ชาใบหม่อนวันนี้...ที่ญี่ปุ่น


ชาใบหม่อนวันนี้...ที่ญี่ปุ่น

วิโรจน์  แก้วเรือง

          หม่อน (Mulberry : Morus spp.) ใช่เพียงอาหารหนอนไหม ไม่! ใบยังใช้เป็นอาหารและเครื่องดื่มของมนุษย์ เดี๋ยวนี้คนไทยรู้จักชาใบหม่อน เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพดีอยู่แล้ว แต่ในงานอาหารเพื่อสุขภาพครั้งที่ 21 ปี 2553 ณ ประเทศญี่ปุ่น (The 21th Food Design Show 2010) หม่อนได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น ลูกอม บะหมี่ โซบะ ชาหม่อน น้ำชาหม่อนกระป๋อง ซุปและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น ผงหม่อนอัดเม็ด ฯลฯ

            งานอาหารเพื่อสุขภาพของญี่ปุ่นจัดให้มีการแสดงทุกปีที่อาคารแสดงนิทรรศการของกรุงโตเกียวที่เรียกว่า โตเกียวบิกไซท์ (Tokyo Big Sight) หรือศูนย์แสดงนิทรรศการนานาชาติโตเกียว (Tokyo International Exhibition Center) อาคารเป็นรูปทรงปิรามิดคว่ำ 4 หลัง ติดต่อกัน สูงจากพื้น 58 เมตร ภายในมีห้องแสดงนิทรรศการ นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมขนาด 1,000 ที่นั่ง โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และภัตตาคารอีกจำนวนมาก ที่ตั้งอาคารหลังนี้จะอยู่ในย่านที่เรียกว่าโตเกียวใหม่ (New Tokyo) เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถมทะเล ดังนั้นอาคารและสิ่งก่อสร้างล้วนแล้วแต่เป็นโลกอนาคต แม้แต่รถไฟฟ้าจากสถานีนิฮงบาชิ (Nihonbashi) ไปยังโตเกียวบิกไซท์ ยังเป็นรถที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติไม่มีพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร เส้นทางรถไฟสายนี้จะเห็นวิวทิวทัศน์ของอ่าวโตเกียวสวยงามมาก แต่ที่ไม่ค่อยสวยงามและก้าวล้ำไปในอนาคตมากเกินไปสำหรับคนไทยคือค่าโดยสาร คิดดูซิครับจากที่พักย่านชินจูกุ(Shinjuku)ไปนิฮงบาชิ ราคา 190เยน จากที่นี่ต่อไปยังโตเกียวบิกไซท์อีก 370เยน รวม 560 เยน กอปรด้วยช่วงที่เดินทางไปชมงานวันที่ 18-24 กันยายน 2553 ค่าเงินเยนสูงมาก อัตราแลกเปลี่ยน 100 เยน มีค่าเกือบ 37บาท ดังนั้นค่ารถเที่ยวเดียวประมาณ 207บาท ระยะทางก็ประมาณสถานีรถไฟบางเขนถึงหัวลำโพง รถไฟฟ้าสายนี้จะจอดเทียบชานชลาหน้าอาคารนิทรรศการเลยทีเดียว  จึงสะดวกมาก 

         เมื่อไปถึงอาคารจะมีการจัดงานและการแสดงนิทรรศการหลายงานมากแต่จะซุ้มประชาสัมพันธ์ และมีป้ายบอกทิศทางการเข้าชมงานแต่ละงาน เมื่อถึงบริเวณหน้าทางเข้าชมงานอาหารเพื่อสุขภาพ จะมีพนักงานมาคอยต้อนรับ การลงทะเบียนจะต้องใช้รูปพร้อมนามบัตร 2ใบ เพื่อคณะผู้จัดงานจะได้ใช้ติดต่อผู้ร่วมงานในโอกาสต่อๆไป ส่วนนามบัตรอีก 1 ใบ ใช้สอดไว้ในบัตรแสดงตัวแบบคล้องคอ ทำแบบเด็กนักเรียนเลยถ้าหลงจะได้ส่งกลับบ้านถูก บัตรเข้าชมงานใบละ3,000เยน หรือราวๆ 1,200   บาทไม่ถูกเลยใช่ไหมครับ โชคดีได้รับอภินันทนาการจาก บริษัทไทยซิลค์โปรดัคส์ ผู้ส่งออกชาใบหม่อน 

         หม่อนจากประเทศไทยไปยังบริษัทโตโยตามะ(Toyotama Company) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาออกร้านในงานนี้ด้วย เราตรงดิ่งไปที่ร้านของบริษัทนี้ทันที เนื่องจากกระหายใคร่ทราบจริงๆ ว่าจะมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างจากหม่อน  พอเห็นแล้วต้องอุทานว่า ตะลึง...ตะลึง มีทั้งชาหม่อน ผงหม่อนอัดเม็ด เส้นบะหมี่และโซบะหม่อน ทอฟฟี่หม่อน น้ำชาหม่อนบรรจุกระป๋อง หลากหลายจริงๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เดินดูตามห้างสรรพสินค้าชื่อดังของญี่ปุ่น เช่น โอดาคิว(Odakyu)เคโอ(Keio) ไดมารู(Daimaru) ในกรุงโตเกียวและโซโก้(Sogo)ที่เมืองโยโกฮามา (Yokohama) จะมีชาหม่อนวางจำหน่ายอยู่ในมุมจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แม้จะไม่หลากหลายเท่าชาเขียวจากใบต้นชา(Camellia sinensis) แต่ก็แพร่หลายมากกว่าประเทศไทย เท่าที่พบมีอย่างน้อย 3 บริษัท ที่ทำชาหม่อนจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น สนนราคาอยู่ในราว 600 บาทต่อน้ำหนักชาหม่อน 90 กรัม หรือประมาณ 5-10เท่าของราคาในบ้านเรา ชาวญี่ปุ่นเรียกชาใบหม่อนว่า “คูว่าชา(Kuwacha)” แปลเป็นไทยก็คือ “ชาหม่อน” นั่นเอง และในอีกหลายๆ ประเทศก็เรียกว่า “ชาหม่อน (Mulberry Tea)” “ชาใบหม่อน (Mulberry Leaf Tea)” หรือ  “ชาสมุนไพรหม่อน (Mulberry Herbal Tea)”

         ไปดูงานกันต่อนะครับ ตลาดชาหม่อนและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากหม่อนกำลังได้รับความนิยมและสนใจจากชาวญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้ไม่แพ้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่นำมาแสดงในงานครั้งนี้ อาทิ ว่านหางจระเข้ นมผึ้งผสมนมวัว เห็ดหลินจือ เห็ดถั่งเช่า(Cordyceps)ที่กำลังฮิตเพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณเทียบเท่าไวอากร้า  เครื่องดื่มคอลลาเจน(Collagen)ชาเขียวสกัดเป็นผงทำเป็นเครื่องดื่มสำเร็จรูป วิตามินและสารสกัดจากรำข้าว แต่ที่แปลกมากคือ สารสกัดจากดินรังผึ้งในแอฟริกาใช้รักษาโรคเจ็บคอ นำมาสกัดเป็นเม็ดแบบยารักษาโรค เสียดายจริงๆ ที่มีเวลาดูนิทรรศการเพียงครึ่งวัน ในช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่บริษัทโตโยตามะ ผู้นำเข้าชาหม่อนของญี่ปุ่น จะพาไปชมโรงงานและสถานีวิจัยของบริษัทที่เมืองมินามิ อชิการ่า (Minamiashigara)โดยนั่งรถไฟด่วน ชิน กัง เซน (Shin Kan Sen) ที่มีความเร็วประมาณ 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากโตเกียวไปที่สถานีโอดาบาร่า(Odabara) ใช้เวลาวิ่งเพียง 35 นาที ค่าโดยสาร 3,700 เยน ราว 1,270 บาท แล้วต่อด้วยรถไฟสายท้องถิ่น อีก 5 สถานีก็ถึงบริษัทฯซึ่งอยู่ติดสถานีรถไฟ  ลงจากรถไฟก็ได้กลิ่นหอมอบอวลไปหมด ไม่สามารถแยกออกว่าเป็นกลิ่นอะไร เมื่อประธานที่ปรึกษาอาวุโส แนะนำความเป็นมาของบริษัท จึงทราบว่าบริษัทนี้สกัดกลิ่นหอมที่ใช้ผสมในอาหาร เครื่องดื่มและเครื่องสำอางเป็นหลัก เช่น กลิ่นที่ผสมในหมากฝรั่ง น้ำอัดลม และแชมพู เป็นต้น รองลงมาคือผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ

      บริษัทโตโยตามะก่อตั้งมากว่า 90 ปี เดิมอยู่ในโตเกียว เมื่อประชาชนหนาแน่นมีปัญหาสิ่งแวดล้อม คือเรื่องกลิ่น จึงย้ายโรงงานออกมาอยู่ที่นี่ แต่ปัจจุบันเมืองมินามิอชิการ่า ก็กลายเป็นเมืองแออัดไปด้วยชุมชนอีกครั้ง และมีปัญหาเมื่อชาวบ้านเริ่มทนต่อกลิ่นหอมต่อไปไม่ไหว โรงงานอาจจะต้องถูกย้ายออกไปในอนาคตอันใกล้นี้อีกครั้ง เห็นไหมล่ะครับ ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง กลิ่นหอมดมทุกวันยังเหม็นได้ ภายในบริษัทมีนักวิจัยประมาณ 20 คน มีห้องปฏิบัติการ เครื่องมือวิทยาศาสตร์อันทันสมัย ส่วนของชาใบหม่อนที่นำเข้ามาจากประเทศไทย นอกจากนำไปใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อจำหน่ายแล้ว ยังนำมาสกัดเป็นสารละลายเข้มข้นก่อนนำไปเข้าเครื่องสเปรย์ดรายกลายเป็นผง แล้วอัดเป็นเม็ด มีการตรวจวิเคราะห์หาสารที่มีประสิทธิภาพลดน้ำตาลในเลือดได้ คือ สาร ดี เอ็น เจ(DNJ=1-deoxynojirimycin) และสารกาบา (GABA : gamma aminobutyric acid) ซึ่งมีประสิทธิภาพลดความดันโลหิต เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ในห้างสรรพสินค้า หม่อนอัดเม็ด 1กล่องจำนวน 100 เม็ด ราคา 3,900 เยน หรือ ราว 1,560 บาท หรือนำไปผสมเส้นบะหมี่ เส้นโซบะ ซุปหรือลูกอม ที่นำออกจำหน่ายแล้ว ญี่ปุ่นพร้อมนำเข้าใบหม่อนมากขึ้นเป็นปีละเกือบ 200 ตัน จากเดิมที่มีการนำเพียงเข้าปีละ 100 ตัน แถมมีแนวโน้มที่จะนำเข้าไปเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของสัตว์เลี้ยง อีกทั้งยังพบว่าชาใบหม่อนช่วยลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเนื้อไก่และไข่ไก่ ส่วน กรมหม่อนไหม เมื่อครั้งยังเป็นสถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร ได้ใช้ใบหม่อนมาทำอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด เช่น ข้าวเกรียบใบหม่อน ชาหม่อนอบกรอบปรุงรส ชาหม่อนมะนาว หรือการนำใบหม่อนไปประกอบเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น ยำปลากระป๋องใบหม่อน แกงอ่อม ผักลวกจิ้มน้ำพริก ซึ่งเป็นทางเลือกในการนำมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ถ้าท่านสนใจสามารถขอสูตรได้ทางจดหมาย โทรศัพท์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail)

                ทุกวันนี้ ประเทศที่เจริญแล้ว ดังเช่น ญี่ปุ่น ประชาชนอยู่ดีมีสุข ยกเว้นในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นประสบกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิที่เมืองเซนไดอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 140 ปี และมหันตภัยจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองฟูกูชิมาในคราวเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา แต่เชื่อมั่นว่าหลังจากประเทศญี่ปุ่นฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติ และอุบัติภัยทั้งมวลแล้ว ปัญหาสุขภาพจะได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งอีกครั้ง อาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้เข้ามาสู่วิถีชีวิตของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย อีกทั้งการใช้ชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นทุกคนต้องรีบเร่งแข่งกับเวลา อาหารแคปซูล อาหารเม็ด จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอนาคตและมีแนวโน้มการเจริญเติบโตของตลาดสูง ประเทศไทยของเราล่ะครับ พร้อมที่จะทุ่มเททำการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าของหม่อนหรือยัง หรือมุ่งหวังเพียงจำหน่ายวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว

 

บรรณานุกรม

 

วิโรจน์ แก้วเรือง. 2543. ชาหม่อน. สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

             40 หน้า

หมายเลขบันทึก: 451351เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านจนอยากปลูกหม่อนบ้างแล้วครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท