มวยไชยา ใช้ได้จริงหรือเปล่า ?


มวยไชยา ใช้ได้จริงหรือเปล่า ?

ตลอดเวลาที่ฝึกฝนวิชามวยไชยานี้ ถูกถามบ่อยครั้งมากจากคนที่ไม่รู้จักวิชานี้จริงๆ

อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ตัวผมเองก็ถามกับครูเหมือนกันในวันแรกที่ได้เจอครูแปรง ผมจึงไม่แปลกใจอะไรที่คนอื่นจะถาม

คน ที่รู้จักมวยไชยา ส่วนใหญ่แล้วก็คิดว่าเป็นเหมือนกับโชว์มวยโบราณทั่วๆไป ที่แสดงเพียงแต่ลูกไม้ให้ดูตื่นตาแต่ใช้สู้จริง ป้องกันตัวจริงๆไม่ได้ และคนที่ฝึกก็คงเพียงแต่เอาไว้แสดงโชว์

เนื้อแท้แล้ว มวยไชยา แตกต่างจากโชว์มวยโบราณที่คนรู้จักกันทั่วไป มวยไชยาเป็นศาสตร์การต่อสู้แขนงหนึ่งของไทย ที่พัฒนามาจากรูปแบบการต่อสู้ในสงครามจริงๆ และพัฒนาตามยุคสมัยเรื่อยมาถ่ายทอดกันรุ่นต่อรุ่นอย่างจริงจัง วิธีการฝึกฝน แนวคิด ปรัญชา ถูกถ่ายทอดกันมาอย่างไม่ขาดสาย จากการต่อสู้เอาชีวิตรอดในสงคราม จนถึงการต่อสู้แบบไม่มีกติกาในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการฝึกหัดเพื่อแข่งขันในกีฬาที่มีกติกา

ผม ยังจำได้ดีวันแรกที่เข้าไปพบครูที่ Time Sqaue วันนั้นครูสอนพี่มาร์ค และ มีพี่ยิ่งช่วยครูฝึกสอนอยู่ ครูแปรงตัวเล็กกว่าผมและดูเหมือนไม่มีพิษสงอะไร ภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้มที่พูดคุยกัน

 ผมก็เิริ่มคำถาม เหมือนกับคนทั่วๆไปว่า "มวยไชยา ใช้ได้จริงมั้ยครับ" เพราะผมเองก็เห็นมวยโบราณที่แสดงมาเยอะแต่เป็นเพียงการแสดงเท่านั้น ไม่ไ้ด้มีหลักวิชาการต่อสู้อะไร

 ครูแปรงมองหน้าผม ยิ้มๆ และ ถามกลับมาว่า "เธอเรียนวิชาต่อสู้อะไรมาบ้างละ" ผมก็ตอบว่า "มวยไทย ไทเก็ก ไอคิโด" นิดหน่อยครับ แล้วก่อนหน้าที่เธอจะเรียนวิชาเหล่านี้ เธอเคยมีเรื่องชกต่อยบ้างมั้ย ผมก็ตอบว่า เคยครับ

จากนั้นครูก็อธิบายให้ฟังว่า ตามปกติแล้วคนเราก็มีสัญชาติญาณการเอาตัวรอดอยู่แล้ว ถึงไม่เคยฝึกฝนอะไรมาเลย ก็ต้องต่อยตีจับปล้ำเป็นบ้าง เพียงแต่อาจจะออกแรงไม่ถูกต้อง ใช้เหลี่ยมมุมไม่เป็น ที่สำคัญคือการป้องกันตัวที่อาจจะทำได้ไม่ดี จึงเหมือนการแลกหมัด แลกเท้า หรือกอดรัดกันอย่างไม่เป็นวิชา ทำให้เสียแรงมาก

แต่ ศิลปะการต่อสู้นั้นถูกคิดค้นเพื่อให้ใช้ทักษะอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ การออกอาวุธที่ดี รู้จักการป้องกันตัวที่ดี รวมถึงยังสามารถล็อค ปล้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพใช้แรงไม่มากแต่ก็สามารถหยุดคู่ต่อสู้ได้ โดยการจู่โจมที่จุดสำคัญต่างๆ มวยไชยา เองก็เป็นหนึ่งศิลปะการต่อสู้ที่พัฒนามาแบบนั้น แล้วเธอคิดว่า คนที่ผ่านฝึกศิลปะการต่อสู้แล้วจะสามารถใช้ได้จริงมั้ยละ ปัญหาอยู่ที่ว่าเรียนมาแล้ว ถึงเวลาที่เธอใช้นะ จังหวะถูกต้องหรือเปล่า ช้าไปเร็วไป ก็ผิดพลาดแล้วนะจริงมั้ย

ผมก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ว่าบางทีเราก็มองข้ามจุดนี้ไป เพราะเราผ่านการฝึกวิชาการต่อสู้อื่นๆมาเราก็เรียนรู้วิธีการป้องกันตัว วิธีการออกอาวุธเช่นเดียวกัน ครูที่สอนเราทุกคนก็บอกวิธีการออกอาวุธ บอกวิธีการป้องกันตัวมาอยู่แล้วเช่นกัน ทำให้เรารู้เทคนิคมากขึ้นกว่าตอนไม่เคยฝึก แต่ปัญหาคือฝึกฝนจนใช้ในการต่อสู้จริงๆนั้นถูกจังหวะ

หลังจากครูิอธิบายถึงแนวคิดเรื่องศิลปะการต่อสู้ให้ฟัง ก็ดูเหมือนผมจะเข้าใจอะไรมากขึ้น ผมจึงถามต่อว่า แล้ว มวยไชยา เนี่ย ต่างจากมวยไทยปัจจุบัน ตรงไหนครับ มันเป็นมวยไทยสายหนึ่งใช่มั้ย ?

 

ครู ท่านก็เล่าประวัติมวยไชยาให้ได้รู้ว่าเป็นศิลปะการต่อสู้ของคนไทยสายหนึ่ง แต่สมัยก่อนเราไม่ได้เรียนประเทศเราว่า ไทย นะ เพิ่งเปลี่ยนมาเรียกไม่นานนี้เอง มวยไทยโบราณ สมัยก่อนนั้น ก็ไม่ได้ต่างจากวิชาการต่อสู้อันหลากหลายของประเทศอื่นอย่าง มวยจีน ก็มีทั้ง ไทเก็ก เส้าหลิน ปากัว สิงอี้ ของญี่ปุ่น ก็มีทั้ง ยูโด คาราเต้ ไอคิโด นินจา อีกทั้งในแ่ต่ละวิชายังมีแตกแยกย่อยกันไปอีก

 

มวย ไชยาก็เป็นหนึ่งใน มวยไทยโบราณ ที่มีทั้ง มวยโคราช มวยลพบุรี มวยไชยา มวยท่าเสา มวยพระนคร ซึ่งก็ต่างมีลักษณะเด่นแตกต่างกันไปเช่นกัน (ประวัติมวยไชยาหาอ่านได้จากเวป www.muaychaiya.com นะครับ)

 

แต่ มวยไทยปัจจุบันนั้น เป็นกีฬามวยไทย ที่ตัดทอดเทคนิควิชาต่างๆที่อันตรายออกไป โดยมีการนำเอากติกาจากมวยสากลมาครอบ ทำให้ปัจจุบัน กีฬามวยไทยนั้นห้ามทำได้เพียง หมัด เท้า เข่า ศอก และการยืนกอดปล้ำกันเท่านั้น

มวยไชยามีมิติการต่อสู้ที่ มากกว่านั้น การต่อสู้เกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ในสนามรบ เธอคงไม่สามารถขอลุกขึ้นมายืนก่อน หากล้มลงไปแล้ว มีแต่จะโดนซ้ำเท่านั้น และในกติกาการต่อสู้สมัยก่อนนั้นก็อนุญาติให้ทำได้ทุกอย่าง จะเตะผ่าหมาก จิ้มตา สับลูกกระเดือก หักแขน ทุ่มล้ม จิกผม หรือแม้กระทั่งการกัดนะ เพราะเป็นการฝึกเพื่อให้เรียนรู้การป้องกันตัวอย่างจริงจัง ไม่อนุญาติให้ซ้ำแค่เพียงหากล้มลงไปแล้ว คว่ำหน้า เพราะถือว่า ไม่สามารถป้องกันตัวได้ผมเองก็แปลกใจในสิ่งที่ครูเล่ามา ยืนสู้กันนั้นผมพอเข้าใจได้ ตอนเรียนมวยไทยมา ก็เคยฝึกหัดแต่ยืนสู้ ผมจึงนึกภาพไม่ออกว่าแล้วถ้านั่ง หรือ นอนอยู่ จะสู้กันแบบไหน ?

ครูมองหน้าผมที่ขมวดคิ้วและถามกลับไปว่าแล้วถ้านั่งอยู่จะสู้หรือป้องกัน ตัวแบบไหนได้ครับ ขณะนั้นผมก็นั่งอยู่บนม้านั่งยาวข้างครูในด้านขวา ครูก็บอกว่าเธอก็ลองต่อยมาดูสิ ผมก็ชกหมัดซ้ายที่อยู่ใกล้เข้าสู่หน้าครูทันที จังหวะเดียวกันนั้นครูยกทัดมาลาข้างขวารับหมัดผม และพลิกเปลี่ยนเอามือซ้ายมาคว้าจับที่หมัด และ ศอกขวากดลงที่ศอกซ้ายผมเป็นลักษณะการควบคุมพอดีผมก็ทึ่งมากที่ไม่เคยคิดว่าั นั่งอยู่ก็ป้องกันตัวได้ด้วย ผมก็ขออนุญาติครูขอลองเตะได้มั้ยครับ เพราะคิดว่ายังไงคนนั่งก็ไม่น่าจะรับเตะได้แน่ ครูก็บอกว่าตามสบาย ผมก็ลุกขึ้นยืนตรงข้างหน้าครู และ จรดมวยเตรียมพร้อมเตะด้วยท่ามวยไทยที่ฝึกมา แล้วถามครูอีกครั้งว่า ขออนุญาติเตะจริงๆนะครับ ครูก็ตอบว่าเต็มแรงได้เลย

ผมเหวี่ยง เท้าขวาที่ถนัดเล็งเป้าไปที่บริเวณไหล่ของครู เนื่องจากกลัวว่าถ้าครูรับไม่ได้ อย่างน้อยก็คงไม่บาดเจ็บมากนัก แต่ทันใดนั้นผมก็รู้สึกเจ็บที่ใต้น่องและถูกครูจับให้ล้มลงกับพื้นโดยครู หยิบจุดตายผมไว้ (ตอนนั้นผมจำไม่ได้ว่าโดนอะไร แต่ครูมาสาธิตให้ดูทีหลัง)ณ ตอนนั้นผมเหมือนได้เปลี่ยนโลกทัศน์ของมวยไทยไปเลย

หลังจากผมได้ลองทดสอบด้วยตัวเองกับครูแปรงไป 2 ครั้ง ผมก็ตัดสินใจที่จะมาเรียนรู้มวยไชยา อย่างจริงจัง ระหว่างที่ผ่านการเรียนนั้น ก็มีหลายครั้งที่ผมเจอคนมาลองกับครูแปรงเสมอๆ คนลองแรงก็โดนแรงนั้นทำลายกลับจนเจ็บเอง คนลองอย่างถ่อมตน ก็ได้ความรู้แบบไม่เจ็บตัว

ระบบการเรียน การสอนของมวยไชยา นั้นเริ่มที่การจัดโครงสร้างร่างกายให้ถูกต้อง เพื่อใช้ในการป้องกันตัวอย่างถูกวิธี ครูบอกว่าเมื่อเราเรียนรู้ โครงร่างของมวยแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจว่าเรามีจุดเปิดตรงไหน และ ควรปิดจุดสำคัญอย่างไร ในการต่อสู้จริงๆนั้น ไม่ได้หมายความว่าต่อยแรง เตะแรง แล้วจะเป็นฝ่ายชนะเสมอไป การสู้กันจริงๆนั้นแค่โจมตีจุดสำคัญโดยใช้แรงไม่มาก ก็ทำให้สามารถจบการต่อสู้ได้แล้วจากนั้นก็จะให้ฝึกฝนการป้องกันตัวที่เรียก ว่า ป.4 คือ ป้อง ปัด ปิด เปิด ก่อนเป็นอันดับแรก  เพื่อให้ันักเรียน เรียนรู้วิธีการป้องกันตัวให้ปลอดภัย ครูบอกว่า ศิลปะการต่อสู้ ย่อมต้องป้องกันตัวได้จริง ไม่ใช่ศิลปะการแลกกัน ใครทนกว่าก็เป็นฝ่ายชนะไป

จาก นั้นครูจึงสอนการใช้อวัยวุธต่างๆในร่างกาย อย่าง หมัด เท้า เข่า ศอก เป็นต้น (มวยไชยาจริงๆแล้วใช้ทุกส่วนของร่างกาย) อย่างถูกวิธี การต่อยควรส่งแรงอย่างไร ให้จุดไหนเข้ากระทบ ถึงจะได้ผล การเตะควรส่งแรงอย่างไร ระยะขนาดไหน พลิกเหลี่ยมอย่างไร เป็นต้น

หลัง จากออกอาวุธอยู่กับที่ได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่ว ก็จะเริ่มสู่กระบวนการเคลื่อนที่อย่าง เหยาะ ย่าง ยัก เยื้อง ก้าว กระหยด ถด ถอย เพื่อเรียนรู้ การเคลื่อนที่สร้างระยะ การหลบ การสลายแรง การออกอาวุธ ในระหว่างการต่อสู้จริงๆ ซึ่งคู่ต่อสู้คงไม่ยืนนิ่งอยู่กับที่แน่นอนเรียนรู้เทคนิคการใช้ลูกไม้ต่างๆ เรียนรู้การสร้างโอกาสเพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อผ่านการ ฝึกไปสักพักแ้ล้ว จึงให้เริ่มลงคู่กัน เพื่อฝึกฝนจังหวะทั้งการออกอาวุธและป้องกันตัว เมื่อเจอจังหวะที่แตกต่างกันออกไปจากการฝึกและช่วยในการเรียนรู้ และ ตัดสินใจ ในการใช้เทคนิคต่างๆ

เมื่อผ่านการฝึกมาถึงขั้นที่ สูงขึ้นก็จะเริ่มเรียน การล้ม การกลิ้ง การม้วนตัว เพื่อฝึกหัดให้พร้อมสำหรับการโดนทุ่ม การเหวี่ยง และอันตรายจากการล้ม ยังรวมถึงการฝึกเพื่อต่อสู้ในขณะ้ล้มลง

จากนั้นเมื่อฝึก ป้อง ปัด ปิด เปิด และ การ ล้ม ลุก ลุก คลุกคลาน ได้ดีแล้ว ก็จะเริ่มเรียนรู้การฝึก ทุ่ม ทับ จับ หัก และ กอด รัด ฟัด เหวี่ยง เพื่อพัฒนาระยะการต่อสู้และเทคนิคการต่อสู้มากขึ้น จากการออกอาวุธระยะห่าง มาสู่ระยะประชิด รวมถึงยังสามารถจบการต่อสู้ได้เร็วและปลอดภัยมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอัดกันให้บาดเจ็บแต่เป็นการควบคุมหรือล็อคให้ยอมแพ้ก็ได้ 

ต่อ จากนั้นก็เรียนรู้เทคนิคการป้องกันตัวมือเปล่าเมื่อเจอกับอาวุธเช่น มีด ไม้ เป็นต้น และ มวยไชยาก็ยังเป็นพื้นฐานในการฝึกอาวุธชนิดต่างๆได้ เช่น ดาบ ตะพด คมแฝก พลอง หรือกระทั่งอาวุธใกล้ตัวเช่น ขวดน้ำ กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนรู้และหลักวิชาของ มวยไชยานั้นมีครบสำหรับเหตุการณ์ต่างๆอยู่แล้ว คราวนี้การใช้ได้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนอย่างจริงจังแค่ไหนครับ บางคนฝึกเพียงนิดหน่อย ก็คิดว่าฝึกวิชาเป็นแล้ว พอไปใ้ช้จริงๆก็ไม่เกิดผลเพราะตัวเองยังไม่ชำนาญ บางคนเห็นเพียงท่าทางโดยไม่รู้ว่าวิธีการทำอย่างถูกต้อง ก็กลายเป็นว่าใช้ไม่ได้ไป

ตัวผมเองเคยผ่านสถานการณ์ทั้งการ ปล้น และ ทะเลาะวิวาทบนถนน รวมถึงการแข่งขันบนเวทีที่มีกติกามาแล้ว ก็เชื่อว่ามวยไชยาสามารถใช้งานได้จริงแน่ครับ

แล้วคุณละ อยากจะใช้ได้จริง หรือไม่ได้จริงละ คำตอบเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกให้มันเป็นอย่างไรครับ

www.muaychaiya.com

อนุญาติให้นำไปใช้นะครับ แต่ให้เครดิตด้วยนะครับ
พรรค มวยไชยา

หมายเลขบันทึก: 450480เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2011 02:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

ได้เห็นบันทึกที่เขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับศิลปะป้องกันตัวของไทยแล้ว รู้สึกดีใจที่มีผู้สืบทอดสิ่งดีๆ ของไทยไว้ค่ะ

อยากจะรบกวนให้คุณครูเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมวยไชยาอีกนะค่ะ เพราะบล็อกนี้จะได้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ของผู้ที่สนใจค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ ผมนำบทความจาก เฟสบุ๊ค ตัวเองมารวมๆกัน ก็อาจจะยาวหน่อย แต่ก็เน้นประโยชน์เพื่อมองเห็นภาพรวมของภูมิปัญญาคนไทยโบราณ อย่าง มวยไชยา แน่นนอนครับ

บันทึกนี้อ่านได้อรรถรสดีมากครับ..ขอบคุณ คุณธีรพรรค ครับ..

ติดต่อผมมาตามอีเมลได้มั้ยครับ ผมมีเรื่องอยากถามเกี่ยวกับมวยไชยา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท