กระบวนการบริหารเชิงกลยุทธ์


กระบวนการบริหารเชิงกลยุทธ์
กระบวนการบริหารเชิงกลยุทธ์ที่ประกอบด้วยงานสำคัญ 5 ประการ  คือ 
ขั้นที่ 1  กำหนดวิสัยทัศน์ (vision)  และพันธกิจ  (mission) ขององค์การ
วิสัยทัศน์
หมายถึงข้อความที่บ่งบอกถึงทิศทางที่องค์กรมุ่งไปสู่ในอนาคต  ผู้นำองค์การจะต้องกำหนดนึกในใจว่าอนาคตขององค์การที่พึงปรารถนา  ใฝ่ฝันและมีความเป็นไปได้นั้นจะมีลักษณะเช่นใด  ภาพในใจนี้อาจจะชัดเจนหรือไม่ก็ตามแต่จะเป็นภาพที่ชี้ถึงอนาคตที่ต้องการจะเดินไปให้ถึง  เป็นสภาพอนาคตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เช่นเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “จะเป็นครัวของโลก”
พันธกิจ คือเหตุผลของการมีอยู่ขององค์การนั้นๆ  พันธกิจเป็นสิ่งสะท้อนถึงคุณค่า  ความตั้งใจและความมุ่งมั่นขององค์การที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งกำหนดเป้าหมายขององค์การและแผนต่างๆ  เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์  ให้บริการทางการเงินครบวงจรโดยเฉพาะด้านทีอยู่อาศัย  โดยคำนึงถึงนโยบายของรัฐประโยชน์ของสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน 
ขั้นที่ 2  กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 
ต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพันธกิจที่กำหนดไว้ในขั้นที่หนึ่งให้เป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์  เป้าหมายนี้เป็นการระบุว่าองค์การต้องการอะไรในอนาคต  ต้องเป็นเป้าโดยรวมขององค์การไม่ใช่แผนกหรือส่วนงาน  เช่น บริษัท ซีพีเซเว่นอีเลฟเว่น  ตั้งเป้าหมายจะขยายสาขาให้ได้ 3,000 สาขาภายใน 2 ปีข้างหน้า
ขั้นที่ 3  กำหนดกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์
กลยุทธ์คือการปฏิบัติที่จะนำให้องค์การไปสู่จุดที่ต้องการจากจุดที่เป็นอยู่  ณ ปัจจุบันภายใต้โอกาส  อุปสรรค  จุดอ่อนและจุดแข็งขององค์การ  เช่นไวไวตั้งเป้าหมายว่าจะชนะมาม่าภายใน 4 ปี กลยุทธ์หนึ่งที่ไวไวอาจจะกำหนดคือการพยายามออกบะหมี่รสชาติใหม่ๆ  และขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมทุกช่องทางรวมทั้งขยายตลาดในต่างประเทศด้วย
ขั้นที่ 4  นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
เป็นขั้นที่นำเอากลยุทธ์ที่กำหนดไว้แล้วมาเปลี่ยนเป็นแผนปฏิบัติการ  ในขั้นนี้จำเป็นจะต้องรวมเอาหน้าที่ต่างๆ  ทางการบริหารเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการวางแผน  การจัดองค์การ  การนำและบังคับบัญชา  และการควบคุม  เช่นจะต้องกำหนดว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรในรายละเอียด  จะต้องจ้างพนักงานเข้ามาเท่าไร  จะต้องใช้งบประมาณขนาดไหน ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ และวัดผลความสำเร็จของงานอย่างไร
ขั้นที่ 5 ประเมินผล
ขั้นนี้อาจจะเรียกว่าการควบคุมเชิงกลยุทธ์  ซึ่งหมายถึงกระบวนการในการประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินงานตากลยุทธ์และการปรับปรุงแก้ไขในกรณีที่มีความเบี่ยงเบนไปจากแผนที่วงไว้  ทั้งนี้เพื่อสร้างความแน่ใจว่าการใช้ทรัพยากร  ตลอดจนการปฏิบัติงานของพนักงานของทั้งองค์การจะไปในทิศทางที่กำหนดไว้  การควบคุมและประเมินผลนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ด้วยเหตุที่โอกาสและอุปสรรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  เช่น คู้แข่งแนะนำสินค้าตัวใหม่  เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง  แนวโน้มใหม่ๆ  ทางสังคมเปลี่ยนไป  ลูกค้ามีความต้องการใหม่ๆ   ดังนั้นการบริหารกลยุทธ์จึงเป็นกระบวนการที่ไม่หยุดนิ่ง  (ongoing  process) จะต้องมีการควบคุมตรวจสอบ  ปรับปรุงและแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้องค์การสามารถรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันไว้ได้เสมอ
 
ที่มา : หนังสือเรื่อง “การบริหาร : Management”  แต่งโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิทยา ด่านธำรงกูล
 
หมายเลขบันทึก: 453920เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2011 06:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท