เรื่องดีที่ มวล. : ประเมินคุณภาพภายใน ๒๕๕๓


สำนักวิชาฯ ของเรามีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้าน

ประเมินคุณภาพภายใน ๒๕๕๒

วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

วันนี้เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ได้รับการตรวจเยี่ยมจากคณะกรรมการประเมินคุณภาพภายใน ซึ่งประกอบด้วย ศ.เกียรติคุณ พล.ต พญ.วณิช วรรณพฤกษ์ รศ.ดร.มรรยาท รุจิวิชชญ์ รศ.ดร.มนตรี อิสรไกรศีล ผศ.ดร.สุพิศ ฤทธิ์แก้ว คุณอวยพร เรืองศรี และคุณกรมาศ สงวนไทร

คณะกรรมการ QA ของสำนักวิชาฯ ได้จัดทำรายงาน SAR ส่งไปก่อนหน้านี้แล้ว ทีมน้องๆ เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ เป็นแฟ้มๆ เรียบร้อยตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้เรานัดกันมาแต่เช้าเพื่อจัดเตรียมห้องประชุมและจัดเอกสารให้ง่ายต่อการตรวจสอบ จากบรรยากาศของการเตรียมการดิฉันรู้สึกได้ว่าคนทำงานของเรามีมุมมองเชิงบวกต่อการประเมินคุณภาพ

น่าดีใจที่คณาจารย์ตั้งแต่รุ่นใหญ่ถึงรุ่นใหม่ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และศิษย์เก่า พร้อมใจกันมาเข้าประชุมจำนวนมากถึง ๒๔ คน นักศึกษาปี ๒ มารอกันตั้งแต่ ๐๘ น.กว่า ดิฉันนำเสนอการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินคุณภาพของปีการศึกษา ๒๕๕๒ รวมทั้งผลการดำเนินงานในปีการศึกษา ๒๕๕๓ แสดงภาพกิจกรรมที่เราได้ทำรวมทั้งบันทึกที่มีอยู่ในบล็อก GotoKnow

คณะกรรมการประเมินฯ โดยเฉพาะท่านที่เคยมาประเมินเราในปีก่อนๆ ชื่นชมว่าสำนักวิชาฯ ของเรามีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้าน อนาคตอาจแซงหน้าสถาบันที่เปิดมาก่อนเราก็ได้ เราได้รับคำถามเรื่อง KM การบริหารความเสี่ยง การเตรียมรับ AFTA กับการเน้นชุมชน

ประเด็นเรื่องที่ควรพัฒนาและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการประเมินฯ ต่อไปนี้ ดิฉันบันทึกจากความเห็นและข้อเสนอแนะภายในห้องประชุม เท่าที่จดบันทึกได้ทัน ยังไม่ใช่การแจ้งจากคณะกรรมการประเมินฯ อย่างเป็นทางการ

เรื่องที่ควรพัฒนาให้ดีขึ้นอีก อาทิ สัดส่วนอาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการ การตีพิมพ์ผลงานวิจัยโดยเฉพาะในวารสารระดับนานาชาติ การรับนักศึกษาระดับปริญญาโทให้ได้ตามแผน เป็นต้น

ข้อเสนอแนะที่เป็นความท้าทาย เช่น
- การทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาจมีการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติร่วมกัน และจัดทำ Proceeding ด้วย
- การพัฒนาบัณฑิตศึกษา เพื่อรองรับอาจารย์ที่จบระดับ ป.เอก ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยควรวิเคราะห์ SWOT และศึกษากลยุทธ์ต่างๆ ที่จะช้อนคนมาเรียน ใช้การประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ
- โครงการวิจัยที่ใช้ระยะเวลาดำเนินการหลายปี ควรดึง phase ย่อยมาเขียนตีพิมพ์
- ควรขยายการพัฒนานักศึกษาในเรื่องจิตอาสา และพัฒนาไปสู่ CSR ซึ่งมีแหล่งทุนและรายได้ ทำแล้วต้องบูรณาการกับการเรียนการสอน ประเมินผลสำเร็จโดยอาจวัดผลการเรียนรู้ คุณค่าต่อสังคม ความยั่งยืน ฯลฯ
- อยากเห็นความเป็นเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น มีการ ลปรร. ระหว่างสำนักวิชาเพิ่มมากขึ้น
เป็นต้น

หลังการประชุม ศิษย์เก่าบอกว่ารู้สึกดีที่ได้มาฟังการนำเสนอของดิฉันด้วย ทำให้เห็นภาพชัดว่าสำนักวิชาฯ มีความก้าวหน้าไปอย่างไรบ้าง ดิฉันจึงชักชวนศิษย์เก่าให้มาร่วมกันทำงานด้านการพัฒนานักศึกษา (ปัจจุบันเราได้จัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าเรียบร้อยแล้ว เป็นสำนักวิชาแรกในมหาวิทยาลัย มี website อยู่ที่นี่)

ประเด็นเล็กๆ ในการประเมินฯ เรื่องของเอกสารหลักฐาน เช่น การนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์โดยหน่วยงานภายนอกหรือชุมชน งานวิจัยของอาจารย์ของเราชุมชนได้เอาไปใช้ประโยชน์จริง แต่เรายังไม่ได้จัดทำหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ไว้ เป็นเรื่องที่แก้ไขไม่ยากและถ้าเราไว้ใจเชื่อใจกันว่าบอกความจริง ก็คงจะไม่เป็นปัญหา

วัลลา ตันตโยทัย


 

หมายเลขบันทึก: 454666เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2011 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท