ทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพในอนาคต


สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับมวลมนุษย์คือจินตนาการ และจินตนาการอันบรรเจิดประการหนึ่งที่ไม่เคยขาดหายไปจากมนุษย์ชาติคือการวาดภาพโลกในอนาคตว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เราต่างก็คิดกันไปต่างๆ นานาว่าโลกอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ บริษัทข้ามชาติหลายแห่งเอาความคิดมาสร้างให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว

ลองชมสองวิดีโอจินตนาการโลกอนาคตจากสองบริษัทยักษ์ใหญ่กันก่อน


[http://youtu.be/i5AuzQXBsG4]


[http://youtu.be/XiqgmAYrd3c]

สำหรับคนที่มีอาชีพผลิตคนเพื่อส่งเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างผม (แม้จะฟังดูไม่โรแมนติกนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่คือความจริง หรือไม่?) สิ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับสองวิดีโอนี้ ไม่ได้หยุดแค่เทคโนโลยีที่จะยิ่งแพร่หลายและกระจายอยู่ทั่วทุกหนแห่ง (ubiquitous computing) แต่นัยที่น่าคิด น่าถกเถียง คิดตาม และคิดต่อ คือนัยทางสังคม ว่าคนรุ่นหน้าจะอยู่กันอย่างไร? และที่สำคัญยิ่งกว่า คือพวกเขาจะทำมาหากินอะไรกัน?

ในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ ถ้าเราลองสังเกตตลาดแรงงาน ก็จะพบว่ามีอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นระดับแรงงานขั้นต่ำ เช่นปรากฎการณ์การทำฟาร์มทองคำเกม World of Warcraft (http://en.wikipedia.org/wiki/Gold_farming) ที่จีน แรงงานฝีมืออย่างการเป็นผู้ทดสอบเกมคอมพิวเตอร์ หรือผู้ควบคุมผู้เล่นในเกมออนไลน์ (MMORPG administrator) หรืองานในเชิงสร้างสรรค์อย่างการเขียนบล็อกเป็นอาชีพ ที่เปิดโอกาสให้นักเขียนสมัครเล่นมากมายกระโจนเข้ามามีบทบาทในโลกอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นวิชาชีพที่เติบโตต่อเนื่องอย่างในปัจจุบัน

คงต้องยอมรับ เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการกำหนดความต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก หลายฝ่ายที่เริ่มเห็นความสำคัญของทักษะใหม่ๆ ที่กำลังเป็นที่ต้องการ หรือทักษะเดิมๆ ที่จะมีความสำคัญมากขึ้น ต่างก็ออกมาสำรวจ และรายงานความต้องการของตลาดแรงงานที่แปรผันในปัจจุบันได้อย่างน่าอ่าน น่าคิดตาม ที่อเมริกา มีสถาบันที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันหลักสูตรเพื่อศตวรรษหน้าอย่าง Partnership for 21st century skills ที่หลายฝ่ายทั้งในและนอกประเทศเริ่มให้ความสำคัญ และทดลองนำกรอบความคิดของหน่วยงานนี้ไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปถึงอุดมศึกษา

ล่าสุด สถาบันแห่งอนาคต (Institute for the Future หรือ IFTF) แห่งมหาวิทยาลัยฟีนิกซ์ ก็มีการจัดเสวนาเรื่อง Future Work Skills 2020 (pdf report) เพื่อคาดการณ์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาที่ได้รับเชิญมาพูดคุยในงานนี้ ให้ข้อสรุปว่ามีปัจจัยเร่งหกประการที่น่าจะทำให้ตลาดแรงงานอนาคตเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมาก หกปัจจัยผลักดันความเปลี่ยนแปลงนี้คือ

หนึ่ง คนจะมีสุขภาพที่ดีขึ้น และอายุยืนยาวมากขึ้น นั่นหมายความว่าอายุ 65 ไม่ใช่ตัวเลขของวัยเกษียณอีกต่อไป ผู้คนสูงอายุที่มีกำลัง และปัญญาเพียงพอ จะผันตัวมาทำงานประเภทที่ปรึกษา แนะนำ ชี้แนะแนวทางเพื่อคนรุ่นต่อไป

สอง เครื่องกลและระบบอัจฉริยะจะมีบทบาทมากขึ้น แรงงานระดับล่างจะถูกเครื่องจักรแย่งงาน โดยเฉพาะงานซ้ำซากจำเจ คนกับเครื่องจักรจะทำงานกลมกลืนกันมากกว่าเดิม

สาม ระบบเซ็นเซอร์ และระบบประมวลผล จะมีความสามารถมากเป็นทวีคูณ นั่นหมายความว่าเราจะสามารถเก็บเกี่ยวข้อมูลได้จากทุกการเคลื่อนไหวในการทำงานและชีวิตประจำวัน ข้อมูลจากระบบจราจร ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ที่ทำงาน และในอุปกรณ์ทุกชิ้นที่เราสามารถฝังระบบเซ็นเซอร์เข้าไปได้ จะถูกเก็บไว้ในคลังข้อมูลขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงข้อมูลมากมายมหาศาลรอให้เราเข้าไปค้นหา และทำความเข้าใจกับมัน ใครขุดได้มาก จัดระเบียบแบบแผนได้ดี ก็ได้เปรียบ

สี่ ระบบนิเวศน์ของสื่อสมัยใหม่จะเข้ามามีบทบาทยิ่งกว่าในปัจจุบัน ลองนึกถึง เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล ว่ามีผลต่อคนในปัจจุบันขนาดไหน อนาคตก็จะยิ่งกว่านั้น ข่าวสารต่างๆ ที่วิ่งอยู่ในอินเตอร์เน็ตนั้นรวดเร็วกว่าข่าวในสื่ออื่นๆ หลายเท่าตัว ความสามารถในการทำความเข้าใจ เลือกข้อมูลข่าวสารจะมีความสำคัญอย่างมากในโลกอนาคต

ห้า การทำงานร่วมกับในระดับกว้าง และครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกจะมีมากขึ้น ลองคิดถึงเกมออนไลน์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กในปัจจุบัน ว่ามีคนกี่ล้านคนใช้เวลาอยู่ร่วมกันทั้งวันทั้งคืน ในแง่ของการทำงาน และภาคสังคม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีให้เห็นมากขึ้นกว่าเดิม นั่นหมายถึงสินค้า บริการใหม่ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

หก โลกทั้งโลกจะเชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว เรื่องนี้อาจดูเชย ถ้าเราคิดถึงแนวคิดเรื่อง โลกาภิวัตน์ แต่โลกอนาคต จะไม่ใช่เพียงข้อมูลข่าวสารและวัฒนธรรมที่ไหลเชื่อมต่อกันทั่วโลก บริษัทใหม่ๆ จะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด การค้นคิดและเลียนแบบนวัตกรรมจะทำได้ง่ายขึ้น ความอยู่รอดขององค์กรในโลกอนาคตย่อมหมายถึงความสามารถในการทำความเข้าใจวัฒนธรรม และความต้องการที่แตกต่าง การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่น

ที่ประชุมยังได้ลงมติว่า มีทักษะสิบประการที่คนรุ่นนี้ และรุ่นหน้า น่าจะให้ความสนใจ ลองมาดูกันดีไหม

  1. ความสามารถในการทำความเข้าใจข้อมูลในระดับสูง (sense-making ) เพราะงานแรงงานส่วนใหญ่จะถูกยึดครองโดยเครื่องจักร แรงงานมนุษย์ต้องแข่งขันกันในงานที่ต้องการทักษะความคิดระดับที่สูงและซับซ้อนขึ้น
  2. ความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่น (social intelligence)
  3. ทักษะความคิดนอกกรอบและความคิดในเชิงปรับตัว (novel & adaptive thinking)
  4. ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง (cross-cultural competency)
  5. ทักษะความคิดเชิงคอมพิวเตอร์ (computational thinking) หรือความสามารถในการย่อยข้อมูลจำนวนมหาศาล ทักษะเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ธรรมดาจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัย และทักษะด้านสถิติ การคิดหาเหตุผลจากข้อมูลจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
  6. ความเข้าใจในสื่อใหม่ (new-media literacy) หรือความสามารถในการเข้าใจ ประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์ สื่อที่หลากหลายรอบตัว
  7. ความเข้าใจความแนวคิดจากหลายสาขาอาชีพ (transdisciplinarity) เพราะปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นในโลกปัจจุบัน เราจึงต้องการบุคลากรจากหลากหลายสาขาอาชีพ พูดง่ายๆ คือต้องรู้ลึก (ในสาขาตนเอง) และรู้กว้าง (ในสาขาอื่น) ไปพร้อมๆ กัน
  8. ความสามารถในการนำเสนอและออกแบบงาน (design mindset)
  9. ความสามารถในการบริหารความจำ (cognitive load management) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยจัดการ จัดเก็บ และนำข้อมูลมาใช้ ว่ากันว่าสมองมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อจะทำความเข้าใจกับข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาล และรวดเร็วอย่างในปัจจุบัน คนที่รับข้อมูลข่าวสารจนเกินพอดี หรือรับจนไม่สามารถจะรับได้ก็เกิดอาการคลื่นไส้ กรดไหลย้อน หรือมึนงงกับปริมาณข้อมูลจนสมองหยุดทำงาน เรื่องนี้นักวิจัยด้านสมอง นักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยา และทีมแพทย์ ได้ทำงานศึกษากันมาพอสมควร ว่าเทคโนโลยีอะไร และอย่างไร ที่สามารถช่วยลดข้อมูลให้เราได้ แต่ในฐานะพลเมืองโลก การฝึกทักษะนี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน
  10. ประการสุดท้าย ความสามารถในการทำงานร่วมกันในสิ่งแวดล้อมเสมือน (virtual collaboration) นั่นคือความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เข้ามาช่วยงานที่ต้องติดต่อสื่อสารระยะไกลกับทีมงานทั่วโลก เดี๋ยวนี้การ skype เพื่อประชุมทางไกล เป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เป็นการสรุปอย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับรายงานของสถาบันแห่งอนาคต (IFTF) ซึ่งถ้าจะให้พูดอย่างคนอวดรู้ และขี้ระแวง ก็ต้องบอกว่าแทบจะไม่มีเรื่องใหม่ ให้ตื่นเต้นอะไรอีกแล้ว กับการออกมาเรียกร้องสถาบันการศึกษาให้ตระเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อมกับโลกใหม่ เพราะจะว่าไป เราก็ได้แต่เดาเอาว่าหน้าตาโลกอนาคตมันจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครฟันธงลงไปได้ว่ามันจะเจริญรุ่งเรือง หรือจะกลายเป็นโลกที่มีแต่น้ำ เพราะภูเขาจากขั้วโลกละลายหมด หรือกลายเป็นโลกที่มีแต่คนเขลา เพราะคนฉลาด คนมีการศึกษา ไม่ยอมผลิตลูกหลานกันอีกต่อไป

สิ่งที่ดูเหมือนจะ “ใหม่” จริงๆ สำหรับการสร้างปัญญาชนในอนาคตก็คงมีแต่ความสามารถในการ “เลือกใช้” เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์และไม่ตกเป็นทาสของมัน อีกสิ่งหนึ่งที่ดูจะขาดหายไปจากรายงานชิ้นนี้คือการพูดถึงเรื่องศีลธรรมและ ความรับผิดชอบ (ถ้าหลุดสายตาไปก็ต้องขออภัย) แต่เรื่องนี้น่าจะสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ที่จะสร้างโลกให้สวยงาม และน่าอยู่ ว่าไหม? เพราะถึงแม้คนที่มีการศึกษาสูง จะรั้งรอที่จะผลิตลูกหลาน แต่พวกเขาก็จะตั้งหน้าตั้งตาช่วยเหลือเด็กที่ไม่ใช่ลูกของเขา ไม่ว่าจะในโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถานที่ทำงาน หรือในชีวิตธรรมดาแต่ละวัน

ส่วนทักษะอื่นๆ ที่สถาบันฯ รายงานมานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นความฝันอันสูงสุดของการผลิตปัญญาชนในระดับอุดมศึกษา มาแต่ไหนแต่ไรไม่ใช่หรือ? ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร ทำความเข้าใจกับเพื่อนร่วมงาน ต่างชาติ ต่างภาษา ความสามารถในการทำงานเป็นทีม ความสามารถในการเลือกใช้ข้อมูล ความคิดวิเคราะห์ ความคิดเชิงวิจารณญาณ (critical thinking) ตัดสินจากเหตุผล มิใช้อคติ อารมณ์ หรือเอาพวกพ้องเป็นสำคัญ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเป้าหมายของอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการปลูกต้นกล้าทางปัญญา ที่เรายังต้องออกมาเรียกร้องกันปาวๆ ก็เพราะ จนทุกวันนี้ มหาวิทยาลัยก็ยังไม่สามารถผลิตปัญญาชน (ที่มีทักษะเหมาะกับตลาดแรงงาน) ให้ได้เสียที มุ่งแต่จะผลิตแรงงานทักษะสูง แต่ขาดความสามารถทางวิจารณญาณ ไม่สามารถประคองตัวไปได้ตลอดรอดฝั่งในสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน ถูกพัดไปตามกระแส ทางนั้นที ทางนี้ที

ใครจะตื่นเต้นไปกับแนวทางใหม่ที่ประเทศไทย ควรตั้งเป็นวาระแห่งชาติ แจกแท็บเล็ตพีซีให้เด็กฉลาด ตั้งวาระให้มันซ้ำซ้อนไปกับวาระแห่งชาติที่ตั้งมาแล้วมากมายหลายหลาก ก็เชิญตามสะดวก แต่โดยเนื้อแท้ของการศึกษานั้น ก็ควรอยู่ที่คน อยู่ที่ผู้เรียน อยู่ที่การพัฒนาด้านจิตใจ

มิใช่หรือ?

หมายเลขบันทึก: 453196เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2011 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะ'ดร.วส'

ขอบคุณสำหรับ 'บันทึกที่ดีมีประโยชน์' ค่ะ

 

  • ไม่ได้อ่านบันทึกของ "คุณแว้บ" นานแล้ว พอได้อ่านก็ไม่ผิดหวังในผลงานเขียนเชิงวิพากษ์ ที่ไม่เพียงนำเสนอข้อมูลเท่านั้น แต่แสดงการวิเคราะห์วิจารณ์ไปด้วยในคราวเดียวกัน ทำให้ผู้อ่านต้องอ่านแบบไต่ตรอง ก่อนที่จะลงสรุปเป็นความคิดของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อการประเทืองปัญญาเป็นอย่างดี
  • วันนี้อบรมครูแนะแนวเป็นรุ่นที่ 9 เป็นรุ่นที่ตัวเองไม่ค่อยสบาย เพราะอาทิตย์ก่อนอบรม 3 รุ่น สอนด้วย สัมมนานักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูด้วย (ภาคเรียนนี้นอกจากนิเทศนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ยังได้นิเทศนักศึกษาภาคปกติสาขานวัตกรรมและคอมพิวเตอร์ศึกษา 2 คน และนักศึกษาป.บัณฑิตสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ 1 คน ด้วย) และบ่ายวันศุกร์ถึงบ่ายวันอาทิตย์ก็เดินทางไปร่วมงานเกษตรแห่งชาติที่ม.เทคโนโลยีสุรนารี และตรวจผลงานทางวิชาการของครูจากสพป.นครราชสีมา แต่แม้จะไม่สบายก็ต้องลุกขึ้นมาทำงาน เริ่มจาก 23.00 น. บันทึกรายการ TV เพื่อใช้เป็นสื่อทดสอบความเข้าใจของครูเกี่ยวกับอาชีพใน 6 กลุ่ม ต้องเปลี่ยนเนื้อหาใน DVD ที่ใช้อบรมมาแล้ว 9 รุ่น เพราะรุ่นสุดท้ายเป็นครูแนะแนวจากโรงเรียนมัธยมฯ รุ่น 1-9 เป็นครูจากโรงเรียนประถมฯ
  • ความรู้เชิงวิพากษ์ที่ได้จากบันทึกนนี้ จะนำไปใช้ประกอบการอบรมครูรุ่นที่ 10 และจะมอบหมายงานให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์เข้ามาศึกษาค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะสำหรับการแบ่งปันข้อมูลและความเห็นในบันทึกนี้

 

    ขอแก้ไขที่พิมพ์ผิด "อ่านแบบไต่ตรอง" แก้เป็น "อ่านแบบไตร่ตรอง (Reflective Reading)" และ "บันนทึกนี้" แก้เป็น "บันทึกนี้" ค่ะ

Thank you for this 10-minutes future gazing.

I agree with this "...สอง เครื่องกลและระบบอัจฉริยะจะมีบทบาทมากขึ้น แรงงานระดับล่างจะถูกเครื่องจักรแย่งงาน โดยเฉพาะงานซ้ำซากจำเจ คนกับเครื่องจักรจะทำงานกลมกลืนกันมากกว่าเดิม..." (except for some senses in the very last clause).

Everywhere, in manufacturing (especially high value technology products) robots are taking jobs from people because they are more reliable, dependable (able to work 24x7), and administratively very low-cost. Robots don't complain about working, health and safety conditions, wages or career advancement. Robots can be retrained relatively quickly and totally (not a little bit at a time). Robots will replace not only process workers in factories but also in laboratories and hospitals. (E.g. chemical, medical and electronic testing.)

Our education systems are still very much about production of human workers to supply (the dwindling labor market --the 1950 industrial model--) demand. We should look into 'automation' more and prepared for more 'automation'.

There are open areas for automation: transport, water supply, electricity supply, health care, farming and education!

What do we do with people?

เพื่อให้ก้าวทันยุค ความเห็นส่วนต้วแล้วคิดว่า ทักษะในอนาคตที่สำคัญเีกี่ยวข้องอย่างมากกับการพัฒนาจิตและการเรียนรู้ และที่สำคัญคือ เคเอ็ม เคเอ็ม และ เคเอ็ม

หมอสุข

อาจารย์แว้บคะ

ประเด็นที่อาจารย์หยิบยกมาเล่าในบันทึกนี้ จุดประเด็นที่น่าสนใจมากค่ะ

นอกจากนี้แล้ว ปรางเองก็คิดเหมือนคุณหมอสุข เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาจิต ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในสังคม เหมือนกับเป็นโจทย์ว่าเทคโนโลยีกับการพัฒนาจิตวิญญาณจะสามารถเดินทางร่วมกันได้ไหม เพราะค่อนข้างเป็นห่วงเกี่ยวกับเกมส์ต่างๆ ที่หากมองเข้าไปลึกๆ มันอาจจะส่งผลเสียระยะยาวต่อการใช้ชีวิตต่อไปของมนุษย์นะค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากๆ นะค่ะ ที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ค่ะ ^_^

@ดร. พจนา ครับ ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมบล็อกน้อยๆ ของผมครับ :)

@ผศ. วิไล ครับ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบันทึกของผมจะเป็นประโยชน์สำหรับ ผู้ที่มีวิชาชีพ "บ่มเพาะความเป็นมนุษย์" นะครับ ตอนนี้ผมกำลังร่วมงานกับเพื่อนที่ราชภัฏเชียงใหม่ วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ช่วยกันออกแบบหลักสูตร ให้นักศึกษาได้ "คิด" มากกว่า "ฟัง" ครับ ให้พวกเขาได้ลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยในการเรียนรู้ มีวิชาสัมมนา ที่มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาร่วมเล่น facebook กับนักศึกษา ตอนนี้เป็นช่วงของการลองผิดลองถูกครับ ได้ผลอย่างไรแล้วจะมาเล่าสู่กันฟังครับ

@sr - "What do we do with people" That's a good question you asked. I suspect that cheap labor won't go away anytime soon, seasonal, agricultural work are still available (e.g., hand-pick tomato and the like). Such practice would, unfortunately, dehumanize workers, as we witness throughout this region. The gap between the rich and the poor would be larger, methinks.

@คุณหมอ สุข และน้องมะปรางเปรี้ยว ครับ ตอนที่เขียนบันทึกนี้ ไม่ค่อยอยากจะโยงเรื่องนี้เข้ากับหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนานัก แต่ก็นึกอยู่เหมือนกัน ว่าการเจริญสติ และปัญญา มีส่วนสำคัญในการช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในโลกปัจจุบัน

เมื่อเดือนก่อน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ พิทยากร ลีลาภัทร์ (Aston 27) เจ้าของผลงาน ธนาคารความสุข หลายเล่ม ที่ทำให้วัยรุ่นกลับมาสนใจธรรมะ กับคำถามที่ว่าทำไมเด็กวัยรุ่นต้องสนใจธรรมะ? คุณพิทยากร ตอบว่า เด็กรุ่นนี้ พบกับความเครียด ความกดดันมากกว่ารุ่นก่อน ทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งสื่อและข้อมูลต่างๆ ที่โถมเข้าใส่ไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งเป็นมุมมองที่ "จริง" เหลือเกิน ว่าไหมครับ? ในโลกที่สับสน วุ่นวาย วกวน มากกว่าเดิมนั้น ถ้าเราไม่รู้จักการ ควบคุม สติ ก็คงเตลิดเปิดเปิงไปได้ง่าย

ส่วนเรื่องการพัฒนาจิตวิญญาณ ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี ที่คุณน้องมะปรางกล่าวถึงนั้น ผมมั่นใจว่า ด้วยศักยภาพ ความรู้ และ ภูมิปัญญาตะวันออก ที่เรามี น่าจะทำให้เกิดการปฏิบัติที่แตกต่างจากโลกตะวันตกได้ นะครับ แต่ต้องเอาจิตนำ เอาเทคโนโลยีตาม -- เช่นการใช้หลักอิทธิบาท 4 ช่วยในการออกแบบหลักสูตร ให้เด็กเกิด ฉันทะ และจะมีวิริยะ กับจิตตะ ตามมา ผมพยายามจะใช้เทคโนโลยี ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการ ความสามารถ ทักษะ ที่ต่างกันของผู้เรียน และเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทุ่มเทให้ผู้เรียน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ส่วนผู้เรียนที่ช่วยตัวเองได้ ก็คอยดูอยู่ห่างๆ หรือเปิดโอกาสให้เขาได้สอนเพื่อนๆ บ้าง เพื่อเป็นการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสร้างทักษะ ขั้นที่สูงกว่าการเรียน นั่นคือการ "สอน" คนอื่น

ถ้ามีเวลาลองเข้าไปเยี่ยมชมบันทึก พุทธวิธีในการสอน ที่ผมเคยเขียนไว้ได้นะครับ

ติดตามมาจากบล็อก ท่าน อ.วิไลคะ :-) ทำให้เจอบทความน่าสนใจนี้
เห็นด้วยที่อาจารย์ว่า

   "..อีกสิ่งหนึ่งที่ดูจะขาดหายไปจากรายงานชิ้นนี้คือการพูดถึงเรื่องศีลธรรมและ ความรับผิดชอบ.."

  •  เป็นไปได้ไหม ที่จะกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ไม่มองเรื่องศีลธรรม ว่าเชย หากเข้าใจว่า critical thinking กับพุทธวิถึ คือ ทางเส้นเดียวกัน แต่เรียกด้วยคนละภาษา  
  • หากเดินไปแล้ว ก็ไม่สำคัญว่า ถนนสายนี้เรียกว่าอะไร  สิ่งที่เห็นรายทางนิยามว่าอะไร...ศัพท์เทคนิค หรือ บาลี สิ่งเหล่านี้น่าจะมาหลัง "ลงมือปฎิบัติ"
  • มนุษย์คงเก่งกว่าหุ่นยนต์ตรงที่..ตนเตือนตน ตนสอนตน เองได้ หรือเปล่าคะ :-)

 

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ การพัฒนาคนต้องพัฒนาที่จิตใจ ขอบคุณสำหรับบทความที่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท