ไม่วิจัยแล้วเอาอะไรไปสอน


 มีคำกล่าวสั้น ๆ ในวงวิชาการตะวันตก เกี่ยวกับเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยว่า “publish or perish” ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่า ถ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่มีผลงานพิมพ์เผยแพร่ ก็มีแต่จะผุพังเน่าเปื่อยไปโดยไร้ประโยชน์ แสดงให้เห็นว่าวงการวิชาการตะวันตกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการวิจัย เพราะจะมีผลงานพิมพ์เผยแพร่ได้ต้องทำวิจัย เคยได้ยินอาจารย์ฝรั่งอาวุโส เมื่อได้ฟังลูกศิษย์คนไทยที่พูดแก้ตัวว่ามีเวลาทำวิจัยเพราะมัวแต่สอน ถามลูกศิษย์ด้วยความงุนงงว่า “ไม่วิจัยแล้วเอาอะไรไปสอน”  ผมเลยต้องตอบแทนว่าก็เอาจากตำราเก่ ๆ ของท่านนั่นแหละไปสอน (ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)


เมื่อก่อนตอนที่ผมเองสอนนักศึกษาก็เคยคิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกันครับ แต่ด้วยเพราะเป็นอาจารย์ตัวน้อย ๆ วัฒนธรรมองค์กรไม่ส่งเสริมให้ได้พูดมากเท่าไหร่ พูดมากไปมีแต่รังจะเกิดผลเสียกับตัวเอง “ไม่ทำวิจัยกันแล้วเขาเอาอะไรมาสอนนักศึกษากันนะ”


ซึ่งไม่เหมือนในปัจจุบันนี้ครับพูดได้เต็มที่ เพราะว่าไม่ต้องกลัวใครไล่ออก ไม่ต้องกลัวใครแป้กขั้น ตอนนั้นก็เลยได้แต่ก้มหน้าก้มหน้าตาสอนและแอบ ๆ ทำวิจัยบ้าง

เพราะทำมากออกหน้าออกตาไม่ค่อยได้ครับ เพราะผู้บริหารเขาคิดว่า "คนเรามีศักยภาพและความสามารถจำกัด คุณสอนสี่ห้าวิชา ยี่สิบแปดคาบต่อสัปดาห์ก็หนักมากแล้ว ถ้าคุณยังทำวิจัยได้อีก แสดงว่าคุณหนีสอนไปทำวิจัย "


พระเจ้าช่วย คิดได้อย่างไง คนเราก็ต้องรู้จักแบ่งเวลากันเป็นสิครับ


เพราะด้วยเหตุผลสำคัญตอนนั้น ที่ยืนอยู่หน้าห้องรู้ตัวได้เลยว่า ไม่สง่างาม พูดไปเองบางครั้งก็งงเอง พูดไปมีแต่นามธรรม ยกตัวอย่างซะโพ้นทะเล นอกประเทศ เด็กฟังก็งง ดูแววตาเด็กแล้วก็งง ๆ ว่าเราทำไมยกตัวอย่างไกลจัง


นับตั้งแต่เริ่มได้ทำวิจัย เพียงแค่ยกตัวอย่างความหมายของคำว่า ทุ่งยั้ง ลับแล หรือที่มาของอำเภอทองแสนขัน (ศึกษาจากเวที PAR บริบทชุมชน) ดูเด็ก ๆ ตื่นเต้นมาก เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเขา แต่เขาก็ไม่ค่อยได้รู้


ตอนนั้นผมก็เลยได้แต่มองเพื่อน ๆ อาจารย์ในซึ่งสอนอยู่ในขณะนั้นว่าเขาเอาอะไรไปสอนกัน แต่ละคนก็มุ่งมั่นในการอ่านหนังสือ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มุ่งมั่นจะไปราชการ ไปอบรมสัมนาเพื่อนำ (จำ) ความรู้ของผู้อื่นนั้นมาสอนนักศึกษากัน


การวิจัยเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และยุ่งยากมากหรือ?

วิจัยมิใช่เรื่องยิ่งใหญ่หรือต้องมีอะไรมากมายเสมอไปหรอกครับ 

วิจัยเป็นการค้นหาความจริงในแง่มุมต่าง ๆ  เรื่องเล็ก ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา โดยเฉพาะในฐานะ “อาจารย์”
อาทิเช่น การคุมสอบเด็ก ทำอย่างไรไม่ให้เด็กลอกกัน แค่นี้ก็เป็นโจทย์วิจัยได้แล้วครับ


เพราะตอนคุมสอบเป็นตอนที่น่าเบื่อมาก ๆ ไม่รู้จะทำอะไรดี อาจารย์บางท่านก็อ่านหนังสือ บางท่านก็คุมเข้มเดินตรวจตราในระยะเผาขน (เด็กเสียสมาธิหมด) บางท่านก็เอาข้อสอบไปตรวจ (เด็กลอกกันสบาย) และทำอย่างไรดีล่ะ

อันนี้ก็เป็น “การวิจัย” ได้ครับ เพราะเราต้องคิด วิเคราะห์ ตั้งสมมติฐาน แล้วทดลองดูว่าจะแก้อย่างไร


แต่คงไม่ต้องไปไปเขียนโครงการของบประมาณหรอกนะครับ คิดเองในใจก็ได้ แล้วก็ทดลองทำเลย

เพราะเทอม ๆ หนึ่งเราได้คุมสอบกันไปสิบ ๆ ครั้ง อยู่แล้ว บางท่านถึงกับร้อย ๆ ครั้ง ถ้านับรวมการคุมสอบย่อยภายในชั้นเรียนของตัวเองด้วย

คิดแล้วทดลองดู แค่นี้ก็เป็นการวิจัยแล้ว หรือถ้าจะบ้า KPI หน่อย ก็สรุปเอกสารสักแผ่นสองแผ่นก็สามารถนำเข้าไปนับคะแนนเรื่องของการวิจัยในชั้นเรียนได้อีกต่างหาก ไม่เห็นต้องลงทุนของบประมาณเลย


หรือถ้าอยากจัดเวทีชุมชน เวทีจัดการความรู้ อยากฝึกฝนการเป็นคุณอำนวย คุณเอื้อ ก็มิต้องไปลงจัดในชุมชนในเสียงบประมาณอะไรมากมายครับ “นักศึกษาก็มีความรู้ เขามาเรียนก็อยากได้ความรู้” ครับ

"เราทำไมถึงไม่ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเราให้ดีที่สุดล่ะครับ ทำไมต้องเขียนโครงการ ของบประมาณมากมาย เสียค่ารถค่าลาลงไปทำงานกับคนตั้งไกล เพราะคนที่อยู่ใกล้ ๆ เรา เขาก็ต้องการได้ความรู้เหมือนกันนะครับ”


อย่าติดกับดักงบประมาณนะครับ


ทำได้ มีความสุข ได้แล้วทดลองซ้ำ เด็กหลาย ๆ ห้องมีบริบทแตกต่างกันอย่างไร แต่ละชั้นปี แต่ละเอกแต่ละโปรแกรมก็มีวัฒนธรรมของเขาแตกต่างกัน โดยเฉพาะเด็กนักศึกษา (ผู้ใหญ่) โต ๆ ที่พวกเราชอบเรียกว่า กศ.บป. , กศ.พช. หรือแม้กระทั่ง การถวายความรู้แก่พระสงฆ์ ก็มิใช่จะคุมสอบกันง่าย ๆ "เราจะสอนและคุมสอบอย่างไรกันดี"


บางครั้งข้อห้ามและการลงโทษ ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้ได้ผลเสมอไป หรือถ้าลงโทษไปก็กลายเป็น Win-lost กลายเป็นผลแพ้ชนะกันไป เพราะว่าเราจับทุจริตได้

ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจสำหรับอาจารย์ที่จับได้ ซึ่งสามารถนำไปคุยได้สามวันแปดวัน

แต่แท้ที่จริงสิ่งที่จับทุจริตเด็กนั้น มิใช่จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษา

เพราะเป้าหมายหลักของเด็กที่มาเรียนมาก็เพื่อมาหาวิชาความรู้ การที่มีการสอบต่าง ๆ ก็เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ว่าเด็กได้เรียนรู้ไปในระดับใด รู้มาก รู้น้อย รู้ปานกลาง ดี ดีมาก ก็เหมือนกับเกรดที่เราแบ่งไว้นั่นแหละครับ

ถ้ารู้น้อย อ่อน หรือตก เราเห็นคะแนนแล้วเราจะได้แก้ไข เพิ่มเติมความรู้ให้กับเด็ก อย่างน้อยก็ให้ถึงในระดับพอใช้ พอนำวิชาความรู้นี้ไปใช้ในชีวิตและสังคม ไม่ใช่ให้เขาอ่อน และอ่อนมาก(D+,D) ไปตลอดชีวิต

หรือถ้าเขาสอบไม่ผ่าน หรือทำข้อสอบไม่ได้เลย ก็จะได้นำข้อมูลนั้นมาลองตรวจทานตนเองว่าสอนดีไหมมีอะไรผิดพลาดขาดไปหรือเปล่า หรือถ่ายทอดสิ่งใดออกไปเด็กไม่เข้าใจ รายงานที่สั่นให้ทำนั้นไม่ครอบคลุมเนื้อหา หรือไม่เป็นสิ่งที่นำพาให้เด็กได้เรียนรู้ จะได้ปรับปรุงแก้ไขให้เด็กได้มีความรู้

ต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้และมีความรู้

สอนแบบนี้เขาไม่เข้าใจ ถึงแม้แต่เพียงคนเดียวก็ต้องคิด (เพราะเด็กเพียงคนเดียวก็คนนะครับ) เป็นที่เทคนิคที่ใช้สอนหรือว่าเด็กไม่เข้าใจตรงไหนนะ ต้องคิด สังเกต ต้องสัมภาษณ์เด็กดูว่า เขาไม่เข้าใจอย่างไร  แค่นี้ก็เป็นงานวิจัยได้แล้วครับ

การที่เด็กสอบตก ติด เอฟหรืออี นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รู้ แต่อาจจะเป็นอย่างที่เด็ก ๆ พูดเล่นกันติดปากว่า “ถามไม่ตรงกับคำตอบ” หนังสือทั้งเล่มอาจจะหนึ่งร้อยหน้า เขาอาจจะรู้สักห้าสิบหน้า (ใครจะไปจำได้หมดครับ) แต่เผอิญไอ้ห้าสิบหน้าที่เขารู้และเข้าใจ ดันไม่ตรงกับที่เรามาออกข้อสอบ หรือตรงไม่มากพอที่จะสอบผ่าน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า “เขาช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย”


เรียนไม่รู้เรื่อง ทำข้อสอบไม่ได้ สมควรสอบตก ไปเรียนใหม่ เรียนหลาย ๆ รอบความรู้จะได้แน่น ๆ ลงทะเบียนเรียนไปจนกว่าจะผ่าน (ใจร้ายจังครับ....)


คำพูดนี้ผมเคยได้ยินมาจากท่านผู้บริหารท่านหนึ่งในสถาบันระดับอุดมศึกษา ได้ยินแล้วช่างบาดใจ จริง ๆ ครับ ผมก็เลยคิดว่าเดี๋ยวนี้อาจารย์กลายเป็นวิทยากรไปแล้วเหรอ  สอน ๆ พูด ๆ  เสร็จ เสร็จแล้วก็เอากระดาษชุดหนึ่งมาวัดว่าเด็กรู้ตามที่พูดไปหรือเปล่า

ถ้ารู้ก็ผ่าน ไม่รู้ก็ตก ตกก็ไปลงทะเบียนเรียนใหม่ (อาจารย์มีความหมายมากกว่าและหน้าที่มากกว่านั้นนะครับ)


เขาถึงต้องกำหนดว่า “อาจารย์ต้องทำวิจัย” ไงครับ ต้องหาคำตอบต่าง ๆ ค้นหาสาเหตุ อธิบาย และพยากรณ์

ในปัจจุบันอาจารย์ก็ทำวิจัยกันเยอะมาก ๆ ครับ แต่ลงไปทำกับชุมชนซะเป็นส่วนใหญ่

แต่ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับที่ไปทำกับชุมชน แต่ถ้าจัดลำดับให้ดีแล้ว นักศึกษาเป็นหน้าที่หลักของเราครับ


เพราะถ้าจะวัดสัดส่วนการทำวิจัยภายในโดยเฉพาะกับนักศึกษา กับการไปทำวิจัยกับชุมชนภายนอกนั้น แตกต่างกันลิบลับ

จะหวังอย่างเดียวว่าจะนำความรู้จากชุมชนมาสอนอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้สักเท่าไหร่

ความรู้และการแก้ไขปัจจุบันกับนักศึกษาโดยตรงนั้น สำคัญที่สุดครับ เราเรียนเรารู้การวิจัยแบบ พา (PAR : Participatory Action Research) กันอย่างมากมาย ไปทำกับชุมชนได้อย่างสวยหรู งดงาม แต่ทำไมเราไม่นำกระบวนการนี้มาทำกับนักศึกษา เพราะนักศึกษาคือหัวใจของสถาบันการศึกษา จริงหรือไม่ ใช่หรือมั่วครับ?

เพราะว่ามีหลาย ๆ ครั้งที่อาจารย์ต้องยกเลิกการสอน เพราะบอกว่า “ติดประชุม” ผมก็งง ๆ นะครับว่า อ้าว ตกลงการจัดลำดับความสำคัญนั้นเป็นอย่างไรครับ "สอน VS ประชุม"


วันนี้อาจารย์ต้องลงไปทำวิจัยกับชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่นะ  เอ่... ตกลงเราเป็นสถาบันการศึกษาหรือสำนักงานพัฒนาชุมชนไปแล้วนี่


วันนี้อาจารย์ติดประชุมสัมมนาแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อน ตกลงเราย้ายไปสังกัดสำนักงานชลประทานไปแล้วเหรอ


วันนี้อาจารย์ต้องเข้าประชุมกับจังหวัดเรื่องน้ำท่วม อ้อ ตกลงเราก็อยู่ป้องกันภัยจังหวัดด้วยนะเนี่ย


วันนี้อาจารย์ต้องรีบทำเอกสารส่งสำนักงานที่จะตรวจสอบมาตรฐาน (พวกเธอไม่ต้องเรียนก็ได้ ถ้าเอกสารผ่าน อาจารย์ก็สบาย แล้วจะตรวจสอบมาตรฐานกันทำไม งง จัง....)


นักศึกษาเอารายงานไปทำนะ
ไชโย ดีใจจัง อาจารย์ไม่มาสอน
ไปเที่ยวห้างกันเถอะ
ไปดูหนังกันไหม
ซื้ออะไร (กับแกล้ม) ไปกินที่หอกันดีกว่า
ไปเที่ยวน้ำตกกันดีกว่า ไปเที่ยวเขื่อนกัน
สิ่งที่ตามมา
เสียเงิน อุบัติเหตุ ชู้สาว ยาเสพติด ปัญหาสังคมอีกมากมาย
ก็เพราะอาจารย์ติดประชุม......


สิ่งเหล่านี้จะเรียกได้หมดว่าเป็น “ชุดโจทย์วิจัยหลัก” ข้อเน้นคำว่า “หลัก” คือทำก่อนสิ่งอื่นครับ โดยเฉพาะถ้าทำแบบ PAR เพราะ PAR ทำปุ๊บได้ปั๊บไงครับ ร่วมวางแผน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมกันได้ผลประโยชน์ ทำกับใครก่อนดีล่ะ นักศึกษาหรือสำนักงานต่าง ๆ ในจังหวัด


ไม่วิจัยแล้วเอาอะไรไปสอน


ถ้าไม่วิจัยเรื่องการสอนแล้วเราจะมีใครเหลือให้สอนล่ะ.....

ไม่วิจัยแล้วเอาอะไรไปสอน ก็อาจจะเอาตำราเก่า ๆ ที่มาจากเครื่อง Xerox Machine III Class ไปสอนไงครับ สบายมาก อ่านปุ๊บทำแผ่นใสปั๊บ ทำ Power point ปุ๊บ ปิ้งแผ่นใส ฉาย LCD ได้เลย สบาย ๆ สามคาบหรือว่าสามสิบชั่วโมง ก็ไม่มีปัญหา ปิ้งไป พูดไป สบายแฮ...



ถ้าไม่วิจัยเรื่องการสอนแล้วเราจะมีใครเหลือให้สอนล่ะ.....


ประเด็นนี้ฝากไว้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ตามสไตล "กบฏวิชาการครับ"

 

หมายเลขบันทึก: 45298เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2006 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ขอบคุณครับที่บันทึกเรื่องนี้
  • ผมชินกับการวิจัยเชิงทดลองในห้อง Lab. มานาน ในอนาคต อาจจะถึงเวลาทำ วิจัยในห้องเรียนห้องสอน บ้าง
  • คงได้มีโอกาสปรึกษาอาจารย์นะครับ ผมกำลังคิดจะทำ  T2R (Teaching to Research) โดยได้ความคิดมาจากโครงการ R2R ของศิริราช ครับ
  • ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับคุณ Panda กับความคิดเห็นที่มีคุณค่ายิ่งในหลาย ๆ บันทึกครับ
  • โดยเฉพาะความคิดเห็นและ โครงการ R2R ของศิริราชครับ ท่านได้มาช่วยเติมเต็มเทคนิคที่ดี ๆ ให้ผมอย่างมาก ๆ เลยครับ
  • ผมถนัดแต่วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ครับ ถ้าได้เทคนิคที่สามารถวัดผลได้เชิงวิทยาศาสตร์ผนวกด้วยคิดว่าจะทำให้งานออกมาดีมากขึ้นครับ
  • ขอขอบพระคุณอีกครั้งครับ

ถูกใจอีกแล้วสำหรับเรืองวิจัย

เรืองวิจัยดูเหมือนจะเป็นยาเบื่อสำหรับคนส่วนใหญ่ ผมคิดเอาว่าน่าจะเกิดจากประสบการณ์ที่ไม่ดีตอนช่วงทำวิทยานิพนธ์ เลยทำให้หลายคนพลอยไม่อยากทำวิจัย แบบที่เรียกว่า เข็ดจนตาย (แม้แต่ผมเองก็เป็นด้วยเหมือนกัน)

พอมีนโยบายให้ทำวิจัยควบคู่ไปก้บการ  ทำงาน คนก็เลยนึกถึงภาพทำวิจัยเล่มหนา และก็นึกถึงหน้าอาจารย์ที่ปรึกษาไปด้วย สุดท้ายก็ยี้ไปตามๆ กัน

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์นะว่า จริงๆ แล้วทำเล่มเล็ก แผ่นสองแผ่น เพือตอบคำถามบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน ก็ถูกนับว่าเป็นการทำวิจัยได้เหมือนกัน

อีกเรืองที่จะอดกล่าวถึงไม่ได้ก็คือ เรืองภาระงาน กับการทำวิจัย อันนี้ยังหาข้อสรุปสวยๆ ไม่ได้สักที  ยิ่งมาถึงยุคประกันคุณภาพ ที่ต้องกำหนดภาระงานเข้าแล้วล่ะก้อ  แทบจะหายใจทางผิวหนังกันเลยทีเดียว

เรืองวิจัยในงานผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่ยังรู้สึกเป็นห่วงก็ตรงที่ ประกันคุณภาพที่กำหนดให้มีการเผยแพร่งานวิจัยด้วยล่ะก้อ คราวนี้พวกเราคงได้ไปศัลยกรรมเพิ่มแขนสักคนละสี่ห้ามือ ถึงจะพอรับมือไหว

อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ต้องทำ จะทำไงดีน้อ ++

 

 

  • ขอบพระคุณมากครับท่านคนไกล
  • ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งครับที่เข้ามาตอบข้อแสดงความความคิดเห็นของท่านช้าไปหลายวันครับ
  • "เข็ดจนตาย" เป็นคำจำกัดความที่สุดยอดมาก ๆ เลยครับ (เมื่อก่อนผมก็เคยเข็ดเหมือนกันครับ)
  • แม้กระทั่งตอนที่สอนนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ยังมีคำพูดที่ต้องบอกนักศึกษาไว้ตอนแรกกลุ่มทำวิจัยไว้เสมอว่า "ใครอยากคบกันต่อไปในภายภาคหน้า อย่ามาทำวิจัยกลุ่มเดียวกัน"
  • มีบทพิสูจน์เกิดขึ้นหลายครั้งจนแปลเปลี่ยนเป็นวาทกรรมการทำวิจัยกลุ่มไปแล้วครับ
  • ใช่แล้วครับคุณคนไกล ในเรื่องของการทำวิจัย ไม่ต้องมีอะไรมากครับ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องต้อง Review เอกสารเป็นกอง ๆ แค่ค้นหาคำตอบแล้วสรุปออกมาสักแผ่นสองแผ่น ก็เป็นวิจัยได้ครับ
  • สำหรับเรื่องศัลยกรรมขนแขนนั้น เมื่อก่อนที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยและประเมินผลของคณะวิทยาการจัดการฯ ตอนนั้นก็ขนแขนเกือบร่วงหมดครับ เพราะคณะฯ ได้รับการรับรอง ISO 9002 ด้วย ยิ่งทำให้หนักมากขึ้นครับ
  • แต่ตอนนั้นก็ผ่านวิกฤตไปได้ด้วยดีครับ เพราะมีธรรมมะเข้ามาช่วยครับ เกิดขึ้นจากตอนทำ PAR ทำให้จิตใจสงบมีสมาธิและมีสติทำให้ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำและวางแผนจนผ่านช่วงนั้นมาได้ครับ
  • ขอบพระคุณอีกครั้งครับท่านคนไกลที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นที่เยี่ยมมาก ๆ ครับ
  • ขอพลังความรู้จงสถิตกับท่านตลอดไปครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท