ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ


โดย Tapanee

สรุปการเยี่ยมบ้าน

A :  ผู้สูงอายุอาศัยอยู่บ้านของหลาน  อาศัยอยู่กับลูกหลาน มีทั้งหมด 6 คน  ตอนกลางวันอาศัยอยู่กับเหลนเป็นคนเลี้ยงดูเหลนและออกไปทำกับข้าวช่วยลูกสาวคนโตที่ตลาดใกล้าบ้านห่างประมาณ 100 เมตร สภาพแวดล้อมบ้านเป็นชุมชนแออัด บริเวณรอบบ้านไม่ค่อยมีการจัดระเบียบ ภายในบ้านมีการจัดเป็นสัดส่วน แต่แสงสว่างยังไม่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุ บ้านเป็นบ้านชั้นเดียว พื้นไม่ลื่น  ประตูบ้านเป็นพื้นต่างระดับ บันได 2ขั้น ไม่มีราวจับ อาจเกิดการพลัดหกล้มได้  ห้องน้ำมีเก้าอี้ให้นั่งมีที่จับเหมาะกับผู้สูงอายุ   ผู้สูงสามารถทำกิจวัตรช่วยเหลือตนเองได้  เลี้ยงหลานและยังทำงานบ้านได้ ช่วยทำกับข้าวขาย  รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานยาครบต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเก๊าท์

                ประเมินความเสี่ยงในการหกล้ม  อยู่ในระดับ เสี่ยงน้อย

                ประเมินภาวะซึมเศร้า 2Q = 2     9Q = 12    8Q = 13 

P  :  ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับโรค

     :  มีภาวะซึมเศร้าจากความเครียดและท้อแท้ในชีวิต

Intervention

M – medication   ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา

-         Amlodipine (5)  เป็นยาลดความดันโลหิตรักษาความดันโลหิตสูง

-         Simvastatin (10)    ยาลดไขมันในหลอดเลือด

-         Diclofenac  ยาลดอาการอักเสบของข้อ ลดอาการปวด  ให้รับประทานหลังอาหารทันที

-         Hydrochlorothiazide (HCTZ)  เป็นยาขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต

-         Omeplazole   ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

-         Lorazepam  ยาลดความวิตกกังวล รับประทานเมื่อมีอาการนอนไม่หลับ แต่ไม่ควรทานติดต่อกันเพราะจะทำให้ติดยาได้

-         Paracetamol  500 mg  ยาบรรเทาอาการปวด รับประทานเมื่อมีอาการปวด

ถ้ามีอาการผิดปกติให้กลับมาพบแพทย์

 

E   Environment  and economic

                จัดสิ่งแวดล้อมให้เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วนเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หกล้ม ภายในบ้านให้มีแสงสว่างเพียงพอ   อากาศถ่ายเทได้สะดวก 

 

T   Treatment

                โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด และเกาท์ เป็นโรคเรื้อรัง ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องทานยาสม่ำเสมอ ควบคุมอาหารและการออกกำลังกายสม่ำเสมอ  เพื่อควบคุมอาการ  หากไม่ได้รับการรักษาและการดูแลอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ  โรคหลอดเลือดสมอง อัมพาฒ   ถ้ามีอาการผิดปกติให้มาพบแพทย์  ในเรื่องของภาวะซึมเศร้าประสานงานส่งต่อพยาบาลเวชปฏิบัติเพื่อเยี่ยมบ้านซ้ำอีก 1 สัปดาห์

 

H – Health

                แนะนำให้มีการออกกำลังกายต่อเนื่องสม่ำเสมอ 15 -30 นาที  การออกกำลังกายที่ปลอดภัยที่สุดคือการเดิน  ผู้สูงอายุมีการออกกำลังกายโดยการเดินและการทำงานบ้านเป็นประจำทุกวัน แนะนำให้เดินบนพื้นราบ ระยะทางและความเร็วตามศักยภาพของตนเอง ถ้ามีอาการเหนื่อยมาก เจ็บหน้าอก ให้รีบหยุดพักและปรึกษาพยาบาล เมื่อมีอาการปวดขา ปวดเข่าให้ประคบด้วยความร้อนครั้งละ 5-10 นาที แนะนำการป้องกันการติดเชื้อวัณโรคจากลูกสาว การแยกของใช้  ล้างมือบ่อยๆ การสวมผ้าปิดปากปิดจมูก  ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง  ผ่อนคลายความเครียด เมื่อมีเรื่องไม่สบายใจ หาคนที่ไว้ใจหรือปรึกษาเพื่อนบ้านเพื่อพูดคุยระบายความรู้สึก ไม่เก็บไว้คนเดียว  เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียด

 

 

 

 

 

D- Diet

                รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันมาก ของทอด ขนมหวาน งดอาหารพวกเป็ด ไก่ ปลากระป๋อง กะปิ  ควรรับประทานอาหารกากใยมาก ผักและผลไม้  ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้อาการของเกาท์รุนแรงขึ้นได้

 

ประเมินผล

                ผู้สูงอายุมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค การรับประทานยา  สามารถบอกการปฏิบัติตัวได้ถูกต้องถึงอาหารที่ควรงดหรือหลีกเลี่ยง  บอกความสำคัญของการรักษาและการรับประทานยา ได้  ยังมีเครียดเกี่ยวกับการใช้ชีวิต ด้านการเงินและเรื่องของลูกหลาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ

ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ หมายถึง กลุ่มอาการซึ่งมีอาการแสดงจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา อารมณ์และสติปัญญา รวมทั้งความผิดปกติด้านอารมณ์  แสดงโดย อารมณ์เศร้า รู้สึกหมดหวัง ไม่มีค่า อ่อนเปลี้ย  บกพร่องความจำระยะสั้น ขาดความสนใจหรือไม่มีความสุขในกิจกรรมเกือบทั้งหมดนาน อย่างน้อย 2 สัปดาห์  แยกตัวจากสังคม  สมาคมจิตแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความหมายของอาการซึมเศร้าว่า ผู้ป่วยที่แสดงอารมณ์เศร้า ความสุขในชีวิตน้อยลงร่วมกับมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 4 อย่าง  โดยมีอาการทุกวัน นาน 2 สัปดาห์

  1. น้ำหนักลดลงชัดเจนใน 1 เดือน  เบื่ออาหาร หรือทานมากขึ้น
  2. นอนไม่หลับ เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
  3. การเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ได้แก่ กระสับกระส่าย วิตกกังวล หรือการเคลื่อนไหวโดยไม่มีจุดมุงหมาย เช่น แกว่งแขน นั่งนิ่งไม่ได้  เคลื่อนไหวช้า
  4. อ่อนเพลีย
  5. รู้สึกผิดหรือไม่มีคุณค่า โดยไม่มีเหตุผล
  6. ความสามารถในการคิด มีสมาธิหรือการตัดสินใจลดลง
  7. มีความคิดวนเวียนกับการฆ่าตัวตาย

สาเหตุของภาวะซึมเศร้า

                ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุร่วมกัน ทั้งสาเหตุทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. สาเหตุทางด้านร่างกายที่พบบ่อย ได้แก่พันธุกรรมหรือการมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าในครอบครัว ความผิดปกติของสารสื่อประสาทบางตัวในสมอง การมีพยาธิสภาพในสมองเช่นมีการเสื่อมของเซลล์ประสาท หรือมีการฝ่อของสมองบางส่วน หรือเป็นโรคทางกายที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสมอง เช่น โรคสมองเสื่อม โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคต่อมธัยรอยด์ ฯลฯ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาที่รับประทานเป็นประจำ เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร ยาขับปัสสาวะ หรือยารักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

2. สาเหตุทางด้านจิตใจที่พบบ่อย ได้แก่ การไม่สามารถปรับตัวต่อการสูญเสีย เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความ ผิดหวัง เสียใจ น้อยใจ หรือมีความเครียดในเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น คู่ชีวิต ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท การสูญเสียหน้าที่การงาน บทบาทในครอบครัว การย้ายที่อยู่ เจ็บป่วยทางกายที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน เจ็บปวด หรือเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต โรคข้อ โรคมะเร็ง เป็นต้น บุตรหลานไม่ปรองดองกัน ไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากลูกหลาน เนื่องจากเห็นว่าอายุมากแล้ว ไม่ทันต่อเหตุการณ์ หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการมีบุคลิกภาพดั้งเดิมเป็นคนที่ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง มองตนเองในด้านลบบ่อยๆ หรือชอบพึ่งพาผู้อื่น

3. สาเหตุทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมที่พบบ่อย ได้แก่ การปรับตัวไม่ได้ต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ไปตามยุคสมัย การประสบความเครียดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน การทะเลาะเบาะแว้งของคนในครอบครัว เป็นต้น  ( อาจารย์เรณุการ์  ทองคำรอด สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช)

                ทฤษฎีของภาวะซึมเศร้า

  1. ทฤษฎีทางจิตวิทยา ( psychological theories )

ทฤษฏี cognitive traid theory ของ Beck สรุปว่าคนทั่วไปจะรู้สึกชื่นชมตนเอง ประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ป่วยซึมเศร้าขาดสิ่งที่จะทำให้มีความสุข รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า มีประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาในด้านลบจึงนำไปสู่ความคิดในอนาคตที่เป็นด้านลบด้วย มีความคิดยึดมั่น แปลความเหตุกากรณปกติว่าเลวร้าย และรู้สึกหมดหวังโดยไม่ตรงกับความจริง ความคิดด้านการมีเหตุผลผิดพลาด ผลสรุปของความคิดไม่ถูกต้อง

2  ทฤษฎีทางจิตสังคม  ( psychosocial  theories )

                ภาวะซึมเศร้าเป็นการตอบสนองต่อการสูญเสียสิ่งที่รักหรือผลจากความล้มเหลวในการชดเชยต่อสิ่งที่สูญเสีย  การที่ภาวะซึมเศร้าเกิดในผู้สูงอายุมากเนื่องจากผู้สูงอายุมีเวลาและโอกาสน้อยที่จะหาสิ่งที่รักมาทดแทน 

 

 

3  ทฤษฎีทางชีวภาพ ( biological theories )

                เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท ที่ลดลง ได้แก่ serotonin, dopamine, acetylcholine,norepinephrineและความผิดปกติของระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ  ( การพยาบาลผู้สูงอายุ ปัญหาระบบประสาทและอื่นๆ  :  รศ. ลิวรรณ  อนนาภิรักษ์ )

แนวทางการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันหรือรับมือกับสาเหตุของภาวะซึมเศร้าดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดังต่อไปนี้
1. การดูแลตนเองทางด้านร่างกาย

1.1การรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัยให้ครบ 3 มื้อ ในปริมาณที่เหมาะสมอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการบริโภคอาหารสด การรับประทานอาหาร ผัก และผลไม้สดจำนวนมากๆ ทำให้สุขภาพร่างกายสดชื่นตลอดวัน รวมทั้งการรับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา หากร่างกายไม่ได้รับอาหารที่พอเพียงจะส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า อ่อนเพลีย และไม่มีแรง
1.2 ออกกำลังกายทุกวัน การออกกำลังกายเป็นประจำโดยใช้วิธีที่ง่ายๆ เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ เช่นการเดินเล่นในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ตอนเช้าหรือตอนเย็น ฝึกออกกำลังกายแบบชี่กง ไท้เก๊ก รำกระบอง หรือว่ายน้ำ จะช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายได้รับการเติมพลังอยู่ตลอดเวลา และทำงานประสานกันได้ดีทั้งระบบประสาท กล้ามเนื้อ และจิตใจ
1.3 เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำปี หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายเช่นความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง หรือความผิดปกติอื่นๆ จะได้รีบทำการรักษาแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยทิ้งไว้จนเกิดความรุนแรง
2. การดูแลตนเองทางด้านจิตใจ

2.1 สร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ด้วยการตั้งมั่นอยู่ในความดี ด้วยการมีความคิดดี พูดดี และทำดี จะช่วยให้เรามีความสุข  จิตใจแจ่มใสไม่ขุ่นมัว อารมณ์ดี
2.2 ตระหนักในคุณค่าของตนเองที่มีต่อบุตรหลาน และบุคคลอื่น ชื่นชมและภาคภูมิใจในตนเอง อย่ามองตนเองว่าไร้ค่า หรือรู้สึกท้อแท้
2.3 ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย จะทำให้ระบบประสาททำงานอย่างราบรื่น ไม่ตึงเครียด และวิตกกังวล
2.4 ไม่ปล่อยให้ตนเองอยู่ว่าง หางานอดิเรกหรือสิ่งที่ตนสนใจอยากทำ แต่ไม่มีโอกาสทำเมื่ออยู่ในช่วงวัยที่ต้องทำงาน ซึ่งอาจนำมาซึ่งรายได้หรือมีวิธีการคลายเครียดต่างๆ

2.5 ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทำอาหารให้บุตรหลานรับประทาน  ไปเที่ยวพักผ่อนในวันหยุด ไปทำบุญที่วัด ดูโทรทัศน์ หรือออกกำลังกายร่วมกัน เป็นต้น
2.6 สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับตนเองด้วยการอุทิศตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม ด้วยการทำบุญ การบริจาคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น การช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยการให้คำแนะนำ ให้คำอวยพร ให้กำลังใจ หรือแสดงความเอื้ออาทรต่อบุคคลอื่น จะนำมาซึ่งความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ จะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวา รู้สึก กระชุ่มกระชวย
2.7 แสวงหาความสงบสุขทางใจ ด้วยการฝึกทำสมาธิ สวดมนตร์ ศึกษาธรรมะจากหนังสือหรือสนทนาธรรมกับผู้รู้ จะช่วยให้จิตใจให้สงบ เข้าใจธรรมชาติหรือความเป็นจริงของชีวิต ไม่ฟุ้งซ่าน ปล่อยวางปัญหาต่างๆ
2.8 อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น หาโอกาสทำงานในสวนดอกไม้หรือสวนผัก สูดอากาศบริสุทธิ์จากป่าเขาลำเนาไพร สัมผัสสายลมและแสงแดดบ้าง เพื่อผ่อนคลายจิตใจ
2.9 สำหรับผู้ที่อยู่คนเดียวควรหาสัตว์เลี้ยงไว้รับผิดชอบดูแล ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว นกแก้ว เต่า ปลาทอง ก็ตาม เพื่อให้ความรักและการสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น
3. การดูแลตนเองทางด้านสังคม

   การเข้าสังคมเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น เช่นการสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ จะช่วยให้มีเพื่อนใหม่ๆ ได้ทดลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ช่วยให้จิตใจกระชุ่มกระชวย คลายความอ้างว้าง
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า มีดังต่อไปนี้
1.หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียวเมื่อมีอารมณ์เศร้าเกิดขึ้น ควรพูดคุยกับผู้อื่นเพื่อผ่อนคลายความเครียด เกิดความเพลิดเพลิน ไม่เงียบเหงา
2.ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ เย็บปักถักร้อย เป็นต้น
3.ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น เข้าชมรมผู้สูงอายุ ไปวัด หรือออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น
4.รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา เนื่องจากโรคนี้ถือเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้ดีขึ้น และหายขาดได้ การรักษาหลัก โดยมากแพทย์จะให้รับประทานยาต้านเศร้า เพื่อรักษาและป้องกันอาการซึมเศร้า ยาต้านเศร้าอาจมีอาการข้างเคียง ปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น ง่วงนอน ยาบางตัวอาจทำให้นอนไม่หลับ ถ้ารับประทานยาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ในรายที่เคยป่วยมาก่อนอาจต้องรับประทานยาอย่างน้อย 2 ปี นอกจากยายังอาจมีการทำจิตบำบัดแบบประคับประคองด้านจิตใจ การทำพฤติกรรมบำบัดเพื่อแก้ความคิดในแง่ร้ายต่อตนเอง การให้คำปรึกษา การทำครอบครัวบำบัด ร่วมกับการดูแลและช่วยเหลือทางจิตใจจากสังคม ครอบครัว และคนรอบข้าง

ความเครียดในผู้สูงอายุ

วัยสูงอายุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ ส่วนใหญ่จะเป็นด้านลบ จากความเสื่อมของร่างกายที่ส่งผลมาถึงจิตใจ เช่น เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประสาทสัมผัส ระบบกระดูก กล้ามเนื้อและไขข้อ หรือสิ่งที่ส่งผลต่อจิตใจโดยตรง เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคู่ชีวิต รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รวมทั้งเรื่องสัมพันธภาพของคนในครอบครัว ที่ครอบครัวปัจจุบันเมื่อแต่งงานหนุ่มสาวมักแยกเรือนออกไปเป็นครอบครัวใหม่ ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้สูงอายุกับลูกหลานมีน้อยลง ทำให้เกิดความโดดเดี่ยวและเกิดอาการซึมเศร้าได้ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจดังกล่าวทำให้ผู้สูงอายุหมดหวังท้อแท้ในชีวิต โดยเฉพาะคนที่รับสภาพการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะทำให้เกิดความเครียด ถ้าลูกหลานรอบข้างไม่มาดูแล กำลังใจของท่านก็จะหมดไป ก่อให้เกิดปัญหาด้านจิตใจตามมา

ดังนั้นการป้องกันความเครียดที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุคือ การดูแลร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป ให้รับประทานอาหารที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครอบครัว ชุมชนหรือสังคมเมื่อมีโอกาส เป็นการฝึกสมองให้ได้คิดและสนใจสิ่งรอบข้าง ผู้สูงอายุส่วนมากจะหันเข้ายึดหลักธรรมทางศาสนา เพราะจะช่วยให้มีจิตใจที่เบิกบานได้ แต่ที่สำคัญคือความรัก การดูแลจากคนในครอบครัว จะเป็นวิธีลดความเครียดและ เพิ่มความสุขให้กับผู้สูงอายุ (รศ.พญ อัพร  โอตระกูล)

 

คำสำคัญ (Tags): #ซึมเศร้า
หมายเลขบันทึก: 455350เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2011 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท