน 1669

 

Diet (D)  แนะนำเรื่องการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักใบเขียว ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก หรืออาหารที่มีรสจัด  ควรทานอาหารที่มีรสจืด หรือรสกลางๆไม่หวาน หรือเค็มมาก

ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานมาก เช่น ทุเรียน ลำไย มะม่วง ขนุน แตงโม  และดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพออย่างน้อย วันละประมาณ 8-10 แก้ว

E : ผู้ป่วยตั้งใจฟัง เข้าใจในเรื่องที่แนะนำ ซักถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยา  เนื่องจากกลัวว่าจะมีอาการของโรคมากกว่าปัจจุบัน  แต่ยังคงจะรับประทานยาสมุนไพรควบคู่ไปด้วย เรื่องการรับประทานอาหาร มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำได้พอสมควร

 

 

 

สมุนไพรกับเบาหวาน

เบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อนปล่อยฮอร์โมนที่เรียกว่า “อินซูลิน” ออกมาไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งโรคเบาหวานเป็นโรคที่เรื้อรัง สามารถรักษาได้แต่ไม่หายขาด ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุหลายๆ อย่าง ทั้งจากกรรมพันธุ์ และอาหารการกิน โดยสาเหตุของโรคเบาหวาน เกิดจากตับอ่อนเสื่อม จึงสร้างอินซูลินได้น้อยหรือไม่ได้เลย สารอินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นพลังงาน เมื่ออินซูลินในร่างกายไม่พอ น้ำตาลก็ไม่ถูกนำมาใช้ จนทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือดและอวัยวะต่างๆ และถูกไตขับออกมาทางปัสสาวะ
            ในการแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานต้องใช้ยาควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติไปตลอดชีวิต ถ้าหยุดใช้ยาควบคุมเมื่อไหร่น้ำตาลก็จะสูงขึ้นและถ้าสูงจนอยู่ในภาวะวิกฤต อาจทำให้ถึงแก่กรรมได้
            ปัจจุบันสมุนไพรได้เข้ามามีบทบาทในการรักษาและควบคุมความรุนแรงของโรคที่มีผลต่อสุขภาพชีวิตของคนไทยได้หลายๆโรค เบาหวานก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่สามารถใช้สมุนไพรในการควบคุมความรุนแรงของโรคได้ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

เตยหอม
สรรพคุณทางยาของต้นเตยหอมเป็นชาชงช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ใช้แก้ไข้ แก้อ่อนเพลีย ขณะนี้มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในระดับห้องทดลอง พบว่าเตยหอมมีฤทธิ์
ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และขับปัสสาวะ ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือไม่เป็นก็สามารถทำเครื่องดื่มรสอร่อยดื่มกินได้  โดยใช้รากเตยหอม ๑ ขีด สับเป็นท่อนเล็กๆ ใส่น้ำประมาณ ๑ ลิตร ต้มให้เดือดแล้วหรี่ไฟลง เคี่ยวต่อไป ๑๕-๒๐ นาที ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ ๓ เวลา เวลาต้มจะปรุงแต่งใส่ใบเตยหอมให้มีสีสันและเพิ่มกลิ่นหอมให้ชวนดื่มก็ได้

ว่านหางจระเข้                                                                                       

ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคกรีก สรรพคุณใช้รักษาบาดแผลสด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก รักษาโรคผิวหนังต่างๆ ผื่นคัน ผิวหนังผุผอง ถูกแดดแผดเผา ใช้บำรุงผิว บำรุงเส้นผม แก้โรคริดสีดวง เป็นต้น  ในการศึกษาทางยาพบสิ่งที่น่าสนใจว่า ว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลองและในคนด้วย ยังมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย
วิธีการใช้ว่านหางจระเข้อย่างง่ายๆ ให้ตัดกาบใบว่านหางจระเข้ ที่ปลูกมาอย่างน้อย ๑ ปี นำมาล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกออก จะได้เนื้อวุ้นใสๆ ให้รับประทานวันละ ๑๕ กรัม ทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย ๔ สัปดาห์ ควรกินเนื้อวุ้นสดๆ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า เนื้อวุ้นที่เก็บไว้จะมีสรรพคุณลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเคล็ดลับในการเตรียมยา คือ ถ้าตัดกาบใบมาทั้งกาบ ให้ตัดเป็นท่อนในขนาดที่จะกินในวันนั้น ที่เหลือไม่ควรปอกเปลือก และให้เก็บไว้ในตู้เย็น ควรกินให้หมดภายใน ๓-๕ วัน ถ้าต้องการกินต่อจึงไปตัดจากต้นสด

อบเชย
ต้นอบเชยมีหลายชนิด แต่ที่คนไทยรู้จักกันดีและนำมาใช้ปรุงยาหรือใช้ปรุงอาหารมักจะเป็น อบเชยจีน เพราะมีกลิ่นหอม เปลือกมีความบาง แต่ถ้าหาอบเชยจีนไม่ได้ จะใช้อบเชยไทย อบเชยญวน และอบเชยอื่นๆ แทนก็ได้ มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด  จากรายงานการศึกษาต่างๆ พอสรุปได้ว่า ในอบเชยมีสารที่ทำให้เซลล์ไขมันตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินได้มากขึ้น ทำให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น และสารในอบเชยยังมีฤทธิ์คล้ายอินซูลิน  คือช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย
วิธีกินอย่างง่ายๆ ให้กินผงอบเชยจีนครั้งละครึ่งช้อนชา วันละ ๒ เวลา เช้าและเย็น โดยอาจผสมผงอบเชยจีนในเครื่องดื่มนม โกโก้ โยเกิร์ต ก็ได้ หรือบรรจุผงอบเชยจีนในแคปซูล ควรรับประทานติดต่อกันอย่างน้อย ๒๐ วัน จึงจะเห็นผล

ช้าพลู                                                                                                                              

เป็นผักพื้นบ้านและยังเป็นยาสมุนไพรตำรับยาพื้นบ้านอีกด้วย 

วิธีใช้ให้เอาต้นช้าพลูทั้งห้า หมายถึงใช้ทั้งต้นรวมรากด้วย นำมา ๑ กำมือ ให้พับเถาช้าพลู เป็น ๓ ทบ ให้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น ๓ เปลาะ นำไปใส่หม้อต้มกับน้ำ ๓ ขัน ต้มเคี่ยวให้เหลือน้ำ ๑ ขัน ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหาร วันละ ๓ เวลา วิธีนี้มีผู้ใช้ช่วยแก้อาการเบาหวานได้  ช้าพลูก็เป็นผักสมุนไพรที่น่าสนใจกินเป็นตัวเสริมในการลดน้ำตาลในเลือด ช้าพลูยังเป็นผักที่มีสารแอนตี้ออกซิเดนท์สูง มีวิตามินเอ และซีสูงด้วย และที่สำคัญช้าพลูไม่มีผลลดน้ำตาลในคนปกติ 

 

 มะระขี้นก                                                                                    
มีการศึกษาพบว่าสารในมะระขี้นกออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน และช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินด้วยและยังยับยั้งการสังเคราะห์กลูโคส และเพิ่มการใช้กลูโคสของตับอ่อน มะระขี้นกจึงมีส่วนช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีการใช้มีหลายวิธี ที่สะดวกและง่ายในเวลานี้ คือรูปแบบแคปซูล สามารถกินมะระขี้นกบดผง ขนาด ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ มิลลิกรัม วันละ ๑-๒ ครั้ง หรือทำเป็นชาชง นำผลมะระขี้นกมาหั่น เอาเฉพาะเนื้อ ตากแดดให้แห้ง ใช้เนื้อมะระขี้นกแห้ง ๑-๒ ชิ้น ชงกับน้ำร้อน ๑ ถ้วย ดื่มครั้งละ ๒ ถ้วย วันละ ๓ เวลา หรือจะชงจำนวนมากพอแล้วใส่ในกระติกน้ำร้อน แบ่งกินได้ตลอดวันก็ได้ 

 ตำลึง                                                                                                         
นักวิชาการจากหลายประเทศยอมรับว่า ตำลึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ซึ่งส่วนที่ออกฤทธิ์นั้นใช้ได้ทั้ง ใบ ราก ผล   วิธีใช้ง่ายๆ ให้สมกับตำลึงขึ้นได้ทั่วไป คือให้กินพร้อมมื้ออาหรให้ได้วันละ ๑ กำมือ หรือจะใช้วิธีตามตำรา นำยอดตำลึง ๑ กำมือ ปรุงรสด้วยการใส่เกลือหรือน้ำปลาเล็กน้อย เพื่อให้กินอร่อยขึ้น แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง เอาไปเผาไฟให้สุก กินให้หมด ให้กินก่อนนอนติดต่อกัน ๓ เดือน ผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานก็น่าจะหันมากินตำลึงกันเป็นประจำ เป็นการช่วยป้องกันเบาหวานและยังได้รับวิตามินโดยเฉพาะวิตามินเอที่มีอยู่สูงมาก มีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว มีวิตามิน บี ๓ ช่วยบำรุงผิวหนัง มีธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือด และที่สำคัญ กินตำลึงเป็นประจำ ไม่ท้องผูก เพราะมีใยอาหารจำนวนมาก

กะเพรา                                                                                                                       
มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายชนิด ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านความเครียด แก้หืด ต้านอักเสบ แก้ไข้ แก้ปวด และมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดด้วย ในใบกะเพรามีน้ำมันหอมระเหยและพฤกษเคมีหลายชนิด นักวิจัยพบว่าช่วยทำให้ตับอ่อนผลิตและหลั่งอินซูลิน ได้ดีขึ้น การศึกษาวิจัยให้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน กินใบกะเพราบดผงวันละ ๒.๕ กรัม นาน ๔ สัปดาห์ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ วิธีทำใช้เอง อาจนำใบกะเพราตากแห้ง แล้วบดผง นำมา ๑ ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน ๑ ถ้วย กินวันละ ๓ ครั้ง หรือจะบรรจุแคปซูล กินวันละ ๒.๕ กรัม ก็ได้ นักวิจัยแนะนำว่า กะเพราเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานไม่รุนแรง แบบเป็นเล็กน้อยถึงปานกลาง

เห็ดหลินจือ                                                                                                        

เป็นสมุนไพรที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสาระสำคัญทางยาที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ คือสาร ที่อยู่ในกลุ่มของโพลีแซ็กคาไรด์  ได้แก่  กาโนเดอแรน เอ บี และซี (Ganoderans A,B,C) ช่วยลดน้ำตาลในกระแสเลือด  ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของสารอินซูลิน  ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย

ใบอินทนินน้ำ                                                                            

ใช้ใบ 2-3 กำมือ  นำมาล้างน้ำให้สะอาด  ใส่หม้อ  เติมน้ำ  ต้มให้สุก  ทิ้งไว้ให้เย็นลง  แล้วใช้น้ำยารับประทาน

ต้นไมยราบ กับ ต้นครอบจักรวาลหรือต้นฟันจักรสี

อย่างละเท่ากัน  นำมาหั่นตากแดดให้แห้ง  คั่วไฟให้เหลือง ชงกับน้ำร้อนเป็นชาดื่ม

บอระเพ็ด                                                                                   

สรรพคุณทางยาของบอระเพ็ด คือ ระงับความร้อนได้ดี  สามารถแก้อาการเป็นไข้ ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด  ลดกรดยูริค  ช่วยปรับสมดุลระบบย่อยอาหารและช่วยให้เจริญอาหาร  ป้องกันโรคหัวใจ  ช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้ดีขึ้น  ต้านอนุมูลอิสระ  และจากการศึกษาวิจัยยังพบว่า  บอระเพ็ดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

-http://www.look4thailand.com/healthy/health-reviews/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99/

-http://www.alternativecomplete.com/alternative1.php

-http://www.ttmed.psu.ac.th/read.php?41

-http://www.cha-lad.com/index.asp?contentID=10000004&title=%CA%D9%B5%C3%C2%D2%CA%C1%D8%B9%E4%BE%C3%E1%A1%E9%E2%C3%A4%E0%BA%D2%CB%C7%D2%B9+&getarticle=151&keyword=&catid=22

คำสำคัญ (Tags): #โรคเรื้อรัง
หมายเลขบันทึก: 455352เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท