Note taker_R2R


การบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขยายคุณค่างานประจำ: R2R พัฒนาระบบบริการ (JUPITER 6-7)

วันที่ 21 กรกฎาคม  2554  เวลา 13.00-16.30 น.

 

เริ่ม 13.00-16.30 น.

ผู้ดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศ. นพ. สมบูรณ์ เทียนทอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทักทายและกล่าวถึงกิจกรรมในช่วงบ่ายนี้รวมทั้งอธิบายการคัดเลือกกลุ่มที่มานำเสนอในช่วงแรก 4 โรงพยาบาล โดยคัดเลือกลักษณะโรงพยาบาลที่มีความแตกต่างกันในแง่ของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและเล็กสุด

ผศ (พิเศษ) นพ. ไพโรจน์ บุณลักษณ์ศิริ จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ ประธานเครือข่าย R2R ภาคใต้  แนะนำผู้นำเสนอในวันนี้ ประกอบด้วย

  1. คุณใบศรี อุทธสิงห์  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รก รพศต เขื่องใน จังหวัดอุบล
  2. ภก นีลนาถ เจ๊าะยอ หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม  รพ หนองจิก จังหวัดปัตตานี รับผิดชอบ DM clinic
  3. พญ. พจี  เจาฑะเกษตริน สาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา
  4. คุณธวัลฉัตร ลีลานันทวงศ์  รพ พระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี
  5. แนะนำ Note takers  4 คน คือ อุบล จ๋วงพานิช เกศนี บุยวัฒนางกุล คุณวรวรรณ ตุลยสุขและคุณอรวรรณ วัฒนกุล

 

คุณใบศรี อุทธสิงห์ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเข้มแข็งเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยางขี้นก โดยใบศรี   อุทธสิงห์  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ

 

เล่าถึง สภาพปัญหาโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเป็นภัยคุกคามภาวะสุขภาพของคนไทยมาช้านานซึ่งสถิติ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยางขี้นก   พบว่า  ปี  2551  มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก  จำนวน  7  ราย  คิดเป็นอัตราป่วย  282.47 ต่อแสนประชากร  โรคเบาหวาน  จำนวน 63 คน  อัตราป่วย  2,452.32  ต่อแสนประชากร   โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 42  คน   อัตราป่วย 1,634.88  ต่อแสนประชากร    ซึ่งการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคในอดีต   เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  เป็นหน้าของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขเท่านั้น  ในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคควรมีการดำเนินงานในเชิงรุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยางขี้นก  ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกับผู้นำชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม., อบต.  ร่วมกันระดมความคิดเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันสร้างเครือข่ายในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรค  การทำงานที่ผ่านมาไม่บรรลุวัตถุประสงค์ใช้งบประมาณมากยังเกิดโรคติดต่อและไม่ติดต่อมาตลอด การประสานงานกับทุกภาคส่วนมีปัญหาอุปสรรคมาก  การทำงานไม่ราบรื่น   ค้นหาศักยภาพทุนทางสังคมผังเครือญาติผู้นำประวัติผู้นำและค้นพบสมุนไพรพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

การดำเนินการวิจัย มีการสำรวจลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์โดยอสม.ไขว้หมู่บ้านไขว้าตำบล  การใช้วิธีการทางกายภาพและชีวภาพทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายใช้ วิธี 4 ป.  ปรับ   ปิด   เปลี่ยน  ปล่อย  ควบคู่กับการใช้สมุนไพรพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น  การสร้างเครือข่ายในชุมชน  นำไปสู่การทำบันทึกตกลงความร่วมมือการสร้างแรงจูงใจการประกวด  ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณะกรรมการศูนย์ควบคุมโรค การประกวดเพื่อกระตุ้นและสร้างขวัญกำลังใจ โดยนำแกนนำท้องถิ่นมาเป็นส่วนร่วมในการดำเนินการ คือ ผู้นำท้องที่/ผู้นำท้องถิ่น  อสม.  ครู  นักเรียน   พระภิกษุ   กลุ่มแม่บ้าน   กลุ่มเยาวชน   เกษตรพัฒนากร ครู กศน. สายตรวจประจำตำบล

ผลการวิจัย พบว่า ค่าสำรวจลูกน้ำยุงลาย (HI,CI) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่เกิดไข้เลือดออก 3 ปีติดต่อกัน  มีเครือข่าย

ศูนย์ควบคุมป้องกันโรคและภัยสุขภาพเข้มแข็งประจำหมู่บ้าน เกิดกฎกติกาหมู่บ้าน การทำงานโดยมีทุกภาคส่วนเป็นเครือข่าย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับรู้ ร่วมแก้ไข ทำให้การประสานงานสะดวกราบรื่น มีความรักสามัคคี มีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลและยั่งยืนตลอดไป และมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว  ตำบลละ 5 คน  หมู่บ้านละ  5  คน

ความภาคภูมิใจและความสำเร็จ ไม่มีโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นในชุมชนจากปี พ.ศ.2551 – 2554 ได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้าน / โรงเรียนปลอดลูกน้ำยุงลายของอำเภอเขื่องใน ได้รับรางวัลชนะเลิศมหกรรมสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี    เรื่อง   ศูนย์ควบคุมโรคประจำหมู่บ้าน ได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านจัดการสุขภาพ ได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มีเครือข่ายป้องกันควบคุมโรคที่เข้มแข็งและยังยืน

 

 เรื่องที่ 2  พญ. พจี  เจาฑะเกษตริน นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบปริมาณรังสีสะสมที่บุคคลในครอบครัวได้รับจากการรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษด้วยไอโอดีน-131 ที่มีความแรงรังสีต่ำและสูง

เริ่มต้นกล่าวถึง การรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษด้วยไอโอดีน-131 (ไอโอดีนรังสี) เป็นการรักษาที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับหนึ่งของการรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์  การรักษาดังกล่าวเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (ความแรงรังสีของไอโอดีน-131 ต่ำกว่า 30 มิลลิคูรีอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมให้ผู้ป่วยรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกตามข้อกำหนดของ  ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ)  บุคคลในครอบครัว และ/หรือกลุ่มเสี่ยงในครอบครัวเช่นเด็ก มีโอกาสได้รับรังสีที่แผ่จากตัวผู้ป่วย ขีดจำกัดของปริมาณรังสีสะสมกำหนดโดยคณะกรรมาธิการป้องกันอันตรายจากรังสีระหว่างประเทศ  ปริมาณรังสีสะสมบุคคลทั่วไป และเด็ก 1 มิลลิซีเวิร์ท/ปี  ผู้ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด 5 มิลลิซีเวิร์ท/ครั้งของการรักษา โดยมีขั้นตอนการรักษา คือ แพทย์ตรวจและสั่งยาไอโอดีนรังสีแก่ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษผู้ป่วยได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวการป้องกันอันตรายจากรังสี ผู้ป่วยดื่มยาไอโอดีนรังสีแล้วกลับบ้าน ทำให้บุคคลในครอบครัว มีโอกาสได้รับรังสีที่แผ่จากตัวผู้ป่วย  ผู้ป่วยในประเทศไทย มีสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวแบบไทยได้ปฏิบัติตามคำแนะนำครบถ้วนหรือไม่ และมีผลทำให้บุคคลในครอบครัวได้รับรังสีปริมาณเท่าใด การรักษาแต่เดิมเป็นแบบ ความแรงรังสีต่ำ (ความแรงรังสีต่อน้ำหนักต่อมไทรอยด์ 100 ไมโครคูรี/กรัม) แพทย์ได้พิจารณาถึงการรักษาแบบ ความแรงรังสีสูง เพื่อต้องการผลการรักษาที่ดีกว่าและค่าใช้จ่ายน้อยกว่า   (ความแรงรังสีต่อน้ำหนักต่อมไทรอยด์ 150 ไมโครคูรี/กรัม)

 วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อวัดและเปรียบเทียบปริมาณรังสีสะสมที่บุคคลในครอบครัวได้รับจากการรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษด้วยไอโอดีน-131 ที่มีความแรงรังสีต่ำและสูง  และเปรียบเทียบปริมาณรังสีที่บุคคลในครอบครัวได้รับจากการรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษทั้งสองแบบกับขีดจำกัดตามมาตรฐานสากล (ที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการป้องกันอันตรายจากรังสีระหว่างประเทศ

ผลการวิจัย   ค่ามัธยฐานของปริมาณรังสีสะสมในกลุ่ม ก. เท่ากับ 0.32 มิลลิซีเวิร์ด และกลุ่ม ข. เท่ากับ 0.39  มิลลิซีเวิร์ท ซึ่งไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p = 0.781)  บุคคลในครอบครัวร้อยละ 96.4 ในกลุ่ม ก. และร้อยละ 93.4  ในกลุ่ม ข.  ได้รับรังสีต่ำกว่า 1 มิลลิซีเวิร์ท ซึ่งเป็นขีดจำกัดของการได้รับรังสีสำหรับบุคคลทั่วไปและเด็ก  ปริมาณรังสีสะสมของบุคคลในครอบครัวกลุ่มย่อย  กลุ่ม (2) ญาติในบ้าน  และ (3) เด็ก ได้รับปริมาณรังสีไม่เกิน 1 มิลลิซีเวิร์ท  สำหรับกลุ่มย่อย (1) คือผู้ดูแลใกล้ชิด มีเพียง 2 ราย ใน 22 ราย ของกลุ่ม ก. คิดเป็นร้อยละ 9.1 และ  2 ราย ใน 24 ราย ของกลุ่ม ข. คิดเป็นร้อยละ 8.3 ที่ได้รับปริมาณรังสีเกิน 1 มิลลิซีเวิร์ท แต่ไม่เกินค่าขีดจำกัดสำหรับผู้ให้การดูแลผู้ป่วยคือ 5 มิลลิซีเวิร์ท  และปริมาณรังสีที่บุคคลในครอบครัวได้รับไม่สัมพันธ์กับอัตราการแผ่รังสีจากตัวผู้ป่วย   (r = 0.236)

สรุป   บุคคลในครอบครัวได้รับปริมาณรังสีสะสมจากผู้ป่วยที่รักษาด้วยไอโอดีน-131 ทั้งแบบความแรงรังสีต่ำและสูง ไม่แตกต่างกัน  ปริมาณรังสีสะสมดังกล่าวไม่เกินขีดจำกัดตามมาตรฐานสากล  ปริมาณรังสีที่บุคคลในครอบครัวได้รับส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดผู้ป่วย  และคำแนะนำและการปฏิบัติตัวในการป้องกันอันตรายจากรังสีมีความเหมาะสม

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์  การศึกษาที่พบว่าบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีสะสมไม่เกินขีดจำกัดตามมาตรฐานสากล จะทำให้ผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัวลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอันตรายจากรังสี  มีโอกาสทบทวนและพบว่าคำแนะนำในการปฏิบัติตัวในการป้องกันอันตรายจากรังสีมีความเหมาะสม ผู้ป่วยและญาติปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามคำแนะนำบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มได้รับปริมาณรังสีสะสมไม่แตกต่างกันและไม่เกินขีดจำกัดตามมาตรฐานสากล ทำให้แพทย์มั่นใจได้ว่าถ้าเลือกการรักษาแบบความแรงรังสีสูงจะไม่ทำให้บุคคลในครอบครัวเหล่านี้ได้รับรังสีสูงเกินขีดจำกัด

บทเรียนที่ได้รับ  สามารถนำงานประจำมาทำวิจัยเพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ  ความตั้งใจของคณะผู้วิจัย การสนับสนุน คำแนะนำและทุนทำวิจัยจากโครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ความร่วมมือจาก สาขาวิชารังสีรักษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในการอนุเคราะห์เครื่องมืออ่านค่านับวัดรังสี ความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติ ความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่สาขาวิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ทุกท่าน

 

รศ นพ สมบูรณ์ เทียนทอง ดำเนินอภิปรายว่า 

ความสำเร็จจากการทำวิจัย

พญ พจีซึ่งเป็นตัวแทนนักวิจัยระดับมหาวิทยาลัย ในภาควิชาทำอย่างไรจึงมีงานวิจัย R2R ได้อย่างต่อเนื่องและได้รับรางวัลเกือบทุกปี และในปีนี้ได้ 3 เรื่อง

พญ พจี กล่าวว่า ภาควิชามีการทำวิจัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อาจารย์นายแพทย์ร่มไทรยังทำงานที่ภาควิชาฯ ลูกศิษย์จึงได้รับมรดกจากอาจารย์ เพราะงานรังสีรักษา ทุกคนทั้งคนทำงานและคนที่มาใช้บริการรู้สีกว่าเป็นงานที่น่ากลัว เราจึงทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่า มาตรฐานในการทำงานมีความปลอดภัย

สำหรับคุณใบศรี ทำงานในโรงพยาบาลขนาดเล็ก คือ รพสต ทำวิจัย R2R ได้อย่างไร

คุณใบศรีกล่าวว่า การที่ได้รับรางวัลในวันนี้เนื่องจากเกิดแรงบันดาลใจในปีที่แล้วมานั่งฟังและดูเพื่อนที่ได้รางวัล และจำได้ว่า นพ โกมาตรเป็นวิทยากรและบอกว่า การทำวิจัยเรื่องแรกเป็นเรื่องน่าอาย แต่เราทำวิจัยเรื่องแรกก็ได้รางวัลเลย ถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ

การนำผลการวิจัยไปใช้  การประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย

คุณใบศรี บริบทของ รพสต สามารถนำไปใช้ได้ทุกแห่ง เพราะองค์กรมีองค์ประกอบเหมือนกัน

พญ พจี กล่าวว่า การใช้รังสีรักษาหรือการกินสารกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่จะมีเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ อาจเป้นเรื่องยุ่งยากที่จะไปปรับใช้

คุณค่าของงานวิจัยและความสำเร็จและความสุขจากการทำ R2R

นพ ไพโรจน์ ถามว่า การทำงานทุกวันนี้ยุ่งยากอยู่แล้ว อยากถามว่าทุกท่านมีความสุขจากการทำวิจัยหรือไม่

พญ พจี กล่าวว่า ตอนแรกก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะเครื่องวัดรังสี ต้องไปยืมมาใช้ ผู้มาช่วยทำวิจัยก็งานยุ่งไม่มีเวลามาช่วย

คุณใบศรี งานนี้สำเร็จได้จากการที่ได้ทำงานประจำแล้วนำมาเขียนให้เป็นงานวิจัย  โดยมีทีมพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นทีมสาธารณสุขมาช่วยเขียน นอกจากนี้เขตชุมชนที่รับผิดชอบเป็นชุมชนที่เรียบง่าย ประสานงานง่าย ทำผังเครือญาติ สร้างความคุ้นเคยในชุมชนก่อน และจากตัวผู้วิจัยเองก็ทำงานมานานมีประสบการณ์ ผู้นำชุมชนรู้จักกันดีและเป็นรุ่นเดียวกัน ทำให้การเข้าถึงได้ง่ายขึ้น  Key success คือ ความไว้วางใจ

 

Session 2  กลุ่มที่ 1

ผู้เข้าร่วมนำเสนอ มีผลงานวิจัย ประกอบด้วย

  1. ประชาชนทัพทัน สามารถจัดการสุขภาพชุมชนได้ดวยตัวเองจริงหรือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยคุณสมนึก หงษ์ยิ้ม โรงพยาบาลทับทัน จังหวัดอุทัยธานี
  2. การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิด STEMI โดย คุณสุเพียร โภคทิพย์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
  3. ผลการเจือจาง Dexamethasone ในการให้ยาทางหลอดเลือดดำต่ออาการคันตามร่างกายในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด คุณชยุต ใหม่เขียว โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  4. การศึกษาเปรียบเทียบไปข้างหน้าแบบสุ่มเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของต้นทุนประสิทธิผลในการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษโดยการใช้ไอโอดีน-131 ด้วยความแรงรังสีสูงและต่ำ โดย รศ. พญ. ภาวนา ภูสุวรรณ จาก โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล

 

ศ นพ สมบูรณ ผู้ดำเนินการกล่าวแนะนำผู้นำเสนอและให้แต่ละคนนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทีละคน

คุณชยุต ใหม่เขียว นำเสนอผลงานวิจัย

เรื่อง ผลการเจือจาง Dexamethasone ในการให้ยาทางหลอดเลือดดำต่ออาการคันตามร่างกายในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ที่มาของปัญหา ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดได้รับ  Dexamethasone   เพื่อป้องกันภาวะ Hypersensitivity Reaction และ N/V  เกิดอาการคันตามร่างกายภายใน 20 – 40 วินาที        และเกิดอาการนาน 30 – 45 วินาที  ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายต่อผู้ป่วย   รู้สึกหวาดกลัวและท้อแท้ต่อผลข้างเคียงจากการรักษา คำถามการวิจัย  การเจือจาง Dexamethasone ก่อนให้ทางหลอดเลือดดำจะลดการเกิดอาการคันตามร่างกายได้หรือไม่ ลดได้เท่าไร

วัตถุประสงค์การวิจัย  เพื่อ ศึกษา1) อุบัติการณ์การเกิดอาการคันตามร่างกายในผู้ป่วยที่ได้รับ Dexamethasone เจือ

จางในขนาดต่างๆ กันก่อนให้ทางหลอดเลือดดำ 2) การให้ Dexamethasone ที่ความเจือจางเท่าใดที่มีโอกาสเกิดอาการคันตามร่างกายน้อยที่สุด และ 3) ระยะเวลาที่เริ่มเกิดอาการคันตามร่างกายในผู้ป่วยที่ได้รับ Dexamethasone เจือจางในขนาดต่างๆ กันก่อนให้ทางหลอดเลือดดำ

ผลการวิจัย ผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีการเจือจาง Dexamethasone และในกลุ่มที่     เจือจางในน้ำเกลือนอร์มัลจำนวน 10

มิลลิลิตรผู้ป่วยเกิดอาการคันร้อยละ 70.97 เท่ากันทั้ง 2 กลุ่ม  ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับเจือจาง Dexamethasone ในน้ำเกลือนอร์มัล 50 มิลลิลิตร ผู้ป่วยทุกคนไม่มีอาการคัน

การนำผลวิจัยไปใช้ ปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยา Dexamethasone  ก่อนการให้เคมีบำบัด โดยการเจือจางในน้ำเกลือนอร์มัล 50 มิลลิลิตรหยดเข้าทางหลอดเลือดดำนาน 10 นาที เพื่อป้องกันการเกิดอาการคันตามร่างกาย

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ การมุ่งมั่นพัฒนางานโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง     มุ่งสู่การพยาบาลที่เป็นเลิศ

ศ นพ สมบูรณ์ เทียนทอง กล่าวชื่นชมว่า การทำวิจัยชิ้นนี้มีจุดเด่นที่สามารถนำเอาเรื่องความทกข์ทรมานของผ้ป่วยมาใช้ในการแก้ปัญหา แต่ถ้าอธิบายให้เห็นปัญหาเชิงคุณภาพว่าอาการคันแล้วทุกข์ทรมานอย่างไรจะทำให้เห้นประเด็นได้ชัดยิ่งขึ้น

คุณชยุต ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การนำ Dexa มาผสมกับ Nss 50 CC จะต้องเสียค่าใช่จ่ายเพิ่มขึ้น เราจึงนำไปปรึกษากับเภสัชกร และทีมว่า การเตรียม Pre-med เราควรผสมทั้ง dexa+Onsia เพราะยาทั้งสองชนิดไม่มี Drug interaction กันและเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

อุบล จ๋วงพานิช Note taker

28/07/54

 

หมายเลขบันทึก: 451186เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2011 05:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาเชียร์งานวิจัยดีๆ ครับผม

ขอบคุณค่ะ อาจารย์โสภณ ที่ให้กำลังใจคนหน้างาน

สรุปบทเรียนของการทำ R2R ประสบผลสำเร็จ (Key success)

  • ผู้วิจัยเป็นคนหน้างาน มีความมุ่งมั่นพัฒนางานในหน่วยงานโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มีกระบวนการสร้างความรู้ได้ โดยผ่านกระบวนการทำ R2R เป็นการที่ทำให้คนหน้างานได้ฝึกฝนวิถีแห่งการคิดอย่างเป็นระบบ อย่างมีเหตุมีผล
  • การทำวิจัย R2R  ทุกคนสามารถทำได้ เริ่มต้นจากที่มีใจอยากทำ ทำด้วยความสมัครใจ ทำแล้วมีความสุข
  • การทำวิจัย R2R ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำเป็นทีม
  • ประเด็นที่น่าสนใจคือ การประเมินผล "การวัดความทุกข์ของผู้ป่วย ที่ไม่สามารถประเมินค่าออกมาเป็นตัวเลขได้" สามารถนำความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยมาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
  • การทำวิจัยในชุมชน ต้องให้ชุมชนมีความไว้วางใจและมีทีมพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาในการเขียนรายงาน
  • การทำวิจัยจะสำเร็จได้ จากการได้รับการสนับสนุน คำแนะนำและได้รับทุนทำวิจัยจากโครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R)
  • ผลการวิจัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างได้ผล คนเป็นสุข ผลการวิจัยทำให้ผู้รับบริการสะดวก ปลอดภัย พอใจ สำหรับผู้ใช้บริการทำให้ลดภาระงาน ลดค่าใช้จ่าย ได้ระบบการดูแลที่ดี นำไปสู่การบริการที่ดี

อุบล จ๋วงพานิช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท