วิถีชีวิตคนแนวชายแดน ที่สืบทอดความไร้รัฐไร้สัญชาติจากรุ่นปู่ ถึงพ่อ ถึงลูก ทั้งที่ทุกคนเกิดในประเทศไทย


“เมื่อก่อนผมไปโรงเรียนก็อายเพื่อน ครูขอทะเบียนบ้านก็ไม่เคยมีให้ เวลาอยู่โรงเรียนเขาจะแบ่งเด็กไทยกับเด็กนอกเกณฑ์อย่างผม ทำอะไรก็แยกกัน รายชื่อก็แยก เวลาอ่านข้อสอบก็แยกกัน ไม่เหมือนอย่างสมัยนี้...ตอนนั้น อยากเรียนต่อเหมือนกัน แต่ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งอายขึ้น”

 นายกาหรีม เจริญฤทธิ์  :  คนไร้รัฐที่เกิดในประเทศไทย จากบิดาที่มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ  และมารดาที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย

                คำบอกเล่าของบิดา ที่ถ่ายทอดความรู้สึกเจ็บปวดร้าวลึกกว่าคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั่วไป ด้วยความเป็น คนไทยพลัดถิ่น ที่สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าตนเป็นลูกหลานไทย ยิ่งต้องตอกย้ำเมื่อเห็นความเจ็บปวดนี้สืบทอดไปยังลูกหลาน

 

ลูกๆ ไปเข้าเรียน ก็อาย ..เวลาลูกมาทวงขอทะเบียนบ้านไปให้ครู ก็ได้แต่บอกลูกว่า จะไปเอาที่ไหน พ่อยังถือใบต่างด้าวเลย !! .. เวลามีประชุมผู้ปกครอง ก็ไม่กล้าไป

 

                นายหมาด เจริญฤทธิ์ บิดาของนายกาหรีม เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ที่บ้านหินช้าง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง เมื่ออายุ ๑๑ ปี ได้ไปเรียนศาสนาอิสลามที่เกาะสอง ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ๓-๔ ปี จากนั้นได้ทำสวนอยู่ต่อกับบิดา [1]มารดาซึ่งย้ายไปทำสวน ที่บ้านสิบไม้ ตำบลเกาะสอง จังหวัดมะริด จนกระทั่งแต่งงานกับภรรยาคนแรก มีบุตร ๓ คน  ต่อมาเมื่อแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง จึงได้พาภรรยาย้ายกลับมาอยู่ประเทศไทยที่บ้านกำพวน ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง แต่ในขณะนั้นนายหมาด ก็ยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างเกาะสอง ตามลักษณะอาชีพประมง จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๐  จึงได้ปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านหินช้างอันเป็นที่อยู่ในปัจจุบัน หลังจากนั้นก็เริ่มได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ระบุว่ามาจากประเทศพม่า

 

ปัจจุบัน นายหมาดเพิ่งได้รับสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ และถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองระนอง ขณะที่นางฮารีด๊ะ วิชัย มารดาของนายกาหรีมซึ่งยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติไปพร้อมสามี ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ยังคงถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่จนถึงปัจจุบัน

 

                กาหรีม เป็นบุตรคนแรกที่เกิดกับภรรยาคนปัจจุบัน เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๘ ที่บ้านกำพวน ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง โดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอดให้ ต่อมาเมื่ออายุ ๑๑ ปี ได้ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านหินช้าง ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง อันเป็นที่อยู่ในปัจจุบัน จึงได้มาเข้าเรียนจนจบชั้น ป.๔

 

                ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน กาหรีมยังไม่เคยมีเอกสารราชการใดๆ ที่สามารถยืนยันการมีตัวตนในประเทศไทยได้  แม้จะเคยเรียนจบการศึกษาภาคบังคับในขณะนั้น หรือแม้เมื่อครั้งที่บิดาและมารดาได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยหลายครั้ง กาหรีมก็ไม่เคยได้สำรวจด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่บอกว่ายังเด็ก ให้รอก่อน

 

                กาหรีม จึงตกเป็นคนไร้รัฐที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ เลย จนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงรอให้มีการบันทึกประวัติและเลขประจำตัว ๑๓ หลักในทะเบียนราษฎรไทย หลังจากที่กาหรีมพร้อมภรรยาและลูก เพิ่งได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไปเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๙

 


[1] บิดาของนายหมาด ชื่อนายอาบู ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว แต่น้องสาวชื่อนางเมีย ทับสมุทร เกิดเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ และมีบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่ ๓-๘๕๐๑-๐๐๓๐๖-๙๖-๖

 
หมายเลขบันทึก: 45066เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เท่าที่ได้สัมผัสชีวิตชาวบ้านแนวชายแดน ไม่ว่าจะกรณีชายแดนทางเหนือตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย เชียงใหม่ หรือชายแดนทางฝั่งประเทศลาว เช่นชุมชนชาวลัวะ ถิ่น อำเภอปัว จังหวัดน่าน  กรณีพี่น้องกะเหรี่ยงชายแดนตะวันตก อย่างอำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี หรือกรณีพี่น้องไทยพลัดถิ่นชายแดนระนอง อย่างในกรณีนี้

ชีวิตชาวบ้านรากหญ้าที่ต้องทำมาหากิน ไปๆ มาๆ ข้ามพรมแดน ๒ รัฐ  ส่งผลให้พวกเขาต้องประสบชะตากรรมไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไม่ต่างกันเลย

เราน่าจะต้องมีนโยบายเฉพาะสำหรับกลุ่มคนชายแดนลักษณะนี้ ซึ่งนับวันปัญหาก็จะใหญ่ขึ้นทุกที

หากข้อเท็จจริงฟังว่า หมาดเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ หมาดก็ไม่มีสัญชาติไทยมาตั้งแต่เกิด หมาดเป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ยังคงมีสัญชาติไทย การเข้าไปในมะริด เป็นการเข้าไปหลังจากการเสียดินแดน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแปลงสัญชาติแต่อย่างใด

ไม่ทราบต้องตี๋เห็นประเด็นตรงนี้ไหม ?

ข้อเท็จจริงของหมาดชัดนะ ดังนั้น กาหริ่มก็มีสัญชาติไทยนะ  จับประเด็นตรงนี้ให้ได้นะ ?

กลับไปแก้ปัญหาที่หมาดให้ถูก ก็จะแก้ไขปัญหาลูกทุกคนของหมาดได้

แก้ให้ตรงจุดนะ มิเช่นนั้น ปัญหาจะมาเป็นพวงโตแก้ไขไม่ได้

เห็นปัญหานี้อยู่ครับ แต่อย่างที่ว่ากระบวนการให้สัญชาติมันผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น คือไม่มีการพิสูจน์สถานะอย่างชัดเจน อีกทั้งในทะเบียนก็ระบุเกิดในพม่าอย่างชัดเจน คล้ายๆ กรณีแม่อายแหละครับ การแก้ไขหากจะรื้อทั้งหมดก็คงต้องเริ่มต้นจากการสืบหาพยานทั้งหมดที่ยืนยันได้ว่านายหมาดเกิดในประเทศไทยครับ แต่ผมว่าคงเป็นงาน เฟสต่อไป คือกรณีการแก้ไขปัญหาให้กรณีศึกษา ซึ่งคิดว่านุชน่าจะทำ ส่วนในกรณีการเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในงานวิจัยต้องเสนอแน่นอนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท